ทำความรู้จักอาชีพจิตแพทย์ หมอผู้รักษาโรคซึมเศร้า

รู้จัก-อาชีพ-จิตแพทย์

สวัสดีค่ะน้อง ๆ ทุกคน ในรอบสองสามปีที่ผ่านมานี้ พี่วีวี่เชื่อว่าน้อง ๆ คงจะเคยได้ยินข่าว หรือได้ยินคนรอบตัวคุยกันเรื่องโรมซึมเศร้ากันมาบ้าง ซึ่งจะมีอาการจำพวก เบื่อ นอนไม่หลับ เครียดสะสม เศร้าสะสม ไม่มีสมาธิ และรู้สึกไร้ค่า เวลาคุยเรื่องโรคซึมเศร้าทีไหร่ อาชีพที่จะถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลาก็คือจิตแพทย์ ซึ่งเป็นหมอเฉพาะทางที่มีหน้าที่รักษาและพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า วันนี้พี่วีวี่เลยจะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักอาชีพจิตแพทย์กันอย่างละเอียดว่า มีหน้าที่อะไรบ้าง และต้องเรียนอะไรบ้างถึงจะเป็นจิตแพทย์ได้

รู้จักอาชีพจิตแพทย์-1
  • เรียนอะไรถึงเป็นจิตแพทย์
    เส้นทางสู่การเป็นจิตแพทย์นั้น เริ่มต้นจากการเรียนหมอทั่วไปที่คณะแพทยศาสตร์ 6 ปี จากนั้นก็ไปทำงานเพิ่มพูนทักษะและใช้ทุนที่ต่างจังหวัด 3 ปี ก่อนจะกลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางในภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โดยเรียนเป็นเวลา 3 ปี สำหรับหลักสูตรจิตแพทย์ทั่วไป และ 4 ปี สำหรับหลักสูตรจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ระหว่างนี้เราจะเรียกว่าเป็นแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ (resident in psychiatry)
    ในส่วนเนื้อหาการเรียน ปี 1 จะเรียนจิตเวชศาสตร์พื้นฐานทั่ว ๆ ไป ทฤษฏีต่าง ๆ ทางจิตวิทยา ความผิดปกติทางจิต และโรคทางจิตเวชและการรักษา เมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 2 แล้ว จะเน้นการดูแลผู้ป่วยโรคทางร่างกายและที่มีปัญหาทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า เมื่อก้าวสู่ปีสุดท้าย ก็จะเรียนลงลึกมากขึ้น เช่น เรียนเกี่ยวกับผู้ติดยาเสพติด จิตเวชชุมชน การทำจิตบำบัดแนวลึก เป็นต้น
    เมื่อเรียนจบ 3 หรือ 4 ปีแล้ว ก็จะมีการสอบใหญ่รวมทุกสถาบัน โดยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย โดยใช้เวลาสอบประมาณ 7 วัน ทั้งการสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติ เมื่อสอบผ่านแล้วก็จะได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบอาชีพวิชาชีพเวชกรรม สาขาจิตเวชศาสตร์ จากแพทยสภา
    มาถึงตรงนี้ก็ถือว่าได้เป็นจิตแพทย์ พร้อมทำหน้าที่รักษาโรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ แล้วค่ะ
  • หน้าที่ของจิตแพทย์
    นอกจากจิตแพทย์จะทำหน้าที่รักษาโรคซึมเศร้าแล้ว จิตแพทย์ยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีก ได้แก่
    – ให้คำปรึกษา และแนะนำ ปัญหาต่างๆ เช่น ปรึกษาปัญหาครอบครัวปัญหาพัฒนาการเด็ก  ปัญหาการเรียน ปัญหาชีวิตคู่  ปรึกษาปัญหาก่อนแต่งงาน  ปัญหาความขัดแย้งในใจ
    – รักษาโรคทางจิตเวช (Psychiatric disorders) ตัวอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นต้น
    – รักษาโรคทางระบบประสาท (Neurology) และประสาทจิตเวช (Neuropsychiatry)คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างบางส่วนของสมอง แล้วมีผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องอารมณ์ พฤติกรรมและอาการทางจิต เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)  ภาวะบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) เป็นต้น
    – เป็นส่วนหนึ่งในทีมรักษาร่วมกับแพทย์สาขาอื่นๆ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาในแบบองค์รวม เช่น หน่วยผู้ป่วยวาระสุดท้าย (end of life care), หน่วยรักษาความเจ็บปวด (pain unit), การปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation), หน่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke unit) เป็นต้น
รู้จักอาชีพจิตแพทย์-2
  • จะเป็นจิตแพทย์ได้ต้องพูดเก่ง?
    มาถึงตรงนี้ น้อง ๆ หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าต้องให้คำปรึกษา และแนะนำคนไข้อยู่ตลอดเวลา จะต้องเป็นคนพูดเก่งแน่ ๆ เลย ในความเป็นจริงแล้ว คนที่เป็นจิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องพูดเก่งเสมอไปค่ะ คนไข้บางคนอาจพูดเก่ง และต้องการจิตแพทย์ที่รับฟังเขา หรืออาจจะกลับกัน ไม่ว่าน้องจะเป็นคนพูดเก่งหรือไม่ค่อยพูด สร้างความสัมพันธ์เก่งหรือไม่เก่งก็ตาม เมื่อเข้ามาฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทางแล้ว น้อง ๆ จะได้รับการสอนให้รู้ว่า สถานการณ์ไหนควรพูด และสถานการณ์นั้นควรเป็นผู้ฟัง โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบุคลิกตัวเอง เพราะฉะนั้นแล้ว พูดไม่เก่ง เป็นคนเงียบ ก็สามารถเป็นจิตแพทย์ได้ค่ะ ถ้ามีใจรักในอาชีพนี้
  • ความแตกต่างกับนักจิตวิทยาคลินิก
    อีกข้อ ที่น้อง ๆ หลายคนสงสัยก็คือ แล้วจิตแพทย์ต่างกันนักจิตวิทยาอย่างไรกัน คำตอบก็คือ ถึงแม้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะมีหน้าที่ฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยเหมือนกัน แต่ทั้งคู่ก็ทำงานต่างกัน โดยจิตแพทย์ คือ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช มีความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและรักษาอาการป่วยทางจิต ขณะที่นักจิตวิทยา คือ ผู้ที่เรียนทางจิตวิทยาและได้รับการฝึกจนเป็นนักจิตวิทยาคลินิก มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือบำบัดผู้ป่วยด้วยการพูดคุย แต่นักจิตวิทยาจะไม่สามารถสั่งจ่ายยาหรือวินิจฉัยอาการทางการแพทย์ได้ โดยทั่วไป นักจิตวิทยาและจิตแพทย์มักทำงานร่วมกันเพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้ป่วย

เป็นอย่างไรกันบ้างคะทุกคน กว่าจะมาเป็นอาชีพจิตแพทย์ได้นี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย แต่พี่วีวี่เชื่อว่า น้อง ๆ หลายคนมีใจรักที่อยากจะรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ใครที่อยากเป็นจิตแพทย์ พี่วีวี่ก็ขอให้สู้ ๆ และโชคดีค่ะ


บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ