สำรวจกันหน่อย … คณะวิศวกรรมศาสตร์มีสาขาอะไรบ้างนะ ??? ตอนที่ 2

กวดวิชา-we-คณะวิศวกรรมศาสตร์-2

หลังจากที่ได้รีวิวกันไปแล้ว ตอนที่ 1 (คลิกดูตอนที่ 1) มาต่อกันเลยตอนที่ 2

  1. สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม เป็นศาสตร์ทางวิศวกรรมไฟฟ้าที่รวบรวมองค์ความรู้หลายด้าน โดยรวมด้านอิเล็กทรอนิกส์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สายอากาศ คลื่นแสงิ การประมวลผลสัญญาณดิจิทัลและเครือข่ายข้อมูลและคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้จัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคมแยกออกจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า (กำลัง) ดังนั้นวิศวกรรมโทรคมนาคม ก็คือ วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร ในหลายๆสถาบันการศึกษานั่นเอง


ตัวอย่างอาชีพ เช่น วิศวกรโทรคมนาคม / วิศวกรสื่อสาร / วิศวกรดูแลระบบระบบสื่อสารสำหรับการบินพาณิชย์ และ ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญระบบโทรคมนาคม เป็นต้น 

  1. สาขาวิศวกรรมโยธา ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคของประเทศ ซึ่งครอบคลุมวิชาการด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ได้แก่

– วิศวกรรมสำรวจ เพื่อการจัดทำแผนที่จากภาคสนาม การสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายจากดาวเทียม
– วิศวกรรมโครงสร้าง เกี่ยวกับหลักกลศาสตร์ของวัสดุและโครงสร้าง การทดสอบคุณสมบัติทางกล และกำลังของวัสดุทางวิศวกรรม การวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างไม้ เหล็ก คอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตอัดแรง
– วิศวกรรมปฐพี เกี่ยวกับพฤติกรรมทางวิศวกรรมของดิน และหินเพื่อเป็นรากฐานของสิ่งก่อสร้างบนดิน ใต้ดิน และเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น อาคาร ถนน อุโมงค์ เขื่อนดิน
– วิศวกรรมขนส่ง เกี่ยวกับการคมนาคมทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ การออกแบบทางระบบการจราจร ระบบขนส่งมวลชน
– การบริหารการก่อสร้าง เกี่ยวกับการวางแผนงานก่อสร้าง การจัดการขนส่ง เครื่องจักรกล บุคลากรและการเงินในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ตัวอย่างอาชีพ เช่น วิศวกรโยธา / วิศวกรออกแบบ / วิศวกรก่อสร้าง / วิศวกรขนส่ง / วิศวกรโครงการ / วิศวกรโครงสร้างพื้นฐาน / วิศวกรแหล่งน้ำและชลศาสตร์ และ วิศวกรสำรวจ เป็นต้น 

  1. สาขาวิศวกรรมโลหการ เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางโลหวิทยา (metallurgy หรือ metallurgical science) โดยศึกษาความรู้ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับโลหะ ตั้งแต่กระบวนการศึกษาโลหะในสภาวะสินแร่ กระบวนการคัดแยกโลหะออกจากสินแร่ กระบวนการปรับปรุงคุณภาพโลหะโดยการทำให้บริสุทธิ์หรือการปรุงแต่งเพื่อความเหมาะสมตามคุณสมบัติที่ต้องการ การนำโลหะมาขึ้นรูปในลักษณะของโลหะรูปพรรณ (metal forming) รวมทั้งการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือวัตถุ ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพ ต่อเนื่องจากการขึ้นรูป

ตัวอย่างอาชีพ เช่น ครู-อาจารย์  / นักวิทยาศาสตร์ / วิศวกรอุตสาหการ / วิศวกรเครื่องกล และนักวัสดุศาสตร์ เป็นต้น

  1. สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงสภาวะแวดล้อม และสร้างที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและการพัฒนาของมนุษย์ ขอบเขตวิศวกรรมสุขาภิบาล ยังครอบคลุมถึงการแก้ปัญหาสุขอนามัยภายในโรงงานอุตสาหกรรม การขจัดมลพิษและมลภาวะของน้ำ อากาศ และอื่น ๆ อันสืบเนื่องมาจากอุตสาหกรรมและการอยู่อาศัย ในสาขาวิชานี้มีการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนป้องกันและรณรงค์กับมลภาวะต่าง ๆ ของสภาวะแวดล้อม

ตัวอย่างอาชีพ เช่น วิศวกรการประปา / วิศวกรสิ่งแวดล้อมให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม / วิศวกรระบบคุณภาพ / นักวิจัย และ วิทยากรอบรมการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

  1. สาขาวิศวกรรมสำรวจ เกี่ยวกับการวางแผน การรังวัด การคำนวณและวิเคราะห์รายละเอียดของพื้นผิวโลก เพื่อนำมาใช้ในการทำแผนที่ แผนผังหรือกำหนดค่าพิกัด ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมต่าง ๆ เช่น การออกแบบทางหลวงและเขื่อน การรังวัดที่ดิน งานชลประทาน งานปฎิรูปที่ดิน งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และผลิตผลทางเกษตร และงานผังเมือง

ตัวอย่างอาชีพ เช่น วิศวกรสำรวจ / วิศวกรโยธา / วิศวกรที่ปรึกษาพัฒนาโครงการ เป็นต้น
อ้างอิงข้อมูลเกี่ยวกับวิศวะ :
http://www.act.ac.th
http://www.businessthaicenter.com
https://blog.eduzones.com
http://www.hotcourses.in.th
http://jobnorththailand.com
http://www.9engineer.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ