เจาะข้อสอบ PAT1 ปี 64 ที่ #dek65 ไม่ควรพลาด

สวัสดีครับน้อง ๆ วันนี้พี่เอ๋จะพาไปเจาะเทรนด์ข้อสอบ PAT 1 ปี 64 ว่าเป็นอย่างไร เด็ก 65 ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เราจะมาเจาะลึกกันว่า บทไหนออกเยอะ บทไหนห้ามพลาด บทไหนไม่ออก รูปแบบข้อสอบเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมาดูกัน

ที่แน่ ๆ เรายังอยู่ในระบบ TCAS กันนะครับ สอบครั้งหน้าเป็น TCAS 65 เพราะฉะนั้นการสอบคณิตศาสตร์ก็ยังคงเหมือนกับ TCAS 64 มีทั้งคณิตศาสตร์ O-NET คณิตศาสตร์ PAT1 และคณิตศาตร์ 1 วิชาสามัญ ส่วนคณิตศาสตร์ 2 ตอนนี้ไม่มีแล้ว

น้อง ๆ เด็ก 65 ฟังให้ดี การที่น้อง ๆ ไม่รู้แนวข้อสอบใหม่เลย ไม่รู้ว่าข้อสอบจะออกมาเป็นยังไง มันก็เหมือนกับการเดินทางที่ไม่มีเข็มทิศ เผลอ ๆ พอถึงวันสอบ ทำข้อสอบไม่ได้ก็สะเทือนใจอีก เพราะฉะนั้นเราควรใช้ความขยันให้ถูกทาง คือเราต้องรู้ก่อนว่าสนามสอบที่เราจะไปสอบ มันออกอะไรบ้าง พี่เอ๋จะมาเจาะลึกข้อสอบ PAT 1 ให้น้อง ๆ ดู และจะส่งต่อในส่วนของคณิตศาสตร์ 1 วิชาสามัญให้พี่ภูมิเป็นคนเล่าให้น้อง ๆ ฟังครับ

รูปแบบข้อสอบ PAT 1

 

ข้อสอบ PAT1 เป็นข้อสอบที่มีสองตอน ตอนที่ 1 เป็นปรนัย มี 5 ตัวเลือก มี 35 ข้อ ข้อละ 6 คะแนน เพราะฉะนั้น 35×6 = 210 ตอนที่ 1 ก็จะมี 210 คะแนน ต่อมา ตอนที่ 2 เป็นแบบเติมคำ จะไม่มีช้อยส์มาให้เราเลือก ต้องคำนวณเอง แล้วนำไปฝนคำตอบ ตอนที่ 2 นี้คิดเป็น 9 คะแนน มี 10 ข้อ ก็เป็น 90 คะแนน ตอนที่ 1 มี 210 คะแนน บวกตอนที่ 2 อีก 90 คะแนน ทั้งหมด  300 คะแนน เหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา

เวลาที่เขาให้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร คือ 180 นาที หรือ 3 ชั่วโมงนั่นเอง แล้วแบบนี้ 1 ข้อ เราจะมีเวลาคิดประมาณกี่นาที ก็ต้องเอาเวลาทั้งหมดตั้งแล้วหารด้วยจำนวนข้อ มันก็จะออกมาอยู่ที่ข้อละ 4 นาที เวลาฝึกทำโจทย์ที่บ้านน้องก็ลองจับเวลาดู หรือใครอยากกดดันตัวเองหน่อยก็ข้อละ 3 นาที ลดเวลาลงนิดนึง เช่น ทำโจทย์ 20 ข้อให้เสร็จ ภายใน 1 ชั่วโมง

ส่วนใหญ่ที่พี่เคยได้ยินปัญหา คือในวันสอบน้องมักจะตื่นเต้น เพราะเป็นการสอบครั้งใหญ่ บางคนก็ทำไปเรื่อย ๆ ข้อไหนที่ยากก็วนอยู่อย่างนั้นจนทำไม่ทัน ทริคคือ ถ้าเรามีเวลา 3 ชั่วโมง ข้อสอบ 45 ข้อ วิธีการคำนวณง่าย ๆ คือ 1  ชั่วโมงต้องได้อย่างต่ำ 15 ข้อ ถ้าผ่านไป 1 ชั่วโมงยังทำไปไม่ถึง 15 ข้อ แปลว่าเราทำข้อสอบช้า แต่ถ้าได้เกิน 15 ข้อ ก็ถือว่าความเร็วใช้ได้ พอผ่านไป 2 ชั่วโมง เราก็ควรจะได้ 30 ข้อ ถ้าได้เยอะกว่านั้นก็แสดงว่าสุดยอด ถ้าได้น้อยกว่าก็ถือว่าช้าไป ต้องเร่งสปีดนะครับ เดี๋ยวจะทำไม่ทันเอา

บทที่ออกสอบ PAT 1

จากสถิติที่เก็บมา 4 ปี ถ้าเป็นแนวเก่า ปี 61 62 63 ก็อย่างที่เห็นในตาราง และถ้าแนวใหม่ ปี 64 ที่น้อง ๆ บ่นกันว่าเปลี่ยนแนว มีการประยุกต์มากยิ่งขึ้น ซึ่งโจทย์แนวประยุกต์ก็คือโจทย์ปัญหานั่นเอง เช่น เปิดร้านค้า ซื้อของมาเท่านี้ ขายไปเท่านี้ กำไรสูงสุดเท่าไหร่ หรือขนาดห้องเท่านี้ มีเส้นทแยงมุมเท่านี้ ความกว้างประมาณนี้ จะปูกระเบื้องต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่ เป็นเงินเท่าไหร่ ซึ่งโจทย์ประยุกต์เหล่านี้ก็สามารถจำแนกตามบทต่าง ๆ ของ ม.ปลายได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะแยกเป็นบทต่าง ๆ ของ ม.ปลาย ตั้งแต่ เซตจนกระทั่งถึงแคลคูลัส ดังนี้

ม.4 ก็ตั้งแต่เซตจนกระทั่งถึงฟังก์ชั่นเอกซ์โพเนนเชียลและลอการิทึม ถัดมา ม.5 ก็จะเริ่มตั้งแต่เมตริกซ์เลย จนกระทั่งถึงความน่าจะเป็น สุดท้าย ม.6 ตั้งแต่สถิติและการแจกแจงความน่าจะเป็นจนถึงแคลคูลัส ส่วนความถนัดทางคณิตศาสตร์อื่น ๆ น้อง ๆ อาจจะมีคำถามว่ามันคืออะไร พี่บอกไว้เลยนะว่า PAT 1 ออกเรื่องนี้ทุกปี แต่คณิตศาตร์ 1 ไม่มี

ความถนัดทางคณิตศาสตร์ที่ออกใน PAT1 ทุกปี คือโจทย์ประเภทที่ใช้ความรู้ ม.ต้น บางทีก็ใช้ทฤษฎีบทพีทาโกรัสมาแก้ หรือบางครั้งก็ใช้อัตราส่วนร้อยละ บางทีก็เป็นเชาว์คณิตศาสตร์ ซึ่งแนวเก่าปี 61 62 63 ก็ออกเรื่องนี้ ขนาดปีนี้ที่ว่าเปลี่ยนแนว เรื่องความถนัดทางคณิตศาสตร์อื่น ๆ นี้ก็ยังออกอยู่ บางครั้งมันก็ใช้ระบบจำนวนจริงเข้ามาช่วยแก้โจทย์ เป็นพวกสมการกำลังสอง การแก้สมการ อสมการอะไรแบบนี้ ถ้าในคอร์ส Ultimate Maths พี่จะสอนเรื่องนี้รวมกับระบบจำนวนจริง พี่ก็เลยต้องชวนมาทำความเข้าใจกันก่อน

พอเราแยกเป็น ม.4 ม.5 ม.6 ก็มาดูคะแนนของแต่ละ ม. กันครับ คะแนนรวมที่ได้มัน 300 ใช่ไหมครับ ถ้าแยกเป็นระดับชั้น ม.4 จะได้ 96 คะแนน ม.5 ได้ 96 คะแนน ในขณะที่ม.6 น้อยบทก็จริง แต่ก็มีคะแนนรวมมากถึง 96 คะแนน นำทั้งหมดนี้ไปรวมกับความถนัดทางคณิตศาสตร์อีก 12 คะแนน  ก็จะรวมกันเป็น 300 พอดี แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับทุกระดับชั้นเท่ากันหมดเลย

ถ้าเราเจาะเข้าไปในแต่ละบท ก็จะมีสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่ามันมีความเป็นหลักสูตรใหม่ หลักสูตรเก่าอยู่  อย่างเรื่องกำหนดการเชิงเส้น หลักสูตรเก่า 3 ปีก่อนออกทุกปีเลยนะ ปีละ 6 คะแนน แต่ปีล่าสุดไม่มีแล้ว มันได้ออกไปจากหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว

หรืออย่างบทสถิติ ก็จะไม่ใช่สถิติธรรมดาแล้ว แต่มีพ่วงการแจกแจงความน่าจะเป็นไปด้วย ต้องบอกก่อนนะว่าปี 61 62 63 สถิติก็เป็นตัวที่ออกเยอะนะ ปีละ 30 กว่าคะแนนตลอด แต่ว่าในปีก่อน ๆ จะไม่มีการแจกแจงความน่าจะเป็น แต่ปี 64 ที่เป็นปีล่าสุด ออกมากถึง 36 คะแนน ซึ่งอันนี้มีความแจกแจงความน่าจะเป็นด้วย นี่คือความเปลี่ยนแปลงตามหลักสูตรใหม่

ข้อสอบปี 64 นี้ บางบทก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น บางบทก็สำคัญน้อยลง ถ้าเราดูตารางคะแนนย้อนหลังก็จะเห็นว่า บทความน่าจะเป็นจากที่เคยออกแค่ 14 คะแนน 14 คะแนน 12 คะแนน เป็นบทขนาดกลาง ๆ  แต่ปี 64 นี่ออกถึง 30 คะแนน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เพราะฉะนั้นบทความน่าจะเป็นนี่ทิ้งไม่ได้เลยนะครับ

ส่วนบทที่หายไป โดนลดความสำคัญ คือเรื่องความสัมพันธ์และฟังก์ชั่น เหลือแค่ครึ่งเดียวจาก 36 เหลือ 18 คะแนน และออกแบบบาง ๆ แต่ความสัมพันธ์และฟังก์ชั่นก็เป็นอีกบทหนึ่งที่เป็นพื้นฐาน ห้ามทิ้ง เพราะว่ามันออกบทตัวเองน้อยก็จริง แต่มันก็ไปผสมกับบทอื่นเยอะ เช่น บทแคลคูลัสก็มี ฟังก์ชั่นตรีโกณมิติก็มี ตัวบทลดความสำคัญลงแต่ก็ทิ้งไม่ได้นะครับน้อง ๆ

6 อันดับบทออกเยอะ

เมื่อพี่เอาแต่ละบทมาเรียงตามน้ำหนัก ก็จะเจอ 6 อันดับ ที่คุ้มค่าในการสร้างอนาคตเราด้วยบทเหล่านี้ คุ้มค่าที่จะเก็บ อันดับแรกเลยก็คือ แคลคูลัส เป็นบทที่ออกข้อสอบเยอะสุด อันนี้เต็งหนึ่งมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ออกข้อสอบเยอะสุดในปีที่ผ่านมา แคลคูลัสจึงเป็นบทที่ต้องเก็บให้ได้ 

ต่อมา อันดับที่ 2 คือบทสถิติและการแจกแจงความน่าจะเป็น อันดับที่ 3 คือความน่าจะเป็น อันดับที่ 4 คือฟังก์ชั่นตรีโกณมิติ อันดับที่ 5 และ 6 ก็คือฟังชันเอกซ์โพเนนเชียลและลอการิทึม กับเรขาคณิตวิเคราะห์และภาคตัดกรวยที่คะแนนเท่ากัน ซึ่งนี่ก็คือภาพรวมของ PAT 1

แต่ก็ไม่ใช่ว่าอ่านแค่เฉพาะบทพวกนี้นะครับ เราต้องอ่านให้หมดทุกบท ใครจะไปรู้ว่าบางบทที่ออกไม่เยอะ แต่อาจจะออกง่ายก็ได้ ถ้าเราเตรียมตัวไปกลาง ๆ แล้วมันออกง่าย เราก็เก็บคะแนนได้ เพราะฉะนั้นอย่าพลาดในบทง่าย ๆ บทที่ออกน้อยก็ต้องเก็บ 

โจทย์ประยุกต์ในข้อสอบ PAT 1

ข้อสอบ PAT 1 ปี 64 ขึ้นชื่อเรื่องความประยุกต์ ที่เขาว่ามีการประยุกต์นี่มันประยุกต์ขนาดไหน เอาจริง ๆ แต่เดิมมันก็ออกประยุกต์อยู่แล้วบ้าง อย่างเช่น ปี 61 62 63 ที่เป็นแนวเก่า PAT 1 อย่างบทสถิติ มันก็ต้องมีโจทย์ปัญหา มีสถานการณ์ หรือเรื่องความน่าจะเป็น ก็ต้องเป็นโจทย์ประยุกต์อยู่แล้ว หรือเซต บางข้อก็เป็นการประยุกต์ มีสถานการณ์เข้ามาอยู่แล้ว

แต่ว่าปี 64 ล่าสุด พี่ลองนับดูก็พบว่ามีประมาณ 16 ข้อ ที่เพิ่มขึ้นมา ถ้าจะเตรียมตัวสอบ PAT 1 ก็ต้องแม่นเนื้อหาทุกบทถึงจะทำพวกโจทย์ประยุกต์ได้ ถ้าใครมาลงเรียนคอร์ส Ultimate Math พี่ก็สัญญาไว้เลยว่าเราจะติวโจทย์พวกนี้เพิ่มให้ด้วย 

ตัวอย่างข้อสอบจริง PAT 1 ปี 64

ค่าเฉลี่ยในการสอบ PAT1 ปี 63 - 64

ปกติเวลาดูข้อสอบว่าข้อสอบปีไหนมันยากหรือง่ายขึ้นก็จะดูคร่าว ๆ ที่คะแนนเฉลี่ยนเป็นหลัก จริง ๆ ต้องบอกน้อง ๆ ก่อนว่า ถ้าดูสถิติของค่าเฉลี่ยในปี 61 และ 62 ค่าเฉลี่ยจะต่ำมาก คะแนนเต็ม 300 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 49-50 คะแนน ปี 63 นี่ดีขึ้นมาแล้ว การที่ค่าเฉลี่ยประมาณเกือบ 50 หรือประมาณ 40 กว่า ขึ้นมาเป็น 62.9 เกือบ 63 ก็ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับนึงแล้วนะ แปลว่าข้อสอบมันง่ายขึ้น

แต่พอดูในปี 64 ค่าเฉลี่ยมันขึ้นมาอีก 10 นิด ๆ กลายเป็นว่าค่าเฉลี่ยของปีนี้นี้อยู่ที่ 73.87 คะแนน นั่นหมายความว่าเต็ม 300 คะแนน ถ้าเราได้คะแนนประมาณ 70-80 คะแนน ก็จะถือว่าเราเป็นชนชั้นกลางของสังคมนะครับ แต่ถ้าต่ำกว่า 70 คะแนน คือเราแย่แล้ว อยู่ในชนกลุ่มที่คะแนนน้อย ถ้าเกิน 80 คะแนน ขึ้นไปก็ถือว่าใช้ได้ หรือจริง ๆ ถ้าอยากให้มันชัวร์ ๆ ถ้าคณะที่น้อง ๆ อยากเข้ามีการแข่งขันสูง พี่ว่าก็ต้อง 120 หรือ 150 คะแนนขึ้นไป

ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานก็ถือว่าใกล้เคียงเดิม แต่ว่าการกระจายมันน้อยลง คะแนนมันเกาะกลุ่มกันมากขึ้น ค่ากลางตัวอื่น ๆ ทั้งมัธยฐาน หรือฐานนิยม ก็เพิ่มขึ้น ทั้งหมดก็ชี้ว่าข้อสอบปี 64 ง่ายขึ้น แล้วถ้าเราเป็น #dek65 ควรทำอย่างไร คือข้อสอบมันง่ายขึ้น เราก็ต้องได้คะแนนให้เยอะที่สุด อย่าพลาดข้อง่าย ๆ

ถ้าลองแบ่งช่วงคะแนน เราจะพบว่าปี 63 น้องจะไปเกาะกลุ่มกันอยู่ที่ 30.01-60 คะแนน มีอยู่ 50.73 % ของเด็กทั้งหมด เป็นจำนวน 76,442 คน ช่วงลำดับที่เยอะรองลงมาคือ 60.01 – 90 คะแนน 23.59 % ส่วนปี 64 ช่วงคะแนน 30.01-60 คะแนน ลดลงเหลือ 41.48 % แล้วอีกประมาณ 10 % มันหายไปไหน มันก็ไปขยับเปอร์เซ็นต์ขึ้นในช่วง 60.01-90 คะแนน เพิ่มเป็น 36.07 % และในช่วง 90.01-120 คะแนน เพิ่มจาก 6.49 % เป็น 11.58 % ก็จะเห็นว่ามันมีแนวโน้มที่คนทำข้อสอบได้มากขึ้น แต่ถ้าน้องสังเกตดี ๆ คนที่ได้คะแนนสูง ๆ กลับมีน้อยลง ช่วง 180.01-210 คะแนน จาก 1.04 % เหลือแค่ 0.97 % สุดท้ายคนที่ได้ตั้งแต่ 270.01 จนถึง 300 คะแนน ลดลงจาก 0.25% เหลือแค่ 0.09 % คิดเป็นคนแค่ 130 คนเท่านั้นเอง

สรุปอีกครั้งคือข้อสอบปีล่าสุดง่ายขึ้น น้องควรเก็บให้ได้ทุกบท ทำคะแนนให้ได้เยอะที่สุด แล้วน้องจะไปแข่งขันกับเขาได้ แน่นอนการที่ PAT 1 คะแนนเยอะขึ้นโดยค่าเฉลี่ยแบบนี้ จึงทำให้คะแนนต่ำสุดของแต่ละคณะที่เข้าไปมันจะสูงขึ้นตาม เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องตั้งเป้าให้สูงขึ้นกว่าค่าต่ำสุดของแต่ละคณะในปีก่อนๆ นั่นเองครับ และนี่คือภาพรวมทั้งหมดของ PAT 1 ปี 64

พี่ก็คิดว่าน้อง ๆ #dek65 #dek66 #dek67 หรือเด็กปีอื่นมาอ่านกันก็จะได้รู้ว่ารุ่นพี่เขาสอบแบบนี้ เตรียมตัวแบบนี้ เราจะได้เตรียมตัวไว้ก่อน ส่วนน้อง ๆ  #dek65 พี่ก็อยากให้น้องเตรียมตัวให้ดี ต้องดูว่าคณะไหนที่เราอยากเข้าแน่ ๆ เพราะการเปลี่ยนใจทีหลัง อาจทำให้วิชาที่เราเตรียมตัวมาเปลี่ยนไปด้วย เวลาก็จะไม่พอ เพราะฉะนั้นเราจะเข้าคณะไหน มหาวิทยาลัยไหน ก็ต้องดูให้ดี เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมี requirement ไม่เหมือนกัน เงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน รอบไหนที่เป็นรอบหลักของเรา เอาสิ่งที่เราต้องเตรียมมาดูแล้วลุยเลย

 

ครั้งหน้าพี่จะมีความรู้อะไรมาฝากน้อง ๆ อีก รอติดตามกันด้วยนะครับ ถ้าใครมีคำถามคาใจก็สามารถปรึกษาพี่และทีมงานได้ผ่าน We Planning Zoom พี่ยินดีอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก we หรือน้อง ๆ ที่บังเอิญผ่านเข้ามาอ่าน ก็ขอให้น้อง ๆ ประสบความสำเร็จในการสอบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง #dek65 ขอให้ได้เรียนที่อยากเรียนจริง ๆ ครับ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ