ตัวอย่าง Portfolio รอบ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากรุ่นพี่ WE ปี 64

สวัสดีค่ะน้อง ๆ ทุกคน ตอนนี้เด็ก 65 หลาย ๆ คนคงกำลังเตรียมวางแผนในการสอบ TCAS 65 กันบ้างแล้ว ใครที่กำลังวางแผนสมัครรอบแรก TCAS 65 รอบ PORTFOLIO 

วันนี้พี่วีวี่ก็มีเคล็ดลับพิเศษ พิชิตใจกรรมการ พร้อมตัวอย่างจากรุ่นพี่ WE เด็ก 64 ที่สามารถไปถึงฝั่งฝันของตนเองได้แล้ว มาฝากน้อง ๆ ด้วยค่ะ

Portfolio ควรใส่อะไรบ้าง ?

Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานที่ดี ไม่ควรเกิน 10 หน้า (แล้วแต่มหาวิทยาลัย) โดยใน 10 หน้า ประกอบด้วย

หน้า 0 = หน้าปก (ไม่นับรวม 10 หน้า)

หน้า 1 = ประวัติส่วนตัว หรือแนะนำตัว

หน้า 2 = ประวัติการศึกษา

หน้า 3–7 = ผลงาน รางวัล และเกียรติบัตรต่าง ๆ

หน้า 8–10 = กิจกรรมเด่นที่ตรงกับสาขาหรือคณะที่น้อง ๆ จะเข้าศึกษาต่อเท่านั้น

หน้า 11 = เหตุผลที่อยากเข้าคณะนี้ หรือ สิงประดิษฐ์ที่อยากทำในอนาคต (คณะวิศวกรรมศาสตร์)  แล้วแต่มหาลัยนั้น ๆ กำหนดโจทย์ ซึ่งแฟ้มสะสมผลงานที่ดี น้องไม่จำเป็นต้องใส่ทุกอย่างที่เคยทำมา แต่ให้ใส่ข้อมูลและผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาหรือคณะที่น้องจะเข้าศึกษาต่อเท่านั้น

 

ตัวอย่าง Portfolio รอบ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากรุ่นพี่ WE ปี 64

นาย กันตวัฒน์ เจนเจริญพันธ์ (ท็อป) 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

Q : เริ่มรู้ตัวเองตั้งแต่ตอนไหนว่าอยากเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์

A : ผมเริ่มรู้ตัวเองตั้งแต่ ม.6 ช่วงประมาณมีนาคมเมษายน แล้วที่เลือกเข้าสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ เพราะว่ามันตรงกับลักษณะนิสัยของเราด้วย ด้วยลักษณะที่เป็นสาขาวิศวะกึ่งบริหาร ที่เราจะได้เรียนเรื่องการจัดการ การบริหารบุคลากร ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ใช้งบประมาณน้อยที่สุด แล้วยังสามารถต่อยอดไปเรียนได้หลากหลาย เช่น วิศวกรรมควบคุมวิศวกรรมการเงินก็ได้ครับ ถ้าเราได้เรียนในสาขานี้ก็คิดว่าน่าจะสนุกดีครับ

Q : เตรียมตัวเก็บผลงาน เพื่อยื่นรอบ Portfolio อย่างไร

A : ผมก็มีไปแข่งโครงงาน งานศิลปหัตถกรรม และโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ แล้วผมก็ได้เรียนระบบ STEM เลยได้มีโอกาสได้ไปดูงาน ศึกษาความรู้ในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมศาสตร์ด้วยครับ ส่วนผลงานที่มีผลให้พี่ติดรอบพอร์ต ก็จะเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งประดิษฐ์ ซึ่งตัวเราลงมือทำเองทุกขั้นตอนครับ

Q : ตอนสอบสัมภาษณ์เป็นอย่างไร มีคำถามอะไรบ้าง

A : คำถามที่ผมโดนสัมภาษณ์เข้าคณะวิศวะฯ ส่วนมากก็จะเป็นคำถามทั่วไปครับ เช่น ทำไมถึงเลือกเข้าคณะ และสาขาวิศวกรรมอุตสาหการนี้, ทำไมถึงเลือกที่จะเข้าศึกษาในมหาลัยนี้, คุณมีใครเป็นไอดอล แล้วก็จะมีสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วให้เรามาแก้ปัญหา เช่น ถ้าเกิดเพื่อนข้างบ้านเราเอาขยะมาทิ้งไว้หน้าบ้านเรา เราจะมีวิธีการจัดการยังไง

Q : ฝากถึงน้อง ๆ รุ่นต่อไปที่อยากยื่นรอบ Portfolio หน่อย

A : พี่ก็อยากให้น้องเก็บผลงานไว้เยอะ ๆ ถ้าเกิดน้อง ๆ มีโอกาสก็อยากจะให้น้องได้ไปเข้าค่ายวิศวกรรมอุตสาหการดูนะครับ หรือจะไปเข้างานOpen House ก็จะเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้น้องค้นหาตัวเองได้อย่างดีเลยครับ

นางสาว กมลพร ใจเย็น (ฟ้า)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

Q : เตรียมตัวเก็บผลงาน เพื่อยื่นรอบ Portfolio อย่างไร

A : เริ่มรู้ตัวตั้งแต่ ม.5 ว่าอยากเข้าวิศวะเคมี เพราะว่าชอบวิชาคำนวณฟิสิกส์ เคมี ชอบทำการทดลอง จากนั้นก็ได้ลองยื่นคณะวิศวกรรมเคมีมหาวิทยาลัยนี้ แล้วติดครั้งแรกก็เลยเลือกที่นี่เลยค่ะ

Q : เตรียมตัวเก็บผลงาน เพื่อยื่นรอบ Portfolio อย่างไร

A : การเก็บผลงานส่วนมากจะเก็บตอน ม.5 ก็จะมีผลงานที่โรงเรียนส่งไปประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เราก็ได้เข้ารอบการประกวด จากผลงาน “ลิ้นชักเก็บเงิน เปิดด้วยระบบ RFID” แล้วได้ไปโชว์ผลงานต่อหน้าคณะกรรมการ จากการประกวดก็ได้รางวัลเหรียญเงินมาค่ะ

 Q : ตอนสอบสัมภาษณ์เป็นอย่างไร มีคำถามอะไรบ้าง

A : คำถามที่หนูโดนถามในรอบสัมภาษณ์เกี่ยวกับในพอร์ตก็จะเป็นคำถามทั่วไปค่ะ เช่น ผลงานที่เราได้ไปแข่งขันมา เราทำหน้าที่อะไรในการประกวดโครงการนั้น, คุณรู้จักไหมว่าค่าความจุความร้อนคืออะไร, ที่เรานั่งอยู่อุณหภูมิรอบ ๆ อุณหภูมิเท่าไหร่ ความดันเท่าไหร่ ถามเป็นหน่วยเคลวิน หน่วยองศาง่าย ๆ, หาความหนาแน่นของสาร ดังกล่าวที่ให้มา จะหายังไง หนูก็ตอบง่าย ๆ คือ p = m/v, ถ้าเราจะหาปริมาตร เรามีบีกเกอร์แต่ไม่มีสเกล เราจะทำยังไง

Q : ฝากถึงน้อง ๆ รุ่นต่อไปที่อยากยื่นรอบ Portfolio หน่อย

A : ถ้าน้อง ๆ มีผลงานที่ดี มันก็จะเป็นใบเบิกทางให้น้องเข้าคณะได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ควรจะทำผลงานแต่ ม.ปลาย แต่พี่ก็เข้าใจในสถานการณ์โควิด กิจกรรมบางอย่างก็ได้งดไป เช่น การแข่งขันวิชาการ กิจกรรมการแข่งขันในโรงเรียน ก็อาจทำให้น้องบางคนไม่มีผลงาน เตรียมตัวเก็บพอร์ตไม่ทัน พี่ก็แนะนำให้เราไปลงเรียนเสริมในวิชาที่ใช้สอบ ทำเกรด 5 เทอมให้สวยเตรียมพร้อมในการยื่นพร้อมพอร์ตก็จะเป็นการเตรียมตัวในอีกวิธีหนึ่งค่ะ

นางสาว กชมน อภิชนาพงศ์ (อุ้ย) 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมและการจัดการนวัตกรรม (หลักสูตรนานาชาติ)

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Q : เตรียมตัวเก็บผลงาน เพื่อยื่นรอบ Portfolio อย่างไร

A : สนใจเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งแต่ ม.4 อยู่แล้วค่ะ แล้วสาขาวิชาวิศวกรรมและการจัดการนวัตกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) นี้ เพิ่งเปิดใหม่ในมหาวิทยาลัยเป็นปีแรกด้วยค่ะ ด้วยความที่อยากเรียนการบริหารด้วย ซึ่งสาขานี้มันตอบโจทย์ทั้ง ด้านวิศวะและบริหาร ทำให้เราชอบและเลือกที่จะเรียนในสาขานี้ค่ะ

Q : เตรียมตัวเก็บผลงาน เพื่อยื่นรอบ Portfolio อย่างไร

A : ความจริงตั้งแต่ตอนแรกคิดไว้อยู่แล้วว่าคงจะไม่ติดรอบ PORT เลยไม่ได้เน้นเรื่องการเก็บผลงานมาก แต่จะไปทุ่มเทอ่านหนังสือทำเกรดแทนค่ะ แต่ก็จะมีผลงานในโรงเรียนไปค่ายวิชาการต่าง ๆ จิตอาสา กีฬาสี ผลการสอบวัดระดับภาษาแทนค่ะ

 Q : ตอนสอบสัมภาษณ์เป็นอย่างไร มีคำถามอะไรบ้าง

A : เนื่องจากคณะที่หนูเข้าเป็นคณะที่คิดค้นนวัตกรรมหลักสูตรนานาชาติ คณะกรรมการก็จะถามคำถามเป็นภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาไทย เราสามารถเลือกได้ว่าจะตอบเป็นภาษาไหนก็ได้ เช่น ถ้าคุณเรียนที่นี่ คุณอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไรบ้าง, ถ้าเข้ามาเรียนจะไหวหรือเปล่า, ในการเรียนหลักสูตรนานาชาติที่ค่าเทอมค่อนข้างสูง แต่อาจารย์ก็บอกมาว่า ไม่ต้องห่วงเพราะจะมีการจัดแข่งขันประกวดชิงเงินรางวัลได้ด้วยค่ะ

Q : เข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติ ควรเตรียมตัวอย่างไร

A : อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ ให้เตรียมตัวให้พร้อม ทั้งในด้านภาษาและวิชาการ ตัวของพี่ตั้งแต่ม.4 ก็เข้าเรียนคอร์สปูพื้นฐานทั้งหมดของ ม.ต้น กับ WE  BY THE BRAIN พอขึ้นม.ปลาย ก็ได้ลงเป็นคอร์ส ULTIMATE สอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียนทั้งวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ถึงแม้พี่จะติดมหาวิทยาลัยตั้งแต่รอบแรก แต่การเรียนที่ WE มันดีมากเลย เพราะช่วยทำให้พี่สอบ GET-PAT ได้คะแนนตรงตามเป้าค่ะ

Q : ฝากถึงน้อง ๆ รุ่นต่อไปที่อยากยื่นรอบ Portfolio หน่อย

A : สำหรับน้อง ๆ ที่อยากจะเข้ารอบ PORT พี่ก็อยากจะแนะนำว่า ให้รู้ตัวเองให้เร็วที่สุดว่าอยากเข้าคณะอะไร ส่วนถ้ามีกิจกรรมอะไร ไม่ต้องเขินอาย ไม่ต้องกลัวว่าไม่มีเพื่อนไป ให้เราไปทำเถอะ เพราะมันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราเข้าคณะที่ตั้งใจ และอย่างหนึ่งที่อยากจะบอกมาก ๆ การศึกษาก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นการลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่คุ้มค่า

การลงเรียนพิเศษจะช่วยต่อยอดความรู้ เพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เลยอยากแนะนำน้อง ๆ ที่อาจไม่เข้าใจเนื้อหาในโรงเรียน เหมือนพี่ที่เรียนที่โรงเรียนบางเรื่องก็ไม่เข้าใจ บางอย่างไม่ได้อยู่ในหลักสูตร อย่างพี่จะเข้าคณะวิศวะฯ แต่โรงเรียนไม่ได้สอนในส่วนของวิศวะเลย การมาเรียนที่ WE เป็นสิ่งดีมาก เพราะว่าเนื้อหาที่WE ก็ช่วยพี่ในคะแนนสอบ GET-PAT ในระดับหนึ่งเลยค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะน้อง ๆ จะเห็นว่า Portfolio ของรุ่นพี่ WE ทั้ง 3 คนนั้น เต็มไปด้วยผลงานและเกียรติบัตรที่เกี่ยวข้องกับคณะที่ยื่นเข้าศึกษา น้อง ๆ สามารถดูเป็นตัวอย่าง และนำไปประยุกต์ใช้กับคณะที่จะยื่นเข้าได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำไปดัดแปลง หรือเผยแพร่ที่อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานโดยตรงนะคะ

 
สุดท้าย การยื่น Portfolio รอบ 1 TCAS 65 น้อง ๆ ต้องวางแผนให้ดี ถ้าน้องคนไหนยังไม่เริ่มวางแผน ต้องเริ่มทำได้แล้วนะคะ ขอให้น้องทุกคนโชคดีค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ