Test Blueprint มาแล้วนะคะน้อง ๆ ถือได้ว่าลุ้นกันนานพอสมควรกับการประกาศเนื้อหาการสอบ หรือที่เรียกกันว่า Test Blueprint ซึ่งได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ทั้ง GAT/PAT และวิชาสามัญ วันนี้พี่วีวี่ก็เลยถือโอกาสนี้รวบรวมข้อมูลในประกาศมาให้น้อง ๆ ได้อ่านกัน โดยวันนี้รวบรวมมาเฉพาะ PAT1 เท่านั้น เพราะเห็นน้อง ๆ หลายคนค่อนข้างที่จะมีอาการมึนงงกันอยู่บ้าง และยังรวบรวมการประกาศรูปแบบและจำนวนข้อสอบ มาให้น้อง ๆ ด้วย งั้นตอนนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า Test Blueprint PAT1 จะออกเนื้อหาอะไรกันบ้าง?
PAT 1 คือ ความถนัดทางคณิตศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นวิชาที่หินสุด ๆ และใช้เป็นส่วนประกอบในการเข้าเรียนคณะต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือล่าสุดอย่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ที่มีการเพิ่มองค์ประกอบเข้ามาด้วย ดังนั้นสำหรับใครที่ลงสอบควรจัดตารางเวลาให้ดี ๆ กันด้วยนะคะ ซึ่งจะสอบในวันเสาร์ ที่ 20 มี.ค. 64 เวลา 13.00 – 16.00 น. โดยในวันนี้พี่ได้สรุปรูปแบบ จำนวนข้อ รวมถึงเวลาในการทำข้อสอบมาบอกน้อง ๆ จะเป็นยังไงไปดูกันเลย
รูปแบบข้อสอบ
- ปรนัย 5 ตัวเลือก 1 คำตอบ 35 ข้อ 210 คะแนน
- ระบายคำตอบที่เป็นค่าตัวเลข 10 ข้อ 90 คะแนน
จำนวนข้อสอบ
- รวมทั้งหมด 45 ข้อ
คะแนน
- รวม 300 คะแนน
มีเวลาในการทำข้อสอบ
- 3 ชม.
เนื้อหาที่ออกสอบและการวัดสมรรถนะทางคณิตศาสตร์
- สำหรับผังการสร้างข้อสอบ Test Blueprint ในปีนี้มีความแปลกกว่าทุกปี เพราะใน Test Blueprint ไม่ได้บอกเฉพาะเจาะจงบทออกมาชัดเจน แต่ได้บอกเกี่ยวกับการวัดสมรรถนะ 3 ด้าน พี่วีวี่จึงนำข้อมูลมาฝากน้อง ๆ โดยเป็นการขยายความจากประกาศ เพื่อช่วยเป็นแนวทางในการอ่านหนังสือ จะมีเนื้อหาอะไรบ้างเราไปดูกันเลยค่ะ
1. การเชื่อมโยงความรู้
หลักสูตรได้อธิบายความหมายไว้ว่าการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการคิด วิเคราะห์และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการนำ ความรู้เนื้อหา และหลักการทางคณิตศาสตร์มาสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลระหว่างความรู้และทักษะและกระบวนการที่มีในเนื้อหาคณิตศาสตร์กับงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและการเรียนรู้แนวคิดใหม่ที่ซับซ้อนหรือสมบูรณ์ขึ้น
2. การแก้ไขปัญหาและการใช้เหตุผล
เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนควรจะเรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาให้เกิดทักษะขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ให้ผู้เรียนมีแนวทางในการคิดที่หลากหลาย รู้จักประยุกต์และปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาให้เหมาะสม รู้จักตรวจสอบและสะท้อนกระบวนการแก้ปัญหา รวมทั้งมีนิสัยกระตือรือร้น ไม่ย่อท้อ รวมถึงมีความมั่นใจในการแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน นอกจากนี้การแก้ปัญหายังเป็นทักษะพื้นฐานที่ผู้เรียนสามารถนำ ไปใช้ในชีวิตจริง
3. การสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์
ความสามารถในการใช้รูป ภาษา และสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ในการสื่อสาร สื่อความหมาย สรุปผล และนำเสนอได้อย่างถูกต้องและชัดเจนการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ เป็นกระบวนการสื่อสารที่นอกจากนำเสนอผ่านช่องทางการสื่อสาร การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน การสังเกต และการแสดงท่าทางตามปกติแล้ว ยังเป็นการสื่อสารที่มีลักษณะพิเศษ โดยมีการใช้สัญลักษณ์ตัวแปร ตาราง กราฟ สมการ อสมการ ฟังก์ชัน หรือแบบจำลอง เป็นต้น มาช่วยในการสื่อความหมายด้วย
โดยข้อสอบมีขอบเขตเนื้อหาตามสาระการเรียนรู้แกนกลางและสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม (ฉบับปรับปรุง 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ประกอบด้วย
1. จำนวนและพีชคณิต
- เซต
- ตรรกศาสตร์
- จำนวนจริง
- ความสัมพันธ์และฟังก์ชัน
- ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอกาลิทึม
- ฟังก์ชันตรีโกณมิติ
- เมทริกซ์
- จำนวนเชิงซ้อน
- ลำดับและอนุกรม
2. การวัดและเรขาคณิต
- เรขาคณิตวิเคราะห์
- เวกเตอร์ในสามมิติ
3. สถิติและความน่าจะเป็น
- หลักการนับเบื้องต้นและความน่าจะเป็น
- สถิติ
- การแจกแจงความน่าจะเป็นเบื้องต้น
4. แคลคูลัส
- แคลคูลัสเบื้องต้น
วิเคราะห์ เจาะลึก PAT 1 ออกบทไหนบ้าง
โดยสถิติเฉลี่ยย้อนหลังน้องจะได้เห็นบทที่ออกสอบเยอะที่สุดโดยเรียงตามลำดับ นั่นคือ 1. ฟังก์ชัน 2.แคลคูลัสเบื้องต้น 3. สถิติ 4. ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอกาลิทึม 5. ฟังก์ชันตรีโกณมิติ ซึ่ง 5 บทนี้เป็นบทที่ออกเยอะที่สุด วันนี้พี่วีวี่จะพาน้องมาวิเคราะห์แนวโน้มข้อสอบที่จะออกสอบใน PAT1 64
จากการสำรวจข้อมูล พบว่าบทที่ออกในปีก่อน ๆ แล้วหายไปจาก Test Blueprint คือ เรื่องกำหนดการเชิงเส้น และยังมีบทที่เพิ่มเข้ามาตามหลักสูตรใหม่นั่นคือ “ตัวแปรสุ่มและการแจกแจงความน่าจะเป็น” อาจจะคาดการณ์ได้ว่า ใน ปี 64 นี้บทใหม่นั้นน่าจะออกประมาณ 1 ข้อมาแทนที่เรื่องกำหนดการเชิงเส้น และความถนัดทางคณิตศาสตร์อื่น ๆ ในหมวดพีชคณิต ซึ่งเคยออกทุกปี ปีละประมาณ 2 ข้อ ก็อาจจะออกเช่นเดิม สุดท้ายในบทจำนวนจริงของหลักสูตรใหม่เพิ่มหัวข้อ พหุนามและเศษส่วนพหุนามเข้ามา รวมถึง ในบทลำดับอนุกรมก็เพิ่มหัวข้อเรื่องดอกเบี้ย, มูลค่าของเงินตามเวลาและค่างวด ก็ควรอ่านเรื่องเหล่านี้ด้วย
ดังนั้นน้องควรเริ่มหาข้อมูลและระเบียบการของมหาวิทยาลัยที่น้องสนใจ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเตรียมตัววางแผน จะได้เตรียมตัวได้ถูกต้องไม่เสียเวลา สนามไหนที่เขาว่ายากอย่าง PAT1 หากเราเตรียมตัวพร้อมรับรองเลยว่าผ่านไปได้แน่นอน วันนี้พี่ได้รวมคณะที่ใช้คะแนน PAT1 ในรอบ Admission รูปแบบที่ 2 มาฝากน้อง ๆ ด้วยนะคะ สำหรับ GPAX และ O-NET ทุกคณะ/สาขาวิชากำหนดใช้ค่าน้ำหนักเท่ากันหมด มี GAT/PAT ที่แต่ละคณะ/สาขาวิชากำหนดใช้ไม่เท่ากัน จะเป็นยังไงไปดูกันเลย!!
สัดส่วนคะแนนคณะที่ใช้ PAT 1 ในรอบ Admission รูปแบบที่ 2 มีคณะไหนบ้าง?
น้อง ๆ คนไหนสนใจคณะที่ใช้คะแนน PAT1 บ้าง? หลังจากนี้พี่วีวี่คิดว่าน้องคงต้องเตรียมตัวอย่างจริงจังได้แล้ว เพราะคณะที่ใช้ PAT1 นั้นมีไม่น้อยเลยทีเดียว นั่นแสดงว่าน้องสามารถเลือกตัวเลือกที่หลากหลายได้ แต่อย่างไรก็ตามหากน้องอยากเพิ่มและเสริมความมั่นใจ บอกได้เลยว่า เข้มครบ ทั้งเนื้อหาและสุดยอดเทคนิคมีให้น้อง ๆ เพียบ กับ คอร์ส ULTIMATE MATHS ที่มีข้อสอบมากมายให้น้อง ๆ ได้ฝึกสมองไปด้วยกัน ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดเหมือนที่เขาพูดไว้ว่า “เป้าหมายของเราจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการวางแผน เราต้องเชื่อมั่นและทำมันอย่างจริงจัง ซึ่งนี่เป็นทางเดียวที่จะนำทางไปสู่ความสำเร็จได้” นั่นเอง