Hello น้อง ๆ บทความนี้พี่ยูจะมาชวนเมาท์มอยเรื่อง การเตรียมตัวสอบเข้า ม.1 วิชา ภาษาไทย ใคร ๆ ก็มักพูดว่า เป็นวิชาที่ง่าย อ่านเองได้ แต่เชื่อมั้ยว่า มีผู้เข้าสอบน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยในแต่ละปีที่ทำคะแนนวิชานี้ได้เต็มหรือเกือบเต็ม ในขณะที่วิชาหิน ๆ อย่าง คณิตศาสตร์ หรือ ภาษาอังกฤษ ยังมีจำนวนคนที่ทำคะแนนได้เต็มหรือเกือบเต็มมากกว่าอีก น้อง ๆ ว่าจริงมั้ย ?!?
เอาล่ะ มาล้อมวงกันกงนี้มา พี่ยูจะเริ่มเก็งประเด็นที่น่าจะนำมาออกสอบหรือเคยพบว่าเป็นประเด็นท็อปฮิตติดดาว หรือเนื้อหาขาประจำ พูดง่าย ๆ ก็คือเคยเจออยู่ในข้อสอบสอบเข้า ม. 1 โรงเรียนต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง
เนื้อหาสาระที่พี่ยูแบ่งมาให้ ก็จะแบ่งตามหลักสูตรแกนกลาง 5 สาระในวิชาภาษาไทย ได้แก่ การอ่าน การเขียน การฟัง ดู พูด หลักการใช้ภาษา วรรณคดีและวรรณกรรม ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดนี้ กรรมการจะออกข้อสอบครบทุกประเด็นตามแบบเรียนของหนังสือเรียนกระทรวงฯ แต่กำลังจะบอกว่าพวกนี้เป็นประเด็นที่มักนำมาออกสอบของแต่ละสาระ ไม่ควรพลาด ควรเตรียมตัวไปก่อน ฝึกทำข้อสอบเก่าหรือแนวข้อสอบเสมือนจริงไปให้เยอะที่สุด โดยเฉพาะการจับเวลาเสมือนจริงทุกครั้ง รายข้อ เสมือนเป็นวันสอบจริงทุกครั้งที่ได้ลงมือทำด้วยจะสมบูรณ์แบบสุด ๆ
1. การอ่าน มักออกเรื่อง
– การจับใจความ การหาสาระสำคัญของเรื่อง หาส่วนสรุปของเรื่อง หรือแม้กระทั่งการตั้งชื่อบทความที่กำหนดมาให้
– การอ่านออกเสียงศัพท์ ที่เคยพบโดยมากมักจะให้เรานับจำนวนพยางค์ หรือนับพยางค์ นอกจากนี้ก็จะมีการทดสอบให้อ่านออกเสียงคำศัพท์ยาก หรือคำที่อ่านได้หลายแบบ หรือคำที่มักจะออกเสียงผิด
– การอ่านเว้นวรรคตอน ใครเคยทำข้อสอบ O-NET ป.6 ของ สทศ. หลายปี หลายฉบับก็มีข้อสอบประเภทที่ให้ดูว่าข้อใดอ่านเว้นจังหวะร้อยกรองได้ถูกต้อง
– การอ่านกราฟ แผนภูมิ ฯลฯ แนวนี้เป็นข้อสอบไม่ยากมากนัก เคยออกประเภทอ่านแผนที่กราฟข้อมูลประเภทต่าง ๆ เช่น กราฟแท่ง หรือตารางบรรจุข้อมูลที่ไม่ซับซ้อนนัก จะเรียกว่าแจกคะแนนก็ได้นะ
2. การเขียน ประเด็นที่ออกบ่อย ๆ คือ
– โวหารการเขียน เน้นที่ บรรยายโวหาร กับ พรรณนาโวหาร ถ้ามีเวลาหาอ่านอธิบายโวหารเพิ่มก็จะดี
– การเขียนเรียงความ เน้นเรื่ององค์ประกอบของการเขียนเรียงความทั้ง 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้องเรื่อง และส่วนสรุป
– การเขียนย่อความ เน้นที่รูปแบบการใช้ภาษาในการย่อความ เช่น การใช้สรรพนาม การถอดเครื่องหมายอัญประกาศ การถอดคำประพันธ์ ฯลฯ
– การเขียนจดหมาย เน้นเรื่อง คำขึ้นต้น คำลงท้ายของจดหมายประเภทต่าง ๆ
– การเขียนสะกดคำ เน้นคำที่มักจะสะกดผิด ซึ่งอาจหาตัวอย่างที่ดีที่รวบรวมไว้แล้วในหนังสือ “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร” ของราชบัณฑิตยสภา หรือ แผ่นพับ “ผิดบ่อยอย่าปล่อยผ่าน” ที่พี่ยูเก็งคำศัพท์ไว้
3. การฟัง ดู พูด ในภาพรวมของข้อสอบสนามสอบเข้าสาระนี้ออกข้อสอบน้อย ไม่ได้บ่อยมาก พี่ยูขอเน้นแค่ 2 หัวข้อ คือ
– การวิเคราะห์น้ำเสียงผู้พูด ออกไม่บ่อย ถือว่าเป็นข้อสอบค่อนข้างยาก เพราะต้องตีความจากถ้อยคำและบริบท จากนั้นเทียบข้อมูลกับตัวเลือกที่สอดคล้องกัน
– การพูดในโอกาสต่าง ๆ โดยมากมักกำหนดโอกาสหรือสถานการณ์มาให้แล้วให้เลือกประเด็นหรือหัวข้อที่จะนำไปพูดในโอกาสหรือสถานการณ์นั้น ๆ
4. หลักการใช้ภาษา สาระนี้เป็นสาระที่สำคัญที่สุด เพราะออกเยอะที่สุด สาระนี้น้องใส่ดอกจันไว้เลย เรื่องอะไรบ้างที่พื้นฐานต้องแน่นเป๊ะ ก่อนไปถึงสนามจริง เตรียมแคปหน้าจอไว้ทบทวนได้เลย
– อักษรควบ อักษรนำ ออกข้อสอบบ่อยมาก มักให้วิเคราะห์จากคำหรือข้อความที่กำหนด
– ชนิดและหน้าที่ของคำ เจาะที่ชนิดย่อยของคำนาม (เน้นลักษณนาม) และชนิดย่อยของ
– คำกริยา ที่ควรอ่านเพิ่มให้เป๊ะคือ คำบุพบทและคำสันธาน
– คำและความหมาย เน้นเรื่องการใช้คำให้ถูกต้องเหมาะสมตามบริบท + คำพ้อง ความหมาย (คำไวพจน์) คำพ้องรูป คำพ้องเสียง
– สำนวนไทย เรื่องนี้ออกสอบแน่นอนเกือบทุกโรงเรียน เน้นใช้สำนวนให้ถูกต้องตามสถานการณ์ สรุปแล้วต้องรู้จักสำนวนเยอะ ๆ พร้อมกับความหมายที่ถูกต้อง
– คำไทยแท้และคำยืม เน้นหลักการสังเกตคำยืมที่มาจากบาลี สันสกฤต
– โครงสร้างประโยค มักถามเรื่องโครงสร้างประโยคที่สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ และต้องไม่พลาดโครงสร้างชนิดย่อยของประโยคอีก 3 ชนิด คือ ประโยคสามัญ ประโยครวม และประโยคซ้อน
– ระดับภาษา ส่วนใหญ่ข้อสอบมุ่งให้วิเคราะห์ภาษาใน 2 ระดับ คือทางการกับไม่เป็นทางการ
– ราชาศัพท์ ออกสอบบ่อยมาก ๆ ฝึกทำข้อสอบเก่าไปเยอะ ๆ เน้นการใช้นามราชาศัพท์และกริยาราชาศัพท์ให้เหมาะสมกับพระบรมวงศ์และพระอนุวงศ์ให้ถูกต้อง
– ฉันทลักษณ์ เน้นกลอนสุภาพ กลอนดอกสร้อย กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 กาพย์สุรางคนางค์ 28
5.วรรณคดีและวรรณกรรม ข้อสอบมักให้วิเคราะห์คุณค่าด้านต่าง ๆ
– คุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ เป็นคุณค่าด้านภาษา เน้นกลวิธีการประพันธ์และภาพพจน์ประเภทต่าง ๆ เช่น การสรรคำ การเล่นสัมผัส การเล่นคำ การซ้ำคำ อุปมา อุปลักษณ์ สัทพจน์ อติพจน์ บุคคลวัต
– คุณค่าทางด้านจริยธรรม มักให้สรุปข้อคิดจากคำประพันธ์ที่กำหนด เท่ากับต้องถอดคำประพันธ์หรือจับประเด็นสำคัญให้ได้ แล้วเทียบกับตัวเลือก
– คุณค่าด้านความรู้ ยังคงต้องอ่านจับประเด็นหรือแปลความคำศัพท์หรือวรรคสำคัญที่แสดงวัฒนธรรม ค่านิยม หรือประเพณี ที่แทรกอยู่ในคำประพันธ์ที่โจทย์กำหนดมาให้
รีวิวครบทั้ง 5 สาระแบบเข้ม ๆ จุก ๆ แล้ว พี่ยูขอเน้นย้ำอีกหลาย ๆ รอบว่า สาระหลักการใช้ภาษา การอ่าน วรรณคดีฯ ออกสอบในสัดส่วนที่สูงมาก ต้องเตรียมพร้อมให้ดี ให้แม่น ให้เป๊ะที่สุด
นอกจากนี้น้องควรฝึกทำข้อสอบเพิ่ม ฝากไปทำเพิ่ม ใครอยากที่จะสตรอง ใครอยากที่จะแข็งแกร่งวิชาภาษาไทย ควรจะไปหาข้อสอบจริงทุกฉบับที่ผ่านมาของโรงเรียนนั้น ๆ ที่น้องเลือก ถ้าหาข้อสอบจริงได้ คือเลิศสุด ถัดมาข้อสอบ pre-test ที่โรงเรียนนั้นจัดสอบ มีหลายโรงเรียนนะที่พี่ยูพบว่า มีการจัดสอบสนามจำลองก่อนถึงวันสอบจริง ก็เอามาเป็นแนวได้ ลองหาข้อสอบเหล่านั้นมาทำ ส่วนข้อสอบ O-NET ถ้าใกล้ของเราที่สุดคือ ป.6 ล้ำลึกขึ้นไปหน่อยคือ O-NET ม.3 ที่ไม่ควรพลาดเลยนะน้องนะก็คือ ข้อสอบเก็งแบบที่พี่ยูนำมาสอนน้อง ๆ ในคลิปต่าง ๆ ใน YouTube chanal เน้นจากปีล่าสุดก่อน ทำมากข้อยิ่งดีค่ะ
พี่ยูก็ขอให้น้อง ๆ ทุกคนสอบวิชาภาษาไทย ได้คะแนนปัง ๆ สูง ๆ เต็มไปเลยก็ยิ่งดี มีคะแนนจากวิชาอื่น ๆ มาเติมเต็มเราให้สามารถสอบเข้า ม.1 โรงเรียนที่มุ่งหวังตั้งใจเอาไว้ มีความสุขในการเรียนชั้น ม.ต้น ไม่ว่าจะโรงเรียนไหนก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ