รู้จักไหม? IJSO คืออะไร

IJSO-คืออะไร
รู้จักไหม? IJSO คืออะไร

IJSO ย่อมาจาก International Junior Science Olympiad เป็นการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยจะรับสมัครนักเรียนที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี (ในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีการแข่งขัน) ซึ่งแต่ละประเทศสามารถส่งผู้แทนประเทศได้ 6 คน และอาจารย์ผู้ควบคุมทีมอีก 3 คน
สำหรับข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขัน IJSO จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

Multiple Choice Test

: เป็นข้อสอบแบบมีตัวเลือก คล้าย ๆ ข้อสอบที่เราทำประจำในโรงเรียน

Theoretical Test

: เป็นข้อสอบเชิงทฤษฎี โดยจะต้องเขียนคำตอบแบบเติมคำ ไม่มีตัวเลือกนะจ๊ะ

Practical Test

: เป็นข้อสอบแบบ LAB

และข้อสอบทั้งสามประเภทนี้จะจัดทดสอบในรายวิชาฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา โดยรางวัลสำหรับการแข่งขันจะมีทั้งเหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และรางวัลพิเศษอื่น ๆ ซึ่งปี 61 นี้จะเป็นการแข่งขัน IJSO ครั้งที่ 15 จัดขึ้นที่เมือง Gaborone ประเทศ Botswana ในช่วงวันที่ 2 – 11 ธันวาคม 2561 ดูรายละเอียดการแข่งขันเพิ่มเติม คลิก
ถึงแม้ว่าการคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน IJSO ครั้งที่ 15 จะรับสมัครไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 แล้ว แต่น้อง ๆ ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการเตรียมตัวในปีต่อ ๆ ไปได้ค่ะ ว่าแล้วมาดูกันเลย

การคัดเลือกเพื่อเป็นผู้แทนประเทศไปแข่งขัน IJSO 2018 (ครั้งที่ 15)

  • คุณสมบัติผู้สมัคร
  1. กำลังศึกษาในชั้น ป.6, ม.1 – ม.3 ณ วันที่สมัคร มีคะแนนเฉลี่ยในรายวิชาพื้นฐานกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ไม่ต่ำกว่า 3.50 หรือผลการเรียนดี พร้อมทั้งมีผลงานทางวิทยาศาสตร์ดีเด่น (ต้องมีใบรับรองจากสถานศึกษา)
  2. ต้องเกิดในวันที่ 1 มกราคม 2546 หรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2546
  3. อายุไม่เกิน 15 ปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561
  4. สัญชาติไทย
  5. ผู้ปกครองยินยอมให้เข้าค่ายอบรม (ถ้าได้รับคัดเลือกจะต้องมีเวลาอบรมไม่น้อยกว่า 80 % ของแต่ละวิชา)
  6. โรงเรียนรับรองโดยผู้อำนวยการโรงเรียน (หรือรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หรือหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ได้รับมอบหมาย)
  7. สำหรับนักเรียนโฮมสคูล ต้องรับรองโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
  8. สำหรับนักเรียน รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย, รร.สาธิต มศว ปทุมวัน และรร.แสงทองวิทยา การสอบคัดเลือกรอบ 1 และรอบ 2 ให้อยู่ในการดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อคัดผู้แทนนักเรียน รร.ละ 6 คน เข้าร่วมการอบรมในค่ายของมูลนิธิ สอวน.
  9. ต้องไม่เคยเป็นผู้แทน IJSO
  • การสอบคัดเลือก

สอบคัดเลือกรอบที่ 1

รอบนี้จะมีการจัดสอบในวิชาคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา (สอบวิชาละ 1 ชั่วโมง 30 นาที) โดยจะคัดเลือกผู้สมัครสอบจากทั่วประเทศไว้ประมาณ 300 คน รวมโควตาเขตพื้นที่, โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จาก สสวท. 60 คน, ผู้แทนประเทศไทยจากการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษาจาก สพฐ 18 คน (ยกเว้น รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย, รร.สาธิต มศว ปทุมวัน และ รร.แสงทองวิทยา)

สอบคัดเลือกรอบที่ 2

ในรอบที่ 2 จะมีการจัดสอบในวิชาฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา (สอบวิชาละ 1 ชั่วโมง 30 นาที) เพื่อคัดเลือกนักเรียนประมาณ 30 คน เข้าอบรม  (ไม่รวม รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย 6 คน, รร.สาธิต มศว ปทุมวัน 6 คน และรร.แสงทองวิทยา 6 คน)

สอบคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย

หลังผ่านการคัดเลือกรอบที่ 2 น้อง ๆ จะต้องเข้าอบรมและต้องผ่าน 80 % ของเวลาการอบรมแต่ละวิชา จึงจะมีสิทธิ์สอบคัดเลือก โดยจะมีการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยจำนวน 6 คน และสำรอง 4 คน

* นี่เป็นตัวอย่างเกณฑ์การคัดเลือกผู้แทนไปแข่งขัน IJSO ครั้งที่ 15 สำหรับน้องที่จะสมัครในครั้งต่อ ๆ ไปให้ติดตามประกาศจากปีนั้น ๆ

เป็นยังไงกันบ้างคะกว่าจะได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขัน IJSO ต้องผ่านการทดสอบตั้งหลายด่านเชียว น้อง ๆ คนไหนที่สนใจก็เตรียมตัวฟิตไว้ให้พร้อมสำหรับการรับสมัครคัดเลือก IJSO ครั้งที่ 16 ในปลายปี 2561 นี้ได้เลย ซึ่งน้อง ๆ สามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดการรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.posn.or.th เลยค่ะ

ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561

อ้างอิง

–  ijsoweb.org
–  posn.or.th
–  wikipedia.org/wiki/วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ_ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ