How to ม.2 เทอม 2 เตรียมตัวยังไงให้ Success สอบติดโรงเรียนในฝัน

เตรียมตัวยังไงให้ Success สอบติดโรงเรียนในฝัน

ม.2 เทอม 2 คือช่วงเวลาที่เลยครึ่งทางสำหรับการเป็นนักเรียน ม.ต้น เป็นช่วงเวลาที่ใครหลาย ๆ คนกำลังมีเป้าหมาย มีโรงเรียนในฝัน มีแผนการเรียนที่อยากเรียน หรือน้อง ๆ บางคนอาจจะถึงขั้นมีคณะและมหาลัยที่อยากเข้ากันแล้ว ดังนั้นเพื่อให้น้องสามารถก้าวเดินไปยังเป้าหมายได้อย่างมั่นใจ ทำได้อย่างที่ฝัน สอบติด ม.4 โรงเรียนที่ต้องการ บทความนี้พี่วีวี่จึงจะขอพาน้อง ๆ ทุกคน มามองภาพรวมของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับชั้น ม.2 เทอม 2 ว่าเรียนอะไรบ้างและต้องเตรียมตัวยังไงให้ Success ทำได้อย่างที่ฝัน สอบติดได้อย่างที่ตั้งใจกัน ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย

เนื้อหา ม.2 เทอม 2 ต้องเจอบทอะไรบ้าง

บทความนี้พี่วีวี่จะขอเจาะลึกไปที่เนื้อหาที่จะได้เรียนกันของวิชาคณิตศาสตร์นะคะ (หากน้อง ๆ อยากดูเนื้อหาที่เรียนในระดับชั้น ม.ต้น ในวิชาอื่น ๆ น้อง ๆ สามารถเข้าไปดูได้ตามลิงก์นี้ได้เลย วิทยาศาสตร์ ม.ต้น ภาษาไทย ม.ต้น) สำหรับเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ ม.2 เทอม 2 นั้น น้องๆจะได้เรียนทั้งหมด 5 บท ได้แก่ สถิติ (2), ความเท่ากันทุกประการ, เส้นขนาน, การให้เหตุผลทางเรขาคณิต และการแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง โดยเมื่อเจาะลึกเข้าไปในเนื้อหาแต่ละบทเรียนของวิชาคณิตศาสตร์
บท สถิติ (2)

จะเรียนในเรื่อง

  • แผนภาพจุด
  • แผนภาพต้น – ใบ
  • ฮิสโทแกรม
  • ค่ากลางของข้อมูล

ซึ่งบทนี้เมื่อเรียนแล้วน้อง ๆ ต้องสามารถนำเสนอ อ่านและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยแผนภาพจุด แผนภาพต้น – ใบ และฮิสโทแกรมได้ ที่สำคัญน้องต้องสามารถหา เปรียบเทียบค่ากลางของข้อมูล(ค่าเฉลี่ยเลขคณิต มัธยฐาน และฐานนิยม)ได้ ซึ่งหัวข้อนี้ข้อสอบสอบเข้า ม.4 โรงเรียนชั้นนำหรือแม้กระทั่งการสอบในโรงเรียนเองก็มักหยิบมาออกข้อสอบเสมอ น้อง ๆ ควรจะฝึกหาให้คล่องและตีความให้เป็นนะ

บท ความเท่ากันทุกประการ

จะเรียนในเรื่อง

  • ความเท่ากันทุกประการของรูปเรขาคณิต
  • ความเท่ากันทุกประการของรูปสามเหลี่ยม
  • รูปสามเหลี่ยมสองรูปที่สัมพันธ์กันแบบ ด้าน-มุม-ด้าน
  • รูปสามเหลี่ยมสองรูปที่สัมพันธ์กันแบบ มุม-ด้าน-มุม
  • รูปสามเหลี่ยมสองรูปที่สัมพันธ์กันแบบ ด้าน-ด้าน-ด้าน
  • รูปสามเหลี่ยมสองรูปที่สัมพันธ์กันแบบ มุม-มุม-ด้าน
  • รูปสามเหลี่ยมสองรูปที่สัมพันธ์กันแบบ ฉาก-ด้าน-ด้าน
  • การนำไปใช้

บทนี้น้อง ๆ ต้องเข้าใจถึงการเท่ากันทุกประการของรูปเรขาคณิต ว่ารูปเรขาคณิตสองรูปที่เท่ากันทุกประการเมื่อทั้งสองรูปนั้นมีรูปร่างเหมือนกัน และมีขนาดเท่ากัน และในบทนี้จะเน้นเรื่องความเท่ากันทุกประการของรูปสามเหลี่ยมเป็นพิเศษซึ่งมีหลายแบบ เช่น ด้าน-มุม-ด้าน มุม-ด้าน-มุม ด้าน-ด้าน-ด้าน มุม-มุม-ด้าน หรือ ฉาก-ด้าน-ด้าน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยในการแก้โจทย์ทางเรขาคณิตยาก ๆ ได้เป็นอย่างดี

บท เส้นขนาน

จะเรียนเรื่อง

  • เส้นขนานและมุมภายใน
  • เส้นขนานและมุมแย้ง
  • เส้นขนานและมุมภายนอกกับมุมภายใน
  • เส้นขนานกับรูปสามเหลี่ยม

ซึ่งบทนี้จะเป็นบทที่ต่อยอดมาจากตอนประถมที่น้อง ๆ ได้เรียนในเรื่องเส้นขนานกันไป จะมีความยากและความซับซ้อนเพิ่มขึ้น แต่จริง ๆ แล้วก็ถือได้ว่ายังไม่ใช่บทที่ยากมากเมื่อเทียบกับบทอื่น ๆ ที่สำคัญข้อสอบสอบเข้า ม.4 ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) ยังเคยออกมาในพาร์ต SEEN อีกด้วย ถ้าไม่อยากพลาดคะแนนตอนสอบต้องฝึกให้คล่องนะน้อง ๆ

บท การให้เหตุผลทางเรขาคณิต

บทนี้จะเน้นไปในเรื่องของการพิสูจน์และการให้เหตุผลทางเรขาคณิต

  • ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการให้เหตุผลทางเรขาคณิต
  • การสร้างและการให้เหตุผลเกี่ยวกับการสร้าง
  • การให้เหตุผลเกี่ยวกับรูปสามเหลี่ยมและรูปสี่เหลี่ยม

บทนี้อาจจะไม่ค่อยเจอในข้อสอบสอบเข้า ม.4 สักเท่าไหร่แต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้บทใดใน ม.ต้น เลย เพราะบทนี้คือบทที่จะช่วยจัดลำดับความคิดทางเรขาคณิตซึ่งจะช่วยให้น้อง ๆ รับมือกับข้อสอบเรขาคณิตที่มีหลากหลายรูปแบบได้ และอย่างที่ทราบกันดีว่าข้อสอบเรขาคณิตสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯนั้นโหดสุด ๆ บทนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยน้อง ๆ รับมือกับข้อสอบได้นั่นเอง

บทสุดท้าย การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง

บทนี้คือบทที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดไปยังการเรียนคณิตศาสตร์ ม.3 อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นบทสำคัญที่มักเจอในข้อสอบสอบเข้า ม.4 โดยบทนี้จะเรียนเรื่อง

  • การแยกตัวประกอบของพหุนามโดยใช้สมบัติการแจกแจง
  • การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสองตัวแปรเดียว
  • การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสองที่เป็นกำลังสองสมบูรณ์
  • การแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสองที่เป็นผลต่างกำลังสอง

ในบทนี้น้องต้องแยกตัวประกอบพหุนามให้เป็น เข้าใจเรื่องของกำลังสองสมบูรณ์และผลต่างกำลังสองซึ่ง จะมีการใช้ต่อเนื่องอีกครั้งเมื่อน้องขึ้น ม.3 ที่จะต้องเรียนการแยกตัวประกอบพหุนามที่มีดีกรีสูงกว่าสอง สมการกำลังสอง กราฟของฟังก์ชันกำลังสอง ซึ่งบทเหล่านี้ล้วนใช้พื้นฐานจากการแยกตัวประกอบของพหุนามดีกรีสอง และที่สำคัญบทเหล่านี้เป็นบทที่มีสัดส่วนการออกข้อสอบสอบเข้า ม.4 มากกว่าบทอื่น ๆ ดังนั้นถ้าอยากจะเก็บคะแนนให้ได้มาก ๆ พื้นฐานต้องแข็งแกร่ง จึงจะต่อยอดไปยังบทอื่น ๆ ได้ไม่สะดุด

การเตรียมตัวสอบเข้า ม.4 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย หรือห้องGifted ต่าง ๆ ของโรงเรียนประจำจังหวัด น้อง ๆ ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่อยู่ ม.2 เทอม 2 หรืออย่างช้าที่สุด คือ ม.3 เทอม 1 เพราะหลาย ๆ โรงเรียนที่กล่าวมาบางโรงเรียนก็สอบคัดเลือกกันตั้งแต่น้อง ๆ ยังไม่จบ ม.3 บางโรงเรียนก็มีจำนวนวิชาสอบหลายวิชา การเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้น้องไปถึงเป้าหมายได้นั่นเอง

เทคนิคเตรียมตัวให้ Success สอบติด ม.4 โรงเรียนในฝัน

  • สิ่งที่น้อง ๆ ต้องรู้ก่อน คือ รู้ใจ รู้เป้าหมายของตัวเองว่าน้องอยากสอบเข้า ม.4 โรงเรียนอะไร แผนการเรียนไหนที่ใช่เรา เป้าหมายที่ชัดเจน คือ เข็มทิศชั้นดีที่จะพาเราไปยังทิศทางที่ถูกต้อง
  • เมื่อรู้แล้วว่าโรงเรียนที่น้องอยากเข้าคือโรงเรียนไหน สิ่งต่อมาที่ต้องรู้ คือ รู้วิชาที่ต้องสอบ โรงเรียนที่เราอยากเข้าต้องสอบวิชาอะไรบ้าง เช่น
  • ข้อสอบ MWIT จะสอบเพียง 2 วิชา นั่นคือ วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์โดยโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สถาบันไทยโคเซ็น (Kosen) โครงการ วมว. โครงการ พสวท. จะใช้ข้อสอบ MWIT ในรอบแรกร่วมกัน(น้องสามารถเข้าไปอ่านบทความ เจาะลึก แนวข้อสอบ MWIT ตามลิงก์ได้เลย)
  • ข้อสอบ KVIS ในรอบแรกจะสอบเพียง 2 วิชา นั่นคือ วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์เช่นกัน
  • ส่วนการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ก็จะต่างกันไปตามสายการเรียน
    • สายวิทย์-คณิต สอบทั้งหมด 5 วิชาคือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
    • ศิลป์คำนวณ สอบ 4 วิชา คือ คณิตศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
    • ศิลป์ภาษา สอบ 3 วิชา คือ สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
  • รู้ลำดับความสำคัญของแต่ละวิชาที่ต้องสอบ เพราะบางครั้งแต่ละวิชามีสัดส่วนคะแนนไม่เท่ากัน ความยากง่าย และธรรมชาติของวิชาแต่ละวิชาไม่เหมือนกัน ดังนั้น ต้องวางแผนให้ดีว่าวิชาไหนที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ วิชาไหนที่ต้องใช้เวลาอ่านเยอะ ต้องฝึกฝนเยอะเป็นพิเศษ เพื่อที่จะนำมาวางแผนจัดตารางการอ่านหนังสือ หรือเรียนพิเศษเพิ่มเติมต่อไปได้

 

  • วางแผนการอ่านหนังสือ หรือเรียนพิเศษให้ครอบคลุมวิชาและเนื้อหาที่ออกสอบ เนื่องจากวันสอบเข้าของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนกำเนิดวิทย์จะจัดสอบรอบแรกในช่วงเดือนพฤศจิกายน(ปีที่ผ่านมา MWIT สอบรอบแรกวันที่ 20 พฤศจิกายน และ KVIS สอบรอบแรกวันที่ 26 พฤศจิกายน) ส่วนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจะจัดสอบช่วงเดือนมีนาคมของปีถัดไป น้องจะเห็นว่าเวลาในการเตรียมตัวสอบเข้าของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน ดังนั้นอยากสอบเข้าโรงเรียนไหนก็ต้องจัดเวลา วางแผนอ่านหนังสือให้ดี หรือถ้าอยากหาตัวช่วยเสริมน้องก็สามารถเรียนพิเศษเพิ่มเติมในวิชาที่น้องต้องการได้ เพราะการเรียนพิเศษก็มีข้อดี คือ ช่วยลดเวลาในการเตรียมตัวสอบและการหาข้อสอบมาฝึกทำของเราได้เช่นกัน

 

  • ข้อสอบเก่าคือขุมทรัพย์อันล้ำค่า จะสอบติดโรงเรียนในฝันให้ Success การหาข้อสอบเก่าของสนามนั้นมาฝึกทำคือสิ่งจำเป็น เพราะข้อสอบเก่าจะเป็นตัวบอกใบ้ถึงสิ่งที่เราอาจจะต้องเจอในสนามสอบจริงได้ ต้องหาข้อสอบเก่ามาฝึกทำเยอะ ๆ ซึ่งหากน้อง ๆ อยากลดเวลาในการหาข้อสอบเก่าหรือแนวข้อสอบในสนามนั้น ๆ มาฝึกทำ น้องก็สามารถหาตัวช่วยเพิ่มเติมด้วยการเรียนพิเศษก็ได้เช่นกัน เพราะสถาบันหรือโรงเรียนกวดวิชาที่มีมาตรฐาน จะนำข้อสอบเก่าและข้อสอบเก็งที่ตรงตามแนวข้อสอบจริงมาสอน ซึ่งน้องก็จะได้ครบทั้งข้อสอบเก่าและแนวข้อสอบที่เก็งสำหรับสนามนั้นโดยเฉพาะ ที่สำคัญยังได้เทคนิคในการทำโจทย์เพิ่มเติมอีกด้วยนั่นเอง

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับน้อง ๆ ทุกคนที่กำลังเตรียมตัวหรือมีเป้าหมายที่จะสอบเข้าโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนะคะ สุดท้ายนี้พี่วีวี่ขอให้น้อง ๆ ที่อ่านบทความมาถึงบรรทัดนี้ประสบความสำเร็จสมดังที่ใจปรารถนา สอบติดในโรงเรียนที่น้อง ๆ ต้องการกันทุกคนนะคะ อย่าลืมมาเจอกับพวกพี่ ๆ WE Tutors ในคอร์สกันด้วยนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ