อยากติดวิศวะ ต้องสอบอะไรบ้าง 5 เทคนิคเตรียมตัวติดวิศวะ

TCAS66

คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะยอดฮิตของน้อง ๆ เป็นคณะที่ใครหลาย ๆ คนอยากจะสอบติด และถือเป็นอีกหนึ่งคณะที่มีการแข่งขันสูงในทุก ๆ ปี การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่จะพาเราไปยังเป้าหมาย และประสบความสำเร็จสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่างที่ตั้งใจ วันนี้พี่วีวี่จะมาสรุปให้น้อง ๆ ทุกคนได้รู้ว่าการสอบเข้าคณะวิศวะ ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง และเทคนิคการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการพิชิตเป้าหมายในครั้งนี้ต้องทำอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ

อยากเรียนวิศวะ ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง

สำหรับน้อง ๆ Dek66 ที่อยู่ในระบบ TCAS66 การสอบเข้าเพื่อเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์จะถูกแบ่งออกเป็น 4 รอบ คือ รอบ Portfolio, รอบ Quota, รอบ Admission และรอบ Direct Admission ซึ่งแต่ละรอบแต่ละมหาลัยจะมีจำนวนรับและเกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อที่แตกต่างกัน แต่พี่วีวี่เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่คงกำลังหมายมั่นหรือโฟกัสไปที่รอบ Admission ซึ่งสำหรับรอบนี้หลาย ๆ มหาลัยได้ประกาศเกณฑ์และน้ำหนักคะแนนที่ใช้ในการยื่นคัดเลือกมาแล้วโดยคะแนนวิชาหลัก ๆ ที่น้อง ๆ ควรจะต้องมีในมือเพื่อใช้ยื่น ได้แก่

1. ความถนัดทั่วไป (TGAT)
2. ความถนัดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ (TPAT3)
3. A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 (พื้นฐาน+เพิ่มเติม)
4. A-Level ฟิสิกส์
5. A-Level เคมี
6. เกรดเฉลี่ย

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ดูเกณฑ์น้ำหนักคะแนนเพิ่มเติมได้ที่ >> mytcas.com

จากเกณฑ์น้ำหนักคะแนนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่พี่วีวี่ได้ยกตัวอย่างมาน้อง ๆ จะเห็นว่าหลาย ๆ มหาลัยจะใช้คะแนนของวิชา ความถนัดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือ TPAT3 เป็นหลัก

ซึ่งสำหรับ TPAT3 จะมีความแตกต่างจาก PAT3 เดิมที่น้อง ๆ เคยได้ยินมา PAT3 จะเป็นการวัดความสามารถเชิงวิชาการที่น้องได้เรียนมา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ความถนัดทางวิศวกรรม ความรู้ทั่วไปเชิงวิศวกรรม และการเขียนแบบทางวิศวกรรม แต่สำหรับ TPAT3 จะเป็นการวัดความถนัดที่ไม่ได้เน้นในเชิงวิชาการหนัก ๆ เหมือน PAT3 (อ้างอิงจากตัวอย่างข้อสอบที่ทาง ทปอ. ได้ประกาศมา) 

เตรียมตัวยังไงให้ทัน ?

มีน้อง ๆ หลายคนถามพี่วีวี่เข้ามาว่า ถ้าเตรียมตัวตอนนี้ยังทันมั้ย พี่วีวี่ขอตอบเลยว่า ทัน !!! เตรียมตัวสอบวันนี้ ดีกว่าเริ่มเตรียมตัวพรุ่งนี้แน่ ๆ เพราะถ้าเริ่มพรุ่งนี้เราก็จะเสียเวลาวันนี้ไป 1 วันสำหรับการเตรียมตัวสอบ ดังนั้นเริ่มเตรียมตั้งแต่วันนี้ดีที่สุดนะน้อง ๆ ในช่วงเวลาที่เหลือเราต้องเตรียมอะไรบ้าง พี่วีวี่ขอเสนอแผนการเตรียมตัวสำหรับสอบเข้าคณะวิศวะให้น้อง ๆ ได้นำไปปรับใช้กันนะคะ

DEK66 เตรียมตัวยังไงให้ทัน

ช่วงเดือน พ.ย. จะเป็นช่วงเวลาที่น้อง ๆ ควรฝึกฝนทำโจทย์ TGAT และ TPAT3 แบบจริงจัง 

ควรจะหาข้อสอบมาทำเป็นชุด จำลองเหมือนสนามสอบจริง และหาเทคนิคในการทำโจทย์ที่ช่วยลดเวลาการทำโจทย์ในห้องสอบของเราลงได้มาฝึกให้คล่อง ถ้าอยากหาตัวช่วยในการเตรียมตัวสอบในช่วงนี้

น้องก็สามารถลงเรียนคอร์สตะลุยโจทย์ที่กระชับ ใช้เวลาไม่เยอะในการติว แต่ตรงประเด็น ตรงตาม Test Blueprint มีเทคนิคที่ใช้ได้จริงในห้องสอบ ซึ่ง We By The Brain ก็มีคอร์ส TPAT3 Battle field

ที่เป็นลักษณะติวเข้ม + ตะลุยโจทย์ แบบนี้เช่นกัน น้อง ๆ ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดคอร์ส TPAT3 Battle field ได้

ในช่วงเดือน ธ.ค. TGAT และ TPAT3 จะสอบในวันเดียวกัน คือ วันที่ 10 ธันวาคม 2565 ดังนั้นในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุดนะน้อง ก่อนวันสอบอย่าหักโหมอ่านหนังสือจนไม่ได้นอนนะ วันที่ 9 ควรจะเป็นวันพักผ่อนเคลียร์สมองก่อนสอบในวันรุ่งขึ้นนะ เตรียมตัวให้ดี อะไรที่ต้องเอาไปในวันสอบเตรียมให้พร้อมตั้งแต่วันที่ 9 นะน้อง ๆ 

วันที่ 10 ธันวาคม 2565 ขอให้เป็นวันที่ดีของเรา ขอให้น้อง ๆ ทำได้ ได้คะแนนอย่างที่เราต้องการ และใช้ยื่นเพื่อเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่น้อง ๆ ต้องการ ได้อย่างที่หวังกันทุกคนนะคะ หลังจากสอบเสร็จวันนี้เราต้องมาเก็บในส่วนของ A-Level วิชาที่เหลือที่เราต้องสอบแล้วนะ

5 เทคนิคเตรียมตัวติดวิศวะ

หาข้อมูลมหาลัยที่อยากเข้า และวางแผนการอ่านหนังสือให้ดี

ว่าที่เด็กวิศวะทุกคนจะมีสกิลแฝงบางอย่างที่ติดตัวเรามา นั่นคือการเป็นนักวิเคราะห์ หาข้อมูล และวางแผน ดังนั้นใช้มันให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ยังไม่เข้าเรียนในคณะเลยค่ะน้อง ๆ เราต้องเก็บข้อมูล ภาคและมหาลัยที่เราอยากเข้าว่าเค้าให้สัดส่วนน้ำหนักคะแนนเน้นไปที่วิชาไหน จุดไหนที่ต้องเน้นแล้ววางแผนการอ่านหนังสือในวิชานั้นแบบเน้น ๆ ไปเลย เช่น ถ้าเราอยากเข้าคณะวิศว จุฬาฯ ภาคทั่วไป เราจะเห็นแล้วว่านอกจากคะแนน TGAT และ TPAT3 เรายังต้องใช้คะแนนอีก 3 วิชา นั่นคือ A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 (พื้นฐาน+เพิ่มเติม) (20%) A-Level ฟิสิกส์ (20%) และ A-Level เคมี (15%) เราจะสามารถวางแผนได้แล้วว่าวิชาที่ต้องเน้น หลังจากสอบ TGAT TPAT3 ไปแล้วนั่นคือ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาฟิสิกส์ ( 2 วิชานี้สำคัญพอ ๆ กันหากดูจากน้ำหนักคะแนน ) และวิชาเคมี ( อันนี้ลำดับความสำคัญจะรองลงมา ) นั่นเอง

ทุกครั้งที่ทำโจทย์ ต้องวิเคราะห์จุดผิดพลาดของตัวเองเสมอ

อย่ากลัวการทำโจทย์แล้วผิด การทำแล้วผิด ทำแล้วไม่ตรงกับเฉลยในวันนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว จงกลัวการทำผิดในห้องสอบจะดีกว่า การทำผิดขณะเรากำลังฝึกนั่นคือจุดดีด้วยซ้ำ เพราะมันจะทำให้เราไม่ประมาท รอบคอบมากยิ่งขึ้นในห้องสอบ และทำให้เราอุดจุดอ่อนได้ทันเวลาก่อนวันสอบจริง เพราะฉะนั้นทำแล้วผิดต้องวิเคราะห์จุดผิดพลาดนั้นเสมอแล้ว Short Note เอาไว้ ตรงไหนไม่แม่น ตรงไหนที่ลืม ตรงไหนที่ยังไม่เข้าใจ ต้องกลับมาทบทวนซ้ำบ่อย ๆ นะน้อง

การจับเวลาเสมือนสอบจริง คือเรื่องที่ต้องทำ

คู่แข่งที่สำคัญในการสอบ ไม่ใช่เพื่อนเราที่นั่งอยู่โต๊ะข้าง ๆ แต่ คือ “เวลา” เราควรฝึกบริหารจัดการเวลาตั้งแต่ที่บ้าน ไม่ควรไปฝึกในห้องสอบเด็ดขาด การฝึกจับเวลาทำข้อสอบจะช่วยลดความประหม่าในวันสอบจริง และจะทำให้เราสามารถประเมินตัวเองได้ว่าเรากำลังทำได้ตามเป้าหรือเปล่า หรือเรากำลังช้ากว่าที่ควรจะเป็น เช่น สำหรับสนามสอบ A-Level คณิตศาสตร์ น้องจะมีเวลา 90 นาที กับโจทย์ 30 ข้อ แสดงว่าทุก ๆ 30 นาที เราต้องทำได้ 10 ข้อ ถ้าได้น้อยกว่านี้แสดงว่าเรากำลังช้าเกินไป แต่ถ้าได้มากกว่า 10 ข้อ แสดงว่าเราทำเวลาได้ดีนั่นเอง

การพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันสอบคือเรื่องสำคัญ

การโหมอ่านหนังสือ หรือทำโจทย์แบบอดหลับอดนอนก่อนสอบ(One Night Miracle) ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะจะทำให้สมองของเราไม่ปลอดโปร่ง ไม่พร้อมที่จะเผชิญกับข้อสอบในวันรุ่งขึ้น ขาดความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งเพิ่มความกดดันและความเครียดต่อตัวเราในวันสอบ ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ดีอย่างที่เราต้องการ ดังนั้นพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันสอบด้วยนะน้อง ๆ 

การเรียน การสอบที่โรงเรียน ไม่ควรละเลย

น้องหลาย ๆ คนอาจเข้าใจว่าเกรดไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ( เกรดก็แค่ตัวเลขพี่! ) ซึ่งจริง ๆ แล้วในปัจจุบัน บางคณะ บางมหาวิทยาลัย เราจะต้องใช้เกรดในการยื่นสอบเข้าด้วย เช่น คณะวิศวะ โยธา ของ ม.บูรพา ในรอบที่ 3 เราจะต้องใช้เกรดในการยื่นสอบเข้าด้วย หรือบางมหาวิทยาลัยเกรดจะใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการยื่นสอบเข้าคณะนั้น ๆ ด้วย เช่น คณะวิศวะ จุฬาฯ ผู้ที่จะได้รับคัดเลือกจะต้องมี GPAX ขั้นต่ำ 2.00 ดังนั้นเกรดในโรงเรียนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น้อง ๆ ห้ามทิ้งโดยเด็ดขาด

เดี๋ยวก่อนนนนน….ขอแถมอีก 1 เทคนิค เรียนพิเศษ ติวเพิ่ม เพื่อเก็บเทคนิคและเสริมความมั่นใจ

ในบางครั้งการที่มีอาจารย์มาบอก หรือมาสอนเทคนิคให้เรา ก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อเพิ่มความเข้าใจในการเรียนของเรา และเสริมเทคนิคที่จะช่วยในการทำข้อสอบของเราได้ การเรียนพิเศษเพิ่มก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่มีประโยชน์กับการเตรียมตัวสอบของเราด้วยนั่นเอง หวังว่าบทความของพี่วีวี่จะมีประโยชน์กับน้อง ๆ ทุกคนที่ได้เข้ามาอ่านนะคะสุดท้ายนี้ ขอให้น้อง ๆ ทุกคนที่ได้เปิดเข้ามาอ่านบทความ อ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้าย ประสบความสำเร็จ สอบติดในคณะที่น้องใฝ่ฝัน ในมหาลัยที่น้องต้องการ ขอให้ความพยายาม ความอดทนทุก ๆ อย่างที่น้องได้ทำมา ส่งผลให้น้องเป็นเด็กที่สำเร็จ ติดวิศวะ ดังหวังกันทุกคนนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ