สวัสดีค่ะน้อง ๆ ทุกคน กลับมาพบกับพี่ยูอีกครั้ง ตอนนี้น้อง ม.ปลาย โดยเฉพาะหัวหน้าแก๊งพี่ใหญ่ ม.6 ได้เตรียมตัวสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปถึงไหนแล้ว หลายคนคงยิ้มค้าง บางคนยิ้มกว้าง คงพร้อมกันแล้วใช่มั้ย ^^
บทความนี้พี่ยูขอพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักข้อสอบ GAT เชื่อมโยงอย่างละเอียดว่า GAT เชื่อมโยงคืออะไร สถิติคะแนนปีที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง เท่านี้ยังไม่พอ พี่ยูจะพาน้องไปฝึกทำ GAT เชื่อมโยงตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมสรุปวิธีทำทุกขั้นตอน เรียนรู้หัวใจของการทำข้อสอบ ดูตัวอย่างกระดาษคำตอบ และสุดท้าย พี่ยูมีแนวข้อสอบให้ลองฝึกทำกันด้วยนะ ตามอ่านแต่ละประเด็นให้ดี ๆ ถ้าข้ามไปบางหัวข้ออาจจะได้ประโยชน์ไม่เต็มที่นะ
ถ้าใครยังเป็นมือใหม่หัด GAT (เชื่อมโยง) มาทำความรู้จักและฝึกทำไปพร้อมกับพี่ยูเลยค่ะ
1. GAT เชื่อมโยง คืออะไร
จริง ๆ แล้ว GAT เชื่อมโยง เป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบความถนัดทั่วไป (GAT – General Aptitude Test) ซึ่งนอกจากจะมี GAT เชื่อมโยงแล้ว ยังมี GAT ภาษาอังกฤษอีกด้วยนะ โดยแต่ละส่วน จะมี 150 คะแนนเท่า ๆ กันและใช้เวลาสอบ ส่วนละ 1 ชั่วโมง 30 นาที เท่ากันเป๊ะเลย
“GAT เชื่อมโยง” เป็นข้อสอบที่ใช้วัดทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ การเขียนเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ซึ่งข้อสอบลักษณะนี้จะไม่มีบรรจุเป็นหลักสูตรในโรงเรียน ความยากของข้อสอบแต่ละปีก็จะมีดีกรีความเข้มข้นไม่เท่ากัน
อย่าลืมนะคะว่าคะแนนจากการสอบ GAT เชื่อมโยง เป็นหนึ่งในค่าน้ำหนักคะแนนรอบต่าง ๆ ของระบบ TCAS โดยเฉพาะรอบที่ 3 (รับตรงร่วมกัน) เดิม และรอบที่ 4 (Admission) เดิม บางคณะใช้คะแนน GAT รวม 2 Parts มากกว่าหรือเท่ากับ 50% ดังตารางต่อไปนี้
หรือจะเป็นใน TCAS64 ที่บางมหาวิทยาลัยเริ่มทยอยประกาศเกณฑ์การรับสมัครมาแล้วก็มีการใช้คะแนน GAT ไม่น้อยเลย อย่างเช่นล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ที่มีการกำหนดขั้นต่ำต้องได้คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 165 คะแนน ซึ่งพี่เองเชื่อว่ายังคงอีกหลาย ๆ คณะจะเริ่มทยอยประกาศออกมา และพี่เองก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดแล้วนำข้อมูลมาฝากน้อง ๆ อย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นแล้ว คะแนน GAT จึงสำคัญมากและเป็นส่วนที่น้อง ๆ ไม่ควรเทหรือไม่ควรมองข้ามนะคะ ยิ่ง GAT เชื่อมโยงด้วยแล้วไม่ควรทำให้ได้ต่ำกว่า 120 คะแนน เพราะคะแนนที่ปลอดภัยหายห่วง ควรทำให้ได้ 120 UP ทางที่ดีที่สุดคือ เตรียมพร้อมสุดพลังให้ได้ 150 คะแนนเต็มไปเลย
2. วิเคราะห์คะแนน GAT เชื่อมโยง 3 ปี ตั้งแต่ 61 – 63 ละเอียดสุด ๆ
จากสถิติคะแนน GAT เชื่อมโยง จะเห็นว่าใน 3 ปีย้อนหลังคะแนนช่วง 120.01 – 150.00 คะแนน มีคนทำได้น้อยลงเรื่อย ๆ โดยเริ่มจากปี 2561 มีคนทำได้ 111,490 คน, ปี 2652 มีคนทำได้ 78,777 คน และในปี 2563 ยิ่งลดลงไปอยู่ที่ 72,530 คนเท่านั้น ในขณะที่ช่วงคะแนนต่ำกว่า 120 กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น เราต้องทุ่มเทความพร้อมให้ตัวเองไปอยู่ในจุด Save Zone ของ GAT เชื่อมโยงให้ได้ และอย่าลืมอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ TCAS ระบบใหม่ สอบ GAT/PAT ได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้นนะคะ ถ้าคะแนนยังดีไม่พอต้องรอสอบใหม่อีกทีปีหน้าเลย
สู้ ๆ ค่ะ
3. สอนทำ GAT เชื่อมโยงตั้งแต่เริ่มต้น
ข้อสอบ GAT เชื่อมโยงจะมีบทความให้อ่าน ความยาวประมาณ 2 – 3 หน้า A4 แต่ละบทความจะมี 10 รหัสข้อความ รวม 2 บทความเท่ากับ 20 รหัส ข้อสอบจะกำหนดให้อ่านและหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อความที่โจทย์กำหนดไว้เป็นรหัสในตารางท้ายบทความแต่ละบท ซึ่งลักษณะความสัมพันธ์จะแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1. ส่งผลโดยตรง 2. เป็นส่วนประกอบ ลักษณะ หรือคุณสมบัติ 3. มีผลยับยั้ง ทั้งนี้การทำข้อสอบจะเริ่มต้นจาก
อ่านข้อความ > วาดแผนภาพ > แปลงเป็นรหัสคำตอบ > ฝนคำตอบ > ตรวจทานละเอียดอีกครั้ง
เมื่ออ่านข้อความแล้ว ก็จะมาถึงวิธีการวาดแผนภาพ เพื่อที่จะแปลงรหัสและฝนคำตอบต่อไป พี่ยูจะพาน้อง ๆ ไปเริ่มเรียนกันตั้งแต่ขั้นตอนการวาดแผนภาพ ไปจนถึงขั้นฝนคำตอบกันเลย
3.1 วิธีการวาดแผนภาพในข้อสอบ GAT เชื่อมโยง
เส้นที่เป็นสัญลักษณ์แสดงความสัมพันธ์ของข้อความที่มีรหัสกำกับในบทความที่กำหนดมาให้ มีดังนี้
ดูเฉลยแบบฝึกหัด คลิกเลย
เมื่อรู้วิธีวาดแผนภาพและเส้นความสัมพันธ์แล้ว ต่อไปก็มาถึงขั้นตอนการแปลงแผนภาพเป็นรหัสคำตอบกัน
3.2 วิธีการแปลงแผนภาพเป็นรหัสเป็นคำตอบ
การแปลงภาพเป็นรหัสคำตอบ มี 4 ประเด็นที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ คือ
- ตั้งต้นจากข้อรหัสที่จะหาคำตอบ
- นับจำนวนคำตอบของข้อรหัสนั้นจากจำนวนเส้นที่โยงออกไปหารหัสอื่น
- เมื่อรหัสใดก็ตาม ไม่มีเส้นโยงออกไปหารหัสอื่น ๆ แล้ว ให้ตอบ 99H
- คำตอบของรหัสใด ๆ คือ เลขรหัสปลายทางที่เส้นโยงไปหา + ตัวอักษร A D F (แทนเส้นที่โยงไปหา) ดังนั้น รหัสคำตอบ 1 คำตอบ จะมี 3 หลัก เช่น 01D 02A 03F 99H เป็นต้น
ดูเฉลยแบบฝึกหัด คลิกเลย
3.3 ฝนรหัสคำตอบลงในกระดาษคำตอบด้วยดินสอ 2B
น้อง ๆ สามารถเข้าไปดูพี่ยูสอนการฝนรหัสคำตอบลงในกระดาษคำตอบได้ที่คลิปนี้เลย
4. หัวใจของการทำข้อสอบ GAT เชื่อมโยง
มาถึงตรงนี้ พี่ยูก็จะพาน้องไปดูแนวทางการเตรียมตัวรับมือกับทุกความยากและความซับซ้อนในการทำข้อสอบ ซึ่งพี่ยูสรุปออกมาเป็น 4 ข้อด้วยกัน
4.1 การแปลความภาษาที่ถูกต้อง รอบคอบ รัดกุม ตรงตาม Concept ที่ สทศ. กำหนด
- น้อง ๆ ควรอ่านคำอธิบาย หรือคำชี้แจ้งให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะ Concept ของเส้นแสดงความสัมพันธ์ทุกแบบ ทั้ง A D และ F เพราะข้อสอบจริง เคยมีการเปลี่ยนแปลงคำอธิบายมาแล้ว เช่น ความสัมพันธ์ของเส้น A และเส้น D
A | เดิม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 สามารถโยงเส้น A ——>ไปหาข้อความที่ 1.เป็นผลโดยตรง หรือ 2.ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา |
ปรับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 กำหนดใหม่ให้โยงเส้น A ——>ไปยังข้อความที่ “เป็นผลโดยตรง” เท่านั้น | |
D | เดิม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 กำหนดให้โยงเส้น D — ไปหาข้อความที่เป็น 1.ส่วนประกอบ 2.องค์ประกอบ 3.ความหมาย |
ปรับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 กำหนดให้โยงเส้น D — ไปหาข้อความที่เป็น 1.ส่วนประกอบ 2.คุณสมบัติ 3.ลักษณะ |
- น้อง ๆ ต้องแปลความข้อความที่มีรหัสกำกับในตารางแล้วทดรหัสของข้อความในบทอ่านให้ละเอียดรอบคอบด้วย
เช่น กำหนดรหัส 10 = ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
= สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
แต่ ≠ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
4.2 การรู้เทคนิคขณะวิเคราะห์บทความอย่างถี่ถ้วนให้ทันภายในเวลาสอบที่จำกัด (90 นาที)
จะช่วยเพิ่มพลังความรอบคอบรัดกุมและช่วยการันตีว่าจะมีโอกาสได้คะแนนเต็มไม่ยาก เช่น เทคนิคการทดรหัสหรือทดรหัสข้อความที่บทความละไว้ เทคนิคการตัดรหัสหรือคำเชื่อมที่ทดไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อย่างที่พี่ยูเรียกในคอร์สว่า “ทดทุกอย่างที่พบ เก็บศพคำที่ไม่ใช้” และ “ละอะไรต้องเติมให้เต็ม”
4.3 การค้นหาหรือเรียนรู้วิธีการตรวจคำตอบในแต่ละขั้นอย่างชาญฉลาดเพื่อการันตีคะแนนเต็มเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก
เพราะระหว่างทดในแต่ละขั้น จนกว่าจะถึงขั้นการฝนรหัสคำตอบ ล้วนมีความซับซ้อน ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ทุกขั้น จะดีกว่าไหม ? ถ้าน้อง ๆ รู้จุดผิด แล้วแก้ไขได้ทันเวลาก่อนส่งกระดาษคำตอบให้กรรมการคุมสอบ ถึงตอนนั้นแล้ว ถ้าไม่แก้ไข ก็จะไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกแล้ว
พี่ยูออกแบบวิธีการตรวจคำตอบสุด Cool เอาไว้ให้แล้ว เรียกขั้นนี้ว่า “คนรอบคอบชอบตรวจ Ba-Ad (เบ-แอ๊ด)” พี่ยูบอกเลยว่า ถ้ารู้วิธีนี้ ก็การันตีคะแนนเต็มได้ไม่ยากเลย
4.4 การฝึกทำโจทย์บทความข้อสอบที่หลากหลาย โดยเฉพาะบทความข้อสอบเก่าที่ผ่านมาของ สทศ.
น้องควรติดตามและฝึกทำข้อสอบจริงอย่างน้อย 3 ปีล่าสุด อย่างพินิจพิเคราะห์เจาะลึก เพื่อรู้ทันการเปลี่ยนแปลงแบบมีกึ๋น นอกจากนี้ พี่ยูแนะนำให้ฝึกทำแนวข้อสอบอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงเสมือนข้อสอบจริง แต่ต้องเลือกบทความที่ทรงพลังและมีคุณภาพ ตลอดจนระดับความยากใกล้เคียงข้อสอบจริงที่สุด อาจเลือกทำจากหนังสือคู่มือเตรียมสอบ GAT ที่มีรีวิว หรือมีคำการันตีที่น่าเชื่อถือจากผู้ที่เคยเข้าสอบหรือเคยทำข้อสอบจริงของ สทศ. มาแล้ว และเมื่อทำข้อสอบแล้ว ก็ต้องหมั่นทบทวนปัญหาของตนเอง หลังจากทำบทความเสร็จสิ้นทีละบท สังเกตอาการที่ทำให้ตนเองพลาดคะแนนเต็ม ดีที่สุดควรบันทึกปัญหา แล้วเร่งหาทางแก้ไขเฉพาะจุดให้ได้
สุดท้ายนี้ น้อง ๆ ต้องปฏิวัติการฝึกทำโจทย์ซ้อมมือของตนเองใหม่อย่างเคร่งครัด เช่น
- จับเวลาจริงทีละบทความ คำนวณเวลาเฉลี่ยที่ทำต้องอยู่ในเกณฑ์ ทำทันวันสอบจริง
- ฝึกจับเวลา ฝึกทำให้น้อยกว่าเวลาสอบจริง แยกส่วนจับเวลา ระหว่างเวลาที่ใช้ทำกับเวลาที่ใช้ฝนคำตอบ ตลอดจนเวลาที่กันไว้สำหรับตรวจทานทุกขั้นต้องรวมกันแล้วยังพอทำทันในวันสอบจริง ต้องจริงจังนะ !
5.รู้ทัน “ก่อนผิด” รู้คิด “ก่อนพลาด”: UPDATE ข้อสอบตั้งแต่ปี 2558 – ปัจจุบัน
จากการอัปเดตข้อสอบ GAT เชื่อมโยงปี 2558 เป็นต้นมา พี่ยูได้สกัด “ความยากและความซับซ้อน” มาให้น้อง ๆ ได้เตรียมพร้อม “ก่อนพลาด” เราลองมาดูกัน
5.1 ความยาวของบทความเพิ่มขึ้น
ขณะที่เวลาในการทำข้อสอบกลับยังคงเท่าเดิมแต่ความยาวของทั้ง 2 บทความกลับเพิ่มขึ้น ดังนั้นแนวทางรับมือที่น้อง ๆ ควรทำคือ ฝึกอ่านบทความให้เร็วขึ้น แต่ไม่ลดความรอบคอบ Trick ที่สำคัญคือ ฝึกทำโจทย์แบบจับเวลาให้น้อยลงกว่าที่ข้อสอบจริงกำหนด เช่น เวลาสอบ 90 นาที เฉลี่ยปกติก็คือทำบทความละ 45 นาที เราก็ลองจับเวลาตอนฝึกทำเหลือแค่บทความละ 30 นาที กันเวลา 30 นาทีต่างหากไว้เพื่อฝึกทำแบบเร่ง Speed หรือเผื่อเวลาไว้ตรวจทานคำตอบ และเวลาสำหรับฝนรหัสคำตอบ ถ้าไม่เผื่อไว้ น้องอาจลนลานตอนใกล้จะหมดเวลาจนสติไม่อยู่กับตัว
5.2 เพิ่มความยากของการเชื่อมโยง: ความซับซ้อนและความยากข้อนี้ มี 2 เรื่องที่ต้องรู้ !!
5.2.1. ข้อความที่อ่าน เมื่อวิเคราะห์ข้อความที่มีเลขรหัสกำกับในตาราง VS ข้อความในบทอ่าน
แบบง่าย = ข้อความในบทอ่านเขียนเหมือนกับข้อความในตาราง มี 2 แบบที่พบในบทอ่าน
- ทำตัวหนาเข้ม = สะดุดตา หารหัสได้ง่าย แต่ทำตัวหนาเข้มให้เพียง 1 ครั้ง : 1 รหัสข้อความ
- ไม่ทำตัวหนาเข้ม = พรางตาในบทอ่าน แต่ยังคงรูปคำเดิมเหมือนข้อความในตาราง
แบบยาก = ข้อความในบทอ่านเขียนต่างไปจากข้อความในตาราง และจะไม่ทำตัวหนาเข้มให้เสมอ มี 2 แบบที่มักพบในบทอ่าน
- 1 ข้อความ แทนได้ 1 รหัส
Ex. ในตาราง คือ การห้ามขายสุราในวันเข้าพรรษา = (01)
ในบทอ่าน คือ การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันเข้าพรรษา = (01)
- 1 ข้อความ แทนได้มากกว่า 1 รหัส
Ex. ในตาราง คือ มาตรการของรัฐบาลในการคุมกำเนิดประชากร = (02)
ในตาราง คือ มาตรการของรัฐบาลในการเพิ่มภาษีน้ำตาลทราย = (03)
ในบทอ่าน คือ มาตรการของรัฐบาลทุกประการดังกล่าวข้างต้น = (02) และ (03)
แบบกำหนดหลอกล่อ = ข้อความที่กำหนดให้เป็นรหัส ซึ่งแต่เดิมมักปรากฏใช้เป็นคำแสดงความสัมพันธ์ในบทอ่าน
Ex. สาเหตุสำคัญ (ปกติ=เส้น A)
ผลกระทบจากปัญหา (เส้น A )
แนวทางแก้ไขปัญหา (เส้น F)
เหตุปัจจัย (เส้น A)
จากตัวอย่าง น้องต้องดูให้ดีว่า คำเหล่านี้กำหนดมาเป็นข้อความที่มีเลขรหัสกำกับในตารางหรือไม่ ถ้าเป็นรหัสก็ไม่ต้องวาดเป็นเส้น
5.2.2. Step การเชื่อมโยง เพิ่มความซับซ้อนของการคิดเชื่อมโยงข้อความในบทอ่านมากขึ้น
ข้อสอบแนวเดิม / รูปแบบที่พบบ่อย
- เชื่อมโยงข้อความภายในย่อหน้าเดียวกัน
Ex. (ย่อหน้า 2) การประกาศลดค่าเงินบาทจะส่งผลให้ธุรกิจการส่งออกของไทยเกิดปัญหาแต่อาจช่วยส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศให้คึกคักมากขึ้น
- เชื่อมโยงข้อความต่างย่อหน้ากัน “ ยากแบบเบ ๆ ”
Ex. (ย่อหน้า 2) การประกาศลดค่าเงินบาทจะส่งผลให้ธุรกิจการส่งออกของไทยเกิดปัญหาแต่อาจช่วยส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศให้คึกคักมากขึ้น
(ย่อหน้า 3) ธุรกิจการส่งออกของไทยที่เกิดปัญหาดังกล่าวมีมากมาย เช่น ธุรกิจส่งออกผลิตผลทางการเกษตรตลอดจนธุรกิจส่งออกประมงน้ำเค็ม เป็นต้น
ข้อสอบแนวใหม่ / รูปแบบที่เริ่มนิยมใช้
- เชื่อมโยงข้อความต่างย่อหน้ากัน “ยากแบบรั้ยร้าย”
Ex. (ย่อหน้า 4) ศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยมีปัจจัยบวกหลายประการ ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตยิ่งขึ้น แต่ศักยภาพเศรษฐกิจของไทยก็ยังมีปัจจัยลบมากมาย ดังจะกล่าวถึงต่อไป
(ย่อหน้า 5) ปัจจัยบวกประการแรก คือ การลงทุนภาครัฐ
.
.
(ย่อหน้า 7) ปัจจัยด้านลบก็คงมีหลากหลาย ที่เห็นชัด คือ ภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น ตลอดจน ปัญหาน้ำท่วมที่ทวีความรุนแรงในหลายจังหวัด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบอีกข้อหนึ่งคือ วิกฤตเศรษฐกิจของอาเซียนที่น่าจับตามอง
เมื่อรู้ทันข้อสอบ GAT เชื่อมโยงแล้ว คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของน้อง ๆ ที่จะต้องกลับไปฝึกฝนทำโจทย์ให้เกิดความพร้อมมากที่สุด
6. แบบฝึกหัด GAT เชื่อมโยง
หลังจากที่ได้ลองอ่าน – วาด – แปลงรหัสภาพไปแล้ว ก็ถึงคราวที่น้อง ๆ จะลองลงมือทำแบบฝึกหัดเสมือนจริงดู เพื่อทดสอบความเข้าใจ ไปลองทำกันเลยจ้า
ทำเสร็จแล้ว ตรวจคำตอบ คลิกเลย
นอกจากพี่ยูจะมีบทความให้น้อง ๆ ได้ลองฝึกทำแล้ว พี่ยูยังมีตัวอย่างกระดาษคำตอบ GAT เชื่อมโยงให้ดู เมื่อเจอข้อสอบจริง น้อง ๆ จะได้ไม่งงว่าต้องฝนคำตอบยังไง
เป็นอย่างไรบ้างคะน้อง ๆ พี่ยูหวังว่าน้อง ๆ จะได้รับความรู้ไปเต็มเปี่ยม และสำหรับน้องๆ ที่อยากเรียน GAT เชื่อมโยงกับพี่ยู ก็สามารถมาสมัครเรียนได้เลยที่ WE BY THE BRAIN ทุกสาขา ภายในคอร์สจะจัดเต็มด้วย Concept ที่เป๊ะ อัดแน่นทุกอณูความรู้ แทรกทุกเทคนิคขั้นเทพ รวมไปถึงเพิ่มเติมแบบฝึกหัดที่หลากหลาย และตบท้ายด้วยบทความข้อสอบจริง ให้น้อง ๆ ได้ฝึกทำอย่างจุใจ แล้วเจอกันในคอร์สเรียนนะคะ