DEK66 ที่กำลังเริ่มเตรียมตัวเข้าสู่ระบบ TCAS66 ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงในรายวิชาสอบ แต่การคัดเลือกยังคงมี 4 รอบเหมือนเดิม มีน้องคนไหนที่กำลังเล็ง ๆ ว่าจะยื่นรอบพอร์ตบ้าง วันนี้พี่วีวี่มีตัวอย่าง Portfolio ของรุ่นพี่ WE ปี 65 มาฝากกันด้วย ใครกำลังหาแนวทางในการทำพอร์ตอยู่พลาดไม่ได้เลย แถมพี่ ๆ ยังมีเคล็ดลับการเรียนและคำแนะนำดี ๆ มาฝากด้วย ตามพี่วีวี่มาพิชิตความสำเร็จไปพร้อมกับพี่ ๆ ในบทความนี้กันเลย
PORTFOLIO ควรใส่อะไรบ้าง?
Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานที่ดี ไม่ควรเกิน 10 หน้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนด บางมหาวิทยาลัยก็มีแบบฟอร์มของตัวเอง เช่น จุฬาฯ แต่หากมหาวิทยาลัยไหนไม่มีรูปแบกำหนดพี่วีวี่ก็ขอแนะนำให้เรียงลำดับตามนี้ค่ะ
หน้า 0 = หน้าปก (ไม่นับรวม 10 หน้า)
หน้า 1 = ประวัติส่วนตัว หรือแนะนำตัว
หน้า 2 = ประวัติการศึกษา
หน้า 3–7 = ผลงาน รางวัล และเกียรติบัตรต่าง ๆ
หน้า 8–10 = กิจกรรมเด่นที่ตรงกับสาขาหรือคณะที่น้อง ๆ จะเข้าศึกษาต่อเท่านั้น
หน้า 11 = เหตุผลที่อยากเข้าคณะนี้ หรือ สิงประดิษฐ์ที่อยากทำในอนาคต
แฟ้มสะสมผลงานที่ดี ไม่จำเป็นต้องใส่ทุกอย่างที่เคยทำมา แต่ให้ใส่ข้อมูลและผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาหรือคณะที่น้องจะเข้าศึกษาต่อเท่านั้น ทั้งนี้ต้องมีข้อมูลตามที่มหาวิทยาลัยระบุให้ครบ
กรวิชญ์ ปอยสูงเนิน (ออกัส)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเรียนทุนโครงการ พสวท. ปริญญาตรี – เอก ที่สหรัฐอเมริกาครับ
Q : ทำไมถึงอยากเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์
A : ตอนเด็ก ๆ ผมชอบต่อเลโก้ครับ ผมก็คุ้น ๆ ว่าวิศวะเป็นการสร้างบ้าน สร้างอะไร ตอนเด็ก ๆ ความฝันของผมก็จะเป็นประมาณนั้น ก็คือ เราอยากเข้าวิศวะ
เพราะอยากไปต่อเลโก้ ไปสร้างบ้าน สร้างอะไร พอมารู้จริง ๆ แล้ววิศวะมันไม่ได้มีแค่นั้น มันมีอะไรที่กว้างมากกว่านั้น ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีทำตัวโครงงาน วิทยาศาสตร์เยอะมากขึ้น ตอนนั้นผมทำโครงงานเกี่ยวกับการสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งผมก็คิดถูกมาก ๆ ผมชอบในด้านนั้น
ตอน ม.ปลาย ผมว่าความชอบผมเปลี่ยนไป ผมได้มีโอกาสเข้าเป็นโครงการพสวท. ระดับม.4-ม.6 ได้เข้าไปทำตัวโครงงานมากขึ้น ทำให้รู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบชีวะมาก โครงงานที่ผมส่งของทุน พสวท. ไปเนื่องจากว่าคุณแม่ของผมเป็นโรคปากมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
ตอนที่เราอยู่ ม.4 เรามีความฝันว่าจะเป็นไปได้มั้ยถ้าเราสามารถเลี้ยงตัวอ่อนของคนนอกร่างกายมนุษย์ มันจะเป็นอะไรที่แปลกมากเลยเพราะว่าผู้หญิงมันต้องท้องนะ บางคนเค้าไม่ได้ว่างมาดูแลลูก เราเอาตัวอ่อนออกมาเลี้ยงข้างนอกเลยได้มั้ยตั้งแต่ปฏิสนธิ ปฏิสนธิเสร็จเอาเซลล์ไข่กับเซลล์อสุจิผสมกัน เลี้ยงข้างนอกเลยได้มั้ย คล้าย ๆ กับเด็กหลอดแก้ว เลี้ยงจนคลอดนอกร่างกายคนเลยครับ
ผมฝันที่จะทำแบบนั้นแล้วโครงงานของผมก็ได้ไปแข่งหลายรายการก็ประสบความสำเร็จในช่วงระยะเวลาม.ปลาย เป็นแรงบันดาลใจให้ผมรู้สึกว่า เฮ้ย เราทำโครงงานขนาดนี้แล้ว เราอยากจะทำต่อให้มันเป็นตัวโปรดักต์มดลูกเทียมจริงๆ ผมยื่นสมัครเข้าจุฬาไป จะเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะคณะวิศวกรรมศาสตร์จะมีตัวปริญญาโทที่เราสามารถเลือกต่อเป็นวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้ ซึ่งทุน พสวท. ที่ผมได้รับมาก็ทำให้ผมเริ่มเรียนชีวการแพทย์ได้ตั้งแต่ปริญญาตรีเลยครับ
Q : แชร์เทคนิคการเรียนของตัวเองให้น้อง ๆ ที่กำลังอ่านอยู่หน่อย
A : อย่างแรกเลยคือต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่าเรามาเรียนเพื่ออะไร อยากจะทำอะไร ถ้าเรายังหาตรงนั้นไม่เจอว่าสุดท้ายแล้วเป้าหมายมันจะเป็นแบบไหนเราจะไม่สามารถที่จะทำอะไรต่อได้เลย ถ้าเรารู้ว่าเป้าหมายคืออะไรก็จะรู้ว่ามีสิ่งไหนบ้างที่เราต้องทำ พยายามจัดอันดับความสำคัญว่า ถ้าเราอยากเป็นแบบนี้เราต้องเก็บอะไรบ้าง อันไหนที่ไม่ต้องเก็บ ผมแนะนำว่า เป้าหมายอะไรทำแค่เท่าที่ต้องการ ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดพอ
อย่างเช่นผมอยากเข้าทุนพสวท. ผมจะไม่มองว่าฉันจะติดหรือไม่ติดก็ได้ ด้วยความที่นี่เป็นเป้าหมายหลัก ถ้าอย่างงั้นแล้วเป้าหมายหลักเราสู้เต็มที่ เราเอาเวลามาไว้กับตรงนั้น เราลดเวลาในการทำอย่างอื่นลง จัดลำดับความสำคัญ
Q : WE มีส่วนช่วยในด้านการเรียนอย่างไรบ้าง
A : ตอนที่ผมทำแล็บเยอะ ๆ ผมก็เอา WE ไปนั่งเปิดครับ ด้วยความที่บางครั้งมันต้องนั่งรอผล ระหว่างที่เรานั่งดูรอดูเซลล์โต ผมเอาหนังสือ WE ไปเรียน ไปทำข้อสอบ คือผมเรียนหลายที่นะ แต่ผมรู้สึกว่าคลิกกับ WE ที่สุดแล้ว โดยเฉพาะวิชาชีวะ พี่บิ๊กจะรู้ว่าอะไรที่มันเป็นจุดสำคัญนะ ข้อสอบน่าจะเล่นนะ พี่บิ๊กจะเอามาให้เจอบ่อยมาก ผมเคยเรียนมากับหลายที่ ผมรู้สึกว่าพี่บิ๊กเก็บข้อมูลที่ว่าใช้ในการสอบแล้วเราเจอจริง ๆ ในห้องสอบบ่อย ทำให้เราเข้าใจขึ้น ถ้าเรียนล่วงหน้า ก็ทำข้อสอบที่เก็บแต้มที่โรงเรียนได้สบาย
Q : แนะนำน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวยื่นรอบพอร์ตหรืออยากยื่นขอทุนเหมือนเราหน่อย
A : สำหรับน้อง ๆ ที่อยากจะยื่นรอบพอร์ตหรือสอบรอบ 3 อันนี้ ถ้าเรายังอยู่ ม.6 ตอนนี้เราต้องทำแล้ว แต่ถ้ารู้สึกว่าเราทำไม่ทัน เก็บพอร์ตไม่ไหว อยากเข้ารอบ 3 ก็ปิดรอบแรกทิ้ง เพื่อนจะติดก็ติดไป เพื่อนจะเป็นยังไงไม่ต้องไปสนใจ ถ้าเรามั่นใจว่าฉันจะสอบรอบ 3 เรายื่น เราพุ่งเป้าแล้ว
แต่ถ้าเราคิดว่าตัวเองมีพอร์ตบางส่วนแล้ว อยากลองยื่นรอบพอร์ตก็ปิดรอบ 3 ไปเลย ไม่ต้องไปกลัวว่ารอบพอร์ตฉันจะติดมั้ย อย่ามองว่ารอบพอร์ตมันน่ากลัวขนาดนั้น ลองประเมินตัวเองจากสิ่งที่เรามี ก็มุ่งไปรอบแรกเลย ไม่ใช่ว่าไม่ต้องเตรียมตัวไปเผื่อนะ แต่ผมมองว่าต้องเชื่อมั่นในตัวเอง อย่าไขว้เขวในเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เท่านั้นพอ ผมก็ล้มเหลวมาเหมือนกันนะในอดีตอยากจะสอบหลาย ๆ ที่ บางทีก็ไม่ติด นั่นเป็นเพราะผมยังประเมินตัวเองไม่ได้ คือถ้าเราทำสุดความสามารถแล้วยังไม่ติด ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการประเมินตัวเองแล้ว
ศตพร สุขมี (ขิง)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Q : ทำไมถึงอยากเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์
A : ส่วนตัวชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ค่ะ เราก็เลยศึกษาหาข้อมูลว่าวิชานี้สามารถเรียนคณะไหนได้บ้างก็เจอเป็นคณะวิทยาศาสตร์แล้วก็คณะวิศวะค่ะซึ่งเราชอบไปในทางประดิษฐ์หรือการประยุกต์มากกว่าก็เลยเลือกที่จะเรียนวิศวะค่ะ ตอนนั้นก็เล็งจุฬาฯ ไว้แต่ไม่ได้มั่นใจว่าเราจะมีความสามารถสอบติดขนาดนั้นก็เลยส่งพอร์ตไปหลาย ๆ ที่ค่ะ ก็ติดทั้ง 4 ที่ แต่สุดท้ายเราก็เลือกจุฬาฯ ค่ะ
Q : เริ่มเตรียมตัวทำพอร์ตยังไง
A : ตอนช่วงม 4 เราไม่ได้คิดว่าจะต้องเข้ารอบพอร์ตเพราะเราก็รู้ว่ารอบพอร์ตมันต้องมีผลงานใหญ่ถึงจะติด เราก็เลยเตรียมตัวเรียนพิเศษมาก่อน เก็บวิชาเลข เก็บ PAT 3 อะไรพวกนี้มาก่อนเรื่อย ๆ แล้วพอขึ้น ม.6 ก็มีโอกาสได้ทำโครงงานมากขึ้น โครงงานเราก็ได้เข้าประกวด สามารถเข้ารอบได้รางวัลก็เลยคิดว่าน่าจะมีโอกาสในรอบพอร์ตก็เลยลองทำแล้วยื่นดูค่ะ
เราต้องบอกก่อนว่าพอร์ตของจุฬาฯ จะไม่ใช่รูปเล่มแบบพอร์ตทั่วไปค่ะ จะเป็นเหมือนกระดาษ A4 ธรรมดาที่เป็นพอร์ตอิเล็กทรอนิกส์ของเขาเลย แบ่งเป็นการเรียนกับกิจกรรม เราก็ใส่ข้อมูลด้านการเรียนเป็นใบเกรดอะไรต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมก็จะมีเป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานหรืออาจารย์ซึ่งกิจกรรมอาสานี้เราต้องได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับงานได้
แล้วก็ให้เลือกโครงงานที่เราทำมา สามารถเลือกได้มากที่สุด 3 โครงงานแล้วก็ให้ใส่รายละเอียดของโครงงาน สิ่งที่เราได้จากโครงงาน แล้วก็รางวัลที่ได้รับ มีให้กรอกข้อมูลการสอบแข่งขันระดับประเทศกับระดับนานาชาติด้วยอย่างละ 1 รางวัล มีให้ใส่กิจกรรมที่แสดงถึงการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเราก็ใส่เป็นพวกค่ายวิศวะไป และอย่างสุดท้ายคือต้องทำคลิปวิดิโอความยาวไม่เกิน 3 นาที โดยให้พูดถึงเจตนารมณ์ในการเข้าศึกษาคณะนี้ค่ะ
Q : คิดว่าจุดแข็งที่ทำให้ตัวเองสอบติดรอบ Portfolio คืออะไร
A : คิดว่าเป็นการทำโครงงานค่ะ เพราะว่าบางมหาลัยก็จะกำหนดมาเลยว่าต้องมีคนงานเท่านั้นเท่านี้ โครงงานคอมพิวเตอร์ที่หนูทำก็จะเป็นการพัฒนาแอพพลิเคชันในการทำข้อสอบร่วมกับจากการจัดอันดับซึ่งหนูก็พัฒนาเขียนโปรแกรมขึ้นมาเป็นแอพพลิเคชันแล้วก็รวบรวมข้อสอบวิชาชีววิทยาในระดับมปลายมาแบ่งแยกตามความยาก – ง่ายแล้วก็ให้พูดเล่นเข้ามาทำโจทย์ ซึ่งเราก็จะปรับโจทย์ให้เหมาะกับผู้เล่นด้วย
Q : บรรยากาศในการสัมภาษณ์เป็นยังไง ลองเล่าให้ฟังหน่อย
A : ส่วนใหญ่ก็ถามเรื่องโครงงานของเรา เหตุผลต่าง ๆ ว่าทำไมถึงอยากเรียนวิศวะ แล้วก็โดนถามไปถึงด้านที่อยากศึกษาต่ออะไรทำนองนี้ค่ะ
Q : กิจกรรมไหนที่คนอยากเข้าวิศวะต้องมีติดพอร์ต
A : เราแนะนำเป็นพวกค่ายค่ะ ที่เราเคยเข้าก็เป็นพวกเวิร์กช็อปของลาดกระบัง open house ต่าง ๆ แล้วก็ค่ายติว PAT3 ของจุฬาค่ะ
Q : แชร์เทคนิคการเรียนให้น้อง ๆ หน่อย
A : ช่วง ม.5 เทอมสอง เราก็เรียนล่วงหน้าของ ม.6 เลย พยายามเก็บให้หมด พอ ม.6 ด้วยความที่ปีนี้เรียนออนไลน์ ก็จะมีเวลาว่างมากขึ้นค่ะ ซึ่ง ม.6 ก็เป็นช่วงที่เราทำโครงงานเยอะเหมือนกันค่ะ เรียกว่าใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำโครงงาน ช่วงนั้นเราก็เรียน PAT 3 ไปด้วยค่ะ
เราเริ่มเรียน WE ตั้งแต่ ม.2 ส่วนตัวเป็นคนชอบเรียนเลขอยู่แล้ว ยิ่งพอมาเรียนที่ WE ได้เทคนิคมากขึ้น มีวิธีลัดมากขึ้น ทำให้เราได้รู้ลูกเล่นมากขึ้น ก็เลยเรียนเรื่อยมาจนถึง ม.6 เลยค่ะ เราชอบเวลาพี่เอ๋เล่าเรื่อง ก็ช่วยผ่อนคลายได้ดีเหมือนกัน อาจารย์แต่ละคนก็จะมีสไตล์ที่ต่างกัน ซึ่งมันก็ทำให้เราชอบเลขมากขึ้นด้วย
Q : แนะนำน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวยื่นรอบพอร์ตหน่อย
A : อยากให้น้อง ๆ เก็บทั้งกิจกรรมของคณะ แล้วก็กิจกรรมในโรงเรียน เก็บเกี่ยวกับโครงงานต่าง ๆ เพราะสำหรับเราโครงงานก็เป็นตัวช่วยสำคัญในการติดรอบพอร์ตเลย และที่สำคัญก็ควรอ่านหนังสือเพื่อเก็บเกรดในโรงเรียนด้วย เพราะเกรดก็มีผลกับรอบนี้เหมือนกัน จริง ๆ คือทุกอย่างมีผลกับรอบพอร์ตหมดเลยค่ะ
ภูฟ้า เต็มกมลศิลป์ (ภู)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า ธนบุรี
Q : ทำไมถึงอยากเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์
A : ผมค่อย ๆ ค้นหาตัวเอง พอเรียนไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าเราชอบคณิตกับฟิสิกส์มากที่สุด ซึ่งเราเรียนพิเศษ 2 วิชานี้ที่ WE ด้วย พอเข้ามาเรียนในห้องเราก็ทำได้ ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น ตอนแรกก็คิดว่าไปสายการเงินดีไหม แต่ผมชอบฟิสิกส์มากกว่าเลยคิดว่าเรียนวิศวะแล้วกันเพราะเราถนัดด้านนี้
Q : เริ่มเตรียมตัวทำพอร์ตยังไง
A : ผมเริ่มเตรียมตอนท้ายเลยครับ ช่วงที่ใกล้จะปิดรับสมัครแล้ว คืแตอนแรกผมตั้งใจจะไปรอบ 3 ครับ แต่ปรากฏว่า TCAS65 เปลี่ยนคนออกข้อสอบยกชุดเลย ผมเลยไม่แน่ใจว่าจะเสี่ยงดีไหม เพราะเขาเพิ่งออกปีนี้ปีแรก เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะออกแนวไหน ผมเลยตัดสินใจยื่นรอบพอร์ตโครงการเรียนดีครับ
ผมยื่นเกรดแล้วก็ผลงาน จริง ๆ ผลงานผมค่อนข้างน้อยมากเลยครับ ก็คือกิจกรรมทั่วไป ผลงานเด่นมี 2 อย่างคือตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ อีกอันนึงเป็นโครงการติวเพื่อนในโรงเรียน แล้วพอดีเพื่อนถ่ายรูปไว้ก็เลยเอามาใส่พอร์ตครับ
Q : คิดว่าจุดแข็งที่ทำให้ตัวเองสอบติดรอบ Portfolio คืออะไร
A : ต้องบอกว่าโครงการเรียนดีมันมีคะแนน 2 ส่วน คือคะแนนข้อเขียนกับคะแนนสัมภาษณ์ ซึ่งข้อสอบเหมือนแค่วัดความรู้พื้นฐานเฉย ๆ ครับ คิดว่าคนที่สมัครเข้าโครงการนี้ยังไงก็ทำกันได้ แล้วค่อยมาวัดกันที่รอบสัมภาษณ์ว่ามีแพสชั่นหรือมีผลงานอะไรที่เกี่ยวกับทางโครงการ แล้วก็จะดูพวกเกรดเฉลี่ยด้วยครับ ซึ่งเกรดเฉลี่ย 5 เทอม ผมได้ 3.92 ครับ
ผมคิดว่าที่ทำให้สอบติดหลัก ๆ เลยเพราะกิจกรรมติวเพื่อนครับ คือตอนผมพูดเรื่องทำไมถึงเป็นคณะนี้อาจารย์ดูไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่พอมาถึงจุดที่ถามว่ามีผลงานอะไรบ้าง ผมก็เลยพูดเกี่ยวกับเรื่องติวเพื่อนไป อาจารย์ก็ดูมีรีแอคชั่น มีพยักหน้า เลยคิดว่าน่าจะเป็นส่วนนี้ด้วย แล้วพอหลังถามเรื่องผลงานเสร็จ ก็มาถามต่อว่าเป็นติวเตอร์ใช่มั้ย อาจารย์ก็ให้สถานการณ์เกี่ยวกับฟิสิกส์มาครับ ผมก็อธิบายไป
Q : บรรยากาศในการสัมภาษณ์เป็นยังไง ลองเล่าให้ฟังหน่อย
A : ตอนสัมภาษณ์ตอนแรกคือตื่นเต้นมากครับ หลังจากที่ผมถามเพื่อนมา ผมรู้สึกว่าอาจารย์ที่บางมดโหดสุดเลย เท่าที่ฟังเพื่อนที่อื่นค่อนข้างเป็นมิตรมากกว่า ดูยิ้มแย้ม แต่ของผมคือเข้าห้องสัมภาษณ์ไป อาจารย์หน้าบึ้งเลย เราแบบตายละ ยิ่งกดดัน ก็จะถามว่าจบจากโรงเรียนอะไร แนะนำตัวหน่อย แล้วก็ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นที่นี่ แล้วก็ทำไมถึงต้องเป็นสาขานี้ แล้วก็เค้าก็จะถามต่อเรื่องผลงานในพอร์ตเรา ให้เราพรีเซนต์ตัวเองให้ฟังครับ
Q : กิจกรรมไหนที่คนอยากเข้าวิศวะต้องมีติดพอร์ต
A : อยากให้ไปทำกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับคณะหรือสาขาที่เราอยากเข้าเยอะ ๆ ครับ เพราะตอนแรกอาจารย์ถามผมเลยว่ามีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับโยธาไหม ถ้าอยากเข้าโครงการเรียนดีอย่างแรกเลย เกรดจะต้องสูง ๆ ไว้ก่อน จากนั้นก็ไปเตรียมผลงานที่เกี่ยวกับคณะเยอะ ๆ หรือไปศึกษาเรื่องเกี่ยวกับโปรแกรมก็ได้ อย่างโยธาเองก็มีโปรแกรมที่เขาจะใช้กัน ตอนสัมภาษณ์อาจารย์ก็ถามเหมือนกันว่าเคยใช้ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับโยธาไหม
Q : แชร์เทคนิคการเรียนให้ได้เกรดเฉลี่ยดี ๆ ของตัวเอง
A : ผมว่าการมีวินัยครับ คือผมจะเรียนให้มันติดเป็นนิสัย อย่างช่วงก่อนเปิดเทอม ม.4 ขึ้น ม.5 จะเรียนทุกวันเลย ทำซ้ำ ๆ ทุกวันจนชิน ผมอยากแนะนำว่าให้เรียนล่วงหน้าไปก่อนเลย แล้วทำโจทย์เยอะ ๆ จะได้ไม่ลืม การเรียนที่ WE ช่วยมาก ๆ เลยครับ ไม่ใช่แค่ในสนามสอบอย่างเดียว แต่ในห้องเรียนก็ช่วย ช่วยมาก ๆ เลยครับ เพราะว่าเรามีโอกาสได้เรียนล่วงหน้าก่อน ได้เรียนลึกกว่า มีเทคนิค มีสูตรให้เพื่อนว้าวเล่นด้วย (หัวเราะ)
Q : แนะนำน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวยื่นรอบพอร์ตหน่อย
A : อยากให้ตั้งใจเรียนตอน ม.ปลาย ทำเกรดดี ๆ อย่าไปคิดว่าเข้ารอบ 3 ไม่ใช้เกรด พยายามเรียนทำเกรดให้มันดีๆ แล้วก็ถ้ารู้ตัวเร็วตั้งแต่ม.4 ม.5 พยายามเก็บผลงานที่เกี่ยวกับคณะหรือสาขา มันก็จะช่วยให้กรรมการเห็นว่าเราสนใจจริง ๆ นะ
เป็นอย่างไรบ้างคะน้อง ๆ กับตัวอย่าง Portfolio ของรุ่นพี่ WE ทั้ง 3 คน น้อง ๆ สามารถดูเป็นตัวอย่าง และนำไปประยุกต์ใช้กับคณะที่จะยื่นเข้าได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่อนุญาตให้นำไปดัดแปลง หรือเผยแพร่ที่อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานนะคะ สุดท้ายนี้ขอให้น้อง ๆ ที่จะยื่นรอบ Portfolio พิชิตคณะในฝันได้อย่างตั้งใจนะคะ