กสพท คืออะไร ต้องสอบอะไรบ้าง ?

กสพท-คืออะไร

กสพท คืออะไร? ต้องสอบอะไรบ้าง ?

กสพท คืออะไร อยากเป็นหมอต้องทำยังไง? สิ่งแรก ๆ ที่น้องควรรู้จักคือ กสพท หรือ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคณะแพทยศาสตร์ 16 สถาบัน คณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ 10 สถาบัน และคณะเภสัชศาสตร์ 11 สถาบัน การรวมกลุ่มนี้เกิดขึ้นเพื่อคัดเลือกน้อง ๆ ว่าที่แพทย์เข้าศึกษาต่อในกลุ่มวิชาแพทยศาสตร์นั้นเอง โดยในปีการศึกษา 2563 โครงการ กสพท ได้เข้าร่วมกับระบบ TCAS ในรอบที่ 3 ที่ได้ประกาศผลออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว !!!
หากน้อง ๆ คนไหนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, สัตวแพทยศาสตร์, และเภสัชศาสตร์ ต้องห้ามพลาด! ข้อมูลน่ารู้เหล่านี้เลยนะคะ  เพราะเป็นสถิติจำนวนการรับของแต่ละคณะในโครงการ กสพท ปี 60 – 63 ว่าแต่ละปีจะมีการเปิดรับเท่าไรบ้าง? เพื่อที่เด็ก 64 จะได้เริ่มเตรียมตัว  และประเมินสถิติคะแนนการแข่งขันในแต่ละปี นำไปสู่การตั้งเป้าหมายพิชิตทางฝัน

ตารางจำนวนการรับของ กสพท (ข้อมูลปี 60 – 63)

จำนวนการรับของ กสพท

จะเห็นได้ว่าจำนวนที่เปิดรับของคณะแพทยศาสตร์จะอยู่ในกรอบ 1,200 – 1,300 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนรับทั้งหมด  ส่วนคณะสัตวแพทยศาสตร์ก็จะโดดขึ้นมาเป็น 420 ที่นั่ง ที่เปิดรับรับจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกปี  เช่นเดียวกับคณะทันตแพทยศาสตร์  ในส่วนของคณะเภสัชศาสตร์นั้นยังมีจำนวนการรับอยู่ในกรอบ 550 – 670 ที่นั่ง ซึ่งก็ถือได้ว่าสนามนี้สำคัญกับกับว่าที่แพทย์จริง ๆ ทั้งนี้ กสพท ได้กำหนดคุณสมบัติพื้นฐานสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าศึกษา จะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง? ไปดูกันเลย

คุณสมบัติพื้นฐานของว่าที่แพทย์

(ตามประกาศกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1 เรื่อง : หลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา)

  • เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง มีความละเอียดรอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริต
  • เป็นผู้สำเร็จการศึกษามัธยมตอนปลายตามหลักสูตร สำหรับผู้ที่สมัครแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ต้องสำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาในสายวิทยาศาสตร์เท่านั้น
  • เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย ยกเว้นผู้ที่สมัครกับสถาบันเอกชนที่เข้าร่วมกับ กสพท
  • เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่สามารถปฏิบัติงานในส่วนราชการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐได้
  • ไม่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย / สถาบันศึกษาของรัฐ
  • ไม่มีปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการประกอบวิชาชีพ
  • สำหรับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามที่วิทยาลัยฯกำหนด

ปล. ควรศึกษารายละเอียดประกาศการรับสมัครอีกครั้งเนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

โครงการ กสพท ใช้คะแนนกี่ส่วน

ข้อมูลตรงนี้คือสิ่งสำคัญมาก ทั้งการทำความเข้าใจ การทบทวนหนังสือ การลำดับความสำคัญในการเตรียมตัวสอบ เพราะจะผ่านเกณฑ์การคัดเลือกโครงการ กสพท. หรือไม่นั้นวัดจากองค์ประกอบ 2 +1 ได้แก่

1. O-NET  (5 กลุ่มวิชาไม่น้อยกว่า 60%)

หากอ้างอิงตามประกาศของ กสพท แม้คะแนน O-NET จะไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการคำนวณของสัดส่วนคะแนน   แต่น้องจะต้องยื่นผลคะแนนสอบ O-NET ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก  มีวิชาที่น้องต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสอบคือ วิชาวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  โดยต้องได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่า 60%  หากคะแนนรวมของน้องน้อยกว่า 60% รายชื่อของน้องจะถูกตัดชื่อออกจากการคัดเลือก เพราะถือว่าไม่ผ่านเงื่อนไข

2. วิชาสามัญ คิดเป็น 70%

อีกหนึ่งคะแนนที่ใช้ถือเป็นคะแนนส่วนใหญ่นั้นคือ 9 วิชาสามัญ โดยใช้คะแนนการสอบจำนวน 5 วิชาประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา), คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  โดยมีสัดส่วนคะแนน ดังนี้

  • วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) 40%
  • คณิตศาสตร์ 20%
  • ภาษาอังกฤษ 20%
  • ภาษาไทย 10%
  • สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 10%

โดยมีเงื่อนไข  คือต้องได้คะแนนเท่ากับหรือมากกว่า 30% ของคะแนนเต็มในแต่ละวิชา พูดแบบเข้าใจง่าย ๆ คือ  แต่ละวิชาจะมีเกณฑ์คะแนนกำหนดการนำสัดส่วนคะแนนมาคำนวณ แต่ทั้ง 5 วิชาจะต้องได้เท่ากับหรือมากกว่า 30%
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อน้องสอบวิชาสามัญได้เกินกว่าสัดส่วนของวิชาที่ใช้  แต่ผลคะแนนสอบของวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เมื่อคิดเป็น % ได้ 28% ในอัตราส่วนที่นำมาคำนวณใน 70% น้องผ่านฉลุย แต่น้องจะไม่ได้รับการพิจารณา เพราะน้องได้คะแนนเฉลี่ยของวิชาสังคมศึกษาไม่เกิน 30% ดังนั้นอ่านหนังสือตั้งแต่ตอนนี้  เพื่อคะแนนสอบที่ออกมาจะได้ไม่มีปัญหา

3. วิชาเฉพาะ หรือที่เรียกว่า “ความถนัดแพทย์” คิดเป็น 30%

วิชาเฉพาะแพทย์เป็นการจัดการสอบระดับประเทศที่จัดสอบโดย กสพท ถือได้ว่าเป็นสนามการสอบแพทย์ที่เปิดกว้างรับผู้สมัครสอบทั่วทุกจังหวัด เป็นการทดสอบศักยภาพในการเรียนรู้ได้แก่

  • ความสามารถในการจับใจความคิดวิเคราะห์สังเคราะห์เชื่อมโยงความเป็นเหตุผล และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
  • การประเมินแนวคิดทางจริยธรรม

สำหรับคะแนนที่นำมาคำนวณตามเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาคณะแพทย์ในปีการศึกษา 2563 ใช้คะแนนรวมแล้ว 3 ส่วนด้วยกัน แต่ถ้าพลาดสนามสอบ กสพท ก็ยังมีสนามสอบแอดมิชชั่นที่ยื่นสอบคะแนน GAT/PAT รวมถึงการสมัครเข้าโครงการต่าง ๆ กับทางมหาวิทยาลัยทั้งระบบโควตา มหาวิทยาลัยจะทำการจัดสอบเอง

คะแนน กสพท

การสมัครสอบ

น้อง ๆ ควรศึกษาประกาศการรับสมัครในปีการศึกษานั้น ๆ โดยละเอียดเพื่อป้องกันการผิดพลาด โดยวันนี้ “พี่วีวี่” ได้รวบรวมข้อมูลของประกาศการรับสมัครปีการศึกษา 2563 นำมาฝากน้อง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการสมัครสอบ ของปีการศึกษา 2564 ว่าควรสมัครสอบแบบไหนบ้าง? โดยน้องควรศึกษาเกณฑ์สัดส่วนคะแนนตามประกาศการรับสมัครอีกครั้ง  เอาเป็นว่าไปดูกันดีกว่านะคะ ว่าน้อง ๆ จะได้เตรียมตัวสอบวิชาไหนบ้าง
9 วิชาสามัญ (สมัครสอบ 7 – วิชา ไทย, สังคม, อังกฤษ, คณิต 1, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา)
สมัครผ่าน สทศ. >>> www.niets.or.th
*ติดตามกำหนดการอย่างใกล้ชิด
 วิชาเฉพาะ กสพท หรือ วิชาความถนัดแพทย์
สมัครผ่าน กสพท  >>> www9.si.mahidol.ac.th
*ติดตามกำหนดการอย่างใกล้ชิด
O-NET
ม. 6 โรงเรียนสามัญ ไม่ต้องสมัคร
ส่วนน้อง ๆ ที่เทียบเท่าให้สมัครเองผ่าน สทศ >>>  www.niets.or.th
*ติดตามกำหนดการอย่างใกล้ชิด
GAP / PAT
สมัครผ่าน สทศ. >>> www.niets.or.th
*ติดตามกำหนดการอย่างใกล้ชิด
สมัครผ่าน TCAS mytcas.com
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
ปล. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประกาศเกณฑ์การรับสมัครของแต่ละคณะ และมหาวิทยาลัยโปรดติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
เป็นยังไงกันบ้างน้อง ๆ นี้เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนสำหรับประกาศการรับสมัครในปีการศึกษา 2563 เท่านั้น ซึ่งที่ “พี่วีวี่” นำมาฝากนี้  เพื่อให้น้อง 64 จะได้ศึกษาข้อมูลไว้ล่วงหน้าจะได้เตรียมตัวสอบ เตรียมตัวอ่านหนังพิชิตทางฝันสู่เส้นทางสายอาชีพ ซึ่งการประกาศรับสมัครในปีการศึกษา 2564 อาจจะมีข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของคะแนน เนื่องจากมีการพัฒนาข้อสอบ T-GAT, T-PAT ขึ้นมา  จึงอยากให้น้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดด้วยนะคะ  ส่วน “พี่วีวี่” ถ้ามีข่าวสารที่น่าสนใจก็จะนำมาฝากน้อง ๆ รับรองไม่พลาดแน่นอนค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ