น้อง ๆ คนไหนที่มีความฝันอยากเป็นหมอ พี่วีวี่เชื่อว่าทุกคนคงศึกษาข้อมูลกันมาแล้วว่า จะต้องสอบวิชาอะไรบ้าง และต้องเตรียมตัวอย่างไร แต่เพื่อตอกย้ำความมั่นใจมากยิ่งขึ้น พี่วีวี่ได้รวม 6 เรื่องที่น้อง ๆ อยากรู้มากที่สุดเกี่ยวกับคณะแพทยศาสตร์ พร้อมคำตอบมาให้แล้ว อ่านจบแล้ว รับรองว่าจะช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์มากขึ้นแน่นอน!
1. คณะแพทยศาสตร์เรียนกี่ปี
เมื่อน้อง ๆ เข้าไปเรียนที่คณะแพทยศาสตร์แล้ว น้อง ๆ จะต้องเรียนทั้งหมด 6 ปี และไม่ได้เลือกสาขาวิชาค่ะ โดยทุก ๆ คนจะต้องเรียนเหมือนกันทั้งหมดเลย สำหรับน้อง ๆ ปี 1 – ปี 3 จะต้องเรียนรู้ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ก่อน ตั้งแต่ความผิดปกติของร่างกาย ลักษณะอาการของโรคต่าง ๆ และวิธีรักษาอย่างถูกต้อง
เมื่อขึ้นปี 4 – ปี 6 ถึงจะต้องเข้าไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติงานจริงที่โรงพยาบาลต่าง ๆ จนจบ แล้วค่อยไปสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม (NL) และใบประกอบวิชาชีพแพทย์ เพื่อนำมาใช้ในการทำงานที่โรงพยาบาล
2. คณะแพทยศาสตร์มีกี่สาขา
น้อง ๆ จะสามารถเลือกสาขา หรือภาควิชาที่ตนเองสนใจได้ก็ต่อเมื่อเรียนจบ แพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) ก่อน ซึ่งจะมีให้เลือกหลายสาขาวิชามาก ยกตัวอย่างเช่น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีให้เลือกถึง 21 ภาควิชา ดังนี้
- กายวิภาคศาสตร์ (Anatomy)
- จิตเวชศาสตร์ (Psychiatry)
- จุลชีววิทยา (Microbiology)
- นิติเวชศาสตร์ (Forensic Medicine)
- ปรสิตวิทยา (Parasitology)
- พยาธิวิทยา (Pathology)
- เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม (Preventive and Social Medicine)
- สรีรวิทยา (Physiology)
- กุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics)
- จักษุวิทยา (Ophthalmology)
- ชีวเคมี (Biochemistry)
- เภสัชวิทยา (Pharmacology)
- รังสีวิทยา (Radiology)
- วิสัญญีวิทยา (Anesthesiology)
- เวชศาสตร์ชันสูตร(Laboratory Medicine)
- ศัลยศาสตร์ (Surgery)
- ออร์โธปิดิกส์ Orthopedics)
- เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Medicine)
- สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (Obstetrics and Gynecology)
- โสต ศอ นาสิกวิทยา (Otolaryngology)
- อายุรศาสตร์ (Medicine)
2. เกณฑ์รับสมัครคณะแพทยศาสตร์ ปีการศึกษา 2568
น้อง ๆ DEK68 ที่สนใจสมัครคณะแพทยศาสตร์ ปีการศึกษา 2568 จะต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานตาม ประกาศกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ดังนี้
- เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง มีความละเอียดรอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริต ที่สามารถแสดงให้เห็นได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครสอบ การสอบข้อเขียน การสัมภาษณ์ และตรวจสุขภาพ
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรหรือกำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และคาดว่าจะจบการศึกษาก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2568
- เป็นผู้มีสัญชาติไทย ยกเว้น ผู้ที่สมัครเข้าศึกษาในสถาบันเอกชนที่เข้าร่วมกับ กสพท
- เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะไปปฏิบัติงานในส่วนราชการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ตามระเบียบของทางราชการ เรื่องการปฏิบัติงานชดใช้ทุน สำหรับผู้สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ยกเว้นผู้ที่สมัครเข้าศึกษาในสถาบันเอกชน
- ในปีการศึกษา 2567 ไม่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัย/ สถาบันการศึกษาของรัฐ ในหลักสูตร
- แพทยศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้ที่สมัครในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
- ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้ที่สมัครในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
- สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้ที่สมัครในหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต
- เภสัชศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้ที่สมัครในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ยกเว้น ได้รับการอนุมัติให้ลาออกจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยก่อนวันที่ 25 เมษายน 2568
- ไม่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาสูงกว่าชั้นปีที่ 1* ในมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษาของรัฐ ยกเว้น ผู้ที่ได้รับการอนุมัติให้ลาออกจากการศึกษา โดยได้รับการอนุมัติให้ลาออกจากมหาวิทยาลัยที่ศึกษาก่อนวันที่ 10 กันยายน 2567 และผู้ที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2567
- ไม่เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกและยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในสถาบันที่เข้าร่วมการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (TCAS) ปีการศึกษา 2568 (TCA568) ในรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) หรือในรอบที่ 2 โควตา (Quota)
- ไม่มีปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการประกอบวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ หรือเภสัชกร ตามแนวทางคุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัครเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตฑิต ของ กสพท (ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ https://cotmesadmission.com)
- สำหรับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกฎเกล้า ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมเพื่อเป็นนักเรียนแพทย์ทหารหรือ นักศึกษาแพทย์ ตามที่ทางวิทยาลัยฯ กำหนด (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.pcm.ac.th)
*ผู้ที่ศึกษาสูงกว่าชั้นปีที่ 1 หมายถึง ผู้ที่มีสถานภาพนิสิต/นักศึกษาสูงกว่าชั้นปีที่ 1 อันได้แก่ ผู้ที่ได้ลงทะเบียนในรายวิชาบังคับของชั้นปีที่สูงกว่าปีที่ 1 หรือผู้ที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนในรายวิชาบังคับตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ขึ้นไปแม้จะได้ลาพัก/ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษาแล้ว
4. ค่าเทอมของคณะแพทยศาสตร์
ค่าเทอมของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐบาล โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 – 40,000 บาท โดยน้อง ๆ สามารถดูรายละเอียดค่าเทอมที่แน่นอนได้ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่ตนเอาสนใจได้เลย เพราะค่าเทอมของแต่ละมหาวิทยาลัยจะไม่เท่ากันนั่นเองค่ะ
5. คะแนนสอบที่ต้องใช้ยื่นเข้าคณะแพทยศาสตร์
น้อง ๆ ที่ต้องการสมัครสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ TCAS รอบ 3 (รอบ Admission) จะต้องใช้คะแนนจากข้อสอบกลาง 2 ส่วน ดังนี้
1. TPAT1 กสพท (30%)
TPAT1 กสพท คือ ข้อสอบวัดความถนัดทางการแพทย์ เป็นข้อสอบวิชาเฉพาะของ กสพท โดยจะแบ่งเป็น 3 พาร์ต ได้แก่ เชาว์ปัญญา 100 คะแนน, จริยธรรมทางการแพทย์ 100 คะแนน และความคิดเชื่อมโยง 100 คะแนน ซึ่งน้อง ๆ จะต้องสอบพร้อมกันในวันเดียวเลย
2. A-Level (70%)
A-Level (Applied Knowledge Level) คือ การสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ ที่ทาง ทปอ. กำหนดขอบเขตข้อสอบไว้แล้วว่าเนื้อหาจะอ้างอิงหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. ไม่ออกเกินจากหลักสูตรที่เรียนมาตั้งแต่ชั้น ม.4 – ม.6 โดยจะมีทั้งหมด 10 วิชา
แต่วิชาที่น้อง ๆ ที่อยากเข้าคณะแพทยศาสตร์ต้องสอบ จะมีอยู่ 7 วิชา ดังนี้
- A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1
- A-Level ฟิสิกส์
- A-Level เคมี
- A-Level ชีววิทยา
- A-Level ภาษาอังกฤษ
- A-Level ภาษาไทย
- A-Level สังคมศาสตร์
อย่างไรก็ตาม แต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีการกำหนดเกณฑ์คัดเลือกและสัดส่วนคะแนนที่แตกต่างกัน พี่วีวี่แนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาข้อมูลรายละเอียดการรับสมัครล่าสุดอีกครั้ง เพื่อที่จะได้วางแผนการติวหนังสือสอบให้เหมาะสมกับคณะและมหาวิทยาลัยที่ตนเองอยากเข้ามากที่สุด
6. มหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์
ข้อมูลจากเว็บไซต์แพทยสภา มีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนที่ผลิตแพทย์ของรัฐบาลอยู่ 24 แห่ง ดังนี้
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- คณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เตรียมสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์กับ WE BY THE BRAIN
จบกันไปแล้วกับ 6 เรื่องที่น้อง ๆ อยากรู้เกี่ยวกับคณะแพทยศาสตร์ พี่วีวี่หวังว่าข้อมูลที่นำมาฝากนี้จะเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ DEK68 ทุกคนไม่มากก็น้อย และช่วยให้น้อง ๆ สามารถเตรียมตัวสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น!
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากได้เทคนิคทริกลัดเพิ่มเติม ต้องการติวเข้มก่อนสอบ TGAT และ A-Level สามารถสมัครคอร์สติวเข้ามหาวิทยาลัย 68 กับ WE BY THE BRAIN ได้เลย พี่ ๆ ติวเตอร์ของเราพร้อมพาน้อง ๆ ไปตะลุยโจทย์ข้อสอบหลากหลายรูปแบบ เน้นสอนด้วยความเข้าใจ นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เรียนจบแล้วจะช่วยให้น้อง ๆ เก็บคะแนนสอบได้มากขึ้นอย่างแน่นอน!
อัปเดตข่าวสารและสอบถามรายละเอียดติวเข้ามหาวิทยาลัย 68 จาก WE BY THE BRAIN ได้ที่
- WE CARE : 02-952-6767
- Line OA : @weplus_care
- Facebook Page : WE BY THE BRAIN
- Instagram : webythebrain
- Twitter : @WEBYTHEBRAIN
- Youtube : WE BY THE BRAIN
โรงเรียนกวดวิชา วี บาย เดอะเบรน เรียนสนุก เข้าใจง่าย ทำโจทย์ได้จริง!