สวัสดีค่ะน้อง วันนี้เรามาพบกันอีกเช่นเคย พี่ยูได้เตรียมเนื้อหาเพื่อที่จะมาเก็งข้อสอบวิชาภาษาไทยสอบเข้า ม.4 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ยิ่งถ้าน้อง ๆ รู้ว่า ข้อสอบแนวไหนที่ Top Hit ติดดาว ออกสอบเป็นประจำก็จะยิ่งได้เปรียบคู่แข่งที่ยังไม่รู้หรือรู้ไม่ลึกเท่าที่เราจะได้รู้
สำหรับรับศึกหนักสอบเข้า ม.4 ที่จะถึงนี้ น้อง ๆ ที่เตรียมตัวกันมาอย่างสุดพลังก่อนหน้านี้แล้ว อาจยังต้องการความมั่นใจว่าที่เตรียมมานั้นปังแค่ไหน ทรงพลังมากพอแล้วหรือยัง บทความนี้พี่ยูขออาสาชูป้ายไฟให้กำลังใจพร้อมกระซิบแนวข้อสอบให้น้อง ๆ อีกแรงนะคะ
ในภาพรวมของข้อสอบสอบเข้า ม.4 แบบไม่เจาะลึกไปที่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วจะออกสอบ 5 สาระ แต่สัดส่วนข้อสอบของแต่ละสาระอาจจะหน่วงจำนวนข้อหรือค่าน้ำหนักคะแนนไม่เท่ากัน บางประเด็น บางเรื่อง ของแต่ละสาระอาจออกซ้ำกันหลายโรงเรียน เสมือนกรรมการนัดกันไว้ก่อนหน้า หากย้อนไปดูข้อสอบในภาพรวมหลายโรงเรียนแล้ว พี่ยูพบว่ามีเรื่องที่ออกสอบบ่อยมาก ๆ ในแต่ละสาระนี้
1. “สาระการอ่าน” ประเด็นที่ออกบ่อย ออกแล้วออกอีก ออกเหมือนเป็นโจทย์บังคับว่า ต้องวัดความรู้ให้ได้ ก็คือเรื่อง การจับใจความ / การตีความ / การอนุมาน / การนับพยางค์และการอ่านออกเสียงคำศัพท์ให้ถูกต้องในแต่ละพยางค์
2. “สาระการเขียน” แน่นอนว่า ถ้าเป็นประเด็นฮิตติดดาวของสาระนี้ ก็หนีไม่พ้นเรื่อง การเขียนสะกดคำ / โวหารการเขียน / การเขียนเรียงความ / การเขียนรายงานทางวิชาการ / เขียนย่อความ ประเด็นดังกล่าวนี้ เกือบทั้งหมดมักจะออกข้อสอบตามติดเราจนถึงสนามสอบ ม.ปลาย อีกหลายสนามสำคัญ
3. “สาระการฟัง ดู พูด” ข้อสอบมักเน้นให้เราวิเคราะห์ น้ำเสียง / เจตนา / การใช้วิจารณญาณ / เนื้อหาหรือมารยาทของการพูดในโอกาสต่าง ๆ เป็นสาระที่ออกข้อสอบจำนวนข้อน้อยที่สุดในบรรดาทั้งหมด 5 สาระ และบางโรงเรียน ในบางปี แทบจะไม่นำมาออกข้อสอบเลย
4. “สาระหลักการใช้ภาษา” เป็นส่วนสาระที่ควรต้องเน้นมาก ๆ ที่พี่ยูย้ำน้อง ๆ ว่า ออกข้อสอบจำนวนข้อมากที่สุดในบรรดา 5 สาระ และออกทุกสนามจริง ๆ ขอขีดเส้นใต้ไว้อีกครั้งว่า ข้อสอบมักจะมากองที่สาระนี้เยอะมาก เพราะมีเรื่องหรือ Topic ที่เราเรียน หลายหัวข้อหลายประเด็นในแต่ละเทอมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นที่มักออกสอบบ่อย ๆ เช่น เสียงในภาษา / โครงสร้างพยางค์ / ชนิดคำและหน้าที่ / คำและความหมาย / คำไทย – คำยืม / การสร้างคำ / สำนวนไทย / ราชาศัพท์ / ระดับภาษา / ฉันทลักษณ์
5. “สาระวรรณคดีฯ” ข้อสอบในสาระนี้มักจะให้วิเคราะห์บทร้อยกรองหรือคำประพันธ์ที่กำหนดมาให้ใน 3 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านข้อคิด ด้านวัฒนธรรมและความรู้
สำหรับภาษาไทย สาระสำคัญที่พี่ยูสรุปมาให้น้อง ว่าข้อสอบจะเน้นที่หลักการใช้ภาษาเป็นลำดับที่ 1 ส่วนใหญ่ การอ่านและวรรณคดี / วรรณกรรม เป็นอันดับรองลงมา ที่เหลือก็จะเฉลี่ยออกข้อสอบในสัดส่วนจำนวนข้อไล่เลี่ยกัน ทั้งหมดนี้ คือ สาระและประเด็นเนื้อหาที่ทั้งฮอตทั้งฮิต ออกข้อสอบบ๊อยบ่อย
ส่วนแหล่งฝึกฝนข้อสอบ ดีที่สุดพี่ยูแนะนำว่า ให้พยายามหาข้อสอบจริง “ของโรงเรียนที่น้องต้องการสอบเข้า” อย่างน้อยสัก 3 ฉบับ มาฝึกทำอย่างจริงจัง หรือถ้าโรงเรียนนั้นมีจัดสอบ Pre-test ข้อสอบกลุ่มนี้เป็นแนวข้อสอบเสมือนจริงที่ดีที่สุด
นอกจากนั้นแล้ว ถ้าเป็นไปได้ พี่ยูขอเน้นย้ำว่า ยังมีแนวข้อสอบจากสนามอื่น ๆ ที่ควรไปฝึกทำเพิ่มเติมด้วย เช่น ข้อสอบ O-NET ม.3 / ข้อสอบ O-NET ม.6 เพราะจะช่วยทวนความรู้ที่เตรียมตัวมา ช่วยเพิ่มความมั่นใจและประสบการณ์การทำโจทย์ก่อนลงสนามสอบจริง
พี่ยูแอบกระซิบดัง ๆ ว่า พี่ยูมีข้อสอบเก็งที่ออกเองด้วยนะ ติดตามได้ใน YouTube Chanel ของ We by The Brain มีหลายคลิปที่พี่ยูพาตะลุยโจทย์เก็งแบบแม่น ๆ หลายสิบข้อ ถ้าติดใจสไตล์การสอนหรือความละเอียด ลึก เป๊ะ พี่ยูก็มีคอร์สติวเข้มและตะลุยโจทย์สำหรับสอบเข้า ม.4 ไว้ให้น้อง ๆ ด้วย