คณิต ม.ปลาย ยากแค่ไหน เรียนอะไร เตรียมตัวยังไงบ้าง?

 

วันนี้พี่วีวี่คนดีคนเดิมมีบางอย่างจะมาแชร์ให้กับน้อง ๆ นั่นก็คือ ความสำคัญของการเตรียมตัวเรียนคณิตในชั้น ม.ปลาย นั่นเอง! วิชาคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น จะมีเนื้อหาที่เข้มข้นซับซ้อนขึ้นมาอีกระดับ และยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดสู่รั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย น้อง ๆ บางคนตอนเรียน ม.ต้น อาจจะพบว่าเนื้อหาง่ายและเรียนเข้าใจ แต่พอขึ้น ม.ปลาย กลับพบว่าเริ่มยากเกินไปซะแล้ว ซึ่งวันนี้พี่นำทริคดี ๆ มาฝากน้อง ๆ ม.ต้น ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นพี่ ม.ปลาย หรือพี่ ม.ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้น้อง ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนคณิตศาสตร์ให้ดี เพราะมันจะส่งผลต่อตัวน้อง ๆ เป็นอย่างมาก พี่วีวี่ไม่อยากให้น้อง ๆ ต้องพลาดกับคณะที่น้อง ๆ อยากเข้า หรือความฝันที่น้อง ๆ อยากจะเอื้อมไปให้ถึง!

เอาล่ะ!! ตอนนี้น้อง ๆ คงจะอยากรู้แล้วใช่มั้ยว่า “คณิต ม.ปลาย เค้าเรียนอะไรกันบ้างนะ?” เพื่อที่น้อง ๆ จะได้ลุกขึ้นฮึดสู้อ่านหนังสือล่วงหน้ากัน

หัวข้อที่น้อง ๆ จะได้เรียนในวิชาคณิตศาสตร์ ม.ปลาย มีดังต่อไปนี้

  • ม.4 เทอม 1 จะเป็นการเรียนในเชิงของปรับพื้นฐานของคณิตศาสตร์ ได้แก่
    •  เซต
    • ตรรกศาสตร์
    • จำนวนจริง
  •  ม.4 เทอม 2 เป็นเรื่องของพื้นฐานความสัมพันธ์และฟังก์ชัน ได้แก่
    • ความสัมพันธ์และฟังก์ชัน
    • ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม
  • ม.5 เทอม 1 จะได้เรียนฟังก์ชันอีกเช่นกัน แต่เพิ่มความยากและซับซ้อนมากขึ้น และยังมีเรื่องปริมาณที่มีทั้งขนาดและทิศทางอีกด้วย ได้แก่
    • ฟังก์ชันตรีโกณมิติ
    • เมทริกซ์
    • เวกเตอร์
  • ม.5 เทอม 2 จะเป็นเรื่องการนำเวกเตอร์ไปเขียนจำนวนเชิงซ้อน และหลักการนับจำนวนวิธีที่เป็นไปได้ในการทำงานทั้งหมด รวมไปถึงความน่าจะเป็น
    • จำนวนเชิงซ้อน
    • หลักการนับเบื้องต้น
    • ความน่าจะเป็น
  • ม.6 เทอม 1 เรียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ฟังก์ชันแต่มีความยากขึ้น ได้แก่
    • ลำดับและอนุกรม
    • แคลคูลัสเบื้องต้น
  • ม.6 เทอม 2 กล่าวถึงเรื่องของสถิติศาสตร์ ตั้งแต่สถิติศาสตร์ภาคบรรยาย ไปจนถึงสถิติศาสตร์ภาควิเคราะห์และคำนวณ
    • ความหมายของสถิติศาสตร์และข้อมูล
    • การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพ
    • การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณ
    • ตัวแปรสุ่มและการแจกแจงความน่าจะเป็น

นี่เป็นเพียงหัวข้อพื้นฐานบางส่วนในวิชาเลขระดับ ม.ปลาย เท่านั้น ยังมีแนวคิดและหัวข้อย่อยที่เฉพาะเจาะจงอีกมากมายที่น้อง ๆ จะได้เรียนรู้ และการเตรียมตัวสอบเลขนั้น ต้องอาศัยแนวทางที่เป็นระบบและการฝึกฝนที่สม่ำเสมอ

ดังนั้น พี่วีวี่มีทริคที่จะช่วยให้น้อง ๆ ได้เตรียมตัวอย่างมีประสิทธิภาพมาฝากกัน!!

  1. ฝึกทำโจทย์ให้เยอะมากขึ้น : น้อง ๆ ควรจะฝึกทำโจทย์หลาย ๆ แนวจากหลาย ๆ สนามสอบ เพื่อให้ตัวน้องเองคุ้นชินกับโจทย์ และไม่พลาดเมื่อลงสนามสอบจริง การฝึกทำโจทย์ช่วยให้น้องได้ฝึกประลองสมอง และทำข้อสอบได้ไวขึ้นอีกด้วยนะ
  2. ทบทวนเนื้อหา : อ่านหนังสือเยอะ ๆ ให้แน่ใจว่าเข้าใจโจทย์ที่ครูได้สอนในชั้นเรียน ถ้าไม่เข้าใจยกมือถามเลย! อย่าปล่อยให้ตัวเองนั่งมึน และอย่าอายเมื่อยกมือถาม เพราะนั้นคือผลประโยชน์ของตัวน้องเอง
  3. ตรวจดูข้อบกพร่องของตัวเอง : ทำแบบฝึกหัดหรือทบทวนจนหาข้อบกพร่องของตัวเองเจอ และปรับปรุงให้ได้มากที่สุด เช่น ทำข้อสอบช้าเพราะโจทย์ฟังก์ชั่น ก็จะได้ฝึกทำโจทย์เรื่องฟังก์ชั่นมากขึ้นเป็นพิเศษ
  4. วางแผนให้สมองได้พัก! : ข้อนี้สำคัญมาก เพราะถ้าน้อง ๆ ใช้สมองในการจดจำข้อมูลแล้ว ร่างกายของน้อง ๆ ก็ต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอเช่นกัน จะทำให้น้อง ๆ สามารถทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกด้วย อย่าลืมหาของอร่อย ๆ กิน หาหนังที่ชอบดู หรือชวนเพื่อนไปเดินเล่นบ้าง แต่ก็อย่าเพลินจนลืมเวลาอ่านหนังสือล่ะ
  5. คิดบวก : เชื่อในความสามารถของตัวเองและคิดบวก ความมั่นใจสามารถทำให้น้อง ๆ ผ่านบททดสอบไปได้ อย่าท้อถอยต่ออุปสรรค และจำไว้เสมอว่า การที่น้อง ๆ ทำโจทย์เรื่องไหนไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าน้องจะทำมันไม่ได้ตลอดไป เชื่อในข้อดีของตัวเอง และลองเริ่มทำความเข้าใจใหม่ดูก่อน ทำให้สุดความสามารถ และความสามารถของน้องจะไม่ทิ้งน้องแน่นอน!!

จำไว้ว่าการเตรียมตัวให้ดีเป็นกุญแจสำคัญ และความพยายามอย่างสม่ำเสมอจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น อดทนกับตัวเอง และอย่าท้อแท้ให้กับความท้าทายระหว่างทาง น้อง ๆ ก็จะสามารถพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ และทำข้อสอบคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้อย่างแน่นอน!! พี่วีวี่ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนในการเตรียมตัวสอบเข้า ม. ปลาย และสอบเข้ารั้วมหาวิทยาลัยในคณะที่ใช่ และขอให้ทุกคนไปถึงฝันนะคะ

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ