เรียนชีววิทยาให้เข้าใจและได้เกรดดี ด้วย 8 STEPS ง่าย ๆ

เรียนชีววิทยาให้เข้าใจและได้เกรดดี

สวัสดีค่ะน้องทุกคน กลับมาพบกับพี่วีวี่และสาระความรู้ดี ๆ อีกเช่นเคย เพิ่งจะผ่านพ้นช่วงสอบกลางภาคมา เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ทำข้อสอบกันได้ไหมเอ่ย เมื่อไม่นาน พี่วีวี่ได้แนะนำวิธีการเรียนคณิตศาสตร์ให้เก่งไปแล้ว วันนี้พี่วีวี่เลยมีเทคนิคการเรียนวิชาชีววิทยาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และได้เกรดดี มาฝากน้อง ๆ ทุกคน รับรองว่า ถ้าทำตามทุกเทคนิคแล้ว ปลายภาคนี้ จะพิชิตเกรดสี่ หรือสอบสนามต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากแน่นอนค่ะ !

  • STEP 1: ปรับวิธีคิดต่อการเรียนวิชาชีววิทยา
    น้อง ๆ หลายคนมองว่าวิชาชีวะเป็นวิชาที่ต้องท่องจำเยอะ ซับซ้อน และไม่สนุก พี่วีวี่อยากให้ลองปรับวิธีคิดต่อการเรียนชีวะใหม่ โดยการมองให้กว้าง ๆ และเชื่อมโยงความรู้สู่เรื่องรอบตัว ตัวอย่างเช่น น้อง ๆ เคยสงสัยไหมว่า ร่างกายทำงานอย่างไร กล้ามเนื้อทำงานอย่างไรเพื่อให้ร่างกายขยับ สมองสื่อสารกับกล้ามเนื้ออย่างไร ฯลฯคำถามเหล่านี้ วิชาชีวะจะสามารถตอบน้อง ๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นแล้ว ถ้าน้อง ๆ รู้ว่าสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ มีประโยชน์อย่างไร หรือเชื่อมโยงไปสู่เรื่องรอบตัวอย่างไร น้องก็จะมีความสุขกับการเรียนมากขึ้นค่ะ
  • STEP 2: ทำบัตรคำศัพท์สำหรับท่องศัพท์ชีวะ
    Flashcards หรือบัตรคำศัพท์ ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนศัพท์ใหม่ ๆ ในวิชาชีวะ อย่างที่รู้กันว่า วิชาชีวะมีคำศัพท์เฉพาะมากมาย และบางศัพท์ก็จำยากมาก การพกบัตรคำศัพท์ชีวะไปทุกที่ และนำมาท่องเมื่อมีเวลาว่างนั้น ถือเป็นวิธีที่จะช่วยจำศัพท์ได้ไวขึ้น นอกจากนั้นแล้ว การนั่งทำบัตรคำศัพท์ด้วยตัวเอง ก็เป็นวิธีที่จะช่วยทบทวนศัพท์ที่เรียนมาด้วยค่ะ
    บัตรคำศัพท์ชีวะ

    ตัวอย่างบัตรคำศัพท์ชีวะ [Credit Source:Studymesoftly]

  • STEP 3: แตกรากศัพท์ชีวะให้จำง่ายขึ้น
    นอกจากการทำบัตรคำศัพท์แล้ว อีกวิธีที่จะช่วยจำศัพท์ชีวะง่ายขึ้นคือ การแตกรากศัพท์นั่นเอง น้อง ๆ ที่ท่องศัพท์ชีวะเป็นประจำ คงจะรู้สึกว่าศัพท์บางคำชื่อยาวจัง หรืออ่านยากจัง และก็มักจะจำไม่ได้ เทคนิคแตกรากศัพท์ จะช่วยให้น้องจำได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น คำว่า “glucose” (กลูโคส) สามารถแยก prefix/suffix เป็นสองคำคือ “gluc” ที่แปลว่า หวาน และ “-ose” ที่แปลว่าน้ำตาล ถ้าน้องรู้ว่า “-ose” (โ-ส) เป็นน้ำตาล น้องก็จะรู้ว่า maltose, sucrose และ lactose ก็เป็นประเภทหนึ่งของน้ำตาลเช่นกัน
  • STEP 4: วาดรูป แผนภาพ และเขียนคำศัพท์กำกับ
    รูปภาพและแผนภาพจะช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจและจำเนื้อหาชีวะได้ง่ายขึ้น เมื่อเรียนรู้ระบบต่าง ๆ เช่น ระบบเซลล์ ร่างกาย สมอง น้องอาจลองวาดรูป หรือภาพแผนอย่างง่าย และระบุว่า ส่วนไหนของระบบนั้น มีชื่อว่าอะไร จากนั้นก็เขียนศัพท์กำกับไว้ นอกจากจะเป็นการทวนว่าเข้าใจและจำเนื้อหาที่เรียนได้หรือไม่ รูปและแผนภาพยังจะมีประโยชน์ตอนอ่านหนังสือช่วงใกล้สอบด้วยค่ะแผนภาพชีววิทยา

    ตัวอย่างการวาดแผนภาพชีวะ [Credit Source: Study Source]

  • STEP 5: อ่านหนังสือก่อนเข้าเรียน
    วิชาชีววิทยาเป็นอีกหนึ่งวิชาที่ควรจะอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียน ด้วยเนื้อหาที่เยอะ และระยะเวลาการเรียนในห้องสั้น ถ้าไม่อ่านหนังสือมาก่อน เมื่อเข้าไปนั่งเรียนแล้ว อาจตามครูผู้สอนไม่ทันหรือเรียนไม่เข้าใจ ดังนั้นแล้ว การอ่านหนังสือไปก่อนเรียน รวมไปถึงการถามคำถามครูผู้สอนในสิ่งที่ไม่เข้าใจจากที่อ่านมา จะช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจเนื้อหา และจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้นค่ะ
  • STEP 6: ทำแบบฝึกหัด และทบทวนสิ่งที่จดทุก ๆ คาบที่เรียน
    หนังสือเรียนวิชาชีววิทยาระดับมัธยมปลายจะมีแบบฝึกหัดในทุก ๆ บทที่เรียน ไม่ว่าครูผู้สอนจะสั่งหรือไม่สั่งให้ทำก็ตาม น้อง ๆ ก็ควรทำแบบฝึกหัดทุกบท เพื่อเป็นการทดสอบความเข้าใจในสิ่งที่เรียน ถ้าข้อไหนยาก หรือทำไม่ได้ ก็อาจหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หรือถามครูผู้สอนในคาบเรียนต่อไป นอกจากนั้นแล้ว หลังจากเรียนในห้องทุกคาบ น้อง ๆ ควรที่จะกลับมาทบทวนในสิ่งที่จดทุกครั้ง เพื่อเช็กความเข้าใจและทบทวนความจำ
    ทำแบบฝึกหัดชีวะ
  • STEP 7: จัดตารางเวลาเพื่ออ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ
    วิชาชีวะเป็นอีกหนึ่งวิชาที่เนื้อหาเยอะ เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าน้อง ๆ จัดตารางอ่านหนังสือไม่ดี ก็อาจอ่านไม่ทัน อ่านไม่จบ และทำข้อสอบไม่ได้ การจัดตารางอ่านหนังสือทุกวัน วันละสามสิบนาทีหรือหนึ่งชั่วโมง นอกจากจะช่วยทบทวนเนื้อหาแล้ว ยังช่วยฝึกให้น้องอ่านหนังสือเป็นนิสัยอีกด้วย ที่สำคัญ เมื่อถึงช่วงสอบ น้อง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งอ่านแบบอดหลับอดนอน เพราะอ่านและทบทวนเนื้อหาเป็นประจำอยู่แล้ว
  • STEP 8: ฝึกทำข้อสอบก่อนจะสอบจริง
    เมื่อทำครบทั้ง 7 เคล็ดลับแล้ว เคล็ดลับสุดท้ายก็คือการฝึกทำข้อสอบเก่า ๆ หรือโจทย์เพิ่มเติมนอกห้องเรียน ก่อนจะสอบจริง การฝึกทำข้อสอบหรือโจทย์เพิ่มเติม จะทำให้น้อง ๆ คุ้นชินกับรูปแบบข้อสอบที่คาดว่าจะออก ยิ่งน้อง ๆ ฝึกทำข้อสอบมากเท่าไหร่ เวลาทำข้อสอบจริง น้องก็จะคุ้นชินกับข้อสอบ ไม่ตื่นเต้น และมีสมาธิทำข้อสอบได้เต็มที่ค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หวังว่าเทคนิคทั้ง 8 จะทำให้น้อง ๆ เรียนชีวะได้เข้าใจและทำเกรดได้ดีขึ้น แต่ถ้าน้องคนไหนยังรู้สึกไม่มั่นใจอีก พี่วีวี่แนะนำให้ลองหาที่เรียนพิเศษวิชาชีวะดู ไม่ว่าจะเรียนล่วงหน้าเพิ่มเกรด หรือติวเข้มเข้ามหา’ลัย โรงเรียนกวดวิชาจะช่วยน้อง ๆ ได้อีกแรงค่ะ


คอร์สชีวะสอบเข้ามหาวิทยาลัย-tcas

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ