สรุปเนื้อหา ชีวะ ม.5 – ปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสง

สรุป ชีวะ ม.5 - การสังเคราะห์ด้วยแสง

      สวัสดีครับน้อง ๆ มีใครกำลังรอ สรุปเนื้อหาชีววิทยา อยู่รึเปล่า?

      ในวันนี้ “พี่บิ๊ก” จะมาแจกสรุปเนื้อหา บทปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 ที่เราจะได้เรียนกันในเทอม 1 ครับ สำหรับเนื้อหาชีววิทยาของ ม.5 เทอม 1 ตามหลักสูตร สสวท. จะเรียนเกี่ยวกับ การดำรงชีวิตของพืช โดยจะแบ่งเป็น 5 บท ได้แก่

  • บทที่ 1 การสืบพันธุ์ของพืชดอก : โครงสร้างของดอกและชนิดของผล, วัฏจักรชีวิตแบบสลับของพืชดอก, การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอก, การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างต่าง ๆ ของผลและเมล็ด
  • บทที่ 2 โครงสร้างและการเจริญเติบโตของพืชดอก : เนื้อเยื่อพืช, โครงสร้างและการเจริญเติบโตของราก, โครงสร้างและการเจริญเติบโตของลำต้น ,โครงสร้างและการเจริญเติบโตของใบ
  • บทที่ 3 การลำเลียงของพืช : การลำเลียงน้ำ, การแลกเปลี่ยนแก๊สและการคายน้ำ, การลำเลียงธาตุอาหาร, การลำเลียงอาหาร
  • บทที่ 4 การสังเคราะห์ด้วยแสง : การศึกษาที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์ด้วยแสง, กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช, โฟโตเรสไพเรชัน, การเพิ่มความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์, ปัจจัยบางประการที่มีผลต่อการสังเคราะห์ด้วยแสง
  • บทที่ 5 การควบคุมการเจริญเติบโตและการตอบสนองของพืช : ฮอร์โมนพืช, ปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด, การตอบสนองของพืชในลักษณะการเคลื่อนไหว, การตอบสนองต่อความเครียด
ชีววิทยา ม.5 เทอม 1 เรียนอะไรบ้าง?

      ถ้าดูจากเนื้อหาชีววิทยา ม.5 เทอม 1 ด้านบนนี้จะเห็นว่า การสังเคราะห์ด้วยแสง เป็นเนื้อหาบทที่ 4 จึงมักจะใช้ในการสอบ Final ของช่วง ม.5 เทอม 1 ครับ แต่เนื้อหาในบทนี้ค่อนข้างเยอะ และถูกนำไปออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกปีเลยด้วย ดังนั้นพี่บิ๊กจึงอยากให้น้อง ๆ ทำความเข้าใจและแม่นคอนเซปต์ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลามากในการอ่านทบทวนก่อนสอบจริง

      แล้วในบทการสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 นี้ น้อง ม.ปลาย จะได้เรียนเรื่องอะไร? มีหัวข้อไหนน่าสนใจบ้าง? รีบตามพี่บิ๊กมาดูพร้อมกันเลยครับ!!

สนใจหัวข้อไหน คลิกเลย!

การสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 - ภาพรวมของปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสง

      เริ่มต้นเนื้อหาชีววิทยา บทการสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 พี่บิ๊กขอพาน้อง ๆ มาดูภาพรวมของปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสงก่อนเลย ปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสงเป็นการเปลี่ยนรูปพลังงาน จากพลังงานแสงมาเป็นพลังงานที่เก็บสะสมอยู่ในสารอินทรีย์ เช่น น้ำตาล, แป้ง โดยมวลส่วนใหญ่ของสารอินทรีย์ที่พืชสร้างจากการสังเคราะห์ด้วยแสงนั้นมาจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 

      สิ่งมีชีวิตที่มีคลอโรพลาสต์ เช่น พืช, สาหร่าย จะมีปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสงภายในคลอโรพลาสต์ โดยปฏิกิริยาแบ่งเป็น 2 ขั้น คือ

  1. ปฏิกิริยาแสง (Light Reaction) จะเกิดที่เยื่อไทลาคอยด์ เป็นปฏิกิริยาที่ดูดพลังงานจากแสง แล้วสร้าง ATP กับ NADPH ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่จะถูกนำไปใช้ต่อในปฏิกิริยาที่สอง
  2. วัฏจักรคัลวิน (Calvin Cycle) จะเกิดขึ้นในส่วนสโตรมา เป็นปฏิกิริยาที่ดูด CO2 เข้ามาแล้วสร้างน้ำตาล โดยจะใช้พลังงานจาก ATP และใช้อิเล็กตรอนจาก NADPH
การสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 - ภาพรวมของปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสง

การสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 - ปฏิกิริยาแสง (Light Reaction)

      สำหรับเนื้อหาชีววิทยา ม.5 บทการสังเคราะห์ด้วยแสง น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ปฏิกิริยาแสง (Light Reaction) ครับ ในปฏิกิริยาแสงจะเริ่มจากระบบรงควัตถุ (Photosystem) ซึ่งประกอบด้วยคลอโรฟิลล์ โปรตีน และสารอื่น ๆ ที่เกาะอยู่บริเวณเยื่อไทลาคอยด์

      ระบบรงควัตถุนี้จะสามารถดูดกลืนพลังงานแสงได้ แล้วกระตุ้นให้อิเล็กตรอนหลุดออกไป ซึ่งอิเล็กตรอนที่หลุดออกเป็นอิเล็กตรอนที่เก็บพลังงานสูงเอาไว้ มันจะเคลื่อนที่ไปตามเยื่อไทลาคอยด์ และคายพลังงานออกมาใช้ในการขนส่งโปรตอน (H+) จากส่วน Stroma เข้าไปสะสมไว้ในส่วน Thylakoid Space (หรือ Lumen) จากนั้นโปรตอนที่สะสมอยู่จะไหลจากใน Thylakoid Space กลับเข้าสู่ส่วน Stroma โดยผ่านโปรตีน ATP Synthase และพลังงานจากการไหลของโปรตอนนี้เอง จะนำไปใช้ในการสร้าง ATP ครับ

      ในการถ่ายทอดอิเล็กตรอนบริเวณเยื่อไทลาคอยด์ มี 2 รูปแบบ คือ

  1. การถ่ายทอดอิเล็กตรอนแบบเป็นวัฏจักร (Cyclic) อิเล็กตรอนจากคลอโรฟิลล์ เอ ในระบบแสง I จะถูกส่งกลับเข้าสู่ระบบแสง I เหมือนเดิม
  2. การถ่ายทอดอิเล็กตรอนแบบไม่เป็นวัฏจักร (Non-Cyclic) เริ่มจากอิล็กตรอนจากคลอโรฟิลล์ เอ ในระบบแสง II จะถูกกระตุ้น และถ่ายทอดไปยังระบบแสง I และตัวขนส่งอิเล็กตรอนต่าง ๆ และสุดท้ายจะมี NADP+ มารับอิเล็กตรอน กลายเป็น NADPH เมื่ออิเล็กตรอนจากระบบแสง II หายไป จะมีการกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา Photolysis คือ โมเลกุลน้ำจะแตกตัว แล้วส่งอิเล็กตรอนของน้ำเข้ามาแทนที่ในระบบแสง II เมื่อโมเลกุลน้ำแตกตัว จึงเกิดแก๊สออกซิเจนขึ้นที่บริเวณนี้
การสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 - ปฏิกิริยาแสง (Light Reaction)

การสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 - วัฏจักรคัลวิน (Calvin Cycle)

      คราวนี้มาทำความรู้จัก วัฏจักรคัลวิน (Calvin Cycle) กันบ้างครับ ปฏิกิริยาวัฏจักรคัลวินเป็นปฏิกิริยาการตรึงคาร์บอนในรูป CO2 เข้ามาเพื่อใช้ในการสร้างน้ำตาล โดยปฏิกิริยานี้จะมี 3 ขั้น ได้แก่

  1. Carbon Fixation หรือ Carboxylation : สารตั้งต้นคือ RuBP ที่อยู่คลอโรพลาสต์ ทำปฏิกิริยากับ CO2 ที่พืชดูดเข้ามา แล้วสารอินทรีย์ตัวแรก คือ PGA (3-phosphoglycerate) ในขั้นนี้ไม่ต้องใช้ ATP หรือ NADPH แต่จะใช้เอนไซม์ RuBisCo ในการเร่งปฏิกิริยา
  2. Reduction : เป็นขั้นที่มีการสร้างน้ำตาล โดยการเปลี่ยน PGA เป็น PGAL (หรือ G3P) ซึ่งเป็นน้ำตาลตัวแรกที่พืชสร้าง PGAL เป็นโมเลกุลน้ำตาลที่มีธาตุคาร์บอน 3 อะตอม จะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารอินทรีย์รูปอื่น ๆ ได้ เช่น น้ำตาลกลูโคส (C6H12O6), น้ำตาลซูโครส (C12H22O11) หรือแป้ง ในขั้นนี้จะใช้พลังงานจาก ATP และมีการรับอิเล็กตรอนจาก NADPH ไปใช้ในปฏิกิริยา
  3. Regeneration : เป็นขั้นที่นำ PGAL บางส่วน เปลี่ยนกลับไปเป็น RuBP ใหม่เพื่อทำหน้าที่ตรึง CO2 อีกรอบ ในขั้นนี้ต้องใช้พลังงานจาก ATP
การสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 - วัฏจักรคัลวิน (Calvin Cycle)

      และนี่คือ สรุปการสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 ที่พี่บิ๊กนำมาแชร์ให้น้อง ๆ ได้อ่านกันในวันนี้ครับ โดยเนื้อหาชีววิทยา ม.ปลาย ในบทการสังเคราะห์ด้วยแสงยังมีส่วนอื่น ๆ อีกหลายหัวข้อ เช่น ปฏิกิริยาโฟโตเรสไพเรชัน, กลไกการเพิ่มความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ของพืช C4 และ พืช CAM ซึ่งน้อง ๆ จะได้เรียนในบทเรียนชีววิทยา ม.5 และถูกนำไปออกข้อสอบทั้งข้อสอบ Final ที่โรงเรียนและข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย

      ตามที่พี่ได้บอกไว้ตอนต้นของบทความ ว่าบทการสังเคราะห์ด้วยแสง ม.5 มีเนื้อหาค่อนข้างเยอะ ใครอยากได้ผู้ช่วยติวและเทคนิคช่วยจำ พี่บิ๊กขอแนะนำ คอร์สชีววิทยา ม.5 ที่ WE BY THE BRAIN

      โดยน้อง ๆ สามารถเลือกสมัครเรียนได้ทั้ง คอร์สชีววิทยา ม.5 เทอม 1 รวมทุกบท (กลุ่มพืช) หรือ คอร์สบทย่อย บทการสังเคราะห์ด้วยแสง ที่เนื้อหาครอบคลุม ครบถ้วน ตรงตามหลักสูตร พี่บิ๊กจะช่วยปูพื้นฐานความรู้ชีววิทยาตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงยาก ด้วยเทคนิคการสอนที่กระชับ ชัดเจน เห็นภาพ ใช้ Keyword สั้น ๆ เน้นความเข้าใจและจดจำได้ยาว ให้น้อง ๆ พร้อมพิชิตเกรด 4 ชีววิทยา ม.ปลาย และพร้อมสำหรับการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยครับ

      ถ้าน้อง ๆ ไม่อยากพลาดสาระดี ๆ เกี่ยวกับชีววิทยา ก็รีบกดติดตาม “พี่บิ๊ก” ได้ที่ช่องทางด้านล่างนี้เลย!!

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ