น้องหลายคนที่ในอนาคตอยากประกอบอาชีพวิศวกรนั้น นอกจากจะกังวลเรื่องความรู้ การเรียน และการสอบแล้ว ก็มักตั้งคำถามกับตนเองว่าบุคลิกภาพหรือคุณสมบัติที่เป็นอยู่เหมาะสมหรือไม่กับอาชีพ วิศวกร หรือแม้แต่การเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย
ถือว่าเป็นความคิดที่ดีมากๆเลยนะคะ กับการทำความรู้จักและค้นหาตนเองว่าเหมาะสมกับสิ่งใด ซึ่งก่อนหน้านี้น้องบางกลุ่มก็ได้สำรวจตัวเองกันมาบ้างแล้ว แต่คราวนี้เราจะมาเจาะลึกกับบุคลิกภาพเพื่อ #ทีมวิศวกร กันโดยเฉพาะตามหลักการของแบบทดสอบ MBTI ถ้าใครยังไม่เคยลองทดสอบตัวเอง หรือยังไม่เข้าใจแบบทดสอบ MBTI ล่ะก็ สามารถคลิกที่ลิงก์ด้านล่างนี้เพื่อทำแบบทดสอบได้เลยค่ะ
หลังจากทำความเข้าใจและร่วมทำแบบทดสอบกันแล้ว ทีนี้พี่จะมาสรุปให้น้องดูกันว่าบุคลิกภาพประเภทไหนบ้างที่มีความเหมาะสมกับการเรียนหรือประกอบอาชีพวิศวกร
INTP (ผู้สร้าง)
ลักษณะคือ เป็นคนมีเหตุผล เป็นนักคิดริเริ่มและนักสร้างสรรค์ มักจะตื่นเต้นและสนใจเกี่ยวกับทฤษฎีและไอเดีย มีความสามารถสูงในการทำให้ทฤษฎีเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายๆ สามารถอธิบายหรือให้ข้อมูลในสิ่งที่ตนเองสนใจได้อย่างลึกซึ้งและแหลมคม ให้ความสำคัญและความเคารพต่อความรู้ ความสามารถ และความมีเหตุผล เป็นคนเงียบและยากที่จะเข้าหา ไม่มีความสนใจในทั้งการเป็นผู้นำและผู้ตาม
อาชีพด้านวิศวกรที่เหมาะสม
วิศวกรซอฟต์แวร์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ วิศวกรเคมี วิศวกรชีวการแพทย์ เป็นต้น
ISTP (ผู้ชำนาญงานฝีมือ)
ชอบสังเกตและวิเคราะห์ชีวิตอย่างกระตือรือร้น สนใจในคำถามเกี่ยวกับการทำงานของสิ่งต่างๆว่า “อย่างไร” และ “ทำไม” มีความสามารถเกี่ยวกับเครื่องจักรกล อาจไม่เคารพในกฎระเบียบถ้าสิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ ชอบที่จะอยู่อย่างสันโดษและเป็นนักคิดวิเคราะห์ มีทักษะการแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมเป็นอย่างมาก สนใจต่อเหตุที่นำไปสู่ผล และมักจะใช้หลักการทางตรรกะในการจัดระบบข้อมูล ยึดค่านิยมเรื่องความมีประสิทธิภาพ
อาชีพด้านวิศวกรที่เหมาะสม
วิศวกรเครื่องกล วิศวกรการบิน วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรโยธา เป็นต้น
ESTP (ผู้คิดค้น)
มีความความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ไม่ชอบคำอธิบายที่ยืดยาว มีความถนัดในอาชีพที่ต้องใช้เครื่องจักรกลโดยรู้ถึงกลไกการทำงาน การถอดชิ้นส่วนออก หรือประกอบกลับคืนอย่างเดิม เรื่องมนุษยสัมพันธ์ถือเป็นคนที่มีทักษะบริหารการจัดการกับคน มีความเป็นมิตร ยืดหยุ่นได้ และมุ่งเน้นไปยังการปฏิบัติ ชอบทำอะไรที่ให้ความบันเทิง เป็นนักปฏิบัติที่สนใจผลลัพธ์ในปัจจุบัน ชอบงานท้าทายและใช้ชีวิตแบบนักผจญภัย
อาชีพด้านวิศวกรที่เหมาะสม
วิศวกรปิโตรเลียม วิศวกรอุตสาหการ วิศวกรโลจิสติก วิศวกรขาย เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นแค่สมมติฐานเท่านั้นนะคะ หากใครที่ทำแบบสอบถามแล้วออกมาตรงกับใจตนเองก็ขอให้ใช้ผลสรุปนี้เป็นแรงผลักดันสู่เป้าหมาย ส่วนใครที่ทำออกมาแล้วรู้สึกว่าไม่ตรง ไม่เห็นด้วย หรือไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการก็ขอให้มองคุณสมบัติบางประการที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่เราควรพัฒนาตนเองหรือเติมเต็มให้กับตนเอง ซึ่งที่แน่ ๆ ก็คือ ความรู้เกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์และกลุ่มวิชาทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง ท้ายที่สุดก็ขอเป็นกำลังใจให้กับว่าที่หนุ่ม-สาว วิศวกร ทุกคนด้วยนะคะ