คณะยอดฮิตที่เป็นความใฝ่ฝันของน้อง ๆ หลายคน แต่ละปีมีอัตราการแข่งขันสูงสุด ๆ เป็นคณะที่ใครหลาย ๆ คนอยากจะสอบติด คณะที่ว่านี้คงหนีไม่พ้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยน้อง ๆ หลายคนอาจจะชื่นชอบสายงานในด้านนี้ หรืออาจจะรู้สึกว่าเป็นคณะที่เมื่อสอบติดและเรียนจบแล้วจะสามารถเลี้ยงชีพเราได้แน่ ๆ
ดังนั้นเพื่อให้น้อง ๆ ก้าวไปถึงยังจุดหมาย สอบติดได้อย่างที่น้องต้องการ วันนี้พี่วีวี่จะพาน้อง ๆ ทุกคนมาทำความรู้จักกับคณะนี้ให้มากขึ้น และเสริมเทคนิคเตรียมติดวิศวะยังไงให้ Success สอบติดได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย!
วิศวกร คืออะไร ?
ก่อนที่จะไปดูเทคนิคเตรียมตัวให้สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ พี่วีวี่อยากชวนน้อง ๆ มาทำความเข้าใจกับคำว่า “วิศวกร” กันก่อนว่า คืออะไร พร้อมตั้งคำถามสำรวจตัวเองก่อนว่า เรามองภาพอาชีพและคณะวิศวกรรมศาสตร์นี้ เป็นอย่างไรในมุมมองของเรา
ความหมายโดยทั่วไป “วิศวกร คือ ผู้ที่นำเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับปัญหาต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของมนุษย์” ส่วนความคิดของพี่ “วิศวกร คือ นักแก้ไขปัญหา” แล้วสำหรับน้อง ๆ ล่ะ วิศวกรคืออะไร หลายคนอาจจะตอบพี่ว่า
“วิศวกร คือ ผู้สร้าง”
“วิศวกร คือ นักพัฒนา”
“วิศวกร คือ นักประดิษฐ์”
พี่วีวี่บอกไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่มีมุมมองไหนที่ผิด เพราะเรามีปัญหา เราจึงมีวิศวกรที่คอยคิด ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ พัฒนา สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา ตอบสนองและส่งเสริมสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของเรา
ดังนั้น หากน้องอยากจะสอบเข้าคณะนี้ อยากประกอบอาชีพในสายงานนี้ สิ่งที่น้องจะได้เจอ จะได้เรียนรู้ในอนาคต คือการเรียนรู้ที่จะนำองค์ความรู้ ศาสตร์ในด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติมากที่สุดนั่นเอง
วิศวกร ยังมีความจำเป็นในโลกอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบันที่ซึ่งมีเทคโนโลยีอันก้าวล้ำหลากหลาย ทั้งปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) เทคโนโลยีจำลองอาคารเสมือนจริง หรือบิม (BIM) เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) หุ่นยนต์ (Robotics)
อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่มารองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เติบโตหลังโควิด-19 มีทั้งเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของวิชาชีพวิศวกรแทบทั้งสิ้น
เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จบมาแล้วทำงานอะไร
การพัฒนาในทุกด้านที่กล่าวมาข้างต้น สามารถต่อยอดสู่การทำงานของ 3 กลุ่มอาชีพในสาขาวิศวกรรมที่น่าสนใจ นั่นคือ
1. วิศวกรสายไอที
เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น เนื่องจากเทรนด์เทคโนโลยีในปัจจุบันที่ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งแมชชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ไอโอที (IoT) และอื่น ๆ เพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดจากตัวบุคคล ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินงานขั้นตอนต่าง ๆ ลงด้วย
2. วิศวกรสายโครงสร้างสาธารณะ
เช่น วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมระบบราง เป็นต้น ในอนาคตโปรเจกต์เชิงโครงสร้างสาธารณะ การขนส่งและคมนาคมด้วยรถไฟฟ้าระบบราง จะมีการขยายตัวเต็มรูปแบบ เพื่อกระตุ้นทั้งการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน สู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) และสมาร์ทอินดัสทรี (Smart Industries) ในอนาคตนั่นเอง
3. วิศวกรสายยั่งยืน
เช่น วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ เป็นต้น จากกระแสการสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด สายนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสายเนื้อหอมที่เป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม วิศวกรในสาขาอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงก็มีความสำคัญไม่แพ้ 3 สายนี้เช่นกัน อาทิเช่น วิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นสาขาวิชาที่นำเอาความรู้ทางด้าน “วิศวกรรมศาสตร์ + วิทยาศาสตร์การแพทย์” มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เป็นอีกหนึ่งสาขามาแรงที่ตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพและการดำเนินชีวิตในอนาคตด้วยนั่นเอง
อยากติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง
สำหรับน้อง ๆ ว่าที่วิศว การสอบเข้าเพื่อเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระบบ TCAS จะถูกแบ่งออกเป็น 4 รอบ คือ รอบ Portfolio, รอบ Quota, รอบ Admission และรอบ Direct Admission ซึ่งแต่ละรอบแต่ละมหาลัยจะมีจำนวนรับและเกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อที่แตกต่างกัน
พี่วีวี่เชื่อว่าน้อง ๆ ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่คงกำลังหมายมั่นหรือโฟกัสไปที่ TCAS รอบ Admission (รอบที่ 3) ซึ่งสำหรับรอบนี้หลาย ๆ มหาลัยได้ประกาศเกณฑ์และน้ำหนักคะแนนที่ใช้ในการยื่นคัดเลือกมาแล้ว โดยคะแนนวิชาหลัก ๆ ที่น้อง ๆ ควรจะต้องมีในมือเพื่อใช้ยื่น ได้แก่
ดูเกณฑ์น้ำหนักคะแนนเพิ่มเติมได้ที่ >> mytcas.com
จากเกณฑ์น้ำหนักคะแนนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่พี่วีวี่ได้ยกตัวอย่างมา น้อง ๆ จะเห็นว่า หลาย ๆ มหาวิทยาลัยจะใช้คะแนนของวิชา ความถนัดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือ TPAT3 เป็นหลักโดย TPAT3 จะเป็นการวัดความถนัดที่ไม่ได้เน้นในเชิงวิชาการหนัก ๆ เหมือน PAT3 (อ้างอิงจากข้อสอบที่ #DEK66 ได้สอบมา)
ตัวอย่างข้อสอบ TPAT3
7 เทคนิค เตรียมตัวสอบคณะวิศวกรรมศาสตร์
หลังจากรู้แล้วว่า ถ้าอยากเข้าคณะวิศวะใช้คะแนนอะไรบ้าง พี่วีวี่เชื่อว่า น้อง ๆ คงพร้อมที่จะเตรียมตัวสอบกันแล้ว เพื่อให้น้อง ๆ สามารถอ่านหนังสือสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ พี่วีวี่มีเทคนิคเตรียมตัวสอบให้ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์มาฝาก ลองนำไปปรับใช้กันได้เลย!
1. หาข้อมูลคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่อยากเข้า
สิ่งแรกที่น้อง ๆ ต้องทำในการเตรียมตัวสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็คือ น้อง ๆ จะต้องไปเช็กว่า คณะและมหาวิทยาลัยที่ตนเองอยากเข้ากำหนดเกณฑ์คะแนนอะไร มีสัดส่วนน้ำหนักคะแนนเน้นที่ไปที่วิชาไหน เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีเกณฑ์คัดเลือกที่แตกต่างกัน ไม่มากก็น้อย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าน้อง ๆ อยากเข้าคณะวิศว จุฬาฯ ภาคทั่วไป จะเห็นได้เลยว่า นอกจากคะแนน TGAT และ TPAT3 เรายังต้องใช้คะแนนอีก 3 วิชา นั่นคือ
- A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 (พื้นฐาน+เพิ่มเติม) (20%)
- A-Level ฟิสิกส์ (20%)
- A-Level เคมี (15%)
2. วางแผนการอ่านหนังสือให้เหมาะสม
หลังจากที่น้อง ๆ รู้แล้วว่า ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง แต่ละวิชามีสัดส่วนคะแนนเท่าไหร่ สิ่งที่น้อง ๆ ต้องทำก็คือวางแผนการอ่านหนังสือให้เหมาะสม วิชาไหนที่มีสัดส่วนคะแนนมาก ก็แบ่งเวลาไปอ่านและฝึกทำโจทย์ข้อสอบเยอะ ๆ ไปเลย จะได้ทำคะแนนสอบวิชานั้นได้สูง ๆ นอกจากนี้การวางแผนการอ่านหนังสือทุกวิชาก่อน ยังช่วยให้น้อง ๆ มั่นใจด้วยว่า สามารถเก็บทุกวิชาได้ครบก่อนจะถึงวันสอบจริง
3. วิเคราะห์จุดผิดพลาดหลังทำโจทย์ทุกครั้ง
อย่ากลัวการทำโจทย์แล้วผิด การทำแล้วผิด ทำแล้วไม่ตรงกับเฉลยในวันนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว จงกลัวการทำผิดในห้องสอบจะดีกว่า การทำผิดขณะเรากำลังฝึกนั่นคือจุดดีด้วยซ้ำ เพราะมันจะทำให้เราไม่ประมาท รอบคอบมากยิ่งขึ้นในห้องสอบ และทำให้เราอุดจุดอ่อนได้ทันเวลาก่อนวันสอบจริง
เพราะฉะนั้นทำแล้วผิดต้องวิเคราะห์จุดผิดพลาดนั้นเสมอแล้ว Short Note เอาไว้ ตรงไหนไม่แม่น ตรงไหนที่ลืม ตรงไหนที่ยังไม่เข้าใจ ต้องกลับมาทบทวนซ้ำบ่อย ๆ นะน้อง
4. ทำข้อสอบแบบจับเวลาเสมือนสอบจริง
การทำข้อสอบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด น้อง ๆ ต้องทำข้อสอบได้ครบทุกข้อ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะถ้าน้อง ๆ ทำข้อสอบจริงแล้วทำไม่ทัน ก็จะพลาดคะแนนในส่วนนั้นไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นอย่าลืมฝึกจับเวลาทำข้อสอบจริง เพื่อจะได้ประเมินตนเองว่าเราสามารถทำข้อสอบได้ตามเป้าหรือเปล่า หรือทำข้อสอบช้ากว่าที่ควรจะเป็น ที่สำคัญยังช่วยลดความประหม่าในวันสอบจริงด้วย
5. พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันสอบจริง
การพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันสอบจริง จะช่วยให้น้อง ๆ สมองปลอดโปร่ง จิตใจแจ่มใส มีสมาธิดี สามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาใช้วิเคราะห์โจทย์ และทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่จำเป็น พี่วีวี่ไม่แนะนำให้โหมอ่านหนังสือ หรือทำโจทย์แบบอดอดนอนก่อนสอบ (One Night Miracle) เพราะจะทำให้สมองของน้อง ๆ ไม่ปลอดโปร่ง ไม่มีสมาธิในการทำข้อสอบ รวมทั้งอาจเพิ่มความกดดันและความเครียดต่อตัวเราในวันสอบจริงด้วย
6. ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในโรงเรียน
การเรียนการสอนในโรงเรียนเป็นสิ่งที่น้อง ๆ ทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพราะจะช่วยปูพื้นฐานวิชาความรู้ต่าง ๆ ให้แน่นขึ้น เมื่อมาติวเทคนิคเสริมก็จะช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจง่ายและเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งบางคณะ บางมหาวิทยาลัย ยังมีการกำหนดเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) ขั้นต่ำด้วย เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่จะได้รับคัดเลือกจะต้องมี GPAX ขั้นต่ำ 2.00 เป็นต้น ดังนั้นเกรดในโรงเรียนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น้อง ๆ ห้ามทิ้งโดยเด็ดขาด
7. เรียนพิเศษ ติวเพิ่ม เพื่อเก็บเทคนิคและเสริมความมั่นใจ
ในบางครั้งการที่มีอาจารย์มาบอก หรือมาสอนเทคนิคให้ ก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อเพิ่มความเข้าใจในการเรียนของเรา และเสริมเทคนิคที่จะช่วยในการทำข้อสอบของเราได้ การเรียนพิเศษเพิ่มก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่มีประโยชน์กับการเตรียมตัวสอบของเราด้วย
ติวสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ กับ WE BY THE BRAIN
จบกันไปแล้วกับการแนะนำอาชีพวิศวกร พี่วีวี่หวังว่าจะช่วยให้น้อง ๆ มีความเข้าใจในสายอาชีพนี้มากขึ้น และตอบคำถามของตนเองได้ว่า ยังอยากเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ไหม? และสำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ยังมีความฝันอยากคว้าเกียร์อยู่ อย่าลืมนำเทคนิคเตรียมตัวสอบคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปใช้ มั่นใจได้เลยว่าจะช่วยให้น้อง ๆ เก็บคะแนนได้ดีขึ้นแน่นอน
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากปูพื้นฐานให้แน่น ต้องการติวเข้มก่อนสอบ สามารถสมัครคอร์สเรียนพิเศษออนไลน์กับ WE BY THE BRAIN ได้เลย เราได้รวมคอร์สติวสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาให้แล้ว ครอบคลุมทั้ง A-Level, TGAT และ TPAT3 สอนโดยพี่ ๆ ติวเตอร์ชั้นนำระดับประเทศ สอนสนุก เข้าใจง่าย พร้อมแชร์เทคนิคทริกลัดมากมายที่จะช่วยให้น้อง ๆ เก็บคะแนนได้มากขึ้น รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน!
อัปเดตข่าวสารและสอบถามรายละเอียดคอร์สติวเข้ามหาวิทยาลัย จาก WE BY THE BRAIN ได้ที่
- WE CARE : 02-952-6767
- Line OA : @weplus_care
- Facebook Page : WE BY THE BRAIN
- Instagram : webythebrain
- Twitter : @WEBYTHEBRAIN
- Youtube : WE BY THE BRAIN
โรงเรียนกวดวิชา วี บาย เดอะเบรน เรียนสนุก เข้าใจง่าย ทำโจทย์ได้จริง!