สวัสดีค่ะน้อง ๆ ทุกคน กลับมาพบกับพี่วีวี่คนสวยเช่นเคย 😉
หลายปีมานี้ เทคโนโลยีด้านซอฟแวร์และคอมพิวเตอร์ก้าวหน้าไปอย่างมาก เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์ม (Facebook, Line, Grab, Airbnb, ฯลฯ) แอปพลิเคชัน และโปรแกรมต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น รวมถึงเทรนด์ บิ๊กดาต๊า (Big Data) และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ก็ถือว่าเป็นเทรนด์ที่มาแรงแห่งศตวรรษเลยก็ว่าได้
เมื่อเทรนด์เทคโนโลยีซอฟแวร์และบิ๊กดาต๊ามาแรงแบบนี้ สาขาหนึ่งที่มาแรงคงหนีไม่พ้นสาขา“วิทยาการคอมพิวเตอร์” (Computer Science) เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว พี่วีวี่จึงไม่รอช้า พาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ว่าเขาเรียนอะไรกัน มีวิชาเรียนไหนน่าสนใจ จบมาแล้วทำงานอะไร มหาวิทยาลัยไหนเปิดรับบ้าง และพาไปดูกันว่าจะสอบเข้าสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในระบบ TCAS ต้องยื่นคะแนนอะไรบ้าง
วิทยาการคอมพิวเตอร์เรียนอะไรบ้าง
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สามารถแบ่งเรื่องที่เรียนเป็น 6 ด้านหลักด้วยกัน ได้แก่
- หลักการหรือทฤษฏีการเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์
ศึกษาถึงวิธีการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่างๆ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งภาษาที่ศึกษาหลักๆ ได้แก่ ภาษาซี ภาษาจาวา ภาษาพีเฮชพี และภาษาเอสคิวแอล เป็นต้น นอกจากนี้ยังศึกษาถึงหลักการเขียนโปรแกรมหรืออัลกอริธึม การศึกษาวิธีการเขียนและออกแบบซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่จะเขียน และการศึกษาหลักการและการออกแบบระบบขนาดใหญ่ - หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับโครงสร้างของคอมพิวเตอร์และการควบคุมคอมพิวเตอร์
ศึกษาว่า คอมพิวเตอร์ประกอบด้วยวงจรไฟฟ้าแบบดิจิตอลอย่างไร และศึกษาว่าคอมพิวเตอร์มีโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมเป็นแบบใด และศึกษาโปรแกรมพื้นฐานที่ไว้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า ระบบปฏิบัติการหรือโอเอส รวมทั้งศึกษาวงจรคอมพิวเตอร์เฉพาะงาน ที่เรียกว่าไมโครโปรเซสเซอร์ และศึกษาหลักการและวิธีการเข้ารหัส และการถอดรหัสคอมพิวเตอร์ ศึกษาการควบคุมความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ - หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสาร ศึกษาถึงพื้นฐานของการสื่อสารข้อมูล โครงสร้างและโปรโตคอลของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ค) การนำคอมพิวเตอร์มาเชื่อมโยงกันเพื่อใช้งานร่วมกัน รวมทั้งศึกษาถึง การนำคอมพิวเตอร์ไปให้บริการต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เช่น มือถือ แทบเล็ต เป็นต้น
- หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในงานด้านกราฟิก มัลติมีเดีย
ศึกษาถึง การประยุกต์คณิตศาสตร์ไปใช้กับการออกแบบชิ้นงานที่มีรูปร่างต่างๆ ซึ่งศาสตร์ด้านนี้รู้จักในชื่อของ ซอฟต์แวร์ประเภทแคด/แคม รวมทั้งการนำคอมพิวเตอร์ไปจัดการกับภาพและเสียง - หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ทำงานปัญญาประดิษฐ์
ศึกษาถึง วิธีการสร้างระบบสารสนเทศที่มีความชาญฉลาด หรือศาสตร์ที่ชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะศึกษาเกี่ยวกับระบบสารสนเทศที่เลียนแบบมนุษย์ เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ ระบบวิเคราะห์ภาพ ระบบวิเคราะห์เสียง เป็น - หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการทำงานของการคำนวณและการประยุกต์ใช้งานระดับสูง
ศึกษาถึงหลักการที่คอมพิวเตอร์ใช้ในการคำนวณ ซึ่งเป็นทฤษฏีระดับสูง และศึกษาการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานระดับสูงซึ่งมีความยาก เช่น การประยุกต์ไปใช้งานด้านชีวภาพ การประยุกต์ใช้งานมัลติมีเดียระดับสูง การวิเคราะห์บิ๊กดาต๊า เป็นต้น
เพื่อที่จะให้เห็นภาพมากขึ้นว่า สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์เรียนอะไรบ้าง พี่วีวี่จึงนำหลักสูตรระดับปริญาตรีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้น้อง ๆ ดูเป็นตัวอย่างว่าตลอด 4 ปี น้องจะต้องเรียนอะไรบ้าง
หมายเหตุ: ดูตัวอย่างหลักสูตรสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ของจุฬาเต็ม ๆ คลิก http://www.math.sc.chula.ac.th/www.math.sc.chula.ac.th/th/csugrad/index.html
การสอบเข้าสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ในระบบ TCAS
เมื่อรู้แล้วว่าสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์เรียนอะไรบ้าง พี่วีวี่ก็จะพาน้อง ๆ ไปดูต่อว่า ถ้าอยากเข้าสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ในระบบ TCAS ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง และยื่นคะแนนอะไรบ้าง โดยพี่วีวี่จะขอยกตัวอย่าง การสอบเข้าในระบบ TCAS รอบ 3 รับตรงร่วมกัน และรอบ 4 แอดมิชชั่น นะคะ
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ในระบบ TCAS รอบ 3
สำหรับ TCAS รอบ 3 นั้น สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ใช้คะแนน GAT/PAT หรือ 9 วิชาสามัญ แตกต่างกันไป บางที่ใช้เฉพาะคะแนน GAT/PAT และบางที่ใช้ทั้งคะแนน GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ
ดังนั้นแล้วน้อง ๆ ที่จะยื่นรอบ 3 ต้องติดตามระเบียบการของมหาวิทยาลัยที่น้องจะยื่นให้ดีนะคะ ในที่นี้ พี่วีวี่ขอยกตัวอย่างค่าน้ำหนักคะแนน สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้ดูเป็นตัวอย่างค่ะ
ค่าน้ำหนักคะแนน (%) | ||||
คณิตศาสตร์ 1 วิชาสามัญ | เคมี วิชาสามัญ | ชีววิทยา วิชาสามัญ | ฟิสิกส์ วิชาสามัญ | GAT |
20 | 20 | 20 | 20 | 20 |
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ในระบบ TCAS รอบ 4
มาต่อกันที่ TCAS รอบ 4 สำหรับ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ คะแนนที่ใช้ของแต่ละมหาวิทยาลัยจะเหมือนกัน เพราะใช้ค่าน้ำหนักคะแนนจากส่วนกลาง โดยค่าน้ำหนักคะแนนจากส่วนกลางที่ใช้ มีดังนี้
ค่าน้ำหนักคะแนน (%) | ||||
GPAX 20 % | O-NET 30 % | PAT 1 10 % | PAT 2 30 % | GAT 10 % |
อย่างไรก็ตาม ทั้งรอบ 3 และรอบ 4 น้อง ๆ ควรติดตามระเบียบการเต็มจากมหาวิทยาลัยที่น้องจะสมัครอีกทีนะคะ เผื่อมีการเปลี่ยนเกณฑ์คะแนน หรือเงื่อนไขต่าง ๆ
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดรับในระบบ TCAS
หลังจากดูค่าน้ำหนักคะแนนแล้ว ก็มาต่อกันที่มหาวิทยาลัยที่เปิดรับสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งตัวอย่างที่ยกมา เช่น
– สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
– สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
– สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
– สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
– สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (ภาษาอังกฤษ) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
– สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จบมาทำงานอะไร
มาถึงตรงนี้แล้ว น้อง ๆ หลายคงคนอยากรู้แล้วว่า คนที่จบสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สามารถทำงานอะไรได้บ้าง คำตอบก็คือ คนที่จบสาขานี้สามารถทำงานได้หลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ
- ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ
- ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์
- ผู้เขียนโปรแกรมประยุกต์หรือโปรแกรมระบบงาน หรือที่เรียกว่าโปรแกรมเมอร์
- ผู้ออกแบบสร้างและบำรุงรักษาระบบฐานข้อมูลซึ่งเป็นระบบสารสนเทศพื้นฐานในทุกองค์กร
- ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
- ผู้ออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์อัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์
- ผู้ออกแบบและโปรแกรมระบบกราฟิกหรืออะนิเมชั่น
นอกจากนี้ น้องๆ ยังสามารถไปทำงานในสายอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงอย่าง นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือนักพัฒนาซอฟแวร์ก็ได้
โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนอย่างมาก จากรายงานของ EIC ระบุว่า ประเทศไทยมีความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลกว่า 2,000 คน ขณะที่คนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลกลับมีแค่ 200 – 400 คน เท่านั้น และในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นอีกถึง 15 – 20 %
เป็นอย่างไรกันบ้างคะน้อง ๆ เมื่อเห็นเนื้อหาที่เรียนกับงานที่ทำแล้วก็ต้องบอกว่า สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นสาขาที่น่าเรียนมาก ๆ สาขาหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะยุคที่ปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต๊ากำลังมาแรง ถ้าน้อง ๆ คนไหนมีความสนใจในด้านนี้ ก็ต้องขยันอ่านหนังสือเป็นพิเศษ เพราะเห็นแล้วว่า เนื้อหาที่เรียนในมหาวิทยาลัย ต้องมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ขั้นสูง พี่วีวี่เอาใจช่วยน้องทุกคนนะคะ: )