สวัสดีค่ะน้องทุกคน
ต้อนรับวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี พี่วีวี่ก็เลยจะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาน่าเรียนของคณะวิทยาศาสตร์
เหตุผลที่สาขานี้เป็นหนึ่งในสาขาน่าเรียนก็เพราะว่า ในหลาย ๆ ปี มานี้ ปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก และพี่วีวี่ก็เชื่อว่า น้อง ๆ หลายคนตระหนักถึงปัญหานี้ดี รวมถึงเข้าร่วมรณรงค์ลดโลกร้อนกันอย่างจริงจรัง
พี่วีวี่จึงอยากพาน้องทุกคนไปทำความรู้จักว่าสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ เรียนอะไรกันบ้าง ต้องยื่นคะแนนสอบอะไร และจบมาทำงานอะไรได้บ้าง ถ้าอยากรู้แล้ว ก็ไปดูกันเลยจ้า
วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเรียนอะไรบ้าง
สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนั่น วิชาที่น้องทุกคนต้องเรียนหลัก ๆ จะเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและการดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยน้องๆ จะได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม ดูแล สงวน รักษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและการคงไว้อย่างยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ น้องๆ ยังจะได้เรียนรู้ถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยา การแก้ไขปัญหาและลดการเกิดภาวะโลกร้อน การจัดการของเสียต่างๆ การดูแลฟื้นฟูดินและผิวน้ำ การป้องกันและควบคุมมลพิษ และอีกเยอะแยะมากมายเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งน้องๆ จะได้ศึกษาบทความ งานวิจัยต่างๆ ของต่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการหาสาเหตุที่มาที่ไปของปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ การหาวิธีป้องกันการเกิดมลพิษ หรือการหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนา รักษา และคงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมของเราอย่างยั่งยืน
เพื่อที่จะให้เห็นภาพมากขึ้นว่า สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเรียนอะไรบ้าง พี่วีวี่จึงนำหลักสูตรระดับปริญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้น้อง ๆ ดูเป็นตัวอย่างว่า ตลอด 4 ปี น้องจะต้องเรียนอะไรบ้าง
หมายเหตุ: ดูหลักสูตรสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ เต็มๆ ได้ที่ http://www.envisci.sc.chula.ac.th/
การสอบเข้าสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ในระบบ TCAS
เมื่อรู้แล้วว่าสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเรียนอะไรบ้าง พี่วีวี่ก็จะพาไปดูต่อว่า ถ้าอยากเข้าสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ในระบบ TCAS ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง และยื่นคะแนนอะไรบ้าง โดยพี่วีวี่จะขอยกตัวอย่าง การสอบเข้าในระบบ TCAS รอบ 3 รับตรง และรอบ 4 Admission นะคะ
สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ในระบบ TCAS รอบ 3
สำหรับ TCAS รอบ 3 นั้น สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ใช้คะแนน GAT/PAT หรือ 9 วิชาสามัญ แตกต่างกันไป บางที่ใช้เฉพาะคะแนน GAT/PAT และบางที่ใช้ทั้งคะแนน GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ ดังนั้นแล้วน้อง ๆ ที่จะยื่นรอบ 3 ต้องติดตามระเบียบการของมหาวิทยาลัยที่น้องจะยื่นให้ดีนะคะ ในที่นี้ พี่วีวี่ขอยกตัวอย่างค่าน้ำหนักคะแนน สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้ดูเป็นตัวอย่างค่ะ
ค่าน้ำหนักคะแนน (%) | ||||
คณิตศาสตร์ 1 วิชาสามัญ | เคมี วิชาสามัญ | ชีววิทยา วิชาสามัญ | ฟิสิกส์ วิชาสามัญ | GAT |
20 | 20 | 20 | 20 | 20 |
สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ในระบบ TCAS รอบ 4
มาต่อกันที่ TCAS รอบ 4 สำหรับ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คะแนนที่ใช้ของแต่ละมหาวิทยาลัยจะเหมือนกัน เพราะใช้ค่าน้ำหนักคะแนนจากส่วนกลาง โดยค่าน้ำหนักคะแนนจากส่วนกลางที่ใช้มีดังนี้
ค่าน้ำหนักคะแนน (%) | ||||
GPAX 20 % | O-NET 30 % | PAT 1 10 % | PAT 2 30 % | GAT 10 % |
อย่างไรก็ตาม ทั้งรอบ 3 และรอบ 4 น้อง ๆ ควรติดตามระเบียบการเต็มจากมหาวิทยาลัยที่น้องจะสมัครอีกทีนะคะ เผื่อมีการเปลี่ยนเกณฑ์คะแนน หรือเงื่อนไขต่าง ๆ
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดรับในระบบ TCAS
หลังจากดูค่าน้ำหนักคะแนนกันแล้ว ก็มาต่อกันที่มหาวิทยาลัยที่เปิดรับสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งตัวอย่างที่พี่วีวี่ยกมา เช่น
- สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาลัยนานาชาติมหิดล
- สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตรงนี้พี่วีวี่ต้องหมายเหตุตัวโต ๆ ไว้ว่า สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่จะอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ แต่บางมหาวิทยาลัยก็จะอยู่ในคณะสิ่งแวดล้อม หรือคณะสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีค่ะ
สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจบมาทำงานอะไร
น้อง ๆ หลายคงคนอยากรู้แล้วว่า ถ้าจบสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ สามารถทำงานอะไรได้บ้าง คำตอบก็คือ คนที่จบสาขานี้สามารถทำงานได้หลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ
- ผู้ควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม
- เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมในบริษัท
- นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในหน่วยงานราชการ
- นักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมฝ่ายสิ่งแวดล้อม
- ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมให้สายการบิน
- นักวิชาการให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
- นักวิชาการ/นักวิจัย ในสถาบันอุดมศึกษา
นอกจากนี้ ยังสามารถทำงานอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมได้เช่นกันค่ะ
ถ้าน้อง ๆ คนไหนสนใจปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมถือเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ตอบโจทย์ความสนใจน้อง ๆ ได้เป็นอย่างดีค่ะ ถ้าน้องคนไหนอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ก็ต้องรีบวางแผนอ่านหนังสือแล้วนะคะ พี่วีวี่เอาใจช่วยค่ะ : )