ทำความรู้จักอาชีพกุมารแพทย์ หมอรักษาเด็ก

อาชีพ-กุมารแพทย์

สวัสดีค่ะน้อง ๆ ทุกคน เมื่อไม่นานมานี้ พี่วีวี่ได้ แนะนำอาชีพจิตแพทย์ ไป วันนี้เราจะมาต่อกันที่อาชีพ กุมารแพทย์ หมอรักษาคนไข้ที่เป็นทารก เด็ก และวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอายุไม่เกิน 14 – 18 ปี พี่วีวี่เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนตอนป่วย ไม่สบาย คงเคยไปพบกุมารแพทย์มาแล้วบ้าง น้อง ๆ สงสัยไหมว่ากุมารแพทย์ต่างจากหมอทั่วไปที่รักษาผู้ใหญ่อย่างไร มีหน้าที่เหมือนกันไหม และต้องเรียนอะไรถึงจะเป็นกุมารแพทย์ วันนี้พี่วีวี่จะพาน้อง ๆ ไปไขข้อสงสัยและทำความรู้จักอาชีพกุมารแพทย์อย่างละเอียด

  • เรียนอะไรถึงเป็นกุมารแพทย์

    เส้นทางสู่การเป็นกุมารแพทย์นั้น เริ่มต้นจากการเรียนแพทย์ทั่วไปที่คณะแพทย์ศาสตร์เป็นเวลา 6 ปี จากนั้นก็ไปทำงานเพิ่มพูนทักษะและใช้ทุนที่ต่างจังหวัด 3 ปี ก่อนจะกลับมาอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางในภาควิชากุมารเวชศาสตร์เป็นเวลา 3 ปี โดยมหาวิทยาลัยที่เปิดอบรม อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิริราชพยาบาล เป็นต้น เมื่อเข้าอบรมแล้ว ระหว่างนี้จะเรียกว่าเป็นแพทย์ประจำบ้านกุมารเวชศาสตร์ (resident in pediatrics)
    ในส่วนของการอบรมทั้งสามปีนั้น จะแบ่งเป็นสามระดับ โดยระดับที่ 1 และระดับที่ 2 จะเป็นการฝึกอบรมที่ครอบคลุมวิชากุมารเวชศาสตร์ทั่วไป ให้แพทย์ประจำบ้านมีประสบการณ์ในการดูแลเด็กป่วยในหอผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยฉุกเฉิน หอผู้ป่วยทารกแรกเกิด และฝึกปฏิบัติงานด้านกุมารเวชศาสตร์สังคม เมื่อเข้าสู่ระดับที่ 3 แพทย์ประจำบ้านจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมในการดูแลรักษาผู้ป่วย และมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดการเรียนการสอน มีการอบรมดูงานในสาขาและสถาบันที่ตนเอนสนใจ เพื่อเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดในอนาคต (fellowship)
    เมื่ออบรมจบ 3 ปี แล้ว ก็จะต้องไปสอบเพื่อเอาวุฒิบัตรและหนังสืออนุมัติผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์ ซึ่งออกโดยแพทยสภา เมื่อได้ใบแสดงวุฒิบัตรแล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นกุมารแพทย์ทั่วไปแล้ว ถ้าจะเรียนต่อเป็นกุมารแพทย์เฉพาะทาง ในกรณีที่รับทุนมา ต้องกลับไปทำงานก่อน 1-2 ปี แล้วจึงกลับมาเรียนต่อสาขาย่อยเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอด (fellowship) โดยสาขาย่อยทางกุมารเวชศาสตร์มีดังนี้
    กุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
    กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
    กุมารเวชศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ
    กุมารเวชศาสตร์ประสาทวิทยา
    กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    กุมารเวชศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม
    กุมารเวชศาสตร์โรคไต
    กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ
    กุมารเวชศาสตร์โรคระบบการหายใจ
    กุมารเวชศาสตร์ตจวิทยา
    โลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก
    กุมารเวชศาสตร์โรคเลือด

  • หน้าที่ของกุมารแพทย์

    สำหรับกุมารแพทย์ทั่วไป หน้าที่หลักก็คือการดูแลเด็กทุกคนนั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจและวินิจฉัยโรค การสั่งยารักษา การติดตามดูอาการ การเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก รวมไปถึงการฉีดวัคซีนตามวัย
    นอกจากนี้ กุมารแพทย์ยังมีหน้าที่ดูแลเด็กแบบองค์รวม เช่น นอกจากจะตรวจไข้หวัดเด็กแล้ว ยังต้องประเมินสุขภาพและปัญหาอื่น ๆ ของเด็กทุกคนด้วย อาทิ เด็กมีน้ำหนักสมส่วนไหม มีพัฒนาการสมวัยไหม ภาวะโภชนาการอยู่ระดับไหน ได้รับวัคซีนครบถ้วนไหม นอกจากนี้ยังต้องให้คำแนะนำผู้ปกครองในการเลี้ยงเด็กแต่ละวัย
    ดังนั้นแล้ว กุมารแพทย์จึงไม่ใช่มีหน้าที่แค่ตรวจเด็กเท่านั้น แต่การให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง และการดูพัฒนาการของเด็ก ก็ถือเป็นหน้าที่ของกุมารแพทย์เหมือนกันค่ะ ในส่วนของกุมารแพทย์เฉพาะทาง หน้าที่ก็จะเฉพาะเจาะจงลงไปอีก ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นกุมารแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้และระบบทางเดินหายใจ ก็จะมีหน้าที่รักษาเด็กที่มีปัญหาทางเดินหายใจและภูมิแพ้เป็นหลักค่ะ

  • บุคลิก นิสัยของคนที่จะเป็นกุมารแพทย์

    น้อง ๆ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วบุคลิก นิสัยของคนที่จะเป็นกุมารแพทย์ควรจะเป็นอย่างไร? คำตอบก็คือ คนที่จะเป็นกุมารแพทย์หรือหมอเด็กได้ จะต้องมีความอดทนและความละเอียดอ่อนสูง เพราะว่าคนไข้เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ๆ เพราะฉะนั้นวิธีการรักษา การให้ยาในคนไข้เด็กจะถือว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ ที่เพียงแค่ลดขนาดปริมาณยาลงไม่ได้ เพราะโรคของเด็กบางโรคก็จะไม่เหมือนกับในผู้ใหญ่ เราต้องใช้ความละเอียดเพิ่มมากขึ้นสำหรับคนไข้เด็กค่ะ นอกจากนี้ กุมารแพทย์ยังต้องอดทนต่อเสียงร้องไห้ของเด็ก เมื่อเด็กร้องไห้ หมอก็จะตรวจไม่ได้ จึงต้องมีความอดทนในการหาวิธีที่จะทำให้เด็กหยุดร้องเพื่อที่จะตรวจร่างกายต่อได้
    มาถึงตรงนี้ น้อง ๆ คงเข้าใจแล้วว่า กุมารแพทย์กับหมอทั่วไปที่รักษาผู้ใหญ่มีการแบ่งสาขาย่อยที่คล้าย ๆ กัน แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างมากคือ กลวิธีในการรักษา เพราะเด็กเป็นวัยที่ยังเติบโตไม่เต็มที่และต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่แตกต่างจากผู้ใหญ่
    เป็นอย่างไรกันบ้างคะน้อง ๆ กว่าจะมาเป็นอาชีพกุมารแพทย์ได้นี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย แต่พี่วีวี่เชื่อว่า น้อง ๆ หลายคนมีใจรักที่อยากจะดูแลและรักษาเด็ก ๆ ใครที่อยากเป็นกุมารแพทย์ พี่วีวี่ก็ขอให้สู้ ๆ และโชคดีค่ะ


บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ