สำรวจเทรนด์ 7 สาขาวิศวกรรมแห่งอนาคต

สาขาวิศวกรรมแห่งอนาคต

สวัสดีค่ะน้อง ๆ ทุกคน กลับมาพบกับช่วงสาระน่ารู้กับพี่วีวี่เช่นเคย เมื่อไม่นานมานี้ พี่วีวี่เคยแนะนำไปว่าคนที่จบสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ กำลังเป็นที่เป็นที่ต้องการสูงของตลาด วันนี้พี่วีวี่เลยจะพาน้อง ๆ ไปสำรวจฝั่งสาขาวิศวกรรมกันมั้งว่า ในเทรนด์โลกตอนนี้ สาขาวิศวกรรมสาขาไหนกำลังเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มจะเติบโตในอนาคตข้างหน้าบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปดูกันเลยจ้า

1. วิศวกรรมซอฟต์แวร์

วิศวกรรมซอฟต์แวร์ถือเป็นสาขาต้น ๆ ที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างสูง และดูเหมือนว่าเทรนด์อาชีพนี้จะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” ซึ่งเป็นสาขาย่อยเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่หรือ “บิ๊กดาต๊า” กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดไทยและตลาดโลก ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรม E-commerce อุตสาหกรรมสุขภาพ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเงิน
อีกหนึ่งสาขาย่อยของวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่กำลังเป็นที่ต้องการก็คือ “การเรียนรู้ของเครื่อง” (Machine Learning) ซึ่งเป็นศาสตร์การคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคต ผ่านการวิเคราะห์ฐานข้อมูล
ในตลาดบ้านเราเอง จากรายงานของ EIC ระบุว่า  ประเทศไทยมีความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลกว่า 2,000 คน ขณะที่คนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลกลับมีแค่ 200 – 400 คน เท่านั้น และในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นอีกถึง 15 – 20 %
วิศวกรรมซอฟต์แวร์

2. วิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์

หลาย ๆ อุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ต่างใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมการค้าปลีกและโลจิสติกส์ ทำให้คนที่จบสาขาวิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์เป็นที่ต้องการของตลาดตามไปด้วย นักวิศวกรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในปัจจุบัน จะทำหน้าที่ออกแบบ ทดสอบ และพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ดังนั้นแล้วสาขาวิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จึงเป็นอีกสาขาที่กำลังมาแรง ณ ปัจจุบันเลยค่ะ

3. วิศวกรรมชีวการแพทย์

วิศวกรรมชีวการแพทย์ถือเป็นสาขามาแรงและน่าจับตามองในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ก้าวไกลไปมาก รวมถึงการคิดค้นการสร้างอวัยวะเทียม และอุปกรณ์การแพทย์ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยสูงสุดที่สุด ซึ่งหน้าที่ทั้งหมดนี้ เป็นงานของนักวิศวกรชีวการแพทย์ ความต้องการของตลาดแรงงานต่อสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์นั้นจะถูกผลักดันโดยการเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งต้องการเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และตอบสนองต่อการความต้องการของผู้สูงอายุและผู้ป่วย
ปัจจุบัน ในประเทศสหรัฐอเมริกาเงินเดือนเฉลี่ยของวิศวกรชีวการแพทย์สูงถึง 86,800 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณสองล้านหกแสนบาท) มีอัตราการเติบโตของอาชีพแต่ละปีสูงถึง 8 %

4. วิศวกรรมปิโตรเลียม

การคิดค้นกรรมวิธีขุดเจาะน้ำมัน การดำเนินการ และการตรวจสอบโปรแกรมขุดเจาะ ถือเป็นหน้าที่หลักของวิศวกรปิโตรเลียม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา วิศวกรปิโตเลียม ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ถึงแม้ว่าปัจจุบัน การพัฒนาพลังงานสะอาดจะเติบโตขึ้น แต่น้ำมันยังคงเป็นทรัพยากรที่สำคัญในอนาคตอยู่ อีกทั้ง วิศวกรปิโตรเลียมจำนวนหนึ่งก็เริ่มจะเกษียณอายุตัวเองแล้ว ตามรายงานของกระทรวงแรงงาน สหรัฐอเมริกา ภายในปี 2026 อาชีพวิศวกรปิโตรเลียมจะเติบโตขึ้นกว่าปัจจุบันถึง 15 %
พี่วีวี่ขอเสริมว่า ในประเทศไทยเอง สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม ถือเป็นแหล่งรวมหัวกะทิเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะว่าด้วยรายได้ที่ค่อนข้างสูง และความมั่นคงทางอาชีพที่แน่นอน ทำให้ใครหลาย ๆ คนอยากเรียนสาขานี้กันค่ะ

5.วิศวกรรมโยธา

วิศวกรรมโยธา ถือเป็นสาขาที่มีอัตราการเจริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สืบเนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต
จากรายงานของกระทรวงแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าความต้องการของตลาดแรงงานต่ออาชีพวิศวกรโยธามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึง 10 % ในปี 2026
นอกจากนี้ น้อง ๆ หรือคนที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิศวกรรมโยธานั้น สามารถต่อยอดไปทำงานในสายอาชีพวิศวกรโครงสร้าง วิศวกรสิ่งแวดล้อม หรือวิศวกรระบบรางได้อีกด้วย ดังนั้นแล้ว สาขานี้ จึงยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานแน่นอนค่ะ

6.วิศวกรรมไฟฟ้า

เช่นเดียวกับสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้าถือเป็นอีกสาขาที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
อัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น สืบเนื่องจาก ผู้ที่เรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สามารถทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพย่อย อาทิ วิศวกรพลังงาน, วิศวกรอุปกรณ์ หรือวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สาขาวิศวกรรมไฟฟ้ายังคงเป็นที่ต้องการของตลาด ในสหรัฐอเมริกา อัตราเงินเดือนวิศวกรไฟฟ้า เฉลี่ยอยู่ที่ 2,181,830 บาทต่อปี (71,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

7.วิศวกรรมกรรมพลังงานทดแทน

ในปัจจุบัน เทรนด์รักสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง น้อง ๆ หลายคนคงสังเกตถึงการเติบโตของพลังงานสะอาดทั้งไทยและต่างประเทศเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ พลังงานลม หรือรถยนต์พลังงานสะอาด ดังนั้นแล้ว สาขาวิศวกรรมซึ่งจะเป็นที่ต้องการอย่างสูงในอนาคต ก็คือ วิศวกรรมพลังงานทดแทน นั่นเอง
น้อง ๆ ที่อยากเรียนหรือทำงานในสาขาวิศวกรรมพลังงานทดแทน โดยปกติแล้วจะต้องเรียนจบปริญาตรีในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลหรือไฟฟ้าก่อน จากนั้นจึงเรียนต่อปริญญาโทสาขาวิศวกรรมพลังงาน

สรุป

เห็นอย่างนี้แล้ว พี่วีวี่หวังว่าจะช่วยให้น้อง ๆ ที่กำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเรียนสาขาวิศวกรรมอะไรดี ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นนะคะ ส่วนน้องคนไหนที่อยากเรียนสาขาวิศวกรรมที่อยู่นอกเหนือจากนี้ ก็ไม่ต้องเสียใจไปนะคะ ถ้าเรามั่นใจ และตั้งใจที่จะเรียนแล้ว ก็ลุยเลยค่ะ

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่:

7 of The Most In-Demand Engineering Jobs for 2019
Best Engineering Careers for the Future

คอร์สPAT3

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ