ตัวอย่าง Portfolio รอบ 1 คณะแพทย์และคณะสัตวแพทย์ จากรุ่นพี่ WE ปี 64

สวัสดีค่ะน้อง ๆ ทุกคน ตอนนี้เด็ก 65 หลาย ๆ คนคงกำลังเตรียมวางแผนในการสอบ TCAS 65 กันบ้างแล้ว ใครที่กำลังวางแผนสมัครรอบแรก TCAS 65 รอบ PORTFOLIO 

วันนี้พี่วีวี่ก็มีเคล็ดลับพิเศษ พิชิตใจกรรมการ พร้อมตัวอย่างจากรุ่นพี่ WE เด็ก 64 ที่สามารถไปถึงฝั่งฝันของตนเองได้แล้ว มาฝากน้อง ๆ ด้วยค่ะ

Portfolio ควรใส่อะไรบ้าง ?

Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานที่ดี ไม่ควรเกิน 10 หน้า (แล้วแต่มหาวิทยาลัย) โดยใน 10 หน้า ประกอบด้วย

หน้า 0 = หน้าปก (ไม่นับรวม 10 หน้า)

หน้า 1 = ประวัติส่วนตัว หรือแนะนำตัว

หน้า 2 = ประวัติการศึกษา

หน้า 3–7 = ผลงาน รางวัล และเกียรติบัตรต่าง ๆ

หน้า 8–10 = กิจกรรมเด่นที่ตรงกับสาขาหรือคณะที่น้อง ๆ จะเข้าศึกษาต่อเท่านั้น

หน้า 11 = เหตุผลที่อยากเข้าคณะนี้ หรือ สิงประดิษฐ์ที่อยากทำในอนาคต (คณะวิศวกรรมศาสตร์)  แล้วแต่มหาลัยนั้น ๆ กำหนดโจทย์ ซึ่งแฟ้มสะสมผลงานที่ดี น้องไม่จำเป็นต้องใส่ทุกอย่างที่เคยทำมา แต่ให้ใส่ข้อมูลและผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาหรือคณะที่น้องจะเข้าศึกษาต่อเท่านั้น

 

ตัวอย่าง Portfolio รอบ 1 คณะแพทยศาสตร์ จากรุ่นพี่ WE ปี 64

นางสาว ณัฐพร เพชรพิมพ์ (โอที)  

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Q : เริ่มรู้ตัวเองตั้งแต่ตอนไหนว่าอยากเข้าคณะแพทยศาสตร์

A : ตอนเด็ก ๆ พี่ก็จะชอบไปที่ทำงานพ่อกับแม่ ซึ่งเป็นบุคลากรสายสุขภาพอยู่แล้ว ซึ่งท่านเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากเรียนหมอ อยากรักษาคนป่วยจนหายดี เป็นที่พึ่งทางใจให้คนป่วย เป็นหมอที่เก่งเหมือนท่าน แต่ถ้าเรื่องอยากเรียนคณะแพทยศาสตร์ ก็รู้ตัวตั้งแต่ ม.3 แล้วค่ะ เลยวางแผนเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ตอนม.4 ค่ะ

Q : เตรียมตัวเก็บผลงาน เพื่อยื่นรอบ Portfolio อย่างไร

A : พี่เริ่มเก็บพอร์ตมาตั้งแต่ ม.4 จากการทำกิจกรรมที่โรงเรียน และมีทำกิจกรรมของโครงการ เก็บใส่เข้าไปใน Portfolio แล้วก็มีไปสอบ สอวน. โครงการค่ายวิชาการ และการทำกิจกรรมหลาย ๆ ด้าน ไม่ใช่แค่การทำกิจกรรมอย่างเดียว แต่ก็ต้องรวมถึงผลเกรด กิจกรรมอาสา จริยธรรม ด้านภาษา วิชาการมันต้องมาควบคู่กัน ก็จะช่วยทำให้พอร์ตเราน่าสนใจ เตะตากรรมการค่ะ

Q : ตอนสอบสัมภาษณ์เป็นอย่างไรบ้าง

A : พี่จะเจอคำถามรวม ๆ ประมาณ 10 ข้อ แยกเป็นข้อย่อยอีกค่ะ เช่น แนะนำตัวเองว่าเป็นใคร ทำไมถึงอยากเรียนแพทย์ ทำไมถึงเลือกเรียนทีนี่ บอกข้อดี-ข้อเสีย ของตัวเอง รู้อะไรบ้างในการเรียนในคณะนี้ ฯลฯ

Q : ฝากถึงน้อง ๆ รุ่นต่อไปที่อยากยื่นรอบ Portfolio หน่อย

A : สำหรับน้อง ๆ ที่จะเข้ารอบนี้ พี่แนะนำให้เก็บคะแนนอังกฤษไว้ก่อน ทำเกรด 5 เทอมให้ดี แล้วก็ทำกิจกรรม หรือน้อง ม. 5 อาจเริ่มเตรียมตัวลองไปสอบ BMAT (ข้อสอบเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์, สัตวแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์) , TOEFL LIP ก่อนก็ได้เพราะค่าสอบไม่ค่อยแพงมาก 

แต่ถ้าเป็นข้อสอบ IELTS ค่าสอบค่อนข้างจะแพง แต่มีข้อดีคือสามารถยื่นผลสอบได้หลายมหาวิทยาลัย แล้วให้ดูรายละเอียดว่าเราเหมาะกับรอบไหน รอบสมัครไหนที่เราจะยื่นได้ ส่วนน้อง ๆ ม. 6 ที่กำลังเตรียมตัวสอบ ที่ตั้งใจอยากจะเข้ารอบ PORT พี่ก็ขอให้สู้ ๆ ตั้งใจ พี่เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ตัวอย่าง Portfolio รอบ 1 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จากรุ่นพี่ WE ปี 64

นายเกล้าภูมิ เจริญศิริ (เกล้า)  

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Q : เริ่มรู้ตัวเองตั้งแต่ตอนไหนว่าอยากเข้าคณะแพทยศาสตร์

A : ผมมีความฝันที่อยากจะเข้าคณะสัตวแพทยศาสตร์ตั้งแต่ ม.4 แล้วครับ แล้วก็เตรียมตัวตั้งแต่ตอนนั้น เริ่มดูเกณฑ์ของคณะก่อนว่า เขาต้องการใช้คะแนนอะไรบ้าง สัดส่วนเท่าไหร่ แล้วมีอะไรบ้างที่เราต้องเก็บบ้าง ซึ่งการจะเข้าคณะสัตวแพทยศาสตร์ของจุฬา ต้องใช้คะแนนสอบทักษะภาษาอังกฤษ IELTS หรือ CU-TEP แล้วก็ยังมีการทำกิจกรรมในโรงพยาบาลอีก 100 ชม. ที่เราต้องเก็บให้ได้ครับ

Q : เตรียมตัวเก็บผลงาน เพื่อยื่นรอบ Portfolio อย่างไร

A : ผมจะเริ่มเก็บผลงานตั้งแต่ ม.4 แต่ผมก็จะเลือกทำในกิจกรรมที่ผมชอบ เช่น ฝึกงานด้านดูแลสัตว์ป่า จิตอาสาเกี่ยวกับสัตว์ ทำพอร์ตที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสายสัตวแพทย์ จากการเข้าไปฝึกงานในโรงพยาบาลสัตว์ และสถานพยาบาล ถ้าน้อง ๆ อยากไปเก็บประสบการณ์ก็ทำหนังสือแจ้งไปที่โรงเรียนให้ทำหนังสือส่งตัว แล้วก็ให้เรานำหนังสือไปยื่นให้ทางคลินิกอนุมัติ จากนั้นเราก็เริ่มฝึกงานได้เลยครับ แล้วก็ให้ฝึกฝนภาษาอังกฤษเริ่มตอน ม.5 เริ่มจากศึกษาเนื้อหา สลับกับการทำข้อสอบ แล้วพอถึงช่วงใกล้สอบ ผมถึงจะเริ่มทำข้อสอบจริงย้อนหลัง จับเวลาในการทำไปด้วยเพื่อบริหารเวลาและเพื่อให้ชินกับตัวข้อสอบครับ

Q : ตอนสอบสัมภาษณ์เป็นอย่างไรบ้าง

A : ก็จะมีคำถามว่าจุดเด่นของมหาลัยเรามีอะไรบ้าง, จบไปจะไปทำงานในสายงานอะไร, ทำไมถึงเลือกศึกษาต่อในมหาลัยนี้ จะเรียนไหวไหม แล้วก็คำถามพิเศษ กรรมการจะให้เราเลือกแผ่นภาพที่ปิดไว้ให้เราเลือก 1 รูป แล้วอธิบายเกี่ยวกับรูปนั้นให้ได้ ว่าสื่อถึงโรคอะไร เช่น โจทย์ที่ผมได้คือ กาฬโรคม้า ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ในประเทศไทยพอดีครับ

Q : ฝากถึงน้อง ๆ รุ่นต่อไปที่อยากยื่นรอบ Portfolio หน่อย

A : อยากให้น้อง ๆ ทุกคน ศึกษาข้อมูลของคณะที่ตัวเองอยากเรียนให้ดี แล้วก็พยายามหาข้อมูลให้รอบด้านว่าเราจะสามารถเก็บผลงานจากที่ไหนได้บ้าง เพื่อที่จะเตรียมตัวทำผลงานยื่นให้ทัน แต่ถ้าจะให้ดีก็อยากจะให้น้อง ๆ เริ่มเก็บ ตั้งแต่ ม.4 เลยครับ

นางสาว กณิศา หนูจันทร์ (แตงกวา)

คณะสัตวแพทยศาสตร์ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต

(โครงการมหาวิทยาลัยมหิดล-วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์)

Q : เริ่มรู้ตัวเองตั้งแต่ตอนไหนว่าอยากเข้าคณะแพทยศาสตร์

A : ความจริงก็อยากเป็นสัตวแพทย์มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วค่ะ เพราะว่าชอบดูสารคดี การ์ตูนที่เกี่ยวกับสัตว์ ตอนที่หาข้อมูลเกี่ยวกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ ก็ได้เห็นข้อมูลคณะนี้ขึ้นมาในเว็บ แล้วความน่าสนใจคือเป็นคณะที่เปิดใหม่ของมหาวิทยาลัยนี้ เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ และมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครด้วยกันทั้งหมด  3 รอบ รอบแรกรอบ PORT รอบ 2 คือโควตา ส่วนรอบที่ 3 เป็น กสพท. ด้วยความที่เราเป็นนักเรียนของสถาบันจุฬาภรณ์อยู่แล้ว ก็เลยตัดสินใจยื่นสมัครเข้าคณะนี้ในรอบที่2 ค่ะ

Q : เตรียมตัวเก็บผลงาน เพื่อยื่นรอบ Portfolio อย่างไร

A : พี่เริ่มเก็บผลงานตั้งแต่ ม.4 จากการแข่งขันกิจกรรมต่าง ๆ เช่นงานวันวิทยาศาสตร์ โครงงานวิชาการที่ทำในโรงเรียน และกิจกรรมจิตอาสาด้วยค่ะ ส่วนผลงานที่โดดเด่น และภูมิใจมากที่สุดก็จะเป็นผลงานโครงการวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และได้เป็นตัวแทนนักเรียนต้อนรับทูตจากต่างประเทศ ช่วยสื่อสารภาษา ดูแลนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มาเรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาที่ประเทศไทยค่ะ

Q : ตอนสอบสัมภาษณ์เป็นอย่างไรบ้าง

A : .ในการสัมภาษณ์ก็จะเป็นคำถามทั่วไปค่ะ แต่เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เช่น ทำไมถึงอยากมาเป็นสัตวแพทย์, ข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวกับสัตวแพทย์ เช่น การทําการุณยฆาตในสัตว์เลี้ยง, คำถามวัดจริยธรรมของการเป็นสัตวแพทย์ การจัดลำดับในการรักษาสัตว์ในกรณีที่ฉุกเฉิน เช่น ถ้ามีสัตว์ป่วยฉุกเฉินเข้ามาในโรงพยาบาล 2 ตัว ถ้าเราเป็นหมอจะเลือกรักษาตัวไหนก่อน วัดจากความสาหัสของบาดแผล และอาการของสัตว์แต่ละตัว ว่าตัวไหนอาการรุนแรงกว่าและควรได้รับการรักษาก่อนค่ะ

Q : ฝากถึงน้อง ๆ รุ่นต่อไปที่อยากยื่นรอบ Portfolio หน่อย

A : พี่อยากให้น้องเริ่มถามตัวเองก่อนว่าอยากเป็นอะไร เราชอบอาชีพนี้จริง ๆ ใช่ไหม ถ้าเราไปทำการรักษาสัตว์แล้วมันจะลำบากเราหรือเปล่า น้องจะเรียนไหวไหม เราต้องถามย้ำตัวเองว่าเราชอบมันจริง ๆ ไหม ส่วนเรื่องการเก็บพอร์ตก็ต้องเริ่มเก็บตั้งแต่ ม.4 หรือ ม.5 ก็ได้ค่ะ พี่แนะนำให้เก็บผลงานพวกด้านวิชาการ เกียรติบัตร จิตอาสาไว้เยอะ ๆ และก็อย่าลืมว่า ภาษาเป็นพื้นฐานและสำคัญในการเรียน รวมถึงวิชา ชีวะ คณิต ด้วยเพราะว่าในการยื่นรอบ PORT ก็จะต้องใช้คะแนนวิชาสามัญ , แฟ้มผลงาน , รวมถึงทักษะการสัมภาษณ์ด้วยค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะน้อง ๆ จะเห็นว่า Portfolio ของรุ่นพี่ WE ทั้ง 3 คนนั้น เต็มไปด้วยผลงานและเกียรติบัตรที่เกี่ยวข้องกับคณะที่ยื่นเข้าศึกษา น้อง ๆ สามารถดูเป็นตัวอย่าง และนำไปประยุกต์ใช้กับคณะที่จะยื่นเข้าได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำไปดัดแปลง หรือเผยแพร่ที่อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานโดยตรงนะคะ

 
สุดท้าย การยื่น Portfolio รอบ 1 TCAS 65 น้อง ๆ ต้องวางแผนให้ดี ถ้าน้องคนไหนยังไม่เริ่มวางแผน ต้องเริ่มทำได้แล้วนะคะ ขอให้น้องทุกคนโชคดีค่ะ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ