ใครกำลังเตรียมตัว ติวสอบเข้า ม.1 ถ้าได้อ่านบทความนี้ รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอนค่ะ!!
วิชาภาษาไทย เป็นวิชาหนึ่งที่ต้องสอบในสนามสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับชั้น ม.1 นอกจากนี้ข้อสอบภาษาไทยก็ยังมีสัดส่วนคะแนนที่เท่ากันกับคะแนนสอบวิชาอื่น ๆ ด้วย รู้แบบนี้แล้ว น้อง ๆ ประถมคนไหนที่เคยคิดว่า ภาษาไทยเป็นวิชาที่ง่าย หรือไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการติวสอบวิชานี้เหมือนอย่างวิชาอื่น ๆ พี่ยูขอแอบเตือนดัง ๆ ว่า ต้องรีบจัดกระบวนทัพความคิดใหม่โดยด่วน ๆ เลยนะ
วันนี้พี่ยูอยากจะชวนน้อง ๆ มาทบทวนข้อมูลเสมือนกำลังได้โหมโรงก่อนเริ่ม ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย กัน โดยพี่ยูรวบรวมข้อมูลมาให้ครบถ้วนเลยนะ ทั้ง สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการสอบเข้า ม.1 เช่น วิชาและสัดส่วนคะแนนที่ต้องใช้กันทั่วไป ไม่พอแค่นี้ ยังมีส่วน วิเคราะห์แนวข้อสอบภาษาไทย และมี คอร์สติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย มาแนะนำสำหรับน้องที่ติดตามผลงานเป็นมิตรรักแฟนคอร์สของพี่ยูกันด้วย อย่ามัวรอช้าให้ตามพี่ยูมาดูพร้อมกันเลย!! ว่าที่คนสอบติด ม.1 โรงเรียนในฝัน เลือดนักสู้กันทุกคน 🤩
สนใจหัวข้อไหน คลิกอ่านเลย!
สอบเข้า ม.1 ต้องสอบวิชาภาษาไทยมั้ย? ใช้สัดส่วนคะแนนเท่าไร?
สำหรับน้อง ๆ วัยประถมที่กำลังติวสอบเข้า ม.1 สิ่งที่ต้องรู้เป็นอันดับแรก ๆ คือ วิชาที่ต้องสอบ และ สัดส่วนคะแนนสอบ นั่นเอง โดยทั่วไปแล้ว การสอบเข้า ม.1 “ห้องเรียนปกติ” จะจัดสอบทั้งหมด 5 วิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษาฯ แล้วสัดส่วนคะแนนที่สอบทั้ง 5 วิชาที่พี่ยูได้บอกไป มักใช้เท่า ๆ กัน คือ วิชาละ 20%
อย่างไรก็ดี วิชาที่ต้องสอบและสัดส่วนของคะแนนของแต่ละวิชาที่ใช้สอบเข้า ม.1 อาจมีสัดส่วนที่แตกต่างไปจากนี้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนที่น้อง ๆ สนใจสอบเข้าศึกษาต่อมีเกณฑ์กำหนดไว้ยังไง เพราะนอกจากห้องเรียนปกติ หลายโรงเรียนยังมีรูปแบบห้องเรียนหรือหลักสูตรอื่น ๆ ที่หลากหลายให้น้อง ๆ เลือกสมัครหรือเตรียมตัวกันให้พร้อมตามความสนใจด้วย เช่น หลักสูตร EP, หลักสูตรห้องเรียนพิเศษ Gifted, หลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้มข้น ฯลฯ อย่าลืมดูเงื่อนไขให้ดีนะน้อง ๆ
แต่ละหลักสูตรหรือแต่ละประเภทห้องเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ มีเกณฑ์การคัดเลือกเฉพาะที่แตกต่างกัน พี่ยูแนะนำและเน้นย้ำอีกครั้งว่า น้อง ๆ และผู้ปกครองควรศึกษาและทำความเข้าใจเกณฑ์การคัดเลือกหรือวิชาที่ต้องสอบ รวมถึงสัดส่วนคะแนนหรือเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรหรือประเภทห้องเรียนเหล่านั้นจากประกาศที่เป็นทางการของโรงเรียน ให้ละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ จะได้นำมาวางแผนเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง ไม่เสียเวลา ไม่เสียแรง หรือไม่เสียค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยเปล่าประโยชน์โดยไม่จำเป็น
“พี่ยู” วิเคราะห์ข้อสอบ สอบเข้า ม.1 ภาษาไทย เป็นยังไง? ยากง่ายแค่ไหน?
• สาระและบทฮิตติดดาวที่มักออกข้อสอบ สอบเข้า ม.1 วิชาภาษาไทย
บ่อยครั้งที่พี่ยูได้ยินมาว่า การเตรียมตัวสอบเข้า ม.1 วิชาภาษาไทย ใคร ๆ ก็มักพูดว่า เป็นวิชาที่ง่าย อ่านเองได้ น้อง ๆ และผู้ปกครองก็คงพอจะเคยได้ยินหรือรับรู้วิธีคิดแบบนี้มาบ้าง จริงมั้ย?!?
แต่ถ้าเราลองไปตามดูสถิติคะแนนการสอบเข้าวิชาต่าง ๆ หรือลองถามประสบการณ์การเข้าสอบจริงของน้อง ป.6 ที่เคยผ่านสนามสอบเข้า ม.1 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง เชื่อมั้ยว่า มีน้อยคนมากหรือแทบจะไม่มีเลยในแต่ละปีที่ทำคะแนนวิชาภาษาไทยได้เต็ม ในขณะที่วิชาหิน ๆ อย่าง คณิตศาสตร์ หรือ ภาษาอังกฤษ ยังมีจำนวนคนที่ทำคะแนนได้เต็มหรือเกือบเต็มมากกว่าอีก
เอาล่ะ มาล้อมวงกันกงนี้มา พี่ยูจะเริ่มเก็งประเด็นที่น่าจะนำมาออกสอบหรือเคยพบว่าเป็นประเด็นท็อปฮิตติดดาว หรือเนื้อหาขาประจำ พูดง่าย ๆ ก็คือเคยเจออยู่ใน ข้อสอบภาษาไทย สอบเข้า ม.1 โรงเรียนต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยเนื้อหาสาระที่พี่ยูกำลังจะเก็งให้ จัดออกเป็น 5 สาระตามหลักสูตรแกนกลาง วิชาภาษาไทย ได้แก่
- การอ่าน
- การเขียน
- การฟัง ดู พูด
- หลักการใช้ภาษา
- วรรณคดีและวรรณกรรม
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกบทของทุกสาระเหล่านี้ กรรมการจะออกข้อสอบครบทุกประเด็นตามแบบเรียนของหนังสือเรียนกระทรวงฯ นะ เพราะ จากประสบการณ์และการวิเคราะห์ข้อสอบภาษาไทย สอบเข้า ม.1 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงมาก ๆ ในแต่ละสาระจะมีบทที่ห้ามพลาด ดังนี้
1. ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย : การอ่าน
เริ่มต้นด้วยเนื้อหาสาระแรกอย่าง การอ่าน มักออกเรื่อง
- การจับใจความ การหาสาระสำคัญของเรื่อง หาส่วนสรุปของเรื่อง หรือแม้กระทั่งการตั้งชื่อบทความที่กำหนดมาให้
- การอ่านออกเสียงศัพท์ ที่เคยพบส่วนใหญ่จะให้เรานับจำนวนพยางค์ หรือนับพยางค์ นอกจากนี้ก็จะมีการทดสอบให้อ่านออกเสียงคำศัพท์ยาก หรือคำที่อ่านได้หลายแบบ หรือคำที่มักจะออกเสียงผิด
- การอ่านเว้นวรรคตอน ใครเคยทำข้อสอบ O-NET ป.6 ของ สทศ. หลายปี หลายฉบับก็มีข้อสอบภาษาไทยประเภทที่ให้ดูว่า ข้อใดอ่านเว้นจังหวะร้อยกรองได้ถูกต้อง
- การอ่านกราฟ แผนภูมิ ฯลฯ แนวนี้เป็นข้อสอบที่ไม่ยากมากนัก เคยออกประเภทอ่านแผนที่กราฟข้อมูลประเภทต่าง ๆ เช่น กราฟแท่ง หรือตารางบรรจุข้อมูลที่ไม่ซับซ้อนนัก จะเรียกว่าเป็นข้อแจกคะแนนก็ได้นะ
2. ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย : การเขียน
ต่อด้วยสาระที่สองอย่าง การเขียน ประเด็นที่ออกบ่อย ๆ คือ
- โวหารการเขียน เน้นที่บรรยายโวหาร กับ พรรณนาโวหาร ถ้าน้อง ๆ มีเวลา พี่ยูแนะนำให้หาอ่านอธิบายโวหารไปเผื่อเพิ่มด้วยก็จะดี
- การเขียนเรียงความ เน้นเรื่ององค์ประกอบของการเขียนเรียงความทั้ง 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้องเรื่อง และส่วนสรุป
- การเขียนย่อความ เน้นที่รูปแบบการใช้ภาษาในการย่อความ เช่น การใช้สรรพนาม การถอดเครื่องหมายอัญประกาศ การถอดคำประพันธ์ ฯลฯ
- การเขียนจดหมาย เน้นเรื่องคำขึ้นต้น คำลงท้ายของจดหมายประเภทต่าง ๆ
- การเขียนสะกดคำ เน้นคำที่มักจะสะกดผิด ซึ่งอาจหาตัวอย่างที่ดีที่รวบรวมไว้แล้วในหนังสือ “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร” ของราชบัณฑิตยสภา หรือ แผ่นพับ “ผิดบ่อยอย่าปล่อยผ่าน” ที่พี่ยูเก็งคำศัพท์ไว้
3. ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย : การฟัง ดู พูด
ในภาพรวมของข้อสอบภาษาไทยในสนามสอบเข้า ม.1 สาระ การฟัง ดู พูด นี้ออกข้อสอบน้อย ไม่ได้บ่อยมาก พี่ยูขอเน้นแค่ 2 หัวข้อ คือ
- การวิเคราะห์น้ำเสียงผู้พูด ออกไม่บ่อย ถือว่าเป็นข้อสอบค่อนข้างยาก เพราะต้องตีความจากถ้อยคำและบริบท จากนั้นเทียบข้อมูลกับตัวเลือกที่สอดคล้องกัน
- การพูดในโอกาสต่าง ๆ โดยมากมักกำหนดโอกาสหรือสถานการณ์มาให้ แล้วให้เลือกประเด็นหรือหัวข้อที่จะนำไปพูดในโอกาสหรือสถานการณ์นั้น ๆ
4. ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย : หลักการใช้ภาษา
สำหรับ หลักการใช้ภาษา สาระนี้เป็นสาระที่สำคัญที่สุด เพราะออกเยอะที่สุด สาระนี้น้อง ๆ ใส่ดอกจันไว้เลย พี่ยูรวมมาให้แล้วว่าเรื่องอะไรบ้างที่พื้นฐานต้องแน่นเป๊ะ ก่อนไปถึงสนามจริง เตรียมแคปหน้าจอไว้ทบทวนและติวภาษาไทย สอบเข้า ม.1 อย่างตรงจุดได้เลย
- อักษรควบ อักษรนำ ออกข้อสอบบ่อยมาก มักให้วิเคราะห์จากคำหรือข้อความที่กำหนด
- ชนิดและหน้าที่ของคำ เจาะที่ชนิดย่อยของคำนาม (เน้นลักษณนาม) และชนิดย่อยของคำกริยา ที่ควรอ่านเพิ่มให้เป๊ะคือ คำบุพบทและคำสันธาน
- คำและความหมาย เน้นเรื่องการใช้คำให้ถูกต้องเหมาะสมตามบริบท + คำพ้องความหมาย (คำไวพจน์) คำพ้องรูป คำพ้องเสียง
- สำนวนไทย เรื่องนี้ออกสอบแน่นอนเกือบทุกโรงเรียน เน้นใช้สำนวนให้ถูกต้องตามสถานการณ์ สรุปแล้วต้องรู้จักสำนวนเยอะ ๆ พร้อมกับความหมายที่ถูกต้อง
- คำไทยแท้และคำยืม เน้นหลักการสังเกตคำยืมที่มาจากบาลี สันสกฤต
- โครงสร้างประโยค มักถามเรื่องโครงสร้างประโยคที่สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ และต้องไม่พลาดโครงสร้างชนิดย่อยของประโยคอีก 3 ชนิด คือ ประโยคสามัญ ประโยครวม และประโยคซ้อน
- ระดับภาษา ส่วนใหญ่ข้อสอบมุ่งให้วิเคราะห์ภาษาใน 2 ระดับ คือ ทางการกับไม่เป็นทางการ
- ราชาศัพท์ ออกสอบบ่อยมาก ๆ ฝึกทำข้อสอบเก่าไปเยอะ ๆ เน้นการใช้นามราชาศัพท์และกริยาราชาศัพท์ให้เหมาะสมกับพระบรมวงศ์และพระอนุวงศ์ให้ถูกต้อง
- ฉันทลักษณ์ เน้นกลอนสุภาพ กลอนดอกสร้อย กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 กาพย์สุรางคนางค์ 28 บางโรงเรียนอาจออกโคลงสี่สุภาพด้วยนะ อ่านและทบทวนไปเผื่อด้วยจะอุ่นใจมากสุด ๆ
5. ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย : วรรณคดีและวรรณกรรม
และสาระสุดท้ายก็คือ วรรณคดีและวรรณกรรม ข้อสอบมักให้วิเคราะห์คุณค่าด้านต่าง ๆ ดังนี้
- คุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ เป็นคุณค่าด้านภาษา เน้นกลวิธีการประพันธ์และภาพพจน์ประเภทต่าง ๆ เช่น การสรรคำ การเล่นสัมผัส การเล่นคำ การซ้ำคำ อุปมา อุปลักษณ์ สัทพจน์ อติพจน์ บุคคลวัต
- คุณค่าทางด้านจริยธรรม มักให้สรุปข้อคิดจากคำประพันธ์ที่กำหนด เท่ากับต้องถอดคำประพันธ์หรือจับประเด็นสำคัญให้ได้ แล้วเทียบกับตัวเลือก
- คุณค่าด้านความรู้ ยังคงต้องอ่านจับประเด็นหรือแปลความคำศัพท์หรือวรรคสำคัญที่แสดงวัฒนธรรม ค่านิยม หรือประเพณี ที่แทรกอยู่ในคำประพันธ์ที่โจทย์กำหนดมาให้
พี่ยูช่วยรีวิวเรื่องที่มักออกสอบครบทั้ง 5 สาระแบบเข้ม ๆ เน้น ๆ ให้แล้ว และขอเน้นย้ำอีกหลาย ๆ รอบว่า สาระหลักการใช้ภาษา การอ่าน วรรณคดีฯ ออกข้อสอบภาษาไทยในสัดส่วนที่สูงมาก ใครที่ติวภาษาไทยสอบเข้า ม.1 อยู่จึงต้องเตรียมพร้อมให้ดี ให้แม่น ให้เป๊ะที่สุด
สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากไว้คือ น้อง ๆ ต้องไม่ลืมและไม่ย่อท้อต่อการฝึกทำข้อสอบเก่าหรือแนวข้อสอบเสมือนจริงไปให้เยอะที่สุดนะคะ โดยเฉพาะการจับเวลาเสมือนจริงทุกครั้ง รายข้อ เสมือนเป็นวันสอบจริงทุกครั้ง
อีกเรื่องที่สำคัญคือ ฝึกทำโจทย์แล้วต้องหมั่นสังเกตหรือสำรวจตนเองด้วยว่า บทไหนเรื่องไหนที่ทำได้ดีไม่มีปัญหาจะได้เบาใจ บทไหนที่ทำผิดบ่อย ๆ เสียคะแนนประจำ ต้องรีบแก้ไข อ่านทวนเนื้อหาบทนั้น ฝึกทำแนวโจทย์เพิ่มจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ควรทำข้อสอบแบบทำแล้วทำเลย ดูแต่คะแนนที่ได้ ถ้าทำตามคำแนะนำแบบนี้ครบถ้วน การเตรียมตัวติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย ก็จะสมบูรณ์แบบแบบสุด ๆ
• ความยากง่ายหรือแนวโจทย์ที่ใกล้เคียง ที่สามารถนำมาฝึกทำก่อนสอบภาษาไทย สอบเข้า ม.1
น้อง ๆ วัยประถมที่กำลังติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย อย่างขะมักเขม้น อันดับแรกเลย ถ้าให้พี่ยูแนะนำสำหรับน้องที่อยากจะอยากจะเข้าขั้นเยี่ยมยุทธ หรืออยากที่จะแข็งแกร่งวิชาภาษาไทยแบบขั้นสุดชนิดเป็นรองคู่แข่งได้ยาก ก็แนะนำว่าควรจะไปหา ข้อสอบจริงทุกฉบับที่ผ่านมาของโรงเรียนนั้น ๆ ที่น้องเลือก ย้ำว่า ถ้าหาข้อสอบจริงที่ผ่าน ๆ มาของโรงเรียนนั้น ๆ ได้ คือเลิศที่สุด! เพราะแต่ละโรงเรียนก็มีกรรมการผู้ออกข้อสอบสอบเข้า ม.1 วิชาภาษาไทย ที่แตกต่างกัน บางโรงเรียนมีเอกลักษณ์เฉพาะของข้อสอบ
รองลงมาจากข้อสอบจริงที่เคยออกของโรงเรียนนั้น ๆ ก็คือ ข้อสอบ Pre-test สอบเข้า ม.1 ที่โรงเรียนนั้นจัดสอบ ซึ่งมีหลายโรงเรียนเลยนะที่พี่ยูพบว่า จัดสอบสนามจำลองก่อนถึงวันสอบจริง ข้อสอบ Pre-test เหล่านี้ก็นำมาฝึกทำขณะติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทยก่อนได้ หลายครั้งที่พี่ยูสังเกตเห็นว่า ข้อสอบ Pre-test กับข้อสอบจริงในปีนั้นหรือเทียบกับปีอื่น ๆ มักถามประเด็นที่คล้าย ๆ กัน แปลว่าสมชื่อกับสนามที่เรียกว่า Pre-test จริง ๆ นะ อย่าลืมลองพยายามหาข้อสอบเหล่านั้นมาทำด้วย
แนวข้อสอบภาษาไทยอีกกลุ่มที่พี่ยูคิดว่า สำคัญและจำเป็นไม่น้อย สำหรับใช้เตรียมตัวฝึกฝนให้พร้อมและมั่นใจก่อนลงสนามสอบเข้า ม.1 ได้ดีก็คือ ข้อสอบ O-NET วิชาภาษาไทย ทุกปีที่ผ่านมา ถ้าจะเลือกข้อสอบที่ใกล้กับความยากง่ายของข้อสอบสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย ที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นข้อสอบ O-NET ป.6 ถ้าจะให้ล้ำลึกหรือเตรียมให้เกินระดับที่จะสอบขึ้นไปอีกสักหน่อยก็คือ ข้อสอบ O-NET ม.3
มาถึงแนวข้อสอบกลุ่มสุดท้ายที่พี่ยูขอออกตัวแรง ๆ เลยว่า น้อง ๆ ที่กำลังติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย ไม่ควรพลาดเลยก็คือ ข้อสอบเก็งที่พี่ยูนำมาสอนน้อง ๆ ในคอร์สเรียน หรือในคลิปติวต่าง ๆ เน้นจากปีล่าสุดก่อน ยิ่งฝึกทำหลาย ๆ ข้อก็จะยิ่งดีค่ะ
น้องคนไหนเริ่มงงให้มารวมตัวกันกงนี้… พี่ยูจะสรุปแนวโจทย์หรือแนวข้อสอบที่สามารถนำมาฝึกได้เพราะมีความใกล้เคียงกับระดับความยากง่ายของข้อสอบภาษาไทย สอบเข้า ม.1 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง นั่นคือ
- ข้อสอบจริงทุกฉบับที่ผ่านมาของโรงเรียนนั้น ๆ ที่น้องสนใจสอบเข้า
- ข้อสอบ Pre-test ที่โรงเรียนนั้น ๆ ที่น้องสนใจสมัครเป็นผู้จัดสอบโดยตรง
- ข้อสอบ O-NET วิชาภาษาไทย ระดับชั้น ป.6 (และระดับชั้น ม.3)
- ข้อสอบเก็งโดยพี่ยู จากในคอร์สเรียนหรือจากคลิปติวต่าง ๆ
ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย จำเป็นต้องเรียนพิเศษมั้ย?
คำถามที่น้อง ๆ หลายคนยังลังเลหรือสงสัยว่า ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย จำเป็นต้องเรียนพิเศษมั้ย? เตรียมสอบเข้า ม.1 วิชาภาษาไทย ติวด้วยตนเองได้หรือเปล่า? พี่ยูคิดว่า คำตอบของคำถามนี้มี 2 ทาง แต่ละทางมีเงื่อนไขหรือลักษณะเฉพาะที่ต้องทบทวนหรือสำรวจตัวเราเอง นั่นคือ
- ไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษ ถ้า…
- จำเป็นต้องเรียนพิเศษ ถ้า…
เราลองมาดูทีละคำตอบกันดีกว่า… แต่ก่อนอื่น น้อง ๆ ต้องทำใจนิ่ง ๆ ทบทวนสไตล์หรือความพร้อมและข้อจำกัดของตนเองให้ดี แล้วพิจารณาตามตารางต่อไปนี้ได้เลย
แนะนำคอร์สติวสอบเข้า ม.1 วิชาภาษาไทย ที่ WE BY THE BRAIN
หลังจากที่ลองสำรวจตนเองและพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วพบว่า สำหรับการติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย น้อง ๆ จำเป็นจะต้องหาตัวช่วยด้วยการเรียนพิเศษ พี่ยูมีคอร์สเรียนมาแนะนำกัน คือ คอร์สติวเข้ม+ตะลุยโจทย์ ภาษาไทย สอบเข้า ม.1 ที่พี่ยูออกแบบคอร์สเรียนด้วยการ สรุปเนื้อหาเข้มข้นทุกบท แทรกเทคนิคการจำ การวิเคราะห์โจทย์แบบเฉียบคม รวมประเด็นเน้น ๆ 35 บท มั่นใจได้เลยว่าครบถ้วน ครอบคลุมทุกประเด็นที่ไม่ควรพลาด และเคยออกสอบจริงในข้อสอบภาษาไทย สอบเข้า ม.1 พร้อมเก็งเรื่องที่น่าจะออกสอบไว้ด้วย
นอกจากเนื้อหาที่สรุปอย่างเข้มข้นในรูปแบบตารางที่อ่านทบทวนง่าย เป็นระบบ เข้าใจไวทุกบทแล้ว พี่ยูยังได้ รวบรวมแนวข้อสอบจากโรงเรียนชั้นนำที่คัดสรรแล้วว่าเป็นโจทย์ดีมีคุณภาพ พร้อมทั้งแนวโจทย์ที่พี่ยูออกเองใหม่ วิเคราะห์แนวโน้มและวินิจฉัยแล้วว่ามีโอกาสออกสอบในสนามสอบเข้า ม.1 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง เสริมทัพด้วยแนวข้อสอบระดับชาติและโจทย์แข่งขันระดับประเทศ ทั้งข้อสอบ O-NET และเพชรยอดมงกุฎ สิริรวม 300 ข้อ
• ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย กับ “พี่ยู” ที่ WE BY THE BRAIN ดียังไง?
น้องประถมที่ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย และมาสมัครเรียนคอร์สนี้กับพี่ยู น้อง ๆ จะพร้อมลุยสนามสอบสอบเข้า ม.1 เพราะ
- ได้สรุปเนื้อหาตามหลักสูตรและเนื้อหาบางเรื่องที่พี่ยูสรุปให้เกินหลักสูตรแบบเข้มข้นทุกบท
- ได้ฝึกทำแนวโจทย์ที่มีคณภาพเทียบเท่าข้อสอบจริงจากทุกแหล่งที่คัดสรรและเก็งมาให้รวม 300 ข้อ
- อธิบายแบบกระชับแต่ละเอียดตามประเด็นที่จำเป็น เน้นให้ครอบคลุมทุกเรื่อง “ที่เคยออกสอบ”
- เฉลยข้อสอบอย่างละเอียด แทรกความรู้เพิ่มที่เกี่ยวข้อง
- อุ่นใจและมั่นใจด้วยเทคนิคตัวช่วย Harmonic Memo ที่น้อง ๆ แต่ละรุ่นรีวิวว่า ช่วยสรุปจำเป็นทำนอง สนุกท่องเป็นจังหวะ จำได้ง่าย จำได้ไว นำไปใช้ทำข้อสอบได้จริง
ติวเข้ม เต็มพลัง ข้อสอบวิชาภาษาไทย สอบเข้า ม.1 | WE BY THE BRAIN
• คอร์สติวเข้ม + ตะลุยโจทย์ ภาษาไทย สอบเข้า ม.1 น้อง ๆ ควรสมัครเรียนช่วงไหน?
ใครสนใจสมัคร คอร์สติวเข้ม+ตะลุยโจทย์ ภาษาไทย สอบเข้า ม.1 แล้วยังลังเลอยู่ว่าควรสมัครเรียนช่วงไหนดี? พี่ยูขอตอบเลยว่าเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ เวลาที่น้องพร้อม ในที่นี้หมายถึง 2 พร้อม คือ
1. “มีความรู้พื้นฐานพร้อม” หรือ “พอมีบ้าง” จนพร้อมที่จะมาติวเข้ม & ตะลุยโจทย์ เพราะคอร์สติวเข้มสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย ไม่ใช่คอร์สปูพื้นฐานความรู้แบบทุกอณูตามหลักสูตร เป็นคอร์สสรุปเนื้อหาที่เข้มข้น สำหรับต่อยอดความรู้ที่ลุ่มลึก และอาจมีบางเรื่องเกินหลักสูตร ถ้าความรู้พื้นฐานของน้อง ๆ ไม่แน่น มาเรียนคอร์สนี้อาจต้องเหนื่อยหนักเป็นพิเศษ วิธีการที่จะพอประเมินความพร้อมข้อนี้ได้ คือ การทดลองเรียน ถ้าทดลองเรียนแล้วฟังไม่เข้าใจเกิน 70% ของเนื้อหาส่วนที่ทดลองนั้น หมายความว่าความรู้พื้นฐานน่าจะมีช่องโหว่หรือวิกฤต ควรจัดการเตรียมพร้อมพื้นฐานความรู้ภาษาไทยระดับประถมศึกษาตอนปลายให้ดีก่อนจะดีกว่า
2. “มีเวลาพร้อม” ที่จะทุ่มเทให้กับการเรียนคอร์สนี้อย่างจริงจัง เรียนต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่ทิ้งคอร์ส หรือเว้นระยะห่างแต่ละบทจนลืมเรื่องเก่า ต่อเรื่องใหม่ไม่ได้ (จะเสียเวลาทวนไปทวนมาของตนเอง) พี่ยูขอแนะนำว่า “มีเวลาพร้อม” นี้ ควรเหลือเวลาเตรียมตัวก่อนถึงวันสอบจริงอย่างน้อย 3 – 6 เดือน เช่น สอบจริงเดือนมีนาคม (ปีหน้า) อาจกำหนดแผนสำหรับเรียนคอร์สนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามตัวอย่างที่พี่ยูแนะนำดังนี้
- แผน (ก) สมมุติว่ามีเวลา 6 เดือน พี่ยูแนะนำว่าควรเรียนและฝึกทำโจทย์ในคอร์สติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย นี้ให้จบให้ได้ภายในเวลา 3 เดือนแรก อีก 3 เดือนต่อไปก่อนสอบ ก็ฝึกทำโจทย์จากแหล่งอื่น ๆ ทำสรุปอ่านทวนเนื้อหาในคอร์ส วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละบท บทไหนที่มีปัญหาก็ใช้เวลา 3 เดือนสุดท้ายก่อนสอบนี้ แก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง เฉพาะบท
- แผน (ข) สมมุติว่าเหลือเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้นก่อนสอบ พี่ยูแนะนำว่าให้เร่งเรียนและฝึกทำโจทย์ในคอร์สนี้ให้จบให้ได้ภายในเวลา 2 เดือนแรก อีก 1 เดือนสุดท้ายก่อนสอบ ก็ฝึกทำโจทย์จากแหล่งอื่น ๆ ทำสรุปอ่านทวนเนื้อหาในคอร์ส วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละบท บทไหนที่มีปัญหาก็ใช้เวลา 1 เดือนสุดท้ายก่อนสอบนี้ แก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง เฉพาะบท
ถึงแม้ว่า คอร์สติวเข้ม+ตะลุยโจทย์ ภาษาไทย สอบเข้า ม.1 ที่พี่ยูออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาไว้ จะใช้เวลาเรียนไม่มาก (1 – 3 เดือนก็สามารถเรียนจบคอร์สได้) แต่น้อง ๆ ต้องไม่ประมาทจนเห็นว่า วิชาภาษาไทยเป็นวิชาง่าย ใช้เวลาเตรียมตัวไม่นาน ตราบใดที่น้องยังไม่ได้ลองฝึกทำโจทย์จริงหรือโจทย์เสมือนจริงแล้วจำลองสถานการณ์ให้คล้ายวันสอบจริงที่สุด แล้วดูคะแนนเฉลี่ยอย่างน้อยจากข้อสอบหลาย ๆ ฉบับ น้องหลายคนที่คิดว่า ภาษาไทยง่าย ไม่ผิดบาป แต่จะเสียดายโอกาสพัฒนาตนเองให้เก่งภาษาไทยได้ ถ้าคิดผิดหรือคิดว่าเก่งแล้วแบบคิดไปเอง
สุดท้ายนี้ พี่ยูก็ขอให้น้อง ๆ ที่ติวสอบเข้า ม.1 ภาษาไทย ที่ตั้งใจจริงและลงมือทำ เตรียมพร้อมอย่างสุดความสามารถแล้ว ทำข้อสอบวิชาภาษาไทยได้คะแนนปัง ๆ สูง ๆ หรือคะแนนเต็มไปเลยก็ยิ่งดี มีคะแนนจากวิชาอื่น ๆ มาเติมเต็มเราให้สามารถสอบเข้า ม.1 โรงเรียนที่มุ่งหวังตั้งใจเอาไว้ได้ มีความสุขในการเรียนชั้น ม.ต้น ไม่ว่าจะโรงเรียนไหนก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จนะคะ 🥰🤟
หากน้อง ๆ คนไหนชอบเรียนวิชาภาษาไทย ไม่อยากพลาดเกร็ดความรู้และสาระดี ๆ เกี่ยวกับภาษาไทย ก็ติดตาม “พี่ยู” ได้ที่ช่องทางเหล่านี้เลย!!
- Facebook Page : WE BY THE BRAIN
- Instagram : webythebrain
- Youtube : WE BY THE BRAIN
- Tiktok : ติวติดเตรียมฯ ภาษาไทย เดอะเบรน
- Lemon8 : ไทย เดอะเบรน