“คำ” ในภาษาไทยที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน มีหลายคำที่เกิดจาก “การสร้างคำ” นานาวิธีจนทำให้เกิดเป็นคำใหม่ที่มีความหมายแตกต่างไปจากคำมูลคำเดิม 🤩
การสร้างคำในภาษาไทยนั้น มีวิธีและเกณฑ์ที่แตกต่างกันสำหรับพิจารณาเลือกคำมาประกอบกันเป็นคำใหม่ น้อง ๆ ควรศึกษาและตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม ทำความเข้าใจถ้อยคำภาษาอย่างลุ่มลึกหรือแตกฉาน นอกจากนี้เรื่องการสร้างคำ ยังเป็นเนื้อหาที่มักจะพบได้บ่อยในข้อสอบสนามสำคัญ ๆ ทั้งข้อสอบในโรงเรียนและข้อสอบแข่งขันอีกด้วย
วันนี้ “พี่ยู – อ.สุรเชษฐ์ พิชิตพงศ์เผ่า” จะพาน้อง ๆ ไปเรียนรู้เกี่ยวกับ การสร้างคำในภาษาไทย ตั้งแต่ความหมาย นานาวิธีการสร้างคำ พร้อมแนวข้อสอบและเฉลยละเอียด ตามมาดูพร้อมกันเลย!!
“การสร้างคำ” อยู่ในเนื้อหาวิชาภาษาไทย ระดับชั้นไหน?
น้อง ๆ ที่อยากรู้ว่า “การสร้างคำในภาษาไทย” เป็นเนื้อหาวิชาภาษาไทยที่จะได้เรียนกันในระดับชั้นไหน? พี่ยูได้ลองศึกษาและสืบค้นข้อมูลจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กระทรวงศึกษาธิการ) มาให้แล้ว และได้คำตอบว่า เนื้อหาเรื่อง “การสร้างคำ” จัดอยู่ในสาระ / มาตรฐาน / ตัวชี้วัด / ระดับชั้น ดังนี้
- สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา
- มาตรฐาน ท 5.1 เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ
- ตัวชี้วัดชั้นปี ระดับชั้น ม.1 ข้อ 2 สร้างคำในภาษาไทย
- ตัวชี้วัดชั้นปี ระดับชั้น ม.2 ข้อ 2 สร้างคำในภาษาไทย
ดังนั้น พี่ยูจึงขอสรุปสั้น ๆ ว่า ประเด็นหัวข้อเนื้อหาเรื่อง “การสร้างคำ” น้อง ๆ จะได้เริ่มเรียนกันในระดับชั้น ม.ต้น ช่วง ม.1 และ ม.2 อย่างแน่นอน ถ้าหากโรงเรียนของน้อง ๆ ยึดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กระทรวงศึกษาธิการ) วิชาภาษาไทย
ตามข้อสรุปข้างต้นนี้ พี่ยูขอเพิ่มเติมว่า ประเด็นหัวข้อเนื้อหาเรื่อง “การสร้างคำ” ไม่ปรากฏในตัวชี้วัดของน้อง ๆ ระดับชั้น ป.1 – ป.6, ม.3, ม.4 – ม.6 แต่หากโรงเรียนของน้อง ๆ มีสอนเนื้อหาวิชาภาษาไทยเรื่อง “การสร้างคำ” ในระดับชั้นดังกล่าว พี่ยูคิดว่า เป็นการสอนเนื้อหาเสริมหรือสอนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ตามอัธยาศัยของแต่ละโรงเรียน เช่น เสริมความรู้เพื่อสอบแข่งขันสู่ความเป็นเลิศทางภาษาไทย หรือเพื่อสนับสนุนความสนใจของผู้เรียนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาไทยโดยเฉพาะให้สูงขึ้น หรือเป็นเนื้อหาตามวิจารณญาณของครูผู้สอนในโรงเรียนว่า มีความสำคัญจำเป็นหรือเกี่ยวข้องต่อยอดกับเนื้อหาหัวข้ออื่น ๆ ก่อนหน้านี้หรือหัวข้อต่อ ๆ ไป
การสร้างคําในภาษาไทย คืออะไร?
“การสร้างคำ” (ในภาษาไทย) นั้น ตำราหรือหนังสือบางเล่มอาจเรียกว่า “การเพิ่มคำ” (ในภาษาไทย) ซึ่งพี่ยูขอสรุปความหมายให้ว่า
“การสร้างคํา” คือ การนำคำมูลตั้งแต่ 2 หน่วยคำเป็นต้นไปมาประกอบกัน โดยทั่วไปแล้วจะเกิดเป็นคำใหม่ที่มักมีความหมายต่างไปจากคำมูลคำเดิม เพราะเมื่อนำคำมูลคำอื่นมาประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ก็มักต้องรวมความหมายของคำมูลเหล่านั้นประกอบกันเพื่อสื่อความหมายใหม่ด้วยนั่นเอง
การสร้างคําในภาษาไทย มีกี่วิธี? อะไรบ้าง?
พี่ยูขอบอกเลยว่า การสร้างคำในภาษาไทยมีเกณฑ์ที่พิจารณาการเลือกคำมูลมาประกอบกันเพื่อเรียกคำใหม่ที่สร้างขึ้นตามวิธีการสร้างคำนั้น ๆ หลายเกณฑ์ เช่น
- พิจารณาจากลักษณะความหมายของคำมูล (เหมือน / คล้าย / แตกต่างแต่ไม่ตรงกันข้าม / แตกต่างแบบตรงข้ามกัน)
- พิจารณาจากที่มาของคำมูลว่าเป็นคำไทยหรือยืมมาจากภาษาอื่น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ในภาษาไทยจึงมีวิธีการสร้างคำหรือวิธีการเพิ่มคำที่หลากหลาย พี่ยูพบว่า การสร้างคำในภาษาไทยที่น้อง ๆ ต้องได้เรียนกัน มี 4 วิธีหลัก คือ (1) คำซ้ำ, (2) คำซ้อน, (3) คำประสม และ (4) คำสมาส พี่ยูช่วยสรุปความสั้น ๆ ให้ดังนี้
1. คำซ้ำ
- คำซ้ำ เกิดจากคำมูลคำเดียวกัน (ความหมาย ชนิดและหน้าที่ของคำเหมือนกัน) ตั้งแต่ 2 หน่วยคำเป็นต้นไปมาประกอบกัน ใช้เครื่องหมายไม้ยมกแทนคำหลังที่ซ้ำ ยกเว้นในบทร้อยกรองจะไม่นิยมใช้ไม้ยมก
- คำซ้ำอาจเกิดความหมายใหม่ต่างไปจากคำเดี่ยวที่ยังไม่ซ้ำ
- คำซ้ำอาจมีความหมายไม่ต่างจากคำเดี่ยวจึงไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นคำซ้ำ
- คำซ้ำที่สร้างขึ้นอาจมีลักษณะทางความหมายได้หลากหลาย อาทิ
ก) มีความหมายเป็นพหูพจน์
เช่น เด็ก ๆ เล่นอยู่ในห้องนอน
ข) มีความหมายแสดงกิริยาซ้ำหลายครั้ง
เช่น แม่เคยเปรย ๆ ว่าอยากไปเที่ยวไต้หวัน
ค) มีความหมายแยกออกเป็นส่วน ๆ หรือแยกประเภท
เช่น เธอควรใช้ปากกาให้หมดไปเป็นด้าม ๆ นะ
ง) มีความหมายเน้นหนัก
เช่น หมูปิ้งของฉันขอแต่เนื้อ ๆ นะคะ ไม่ชอบมันค่ะ
จ) มีความหมายเบาลง
เช่น ผ่านมาหลายวัน เธอยังโกรธ ๆ เขาไม่หายใช่ไหม
ฉ) มีความหมายไม่ชี้เฉพาะเจาะจง
เช่น วันพรุ่งนี้เจอกันแถว ๆ โรงพยาบาลละกัน
ช) มีความหมายใหม่หรือกลายเป็นสำนวน
เช่น เขามีความารู้แค่งู ๆ ปลา ๆ อย่าไปเค้นเอาความลุ่มลึกเลย
2. คำซ้อน
- คำซ้อนเกิดจากการนำคำมูลที่มีความหมายเหมือนกัน / คล้ายกัน / อยู่ในกลุ่มแวดวงความหมายเดียวกันหรือเกิดจากการนำคำมูลที่มีความหมายตรงข้ามกัน ตั้งแต่ 2 หน่วยคำเป็นต้นไปมาประกอบกัน
ก) นำคำมูลที่มีความหมายเหมือน / คล้าย / อยู่ในแวดวงความหมายเดียวกันมาประกอบกัน
เช่น เดือดร้อน ชั่วร้าย ภูตผีปีศาจ ทุกข์โศกโรคภัยข) นำคำมูลที่มีความหมายตรงข้ามกันมาประกอบกัน
เช่น ดีชั่ว เท็จจริง ชั่วดีถี่ห่าง เป็นตายร้ายดี - คำมูลแต่ละคำที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นคำไทยแท้ (ไทยกรุงเทพฯ หรือไทยถิ่นต่าง ๆ) หรือคำยืมก็ได้ เช่น
เสื่อสาด = เสื่อ (ไทยกรุงเทพฯ) + สาด (ไทยถิ่นใต้หรืออีสาน)
ทองคำ = ทอง (ไทยกรุงเทพฯ) + คำ (ไทยถิ่นเหนือ)
ศึกสงคราม = ศึก (ไทย) + สงคราม (สันสกฤต)
ชั่วช้าสามานย์ = ชั่ว (ไทย) + ช้า (ไทย) + สามานย์ (สันสกฤต)
เลือกสรร = เลือก (ไทย) + สรร (เขมร)
โศกเศร้าเสียใจ = โศก (สันสกฤต) + เศร้า (ไทย) + เสียใจ (ไทย)
กาลเวลา = กาล (บาลี / สันกฤต) + เวลา (บาลี / สันสกฤต)
3. คำประสม
- คำประสม เกิดจากการนำคำมูลที่มีความหมายต่างกันแต่ไม่ตรงข้ามกัน ตั้งแต่ 2 หน่วยคำเป็นต้นไปมาประกอบกัน
- คำประสมที่สร้างขึ้นจะเกิดเป็นคำใหม่ซึ่งมีความหมายใหม่ แต่ยังคงเค้าความหมายของคำมูลแต่ละคำที่นำมาประกอบกัน หรือเกิดเป็นคำใหม่ที่มีความหมายใหม่แบบไม่เหลือเค้าเดิมของความหมายคำมูลแต่ละคำที่นำมาประกอบกันก็ได้
- การพิจารณาโครงสร้างคำประสม มักพิจารณาจากชนิดของคำมูลแต่ละคำที่นำมาประกอบกัน เช่น
แม่น้ำ = แม่ (นาม) + น้ำ (นาม)
แม่ทัพ = แม่ (นาม) + ทัพ (นาม)
แม่นม = แม่ (นาม) + นม (นาม)
แม่กุญแจ = แม่ (นาม) + กุญแจ (นาม)
แม่เลี้ยง = แม่ (นาม) + เลี้ยง (กริยา)
แม่พิมพ์ = แม่ (นาม) + พิมพ์ (กริยา)
4. คำสมาส
- คำสมาส เกิดจากการนำคำมูลที่มาจากภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตเท่านั้น ตั้งแต่ 2 หน่วยคำเป็นต้นไปมาประกอบกัน
- การพิจารณาว่าคำใดไม่เป็นคำสมาส
– คำนั้นเป็นคำยืมบาลีหรือสันสกฤต แต่เป็นคำมูล 1 หน่วยคำ ซึ่งอาจมีหลายพยางค์ เช่น
วิเชียร (สันสกฤต) = คำมูล 2 พยางค์
กิริยา (บาลี) = คำมูล 3 พยางค์
เจตนา (บาลี / สันกฤต) = คำมูล 3 พยางค์– คำนั้นมีบางหน่วยคำไม่ใช่คำยืมบาลีหรือสันสกฤต เช่น
ราชดำเนิน = ราช (บาลี / สันสกฤต) + ดำเนิน (เขมร)
ราชวัง = ราช (บาลี / สันสกฤต) + วัง (ไทย)
ราชปะแตน = ราช (บาลี / สันสกฤต) + ปะแตน (อังกฤษ) - คำสมาสจำแนกตามวิธีการประกอบคำได้ 2 ประเภท คือ
1. คำสมาสที่ไม่มีการกลมกลืนเสียง หรือ สมาสแบบสมาส / สมาสที่ไม่มีสนธิ เช่น
อิสรชน = อิสระ + ชน
วัฒนธรรม = วัฒนะ + ธรรม
อบายมุข = อบาย + มุข2. คำสมาสที่มีการกลมกลืนเสียง หรือ สมาสแบบสนธิ / สมาสที่มีสนธิ เช่น
ประชาธิปไตย = ประชา + อธิปไตย
นิลุบล / นิโลบล = นิล + อุบล
ธันวาคม = ธนู + อาคม = ธนว + อาคม การอ่านออกเสียงคำสมาส
ก) อ่านออกเสียงต่อเนื่องระหว่างหน่วยคำ เช่น
นามธรรม อ่านว่า นาม – มะ – ทำ
เทพบุตร อ่านว่า เทบ – พะ – บุดข) ไม่อ่านออกเสียงต่อเนื่องระหว่างหน่วยคำ เช่น
นามบัตร อ่านว่า นาม – บัด
เทพนิยาย อ่านว่า เทบ – นิ – ยายค) อ่านออกเสียงได้หลายแบบ (มีเรื่องความนิยมมาเกี่ยวข้อง) เช่น
คณิตศาสตร์ อ่านว่า คะ – นิด – สาด / คะ – นิด / ตะ / สาด
ประวัติศาสตร์ อ่านว่า ประ – หวัด – สาด / ประ – หวัด – ติ – สาด
“การสร้างคำ” มักออกข้อสอบภาษาไทย สนามสอบใดบ้าง?
หลังจากที่ได้เรียนรู้เรื่องการสร้างคำในภาษาไทย ว่าคืออะไร / มีกี่วิธี ขอเดาว่าน้อง ๆ หลายคนคงอยากจะรู้ แนวข้อสอบ เรื่องการสร้างคำ ซึ่งพี่ยูได้พยายามติดตามข้อสอบวิชาภาษาไทย ตั้งแต่ระดับชั้นประถมจนถึงระดับชั้นมัธยมปลายในรอบ 15 ปี อาทิ
(ก) ข้อสอบ O-NET ระดับชั้น ป.6
(ข) ข้อสอบ O-NET ระดับชั้น ม.3
(ค) ข้อสอบสอบเข้า ม.1 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง เช่น โรงเรียนสาธิต โรงเรียนประจำจังหวัด ฯลฯ
(ง) ข้อสอบสอบเข้า ม.4 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ฯลฯ
(จ) ข้อสอบแข่งขันความเป็นเลิศทางภาษาไทย เช่น ข้อสอบเพชรยอดมงกุฎระดับชั้น ม.ต้น / ม.ปลาย
(ฉ) ข้อสอบภาษาไทยสอบเข้ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในอดีต เช่น Entrance / A-NET / O-NET / ข้อสอบโควตามหาวิทยาลัยชั้นนำประจำภูมิภาค
จากการสังเกตข้อสอบ (ก) – (ฉ) พี่ยูพบว่า ข้อสอบภาษาไทยเรื่อง “การสร้างคำ” ในแต่ละวิธี มักออกข้อสอบในสนามและระดับชั้นต่าง ๆ ตามตารางสรุป ดังนี้
พี่ยูพาเล็ง เก็งข้อสอบ การสร้างคำในภาษาไทย
นอกจากจะสรุปเนื้อหาจุดสำคัญของเรื่องการสร้างคำในภาษาไทยมาให้ได้อ่านกันแล้ว พี่ยูไม่ลืมที่จะนำ ตัวอย่างข้อสอบวิชาภาษาไทย เรื่องการสร้างคำ พร้อมเฉลยละเอียด มาฝากน้อง ๆ ด้วย… เตรียมตัว เตรียมใจ ตั้งสติให้พร้อม แล้วลุยได้เลย!!
• ข้อสอบภาษาไทย พร้อมเฉลย - การสร้างคำในภาษาไทย ข้อที่ 1
• ข้อสอบภาษาไทย พร้อมเฉลย - การสร้างคำในภาษาไทย ข้อที่ 2
• ข้อสอบภาษาไทย พร้อมเฉลย - การสร้างคำในภาษาไทย ข้อที่ 3
• ข้อสอบภาษาไทย พร้อมเฉลย - การสร้างคำในภาษาไทย ข้อที่ 4
พี่ยูหวังว่าเมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว น้อง ๆ จะได้รับความรู้เรื่อง “การสร้างคำในภาษาไทย” แบบเต็มอิ่ม เข้าใจว่าการสร้างคำคืออะไร มีกี่วิธี / อะไรบ้าง รู้แนวข้อสอบและสไตล์การออกข้อสอบ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการเรียนวิชาภาษาไทยในระดับที่สูงขึ้น และพิชิตคะแนนสอบภาษาไทยทุกสนามได้สบาย ๆ
สำหรับใครที่อยากจะติวภาษาไทยให้เก่งขึ้นจริงแบบไม่ได้คิดไปเอง พี่ยูมี คอร์สเรียนพิเศษภาษาไทย ที่ WE BY THE BRAIN ให้น้อง ๆ เลือกสมัครเรียนแบบตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทั้ง คอร์สภาษาไทยบทย่อย – การสร้างคำในภาษาไทย , คอร์สภาษาไทย ม.ต้น รวมทุกบท , คอร์สภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา , คอร์สภาษาไทย ม.ปลาย รวมบท , คอร์สภาษาไทย A-Level รวมทุกบท ฯลฯ
ซึ่งพี่ยู สรุปเนื้อหาไว้อย่างเป็นระบบ สกัดประเด็นที่จำเป็นต้องรู้ เสริมข้อสังเกตและความรู้เพิ่มเติมนอกหลักสูตร พร้อมจัดเต็มแบบฝึกหัดและแนวข้อสอบจากหลากหลายสนามสอบ นอกจากนี้ยังมีเทคนิค Harmonic Memo สรุปจำเป็นทำนอง สนุกท่องเป็นจังหวะ จำได้ง่าย วิเคราะห์ได้ไว ทำข้อสอบได้จริง ที่จะช่วยให้น้อง ๆ สนุกกับการเรียนภาษาไทย และเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามสอบสำคัญในอนาคต ✌️
หากน้อง ๆ คนไหนชอบเรียนวิชาภาษาไทย ไม่อยากพลาดเกร็ดความรู้และสาระดี ๆ เกี่ยวกับภาษาไทย ก็ติดตาม “พี่ยู” ได้ที่ช่องทางเหล่านี้เลย!!
- Facebook Page : WE BY THE BRAIN
- Instagram : webythebrain
- Youtube : WE BY THE BRAIN
- Tiktok : ติวติดเตรียมฯ ภาษาไทย เดอะเบรน
- Lemon8 : ไทย เดอะเบรน
อ.สุรเชษฐ์ พิชิตพงศ์เผ่า (พี่ยู)
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาไทย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการเรียนดีเยี่ยม 4.00 และเป็นผู้เขียนหนังสือ คู่มือเตรียมสอบ “GAT คิด วิเคราะห์ เชื่อมโยง” (BEST SELLER @ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ) ประสบการณ์การสอนมากกว่า 17 ปี