ภาษาไทย เป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์และกฎเกณฑ์การใช้ภาษาเฉพาะตัว เอกลักษณ์อย่างนึงที่น่าสนใจคือ ภาษาไทยเรามีระดับภาษาซึ่งคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ความอาวุโส กาลเทศะ สถานภาพทางสังคม ช่องทางการสื่อสาร อย่างระเบียบการใช้ภาษาเรื่อง “คำราชาศัพท์” ที่เป็นถ้อยคำที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระภิกษุสงฆ์ รวมไปถึงเป็นคำสุภาพที่ใช้สื่อสารอย่างเป็นทางการ นอกจากจะสะท้อนว่า การใช้ภาษามีระดับภาษาที่ต้องคำนึงถึงแล้ว คำราชาศัพท์ยังเป็นเนื้อหาสำคัญของวิชาภาษาไทยที่มักนำไปออกข้อสอบในสนามสอบสำคัญ ๆ หลายระดับชั้น หลายสนามสอบอีกด้วย
วันนี้ “พี่ยู” จะพาน้อง ๆ ไปทำความเข้าใจเรื่อง “คำราชาศัพท์” ให้มากขึ้นว่า คำราชาศัพท์คืออะไร? คำราชาศัพท์น่ารู้มีอะไรบ้าง? พร้อมตัวอย่างข้อสอบภาษาไทย ตามมาเรียนรู้เรื่องคำราชาศัพท์ไปพร้อมกับพี่ยูได้เลย 🥰
สนใจหัวข้อไหน คลิกอ่านเลย!
“คำราชาศัพท์” อยู่ในเนื้อหาวิชาภาษาไทยระดับชั้นไหน ?
พี่ยูพบว่า เนื้อหาเรื่อง “คำราชาศัพท์” ปรากฏในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 บรรจุไว้ในสาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา มาตรฐาน ท 4.1 เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษาและรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ ดังนี้
- ภาษาไทยระดับชั้นประถมปลาย ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4 – 6)
อยู่ในตัวชี้วัดชั้นปี ระดับชั้น ป.5 ระบุประเด็น “ใช้คำราชาศัพท์”
- ภาษาไทยระดับชั้น ม.ต้น ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – 3)
อยู่ในตัวชี้วัดชั้นปี ระดับชั้น ม.2 ระบุประเด็น “ใช้คำราชาศัพท์”
- ภาษาไทยระดับชั้น ม.ปลาย ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4 – 6)
อยู่ในตัวชี้วัดชั้นปีระดับ ชั้น ม.4 – 6 ระบุประเด็น “ใช้ภาษาเหมาะสมแก่โอกาส กาลเทศะและบุคคล รวมทั้งคำราชาศัพท์อย่างเหมาะสม”
สรุปได้ว่า ถ้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของโรงเรียนน้อง ๆ ยึดตามหลักสูตรแกนกลางดังกล่าว พี่ยูคิดว่า น้อง ๆ จะได้เรียนเรื่อง “คำราชาศัพท์” กันตั้งแต่ระดับชั้นประถมปลาย ระดับชั้น ม.ต้น และระดับชั้น ม.ปลาย แน่นอน เรื่องราชาศัพท์นี้จึงถือว่าเป็นบทสำคัญที่จะได้เรียนรู้และต่อยอดในระดับชั้นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกบทเรียนหนึ่งในจักรวาลหลักการใช้ภาษาไทยนั่นเอง
ชวนทำความรู้จัก “คำราชาศัพท์” คืออะไร ?
พี่ยูขอนำอธิบายแบบสรุปว่า คำราชาศัพท์ มีอย่างน้อย 2 ระดับความหมาย คือ ความหมายอย่างกว้าง และ ความหมายอย่างแคบ หากน้อง ๆ อยากรู้ว่าคำราชาศัพท์ 2 ระดับความหมายนี้ต่างกันอย่างไร ตามพี่ยูมาดูได้เลย
(ก) “คำราชาศัพท์” ในความหมายอย่างกว้าง
คำราชาศัพท์ ในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง ถ้อยคำที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ตลอดจนพระบรมวงศ์ พระอนุวงศ์ พระศาสดา สมเด็จพระสังฆราช พระภิกษุสงฆ์ และหมายรวมไปถึงคำสุภาพที่ใช้สื่อสารอย่างเป็นทางการอีกด้วย
(ข) “คำราชาศัพท์” ในความหมายอย่างแคบ
คำราชาศัพท์ ในความหมายอย่างแคบ หมายถึง ถ้อยคำที่ใช้สำหรับ พระมหากษัตริย์ ตลอดจนพระบรมวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชและพระอนุวงศ์ตั้งแต่ลำดับชั้นหม่อมเจ้าเป็นต้นไป
ในบทความนี้ พี่ยูขอนำเสนอเนื้อหาและตัวอย่างถ้อยคำราชาศัพท์ ในขอบเขตความหมายอย่างแคบนี้เท่านั้น
การประกอบศัพท์ให้เป็น “คำราชาศัพท์”
พี่ยูขอสรุปและยกตัวอย่างการทำให้คำธรรมดาสามัญกลายเป็นคำราชาศัพท์ใน 2 หมวดสำคัญก่อน นั่นคือ การทำให้เป็นนามราชาศัพท์ และ การทำให้เป็นกริยาราชาศัพท์
1. การทำให้เป็นนามราชาศัพท์
พี่ยูขอเสนอโดยสรุปว่า วิธีการทำให้เป็นนามราชาศัพท์มีอย่างน้อย 2 วิธี คือ ใช้หน่วยคำเติมหน้า และ ใช้หน่วยคำเติมหลัง
1.1) ใช้หน่วยคำเติมหน้า อาทิ
- พระบรม… เช่น พระบรมราชโองการ พระบรมราชชนนี พระบรมโกศ
- พระราช… เช่น พระราชสาส์น พระราชโอรส พระราชทรัพย์
- พระ… เช่น พระอัยยิกา พระเนตร พระวักกะ
1.2) ใช้หน่วยคำเติมหลัง อาทิ
- …หลวง เช่น เรือหลวง ช้างหลวง
- …ต้น เช่น เครื่องต้น ม้าต้น
- …พระที่นั่ง เช่น เรือพระที่นั่ง รถยนต์พระที่นั่ง
- …ที่นั่ง เช่น เครื่องบินที่นั่ง รถยนต์ที่นั่ง
2. การทำให้เป็นกริยาราชาศัพท์
วิธีการทำให้เป็นกริยาราชาศัพท์ พี่ยูขอเสนอโดยสรุปว่า มีอย่างน้อย 2 วิธี คือ ใช้หน่วยคำเติมหน้า และ ไม่ใช้หน่วยคำเติมหน้า
2.1) ใช้หน่วยคำเติมหน้า อาทิ
- เสด็จ… เช่น เสด็จขึ้น เสด็จลง
- ทรง… เช่น ทรงวิ่ง ทรงเรือใบ ทรงพระราชดำริ
2.2) ไม่ใช้หน่วยคำเติมหน้า อาทิ
- ใช้กริยาสามัญ + นามราชาศัพท์ เช่น
มีพระราชปฏิสันถาร มีพระราชวินิจฉัย
เป็นพระราชโอรส เป็นพระนัดดา
บ้วนพระโอษฐ์ ชำระพระพักตร์
เข้าพระทัย โบกพระหัตถ์ - เป็นคำกริยาราชาศัพท์ด้วยตัวเอง เช่น
พระราชทาน ประทาน
ประชวร ประทับ
ประสูติ โปรด
รับสั่ง สวรรคต
ตัวอย่าง “คำราชาศัพท์” ที่มักใช้สับสน
หลังจากที่ได้รู้ความหมายของคำราชาศัพท์ว่าคืออะไร รวมทั้งเรียนรู้วิธีการประกอบศัพท์ให้เป็นคำราชาศัพท์แล้ว คราวนี้พี่ยูขอยกตัวอย่าง “กริยาราชาศัพท์” ที่มีความหมายเดียวกันแต่มี “หลายรูปคำ” โดยแต่ละรูปคำกำหนดให้ใช้ต่างกันออกไปตามแต่ละพระบรมวงศ์หรือพระอนุวงศ์ลำดับต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ศึกษาระเบียบการใช้ราชาศัพท์ จำเป็นต้องเรียนรู้และจดจำถ้อยคำราชาศัพท์เหล่านั้นแล้วเลือกนำไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
(ก) คำกริยาที่หมายถึง “เกิด”
- มีพระบรมราชสมภพ
ใช้สำหรับ พระมหากษัตริย์เท่านั้น - ทรงพระราชสมภพ / มีพระราชสมภพ / เสด็จพระราชสมภพ
ใช้สำหรับ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกฎราชกุมาร และพระบรมวงศ์ที่ได้รับพระราชทานสัปตปฎลเศวตฉัตร - ประสูติ
ใช้สำหรับ สมเด็จเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า สมเด็จพระสังฆราช และหม่อมเจ้า
(ข) คำกริยาที่หมายถึง “เข้าพบ”
- (เข้า) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ใช้สำหรับ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมราชินี - (เข้า) เฝ้าทูลละอองพระบาท
ใช้สำหรับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกฎราชกุมาร
และพระบรมวงศ์ที่ได้รับพระราชทานสัปตปฎลเศวตฉัตร
(ค) คำกริยาที่หมายถึง “เสียชีวิต”
- สวรรคต / เสด็จสวรรคต
ใช้สำหรับ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกฎราชกุมาร และพระบรมวงศ์ที่ได้รับพระราชทานสัปตปฎลเศวตฉัตร - สิ้นพระชนม์
ใช้สำหรับ สมเด็จเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และสมเด็จพระสังฆราช - ถึงชีพิตักษัย / สิ้นชีพิตักษัย
ใช้สำหรับ หม่อมเจ้า
(ง) คำกริยาที่หมายถึง “ป่วย”
- ทรงพระประชวร
ใช้สำหรับ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกฎราชกุมาร และพระบรมวงศ์ที่ได้รับพระราชทานสัปตปฎลเศวตฉัตร - ประชวร
ใช้สำหรับ สมเด็จเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า สมเด็จพระสังฆราช และหม่อมเจ้า
(จ) คำกริยาที่หมายถึง “ชอบ”
- โปรด
ใช้ได้สำหรับทุกพระองค์
(ฉ) คำกริยาที่หมายถึง “ดู”
- ทอดพระเนตร
ใช้ได้สำหรับทุกพระองค์
ตัวอย่างคำกริยาราชาศัพท์ (ก) – (ฉ) ที่พี่ยูคัดเลือกมานำเสนอนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีคำกริยาและคำนามราชาศัพท์อีกจำนวนมากที่น้อง ๆ ต้องศึกษา เรียนรู้ จดจำเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพลังประสบการณ์และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ราชาศัพท์ต่อไปด้วยหลังจากนี้
“คำราชาศัพท์” มักออกข้อสอบภาษาไทย สนามสอบใดบ้าง?
อย่างที่พี่ยูได้สรุปไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า น้อง ๆ จะได้เรียนเรื่อง “คำราชาศัพท์” กันตั้งแต่ระดับชั้นประถมปลาย ระดับชั้น ม.ต้น และระดับชั้น ม.ปลาย ดังนั้น ข้อสอบภาษาไทยที่จะนำมาวัดและประเมินผลเนื้อหาบทนี้ น้อง ๆ ก็จะมีโอกาสได้ทบทวนเพื่อเตรียมสอบเรื่อยไปหลากหลายสนาม ไม่ว่าจะเป็น
(1) ข้อสอบในโรงเรียนตามเนื้อหาที่ครูผู้สอนออกแบบหลักสูตรไว้ เช่น
- ข้อสอบเก็บคะแนนระหว่างภาค
- ข้อสอบกลางภาค
- ข้อสอบปลายภาค
(2) ข้อสอบวัดและประมวลความรู้ระดับชาติ เช่น
- ข้อสอบภาษาไทย O-NET ป.6
- ข้อสอบภาษาไทย O-NET ม.3
- ข้อสอบภาษาไทย O-NET ม.6
(3) ข้อสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในช่วงชั้นที่สูงขึ้นถัดไป เช่น
- ข้อสอบภาษาไทย สอบเข้า ม.1 เช่น โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนสาธิตต่าง ๆ โรงเรียนอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันสูง
- ข้อสอบภาษาไทย สอบเข้า ม.4 เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันสูง
(4) ข้อสอบสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS
พี่ยูพาเล็ง เก็งข้อสอบภาษาไทย พร้อมเฉลย - เรื่องคำราชาศัพท์
น้อง ๆ คนไหนที่อยากเตรียมความพร้อมและคว้าคะแนนสอบวิชาภาษาไทยมาตุนไว้ให้อุ่นใจ พี่ยูมี ตัวอย่างข้อสอบภาษาไทยเรื่องคำราชาศัพท์ พร้อมเฉลยอย่างละเอียด มาให้น้อง ๆ ได้ลองฝึกฝีมือกัน ถ้าพร้อมแล้ว ลุยได้เลย!!
• ข้อสอบภาษาไทย เรื่องคำราชาศัพท์ ข้อที่ 1
• ข้อสอบภาษาไทย เรื่องคำราชาศัพท์ ข้อที่ 2
• ข้อสอบภาษาไทย เรื่องคำราชาศัพท์ ข้อที่ 3
ทั้งหมดนี้คือ สรุปเนื้อหาเรื่องคำราชาศัพท์ ที่พี่ยูนำมาฝากน้อง ๆ ในบทความนี้ พี่ยูขอย้ำว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องคำราชาศัพท์เท่านั้น เพราะวิชาภาษาไทยเรื่องนี้ยังมีเนื้อหาและหัวข้ออื่น ๆ ที่น่าสนใจให้น้อง ๆ ได้ติดตามเรียนรู้ต่อไปอีกมากมาย
แต่สำหรับใครที่อยากจะติวภาษาไทยให้เก่งขึ้น สามารถ สมัครเรียนพิเศษภาษาไทย กับ WE BY THE BRAIN ได้เลย เพราะมี คอร์สภาษาไทย หลากหลายแบบให้น้อง ๆ เลือกสมัครเรียนตามความต้องการ เช่น
- คอร์สภาษาไทย ม.ต้น รวมทุกบท
- คอร์สติวเข้ม+ตะลุยโจทย์ ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา
- คอร์สสดออนไลน์ เก็งทิ้งทวน ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา
- คอร์สสดออนไลน์ โค้งสุดท้าย ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา (สายวิทย์) รอบ 1
- คอร์สสดออนไลน์ โค้งสุดท้าย ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา (สายศิลป์) รอบ 1
- คอร์สสดออนไลน์ โค้งสุดท้าย ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา (สายวิทย์) รอบ 2
- คอร์สสดออนไลน์ โค้งสุดท้าย ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา (สายศิลป์) รอบ 2
- คอร์สภาษาไทย ม.ปลาย บทย่อย – ราชาศัพท์
- คอร์สภาษาไทย ม.ปลาย เนื้อหาคอร์สเรียน ชุดที่4
- คอร์สภาษาไทย A-Level รวมทุกบท
- คอร์สติวเข้ม+ตะลุยโจทย์ ภาษาไทย A-Level
พี่ยู สรุปเนื้อหาไว้อย่างเป็นระบบ สกัดประเด็นที่จำเป็นต้องรู้ เสริมข้อสังเกตและความรู้เพิ่มเติมนอกหลักสูตร พร้อมจัดเต็มแบบฝึกหัดและแนวข้อสอบจากหลากหลายสนามสอบ ที่สำคัญน้อง ๆ จะได้เรียนรู้เทคนิค Harmonic Memo สรุปจำเป็นทำนอง สนุกท่องเป็นจังหวะ จำได้ง่าย วิเคราะห์ได้ไว ทำข้อสอบได้จริง ช่วยให้สนุกกับการเรียนภาษาไทย เรียนเข้าใจ และพร้อมพิชิตคะแนนในสนามสอบสำคัญ 👑
หากน้อง ๆ คนไหนชอบเรียนวิชาภาษาไทย ไม่อยากพลาดเกร็ดความรู้และสาระดี ๆ เกี่ยวกับภาษาไทย ก็ติดตาม “พี่ยู” ได้ที่ช่องทางเหล่านี้เลย!!
- Facebook Page : WE BY THE BRAIN
- Instagram : webythebrain
- Youtube : WE BY THE BRAIN
- Tiktok : ติวติดเตรียมฯ ภาษาไทย เดอะเบรน
- Lemon8 : ไทย เดอะเบรน