น้อง ๆ หลายคนอาจจะเคยพบเห็นคำประพันธ์ไทยหลายชนิด เช่น กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย ทั้งจากการเรียนเนื้อหาวิชาภาษาไทยที่โรงเรียน หรืออาจจะเจอได้ในชีวิตประจำวัน แล้วน้อง ๆ รู้รึเปล่าว่า คำประพันธ์เหล่านี้มีลักษณะบังคับของคำประพันธ์ไทย หรือที่เรียกว่า “ฉันทลักษณ์” แตกต่างกันนะ
ในบทความนี้ “พี่ยู” จึงอยากชวนน้อง ๆ มาเรียนรู้เรื่อง “ฉันทลักษณ์” ว่า คืออะไร? ฉันทลักษณ์ร้อยกรองที่จะได้เรียน มีอะไรบ้าง? รวมทั้งนำ ตัวอย่างข้อสอบภาษาไทย เรื่องฉันทลักษณ์ มาฝากกันด้วย รีบตามมาเรียนภาษาไทยไปพร้อมกับพี่ยูได้เลย!!
สนใจหัวข้อไหน คลิกอ่านเลย!
“ฉันทลักษณ์” อยู่ในเนื้อหาวิชาภาษาไทยระดับชั้นไหน?
เท่าที่พี่ยูไปตามดู “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” ที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า หัวข้อเรื่อง “ฉันทลักษณ์” ไม่มีระบุไว้ด้วยรูปคำนี้โดยตรง มีแต่ที่กำหนดใช้คำว่า “แต่งบทร้อยกรอง” ประเภทต่าง ๆ ตามแต่ละระดับชั้น ซึ่งพี่ยูเข้าใจว่า หากระบุมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถแต่งบทร้อยกรองประเภทใด ๆ ไว้ นั่นย่อมหมายถึงการกำหนดให้ผู้เรียนต้องเรียนรู้ “ฉันทลักษณ์” ของคำประพันธ์ประเภทนั้น ๆ ด้วยโดยปริยาย
ฉันทลักษณ์หรือการแต่งบทร้อยกรองตามหลักสูตรดังกล่าว มีบรรจุไว้ใน สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา มาตรฐาน ท 4.1 เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษาและรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งมีรายละเอียดในมาตรฐานการเรียนรู้ของแต่ละช่วงชั้น ดังนี้
- ภาษาไทยระดับชั้นประถมปลาย ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4 – 6)
มาตรฐาน ท 4.1 ข้อ 5.
สามารถแต่งบทร้อยกรองประเภทกาพย์และกลอน โดยแสดงความคิดเชิงสร้างสรรค์ - ภาษาไทยระดับชั้น ม.ต้น ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – 3)
มาตรฐาน ท 4.1 ข้อ 5.
สามารถแต่งบทร้อยกรองประเภทกาพย์ กลอน และโคลง โดยแสดงความคิดเชิงสร้างสรรค์ - ภาษาไทยระดับชั้น ม.ปลาย ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4 – 6)
มาตรฐาน ท 4.1 ข้อ 5.
สามารถแต่งบทร้อยกรองประเภทกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และร่าย ด้วยถ้อยคำไพเราะ แสดงออกทางอารมณ์และคุณค่าทางความคิด
สรุปได้ว่า ถ้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของโรงเรียนน้อง ๆ ยึดตามหลักสูตรแกนกลางดังกล่าว พี่ยูคิดว่า น้อง ๆ จะได้เรียนเรื่อง “ฉันทลักษณ์” หรือ “การแต่งบทร้อยกรอง” กันตั้งแต่ระดับชั้น ป.4 – ม.6 แน่นอนค่ะ
โดยบทร้อยกรองบางประเภทก็ได้เรียนกันในทุกช่วงชั้น เช่น กลอนและกาพย์ บางประเภทจะได้เรียนเพิ่มเติมในระดับชั้น ม.ต้น ถึง ม.ปลาย เช่น โคลง ในขณะที่บทร้อยกรองบางประเภทอย่าง ฉันท์และร่าย จะได้เรียนกันเพิ่มเติมในระดับชั้น ม.ปลาย เท่านั้น พี่ยูได้สรุปภาพรวมมาไว้ให้ในตารางต่อไปนี้ ตามมาดูกันเลย!!
“ฉันทลักษณ์” คืออะไร?
คำว่า ฉันทลักษณ์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า prosody พี่ยูได้ไปค้นคว้าหาความหมายจากพจนานุกรมและหนังสือรวมทั้งหมดอย่างน้อย 4 เล่ม เรียงตามลำดับปีที่พิมพ์เผยแพร่ของต้นฉบับแหล่งอ้างอิงที่พี่ยูค้นคว้า ดังนี้
(ก) พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมอังกฤษ – ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
(พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2545)
(ข) พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ภาคฉันทลักษณ์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
(พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2550)
(ค) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
(พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2556)
(ง) หนังสืออุเทศภาษาไทย ชุด บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม 6 : ฉันทลักษณ์และขนบการเขียนร้อยกรอง โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
(พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2567)
พี่ยูขอคัดข้อความคำอธิบายคำว่า “ฉันทลักษณ์” (prosody) จากพจนานุกรมและหนังสืออ้างอิงดังกล่าวมาไว้ให้ ดังนี้
(ก) พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมอังกฤษ – ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
(พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2545) หน้า 342 อธิบายว่า
Prosody ฉันทลักษณ์ หมายถึง การศึกษาหรือศาสตร์ว่าด้วยการแต่งบทร้อยกรองและแง่มุมต่าง ๆ ของวิชานี้ซึ่งรวมทั้งจังหวะ ลีลา สัมผัส และรูปแบบต่าง ๆ ของบทร้อยกรอง
(ข) พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ภาคฉันทลักษณ์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
(พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2550) หน้า 287 อธิบายว่า
ฉันทลักษณ์ หมายถึง ลักษณะแบบแผนคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง มี 3 ลักษณะ คือ ลักษณะบังคับ ลักษณะเสริม และลักษณะนิยม
1. ลักษณะบังคับ คือ ลักษณะที่ร้อยกรองแต่ละชนิดต้องมีตามที่กำหนดเป็นแบบแผน ลักษณะบังคับในร้อยกรองมี 2 อย่าง คือ ลักษณะบังคับพื้นฐานและลักษณะบังคับเฉพาะชนิดของร้อยกรอง โดยลักษณะบังคับเฉพาะชนิดของร้อยกรอง ได้แก่ คำขึ้นต้นและคำลงท้าย ซึ่งกำหนดสำหรับการขึ้นต้นบทและการจบของกลอนบางชนิด อย่างคำเอก คำโท กำหนดบังคับในร้อยกรองประเภทโคลง และคำครุ ลหุ กำหนดบังคับเฉพาะร้อยกรองประเภทฉันท์
2. ลักษณะเสริม คือ ส่วนประกอบที่ใช้เสริมความให้สมบูรณ์หรือช่วยให้บทร้อยกรองมีเสียงเสนาะ ลักษณะเสริมไม่กำหนดบังคับในบทร้อยกรอง ได้แก่ คำสร้อย
3. ลักษณะนิยม คือ ส่วนประกอบที่ช่วยให้บทร้อยกรองมีเสียงเสนาะไพเราะยิ่งขึ้น ได้แก่ เสียงของคำท้ายวรรคกลอนและสัมผัสภายในวรรคของคำประพันธ์แต่ละชนิด
ฉันทลักษณ์ยังเป็นชื่อตำราไวยากรณ์ ตอนที่ว่าด้วยลักษณะของคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง
(ค) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
(พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2556) หน้า 347 อธิบายว่า ฉันทลักษณ์ หมายถึง
– ลักษณะแบบแผนคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง
– ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยลักษณะคำประพันธ์
(ง) หนังสืออุเทศภาษาไทย ชุด บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม 6 : ฉันทลักษณ์และขนบการเขียนร้อยกรอง โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2567) หน้า 15 ได้อ้างอิงความหมายของคำว่า ฉันทลักษณ์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมอังกฤษ – ไทย มีที่สรุปในตอนท้ายไว้น่าสนใจว่า
ฉันทลักษณ์เป็นลักษณะแบบแผนหรือข้อกำหนดของคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองชนิดต่าง ๆ ซึ่งผู้ประพันธ์หรือกวีใช้ถ่ายทอดเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ โดยมีข้อบังคับจำกัดคำและวรรคตอนให้รับสัมผัสกัน มีความไพเราะของเสียงสระ พยัญชนะและวรรณยุกต์ตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในคำประพันธ์ประเภทต่าง ๆ
ตัวอย่างฉันทลักษณ์ร้อยกรองที่จะได้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551
1. ฉันทลักษณ์กลอนแปด (กลอนสุภาพ หรือ กลอนตลาด)
ลักษณะบังคับ
- บทหนึ่งมี 4 วรรค หรือ 2 บาท วรรคหนึ่งมี 8 คำ
- สัมผัสบังคับมีดังนี้
2.1 คำสุดท้ายของวรรคที่ 1 ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรคที่ 2
2.2 คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ 3
2.3 คำสุดท้ายของวรรคที่ 3 ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรคที่ 4
2.4 ถ้าแต่งบทต่อไป คำสุดท้ายของวรรคที่ 4 ต้องส่งสัมผัสระหว่างบทไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ 2 ของบทต่อไป
อ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548. แนวการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
เล่ม 3. กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ.
2. ฉันทลักษณ์กาพย์ยานี 11
ลักษณะบังคับ
- บทหนึ่งมี 4 วรรค วรรคหน้ามี 5 คำ วรรคหลังมี 6 คำ รวม 2 วรรคมี 11 คำ
- สัมผัสบังคับมีดังนี้
2.1 คำสุดท้ายของวรรคที่ 1 ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 3 ของวรรคที่ 2
2.2 คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้าย ของวรรคที่ 3
2.3 ถ้าแต่งบทต่อไป คำสุดท้ายของวรรคที่ 4 ต้องส่งสัมผัสระหว่างบทไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ 2 ของบทต่อไป
อ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548. แนวการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
เล่ม 3. กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ.
3. ฉันทลักษณ์กาพย์ฉบัง 16
ลักษณะบังคับ
- บทหนึ่งมี 3 วรรค วรรคแรก (วรรคที่ 1) มี 6 คำ วรรคกลาง (วรรคที่ 2) มี 4 คำ วรรคท้าย (วรรคที่ 3) มี 6 คำ รวม 3 วรรคมี 16 คำ
- สัมผัสบังคับมีดังนี้
2.1 คำสุดท้ายของวรรคแรกส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคกลาง
2.2 ถ้าแต่งบทต่อไป คำสุดท้ายของวรรคท้ายต้องส่งสัมผัสระหว่างบทไปยังคำสุดท้ายของวรรคแรกในบทต่อไป
อ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548. แนวการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
เล่ม 3. กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ.
4. ฉันทลักษณ์กาพย์สุรางคนางค์ 28 (สุรางคนา / สุรางคณางค์ / สุรางคณา)
ลักษณะบังคับ
- บทหนึ่ง มี 7 วรรค วรรคหนึ่งมี 4 คำ รวมจำนวนคำใน 1 บทมี 28 คำ
- สัมผัสบังคับมีดังนี้
2.1 คำที่ 4 ของวรรคที่ 1 สัมผัสกับ คำที่ 4 ของวรรคที่ 2
2.2 คำที่ 4 ของวรรคที่ 3 สัมผัสกับ คำที่ 4 ของวรรคที่ 5 และสัมผัสกับคำที่ 4 ของวรรคที่ 6
2.3 คำที่ 4 ของวรรคที่ 4 สัมผัสกับ คำที่ 2 ของวรรคที่ 2 ของวรรคที่ 51
2.4 ถ้าแต่งมากกว่า 1 บท คำที่ 4 ของวรรคที่ 7 ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 4 ของวรรคที่ 3 ในบทต่อไป
1เดิมสัมผัสช่วงนี้มิได้เป็นสัมผัสบังคับ กวีเพียงแต่งเพิ่มเข้ามาให้คล้องจองกันไพเราะมากขึ้น ปรากฏร่องรอยตั้งแต่มหาชาติคำหลวง ตามหลักฐานที่ปรากฏพบว่า เมื่อสุนทรภู่แต่งกาพย์พระไชยสุริยาได้เพิ่มสัมผัสคู่นี้ลงไป และมีผู้แต่งตามสืบต่อกำหนดเป็นสัมผัสบังคับตราบปัจจุบัน
อ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548. แนวการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
เล่ม 3. กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ.
5. ฉันทลักษณ์โคลงสี่สุภาพ
ลักษณะบังคับ
- โคลงสี่สุภาพ 1 บท มี 4 บาท หนึ่งบาทมี 2 วรรค หนึ่งบทมี 8 วรรค
บาทที่ 1 – 3 วรรคหน้ามี 5 คำ วรรคหลังมี 2 คำ
บาทที่ 4 วรรคหน้ามี 5 คำ วรรคหลังมี 4 คำ
รวมหนึ่งบทมี 30 คำ ประกอบด้วยคำเอก (ใช้คำตายแทนได้) คำโท และคำสุภาพ ซึ่งหมายถึงคำที่ไม่กำหนดบังคับรูปวรรณยุกต์เอกและรูปวรรณยุกต์โท จะมีหรือไม่มีก็ได้ นอกจากนี้อาจเพิ่มคำสร้อยท้ายบาทที่ 1 และท้ายบาทที่ 3 ได้อีกตำแหน่งละ 2 คำ - บังคับคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก 7 คำ รูปวรรณยุกต์โท 4 คำ ตามแผนผัง นอกจากนี้ยังอาจสลับที่คำเอกโทตรงคำที่ 4 และ 5 ของบาทที่ 1 เป็นคำโทเอกได้
- บังคับสัมผัสตามแผนผัง ดังนี้
3.1 คำสุดท้ายของบาทที่ 1 ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 5 ของบาทที่ 2 และ 3
3.2 คำสุดท้ายของบาทที่ 2 ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 5 ของบาทที่ 4
อ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548. แนวการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
เล่ม 3. กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ.
6. ฉันทลักษณ์อินทรวิเชียรฉันท์ 11
ลักษณะบังคับ
- บทหนึ่ง มี 2 บาท หรือ 4 วรรค วรรคหน้ามี 5 คำ วรรคหลังมี 6 คำ บาทหนึ่งมี 11 คำ
- ครุ – ลหุ และสัมผัส ตามแผนผัง และตัวอย่าง
อ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2549. แนวการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
เล่ม 4. กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ.
7. ฉันทลักษณ์วสันตดิลกฉันท์ 14
ลักษณะบังคับ
- บทหนึ่ง มี 2 บาท หรือ 4 วรรค วรรคหน้ามี 8 คำ วรรคหลังมี 6 คำ บาทหนึ่งมี 14 คำ
- ครุ – ลหุ และสัมผัส ตามแผนผัง และตัวอย่าง
อ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2549. แนวการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
เล่ม 4. กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ.
“ฉันทลักษณ์” มักออกข้อสอบภาษาไทย สนามสอบใดบ้าง?
น้อง ๆ จำได้ใช่มั้ยว่า พี่ยูได้สรุปไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า น้อง ๆ จะได้เรียนเรื่อง “ฉันทลักษณ์” หรือ “การแต่งบทร้อยกรอง” กันตั้งแต่ระดับชั้นประถมปลายจนถึงระดับชั้น ม.ปลาย ดังนั้น ข้อสอบภาษาไทยที่จะนำมาวัดและประเมินผลเนื้อหาบทนี้ น้อง ๆ ก็จะมีโอกาสได้ทบทวนเพื่อเตรียมสอบเรื่อยไปหลากหลายสนาม ไม่ว่าจะเป็น
(1) ข้อสอบในโรงเรียนตามเนื้อหาที่ครูผู้สอนออกแบบหลักสูตรไว้ เช่น
- ข้อสอบเก็บคะแนนระหว่างภาค
- ข้อสอบกลางภาค
- ข้อสอบปลายภาค
(2) ข้อสอบวัดและประมวลความรู้ระดับชาติ เช่น
- ข้อสอบภาษาไทย O-NET ป.6
- ข้อสอบภาษาไทย O-NET ม.3
- ข้อสอบภาษาไทย O-NET ม.6
(3) ข้อสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในช่วงชั้นที่สูงขึ้นถัดไป เช่น
- ข้อสอบภาษาไทย สอบเข้า ม.1 เช่น โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนสาธิตต่าง ๆ โรงเรียนอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันสูง
- ข้อสอบภาษาไทย สอบเข้า ม.4 เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันสูง
พี่ยูพาเล็ง เก็งข้อสอบภาษาไทย พร้อมเฉลย - เรื่องฉันทลักษณ์
• ข้อสอบภาษาไทย เรื่องฉันทลักษณ์ ข้อที่ 1
• ข้อสอบภาษาไทย เรื่องฉันทลักษณ์ ข้อที่ 2
• ข้อสอบภาษาไทย เรื่องฉันทลักษณ์ ข้อที่ 3
พี่ยูหวังว่า หลังจากน้อง ๆ อ่านบทความนี้จบแล้ว จะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องฉันทลักษณ์มากขึ้น สามารถแยกฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์แต่ละประเภทได้ และคว้าคะแนนสอบวิชาภาษาไทยในบทนนี้ได้อย่างมั่นใจ
หรือหากน้อง ๆ คนไหนอยากจะติวภาษาไทยให้แม่นเป๊ะขั้นสุด และต้องการเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามสอบสำคัญ ก็มา สมัครเรียนพิเศษภาษาไทย กับพี่ยู ที่ WE BY THE BRAIN ได้เลย เพราะมีคอร์สภาษาไทยให้เลือกสมัครเรียนหลากหลายแบบ ตอบโจทย์ทุกความต้องการ เช่น
- คอร์สภาษาไทย ม.ต้น รวมทุกบท
- คอร์สติวเข้ม+ตะลุยโจทย์ ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา
- คอร์สสดออนไลน์ เก็งทิ้งทวน ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา
- คอร์สสดออนไลน์ โค้งสุดท้าย ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา (สายวิทย์) รอบ 1
- คอร์สสดออนไลน์ โค้งสุดท้าย ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา (สายศิลป์) รอบ 1
- คอร์สสดออนไลน์ โค้งสุดท้าย ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา (สายวิทย์) รอบ 2
- คอร์สสดออนไลน์ โค้งสุดท้าย ภาษาไทย สอบเข้า รร.เตรียมอุดมศึกษา (สายศิลป์) รอบ 2
- คอร์สภาษาไทย บทย่อย – ฉันทลักษณ์ของร้อยกรองไทย
- คอร์สภาษาไทย ม.ปลาย เนื้อหาคอร์สเรียน ชุดที่ 5
- คอร์ส ภาษาไทย A-Level – ความงามทางภาษา
- คอร์สภาษาไทย A-Level รวมทุกบท
- คอร์สติวเข้ม+ตะลุยโจทย์ ภาษาไทย A-Level
ในแต่ละคอร์สเรียน พี่ยูสรุปเนื้อหาภาษาไทยไว้อย่างละเอียด เข้มข้น ครอบคลุม สอนด้วยเทคนิค Harmonic Memo สรุปจำเป็นทำนอง สนุกท่องเป็นจังหวะ ที่จะช่วยให้จำได้ง่าย วิเคราะห์ได้ไว ทำข้อสอบได้จริง พร้อมพาน้อง ๆ ฝึกทำแบบฝึกหัดและข้อสอบหลากหลายสนาม ไม่ว่าจะข้อสอบภาษาไทยสนามไหนก็ไม่มีพลาดแน่นอน!!
หากน้อง ๆ คนไหนชอบเรียนวิชาภาษาไทย ไม่อยากพลาดเกร็ดความรู้และสาระดี ๆ เกี่ยวกับภาษาไทย ก็ติดตาม “พี่ยู” ได้ที่ช่องทางเหล่านี้เลย!!
- Facebook Page : WE BY THE BRAIN
- Instagram : webythebrain
- Youtube : WE BY THE BRAIN
- Tiktok : ติวติดเตรียมฯ ภาษาไทย เดอะเบรน
- Lemon8 : ไทย เดอะเบรน