เตรียมพร้อมก่อนเข้าเตรียมอุดมฯ เช็กอัตราการแข่งขัน สถิติ และแนวข้อสอบ

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนชั้นนำที่น้อง ๆ หลายคนใฝ่ฝันจะเข้าเรียน เป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ในปีที่ผ่านมามีอัตราการแข่งขันเพื่อสอบเข้าโดยเฉลี่ยทุกสายอยู่ที่ 1:11 คน และน้อง ๆ คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าสำหรับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้นวิชาที่น้องต้องสอบจะประกอบไปด้วย 5 วิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และสังคม เป็นวิชาที่สอบในช่วงเช้า ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษจะเป็นวิชาที่สอบในช่วงบ่าย (สำหรับสายภาษา – คณิตศาสตร์ ในช่วงบ่ายจะสอบวิชาภาษาไทย (ชุด 2) แทนวิชาวิทยาศาสตร์) โดยหนึ่งในห้าวิชาหลักนี้ที่น้อง ๆ หลายคนรู้สึกและมองว่าเป็นวิชาที่ยาก เป็นวิชาที่ต้องแข่งกับเวลาและหลาย ๆ คนไม่มั่นใจว่าจะทำได้ทันเวลาหรือไม่ นั่นคือ วิชาคณิตศาสตร์ พี่ก็ขอบอกน้อง ๆ ตามตรงเลยว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เราจะกังวล แต่สิ่งที่จะช่วยให้คลายความกังวลและเพิ่มความมั่นใจให้กับเราก่อนสอบได้นั่นคือ การเตรียมตัวให้พร้อม
สิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับการเตรียมตัวสอบในวิชาคณิตศาสตร์ของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ คือ การฝึกฝนเทคนิคการทำโจทย์ เพราะในวันสอบจริงเราจะต้องทำข้อสอบในเวลาที่จำกัด หากเราไม่ฝึกฝนเทคนิคการทำโจทย์ให้หลากหลายหรือมีประสบการณ์ในการทำโจทย์น้อยก็มีโอกาสที่จะทำให้เราทำข้อสอบได้ไม่ทันเวลา และอีกสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการฝึกเทคนิคการทำโจทย์นั้น คือ การที่ได้รู้แนวข้อสอบและบทที่ออกข้อสอบ โดยศึกษาจากแนวข้อสอบเก่า เพราะการที่ได้รู้แนวข้อสอบรวมถึงบทที่ออกเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะช่วยให้เราทบทวนเนื้อหาที่จะออกข้อสอบได้รวดเร็วขึ้น และยังเพิ่มความมั่นใจก่อนไปเจอกับข้อสอบจริง
ในปีที่ผ่านมาข้อสอบคณิตศาสตร์สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ จะมีทั้งหมด 50 ข้อ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ

  • พีชคณิต (54%)
  • เรขาคณิต (28%)
  • ประยุกต์ (18%)

ส่วนของข้อสอบพีชคณิตจะออกครอบคลุมเนื้อหาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทั้งหมดคิดเป็น 54% ของ ข้อสอบ โดยบทที่ออกนั้น ได้แก่

  • จำนวนเต็ม สมบัติของจำนวนเต็ม และจำนวนจริง (เนื้อหา ม.1 และ ม.2)
  • สมการ ระบบสมการ และอสมการ (เนื้อหา ม.1, ม.2 และ ม.3)
  • สมการกำลังสอง (เนื้อหา ม.3 )
  • เลขยกกำลังและสมบัติเลขยกกำลัง (เนื้อหา ม.1 และ ม.2)
  • การแปรผันหรือสัดส่วน (เนื้อหา ม.1)
  • พหุนาม (เนื้อหา ม.2 และ ม.3)
  • กราฟพาราโบลา (เนื้อหา ม.3)
  • กราฟวงกลม
  • ลำดับและอนุกรม
ตัวอย่างข้อสอบเตรียมอุดมฯ

ส่วนของเรขาคณิตจะออกข้อสอบคิดเป็น 28% ของข้อสอบ และลักษณะของข้อสอบในส่วนนี้แต่ละข้อจะต้อง ดึงความรู้จากหลากหลายบทของเรขาคณิตมาใช้คิดและวิเคราะห์ ซึ่งเนื้อหาที่ออก ได้แก่

  • เส้นขนาน (เนื้อหา ม.2)
  • ทฤษฎีบทพีทาโกรัส (เนื้อหา ม.2)
  • ความเท่ากันทุกประการ (เนื้อหา ม.2)
  • การแปลงและการให้เหตุผลทางเรขาคณิต (เนื้อหา ม.2)
  • ความคล้าย (เนื้อหา ม.3)
  • ทฤษฎีบทเกี่ยวกับสามเหลี่ยม (เนื้อหา ม.3)
  • ทฤษฎีวงกลม (เนื้อหา ม.3)
  • พื้นที่ผิวและปริมาตร (เนื้อหา ม.2 และ ม.3)
  • อัตราส่วนตรีโกณมิติ (เนื้อหา ม.3)

และในส่วนสุดท้าย คือ ส่วนประยุกต์ คิดเป็น 18% ของข้อสอบ จะมีบทที่ออกข้อสอบ คือ สถิติ (เนื้อหา ม.1, ม.2 และ ม.3) และ การนับและความน่าจะเป็น (เนื้อหา ม.3)

ซึ่งจากทั้ง 3 ส่วนจะสามารถจำแนก % การออกข้อสอบของแต่ละบทได้ดังแผนภูมิดังนี้

สถิติข้อสอบเตรียมอุดมฯ

น้อง ๆ จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าเนื้อหาที่ออกในข้อสอบ สอบเข้า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จะครอบคลุมเนื้อหาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทุกบท โดยบทใหญ่อย่างพหุนามและเรขาคณิตออกรวมกันมากถึง 30% ดังนั้นถ้าไม่อยากพลาดคะแนนสำคัญอย่าลืมเตรียมตัว 2 บทนี้ให้ดีนะครับน้อง ๆ และที่สำคัญจากตัวอย่าง ข้อสอบเตรียมอุดมฯ ที่พี่ได้ยกมา น้องจะเห็นว่าข้อสอบไม่ได้เป็นเพียงแค่โจทย์ที่สามารถแทนค่าแล้วหาคำตอบได้ทันทีแต่จะต้องใช้ความเข้าใจในเนื้อหาและทฤษฎีของบทนั้น ๆ ด้วย
สุดท้ายนี้ การจะประสบความสำเร็จในการสอบวิชาคณิตศาสตร์ของสนามสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นอกจากน้องต้องแม่นทฤษฎีแล้วนั้นประสบการณ์ เทคนิคในการทำโจทย์และการได้รู้แนวข้อสอบก่อนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะเป็นส่วนที่ช่วยให้น้อง ๆ ไม่เสียเวลาไปอ่านในบทที่ไม่ออกข้อสอบและสามารถเตรียมตัวก่อนสอบได้ตรงจุดตามแนวข้อสอบจริง ดังนั้นหมั่นฝึกฝนเทคนิคการทำโจทย์บ่อย ๆ และพยายามหาข้อสอบหรือแนวข้อสอบจริงมาฝึกทำ พี่เชื่อว่าน้อง ๆ ที่มีความพยายามและทำตามที่พี่แนะนำมาทั้งหมดอย่างสม่ำเสมอ การเป็นน้องใหม่ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมฯ คงไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันอย่างแน่นอน สู้ ๆ นะครับน้อง ๆ

ติวสอบเข้าเตรียมอุดม

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ