ภาษาไทย ม.ต้น เรียนอะไรบ้าง? หากน้อง ๆ เกิดคำถามนี้ขึ้นในใจ แวะเข้ามาอ่านบทความนี้แล้วไม่ผิดหวังแน่นอน!!
วิชาภาษาไทย วิชาที่ใครหลายคนมองข้าม แต่ที่จริงแล้ว ภาษาไทย ถือเป็นวิชาสำคัญ ที่นำไปใช้ต่อยอดในอนาคตได้หลายด้านเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การสอบ รวมถึงการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันด้วย
วันนี้ พี่ยู จึงอยากชวนน้อง ๆ มาเริ่มต้นเพิ่มความฟิตในการเรียนภาษาไทยกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการ สรุปเนื้อหาภาษาไทย ม.ต้น (ม.1, ม.2, ม.3) ว่าเรียนอะไรบ้าง? จุดไหนสำคัญและต้องเน้น พร้อมนำเคล็ดลับ #เก่งภาษาไทย มาเป็นแนวทางให้น้อง ม.ต้น ทำตามกันด้วย ถ้าพร้อมแล้ว รีบตามพี่ยูไปดูเนื้อหา ภาษาไทย ม.ต้น กันเลย!!
เลือกอ่านหัวข้อน่าสนใจ คลิก!
วิชาภาษาไทย ม.ต้น (ม.1, ม.2, ม.3) เรียนอะไรบ้าง?
พี่ยูขอเริ่มไขข้อสงสัยให้น้อง ๆ ด้วยคำถามแรกอย่าง วิชาภาษาไทย ม.ต้น เรียนอะไรบ้าง? วิชาภาษาไทยของทุกระดับชั้น ตั้งแต่ ป.1 – ม.6 ต้องเรียน 5 สาระสำคัญ คือ การอ่าน / การเขียน / การฟัง การดู และการพูด / หลักการใช้ภาษา / วรรณคดีและวรรณกรรม
สำหรับน้อง ม.ต้น เนื้อหาวิชาภาษาไทย ม.1, ม.2, ม.3 มีเรื่องที่ต้องเรียนในแต่ละสาระ ดังนี้
1. สาระ : การอ่าน
- อ่านออกเสียงคำศัพท์ / ร้อยแก้ว / ร้อยกรอง
- อ่านจับใจความ
- อ่านตีความ
- อ่านวิเคราะห์เหตุผล / ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น
- อ่านวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับจากงานเขียนประเภทต่าง ๆ
2. สาระ : การเขียน
- เขียนบรรยาย / พรรณนา
- เขียนเรียงความ
- เขียนย่อความ
- เขียนรายงานวิชาการ
- เขียนแสดงความคิดเห็น
- เขียนแผนภาพความคิด
- เขียนสื่อสารตรงตามจุดประสงค์
3. สาระ : การฟัง การดู และการพูด
- สรุปประเด็นหรือสาระสำคัญจากเรื่องที่ฟัง
- วิเคราะห์ข้อคิดเห็น ข้อเท็จจริง และจุดประสงค์ของเรื่องที่ฟังและดู
- การใช้ถ้อยคำภาษา น้ำเสียง กิริยาท่าทางในการพูดได้อย่างเหมาะสม
- การฟัง การดู อย่างมีวิจารณญาณ
- การพูดในโอกาสต่าง ๆ ได้เหมาะสม
4. สาระ : หลักการใช้ภาษา
- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาและธรรมชาติของภาษา
- เสียงในภาษาไทยและโครงสร้างพยางค์
- ชนิดและหน้าที่ของคำในภาษาไทย
- การสร้างคำตามหลักเกณฑ์ของภาษา
- คำไทยแท้และคำยืม
- ภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ
- คำและความหมายแบบต่าง ๆ
- ถ้อยคำสำนวน
- ระดับภาษา
- ราชาศัพท์
- ประโยค
- การแต่งร้อยกรองประเภท กลอน กาพย์ โคลง
5. สาระ : วรรณคดีและวรรณกรรม
- การวิเคราะห์คุณค่าด้านภาษา / ศิลปะการประพันธ์
- การวิเคราะห์คุณค่าด้านวัฒนธรรม / ความรู้ / ความเชื่อ
- การวิเคราะห์คุณค่าด้านข้อคิด คติธรรม
- การวิเคราะห์คุณค่าด้านอารมณ์
รายชื่อวรรณคดี / วรรณกรรม (หนังสือเรียนกระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551) ที่น้อง ๆ จะได้เรียนกันในเนื้อหาภาษาไทย ม.ต้น ได้แก่
- ภาษาไทย ม. 1
– นิราศภูเขาทอง
– โคลงโลกนิติ
– สุภาษิตพระร่วง
– กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา
– ราชาธิราช
– กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน
– นิทานพื้นบ้าน
- ภาษาไทย ม.2
– โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
– บทเสภาสามัคคีเสวก ตอน วิศวกรรมาและสามัคคีเสวก
– ศิลาจารึกหลักที่ 1
– บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทก
– กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
– โคลงสุภาษิต พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
– กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า
- ภาษาไทย ม.3
– บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก
– พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร
– พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
– อิศรญาณภาษิต
– บทพากย์เอราวัณ
เนื้อหาภาษาไทย ในระดับชั้นประถม vs ม.ต้น vs ม.ปลาย เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง?
ตามที่พี่ยูได้อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้วว่าเนื้อหาวิชาภาษาไทยของทุกระดับชั้น ทั้งภาษาไทยระดับประถม / ภาษาไทย ม.ต้น / ภาษาไทย ม.ปลาย ต้องเรียนสาระสำคัญทั้งหมด 5 สาระด้วยกัน หากน้อง ๆ อยากรู้ว่า เนื้อหาวิชาภาษาไทยของแต่ละระดับชั้นเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร พี่ยูสรุปมาให้แล้ว!!
ความเหมือน
เนื้อหาภาษาไทยในระดับชั้นประถม / ม.ต้น / ม.ปลาย มีความเหมือนกัน ดังนี้
- ได้ฝึกทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ให้คล่องแคล่วยิ่งขึ้น
- ได้เรียนรู้คำศัพท์ สำนวน ความหมาย ที่กว้างขึ้น
- ได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านภาษา / วรรณคดีหรือวรรณกรรม
- ได้ฝึกแต่งคำประพันธ์หรือร้อยกรองของไทย
- ได้ฝึกการใช้ถ้อยคำ สำนวน ให้เหมาะสมในการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ
- ได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ทางภาษาเรื่อง เสียง คำ ประโยค
ความต่าง
เนื้อหาภาษาไทยในระดับชั้นประถม / ม.ต้น / ม.ปลาย มีความแตกต่างกัน ดังนี้
- สารที่ได้ฝึกทักษะทางภาษาหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นตามระดับชั้น
- วงศัพท์ สำนวน ลักษณะทางความหมายของถ้อยคำ กว้างและยากยิ่งขึ้น
- กระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านภาษา / วรรณคดีหรือวรรณกรรม มีมิติหลากหลายขึ้น
- การแต่งคำประพันธ์ตามฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยมีหลากหลายประเภทย่อยมากขึ้น
- การใช้ถ้อยคำ สำนวน ประโยค ต้องคำนึงถึงปัจจัยและรูปแบบการสื่อสารที่ซับซ้อนขึ้น
- ยิ่งระดับสูงขึ้น จะได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ทางภาษา ข้อยกเว้น ตัวอย่าง ความละเอียดลุ่มลึกที่ซับซ้อนและขยายวงความรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น
การสอบวิชาภาษาไทย ม.ต้น มีสอบสนามไหนบ้าง?
พี่ยูขอพาน้อง ๆ มาเจาะลึกเกี่ยวกับการสอบภาษาไทยต่อเลยดีกว่า สำหรับการสอบวิชาภาษาไทย ระดับ ม.ต้น มีสนามสอบสำคัญ 4 กลุ่ม คือ
1. ข้อสอบในระบบวัดและประเมินของโรงเรียน (มีคะแนน มีเกรด) เช่น
- ข้อสอบเก็บคะแนนระหว่างภาค
- ข้อสอบกลางภาค / ปลายภาค
2. ข้อสอบในระบบวัดและประเมินระดับชาติ เช่น
- ข้อสอบ O-NET ม.3
3. ข้อสอบแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศทางภาษาไทย เช่น
- เพชรยอดมงกุฎ ม.ต้น
4. ข้อสอบแข่งขันสอบเข้า ม.4 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง เช่น
- สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- สอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัด
- สอบเข้าโรงเรียนสาธิต
แนวข้อสอบ ภาษาไทย ม.ต้น ชอบออกแนวไหน?
การพิชิตคะแนนเต็มวิชาภาษาไทย รวมถึงคะแนนสอบวิชาใดก็ตาม จะต้องรู้แนวข้อสอบ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางเตรียมตัวได้อย่างตรงจุด พร้อมลุยสนามสอบด้วยความมั่นใจ
สำหรับแนวข้อสอบภาษาไทย ม.ต้น ที่พี่ยูวิเคราะห์และนำมาแบ่งปันกัน จะขอสรุปจากภาพรวมของข้อสอบดังนี้
- ข้อสอบในระบบวัดและประเมินของโรงเรียน
- ข้อสอบในระบบวัดและประเมินระดับชาติ
- ข้อสอบแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศทางภาษาไทย
- ข้อสอบแข่งขันสอบเข้า ม.4 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง
แนวข้อสอบภาษาไทย ม.ต้น โดยทั่วไปพบว่า
1. ด้านเนื้อหาตามหลักสูตร
- เน้นออกตามหลักสูตร เช่น ข้อสอบกลางภาค / ปลายภาค / O-NET ม.3
- มีบ้างที่ออกเกินหลักสูตรภาษาไทย ม.ต้น เช่น ข้อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
2. ด้านรูปแบบข้อสอบและสิ่งที่ต้องการวัดความรู้ซึ่งสังเกตจากโจทย์และตัวเลือก
- เน้นรูปแบบปรนัย หลายตัวเลือก เลือก 1 คำตอบ
- มีทั้งวัดความรู้ความจำแต่ที่นิยมมาก คือ คิดวิเคราะห์โดยมีพื้นฐานจากความรู้ความจำหรือแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์หรือระเบียบการใช้ภาษา
3. ด้านเนื้อหาตามสาระย่อย 5 สาระ
- เน้นทุกสาระที่เรียน เช่น O-NET ม.3 / ข้อสอบกลางภาค / ปลายภาค
- โดยมาก เน้น 4 สาระ (หลักการใช้ภาษา / การอ่าน / การเขียน / วรรณคดีและวรรณกรรม) ไม่เน้นสาระ การฟัง การดูและการพูด
ตัวอย่างข้อสอบ ภาษาไทย ม.ต้น พร้อมเฉลย by พี่ยู
ถ้าอยากรู้ว่าข้อสอบภาษาไทย ม.ต้น มีหน้าตาประมาณไหน… พี่ยูไม่พลาดที่จะนำ ตัวอย่างข้อสอบภาษาไทย ระดับ ม.ต้น พร้อมเฉลย มาให้น้อง ๆ ได้ดูแนวโจทย์ และเรียนรู้วิธีทำข้อสอบภาษาไทยกัน
ข้อสอบ ภาษาไทย ม.ต้น พร้อมเฉลย ข้อที่ 1
ข้อสอบ ภาษาไทย ม.ต้น พร้อมเฉลย ข้อที่ 2
ข้อสอบ ภาษาไทย ม.ต้น พร้อมเฉลย ข้อที่ 3
ข้อสอบ ภาษาไทย ม.ต้น พร้อมเฉลย ข้อที่ 4
จี้ตรงจุด! ภาษาไทย ม.ต้น เรื่องสำคัญ ข้อสอบออกบ่อย by พี่ยู
พี่ยูแอบกระซิบแนวข้อสอบภาษาไทย ม.ต้น ให้น้อง ๆ ติวสอบตรงจุด พิชิตคะแนนเต็มวิชาภาษาไทย โดยจะยกตัวอย่างหัวข้อที่มักออกสอบในบางสนาม เช่น O-NET หรือ สอบเข้า ม.4 โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง แยกตามสาระ เช่น
การอ่าน
- ออกเสียงพยางค์และคำ
- พิจารณาสาร (จับใจความ / อนุมาน / ตีความ / วิเคราะห์จุดประสงค์ / ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น)
การเขียน
- โวหารการเขียน (บรรยาย / พรรณนา)
- การเขียนงานประเภทต่าง ๆ (คำขวัญ / จดหมาย / ย่อความ / รายงานวิชาการ / เรียงความ)
หลักการใช้ภาษา
- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษา & การสื่อสาร
- พลังของภาษา
- การเปลี่ยนแปลงของภาษา
- เสียงและอักษรแทนเสียง
- โครงสร้างพยางค์
- การสะกดคำ
- ภาษาบกพร่อง
- ชนิดและหน้าที่ของคำ
- คำและความหมาย
- คำไทยแท้ & คำยืม
- ศัพท์บัญญัติและคำทับศัพท์
- การสร้างคำ
- โครงสร้างประโยค
- สำนวนไทย
- ราชาศัพท์
- ระดับภาษา
- ภาษาโน้มน้าวใจ
วรรณคดีและวรรณกรรม
- ฉันทลักษณ์ (กาพย์ / กลอน / โคลง)
- วิเคราะห์คุณค่างานประพันธ์ (ความรู้ / ภาษา / อารมณ์ / ข้อคิด)
ภาษาไทย ม.ต้น สำคัญต่อการต่อยอดในระดับสูงขึ้นอย่างไร?
น้อง ๆ บางคนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิชาภาษาไทยมากเท่าวิชาอื่น ๆ พี่ยูขอเตือนว่าอาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้นะ โดยเฉพาะเนื้อหาภาษาไทย ม.ต้น ถือว่ามีความสำคัญมาก ๆ สำหรับการต่อยอดในระดับสูงขึ้น
นั่นก็เพราะว่ามีน้องหลายคนที่เรียนภาษาไทย ม.ปลาย และมหาวิทยาลัยไม่เข้าใจ เพราะพื้นฐานระดับประถมและ ม.ต้น ไม่แน่น เรียกง่าย ๆ ว่ามีปัญหาสะสมมาก่อนหน้าแล้ว
เนื้อหาหลักในวิชาภาษา คือ การฝึกทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน เมื่อต้องเรียนในระดับสูงขึ้นก็จะเจอสารที่หลากหลาย ยาก และซับซ้อนขึ้น ถ้าน้อง ๆ ไม่ฝึกให้คล่องตั้งแต่ ม.ต้น เรียนภาษาใด ๆ ในระดับที่สูงขึ้นก็ย่อมติดขัด
นอกจากนี้คลังศัพท์ สำนวน และองค์ความรู้ในระดับ ม.ปลาย และมหาวิทยาลัย ขยายประเด็นกว้างขึ้นและลงลึกที่รายละเอียดของประเด็นนั้นยิ่งขึ้นกว่าเนื้อหาภาษาไทย ม.ต้น การเรียนภาษาโดยมีวงศัพท์น้อย ไม่ค่อยรู้สำนวน องค์ความรู้ไม่มากพอ จะต่อยอดก็เป็นเรื่องยาก
ที่สำคัญยิ่งเรียนสูงขึ้น ยิ่งต้องผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้เหตุผล โต้แย้ง วิพากษ์วิจารณ์ งานเขียนหรือวรรณกรรมที่สื่อสารผ่านภาษารูปแบบต่าง ๆ การมีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ทางภาษาที่ดี ที่ละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่ตอนเรียนภาษาไทย ม.ต้น จะทำให้การเรียนในระดับที่สูงขึ้นมีอุปสรรคและปัญหาน้อยลง เรียนอย่างมีความสุขหรือมีกระบวนการคิดที่เติบโตได้อย่างเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง
เคล็ดลับ “3 มี” เรียนภาษาไทย ม.ต้น ให้สนุก เข้าใจ
หากน้อง ๆ อยากเรียนภาษาไทย ม.ต้น ให้สนุก เข้าใจ ต้องมี “3 มี by พี่ยู” ที่จะช่วยให้เก่งภาษาไทยได้จริงไม่จกตา ใครอยากเก่งภาษาไทยต้องลอง!!
1. มีเป้าหมายชัดเจนและจริงจัง เช่น
- อยากเรียนให้รู้ลึกเรื่องนั้น ๆ ที่สุด
- อยากได้คะแนนและเกรดวิชาภาษาไทยเริ่ด ๆ
- อยากมีสักวิชาที่เป็นจุดแข็งและจุดเด่นของตัวเอง เช่น ภาษาไทย
- อยากสอบแข่งขันหรือสอบเข้า ม.4 โรงเรียนในฝันที่แข่งขันกันสูงมาก ๆ
2. มีแหล่งข้อมูลที่จะฝากตัวเป็นศิษย์ได้อย่างน่าวางใจและยิ้มได้ เช่น
- หนังสือภาษาไทยที่มีคุณภาพ
- โรงเรียน ครู ติวเตอร์ สถาบันกวดวิชา ที่รุ่นพี่ที่เก่งภาษาไทยแนะนำหรือรีวิว
3. มีทีมสนับสนุนเป้าหมายและมีความพร้อม ที่จะพัฒนาตัวเองให้เก่งภาษาไทยและเรียนอย่างมีความสุขได้ เช่น
- ตัวเองและเพื่อน = ทีมเวิร์คช่วยสนับสนุนกันเรียน ชวนกันสร้างและเติมฝัน
- ตัวเองและครอบครัว = ทีมเวิร์คที่ช่วยให้กำลังใจ หาแหล่งข้อมูลฝากตัวเป็นศิษย์
- ตัวเองและติวเตอร์ = ทีมเวิร์คที่ช่วยเคี่ยวกรำ วางแผน ฝึกทำโจทย์ เปิดประสบการณ์ทางภาษาที่ฟรุ้งฟริ้งแต่มีสาระ สนุกแต่สร้างความสำเร็จได้จริง
- ติวเตอร์และสถาบันกวดวิชา = ทีมสร้างสรรค์หลักสูตร คัดเลือกเนื้อหาและโจทย์ ผลิตตำราและคอร์สที่ทรงพลัง วิธีการสอนและลีลาการนำเสนอเนื้อหาที่ทรงคุณภาพ ตรงตามสไตล์ความต้องการของเราที่สุด การันตีความน่าเชื่อถือและฝีมือได้อย่างเป็นรูปธรรมจากความสำเร็จที่ตรวจสอบได้จริง มีรีวิว มีการพูดถึงหรือบอกต่อกันแบบไม่จกตา ไม่สร้างแค่ภาพ ไม่อ้างสถิติที่เลื่อนลอย
และนี่คือ เนื้อหาภาษาไทย ม.ต้น ที่พี่ยูสรุปมาฝากน้อง ๆ ในวันนี้ อ่านจบแล้วจะได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อรับมือเนื้อหาและข้อสอบวิชาภาษาไทยที่จะต้องเจอในระดับชั้น ม.ต้น
แต่สำหรับน้อง ๆ ที่อยากติวภาษาไทยให้เป๊ะปังเพื่อคว้าเกรด 4 ในโรงเรียน หรือปูความรู้ภาษาไทยให้แน่นเพื่อพิชิตสนามสอบแข่งขัน / สอบเข้า ม.4 พี่ยูขอแนะนำ คอร์สภาษาไทย ม.ต้น รวมทุกบท ที่สรุปเนื้อหาละเอียด เข้มข้น ครอบคลุม 10 บทใหญ่ 45 เรื่องย่อย พาทำแบบฝึกหัดและเก็งแนวข้อสอบกว่า 300 ข้อ พร้อมเสริม Harmonic Memo สรุปจำเป็นทำนอง สนุกท่องเป็นจังหวะ เทคนิคจำได้ง่าย จำได้ไว ใช้ได้จริง หมัดเด็ดของพี่ยูโดยเฉพาะ
ใครอยากเรียนภาษาไทยให้สนุกและเก่งขึ้นจริงแบบไม่ได้คิดไปเอง ก็รีบสมัครคอร์สภาษาไทย ม.ต้น แล้วมาเจอกับพี่ยูได้ในคอร์สนี้เลย หรือน้อง ๆ จะแอบแวะไปดู [LIVE] ปาดหน้า คว้ามง! #TU88 พิชิต ม.4 รร.ชั้นนำด้วยภาษาไทย ก่อนตัดสินใจสมัครเรียนก็ได้นะ 🥰