อัปเดตเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 หลักสูตร สสวท.​

อัปเดตเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 1 เทอม 2 เรียนเรื่องอะไรบ้าง?

เข้าสู่โค้งสุดท้ายในการเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ก่อนที่น้อง ๆ จะต้องลุยสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัยในฝัน ซึ่งจะมีทั้งการสอบตรงที่ทางมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง และการจัดสอบจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำหรับน้อง ๆ ม.6 คนไหนที่ต้องสอบ A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 เพื่อนำคะแนนไปใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย WE BY THE BRAIN จะพาไปเจาะลึกเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 เองว่ามีอะไรบ้าง และบทไหนที่ออกข้อสอบบ่อย จะได้วางแผนติวคณิตศาสตร์สอบเข้ามหาวิทยาลัยกันอย่างมีประสิทธิภาพ

สนใจหัวข้อไหน คลิกเลย!

เนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 เรียนอะไรบ้าง?

หลักสูตรเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 หลักสูตร สสวท. ล่าสุด (ฉบับปรับปรุงปี 2560) จะแบ่งเป็น 2 เทอม โดยเทอม 1 จะมี 2 บทเรียน และเทอม 2 จะมี 4 บทเรียน มีรายละเอียดดังนี้

เนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 1

  • บทที่ 1 ลำดับและอนุกรม
  • บทที่ 2 แคลคูลัสเบื้องต้น

เนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 2

  • บทที่ 1 ความหมายของสถิติศาสตร์และข้อมูล
  • บทที่ 2 การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพ
  • บทที่ 3 การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณ
  • บทที่ 4 ตัวแปรสุ่มและการแจกแจงความน่าจะเป็น
สรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 1

สรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 1

บทที่ 1 ลำดับและอนุกรม

เนื้อหาประกอบด้วย

  • ลำดับ
  • ลิมิตของลำดับ
  • อนุกรม
  • สัญลักษณ์แสดงการบวก
  • การประยุกต์ของลำดับและอนุกรม

พี่กอล์ฟวิเคราะห์บทเรียน

เมื่อพูดถึงบทลำดับและอนุกรม น้อง ๆ บางคนอาจจะเคยเจอมาแล้วนิด ๆ หน่อย ๆ ในคณิตศาสตร์ ม.ต้น เช่น โจทย์ที่เป็นตัวเลขเป็นชุด ๆ คั่นด้วย , แล้วถามตัวที่หายไป หรือตัวที่ต้องการ เช่น 5, 10, 15, 20, …. แล้วอาจจะถามว่าตัวที่ 50 มีค่าเท่าไหร่ แต่ใน ม.6 น้อง ๆ จะได้เรียนแบบละเอียดและโหดขึ้น

น้อง ๆ จะได้เรียนเรื่องของลำดับชนิดต่าง ๆ ทั้งลำดับจำกัดและลำดับอนันต์ การหาลิมิตของลำดับ การหาอนุกรมชนิดต่าง ๆ ทั้งอนุกรมจำกัดและอนุกรมอนันต์ ตลอดจนถึงการประยุกต์ใช้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ดอกเบี้ยและมูลค่าของเงิน โดยแต่ละหัวข้อจะมีรายละเอียดดังนี้

  • ลำดับ
    เริ่มต้นรู้จักความหมายและการเขียนแสดงพจน์ต่าง ๆ ในลำดับ ลำดับชนิดต่าง ๆ เช่น ลำดับเลขคณิต, ลำดับเรขาคณิต, ลำดับฮาร์มอนิก เราจะสามารถหาพจน์ที่ต้องการในลำดับนั้น ๆ ได้
  • ลิมิตของลำดับ
    ต่อจากการรู้จักลำดับจำกัดชนิดต่าง ๆ มาแล้ว ในหัวข้อนี้จะทำความรู้จักลำดับอนันต์ที่สนใจพจน์ที่ n เมื่อ n มีค่ามากขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด และสามารถบอกได้ว่าลำดับนั้น ๆ เป็นลำดับลู่เข้า หรือลำดับลู่ออก
  • อนุกรม
    หัวข้อนี้จะเริ่มหาผลบวกของตัวเลขในลำดับกัน โดยเริ่มจากอนุกรมจำกัดชนิดต่าง ๆ เช่น อนุกรมเลขคณิต, อนุกรมเรขาคณิต และต่อไปที่อนุกรมอนันต์, การหาผลบวกย่อยและลำดับของผลบวกย่อย, สามารถบอกได้ว่าอนุกรมอนันต์นั้นเป็นอนุกรมลู่เข้าหรืออนุกรมลู่ออก และสามารถหาลิมิตของอนุกรมได้
  • สัญลักษณ์แทนการบวก
    ใช้สัญลักษณ์แทนการบวก (ซิกมา) เพื่อความสะดวกในการเขียนอนุกรม
  • การประยุกต์ของลำดับและอนุกรม
    หัวข้อนี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่องของการคิดดอกเบี้ยที่เราเคยได้ยินมาแต่อาจจะยังไม่ค่อยเห็นภาพ พอเราเรียนเรื่องลำดับและอนุกรมแล้ว คราวนี้จะเห็นภาพและเข้าใจชัดเลยทั้งดอกเบี้ยแบบทบต้น, มูลค่าของเงินในปัจจุบันและมูลค่าอนาคต, การผ่อนชำระและค่างวด

บทที่ 2 แคลคูลัสเบื้องต้น

เนื้อหาประกอบด้วย

  • ลิมิตของฟังก์ชัน
  • ความต่อเนื่องของฟังก์ชัน
  • อนุพันธ์ของฟังก์ชัน
  • การประยุกต์ของอนุพันธ์
  • ปฏิยานุพันธ์ของฟังก์ชัน
  • พื้นที่ปิดล้อมด้วยเส้นโค้ง

พี่กอล์ฟวิเคราะห์บทเรียน

สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในคณะวิศวกรรมศาสตร์, วิทยาศาสตร์, เภสัชศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจและการบัญชี จะต้องให้ความสำคัญกับบทแคลคูลัสเบื้องต้นอย่างมาก เพราะน้อง ๆ จะต้องนำไปใช้ในการเรียนแคลคูลัสในมหาวิทยาลัยที่ยากกว่าหลายเท่ามาก

นอกจากนี้แคลคูลัสเบื้องต้นยังใช้ในการคำนวณหลาย ๆ บทในวิชาฟิสิกส์อีกด้วย เช่น การเคลื่อนที่ ถ้าหากน้อง ๆ เรียนไม่เข้าใจ จะส่งผลต่อการเรียนในชั้นถัด ๆ ไปอย่างแน่นอน

ในบทนี้ จะมีนิยามใหม่ ๆ และคำศัพท์ใหม่ ๆ ค่อนข้างเยอะ ทำให้มีน้อง ๆ หลายคนคิดว่า บทนี้ต้องยากมาก ๆ แน่เลย แต่จริง ๆ แล้วบทนี้เป็นบทที่เก็บคะแนนไม่ยาก ถ้าน้อง ๆ ทำความเข้าใจนิยามและสัญลักษณ์ใหม่ ๆ พวกนี้ได้ และหมั่นฝึกฝนทำโจทย์จนคล่อง 

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องรู้เลยก็คือ บทแคลคูลัสเบื้องต้นจะต้องนำความรู้จากบทอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ด้วย เช่น บทความสัมพันธ์และฟังก์ชัน และเรขาคณิตวิเคราะห์ ใครที่จำบทพวกนี้ไม่ค่อยได้อย่าลืมทบทวนเพิ่มเติมก่อนที่จะเริ่มเรียนบทนี้กัน ก็จะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

โดยในแต่ละหัวข้อจะมีรายละเอียดดังนี้

  • ลิมิตของฟังก์ชัน
    เป็นการหาค่าของฟังก์ชัน f ว่ามีค่าเข้าใกล้ค่าใด ขณะที่ x เข้าใกล้จำนวนจริงจำนวนหนึ่ง (แบบแค่เข้าใกล้นะ ห้ามเท่ากับค่านั้น) โดยการหาค่าลิมิตนั้น อาจแบ่งเป็นลิมิตขวาและลิมิตซ้าย แค่หัวข้อแรกก็มีทั้งคำศัพท์และนิยามใหม่ ๆ เพียบแล้ว
  • ความต่อเนื่องของฟังก์ชัน
    หัวข้อนี้ ถ้าเรามีกราฟหรือเขียนกราฟได้จะดูไม่ยากเลย เพราะแค่ดูว่าเส้นกราฟที่ได้ติดกันหรือต่อเนื่องกันหรือเปล่า แต่เรายังทำได้อีกวิธีคือ นำความรู้ในเรื่องของลิมิตของฟังก์ชันและการหาค่าฟังก์ชัน มาพิจารณาความต่อเนื่องของฟังก์ชันได้โดยไม่ต้องเขียนกราฟ
  • อนุพันธ์ของฟังก์ชัน
    การหาอนุพันธ์ (หรือที่หลายคนเรียกว่า ดิฟ) ถือเป็นเรื่องใหญ่ของบทนี้เลย ในหัวข้อนี้เราจะได้เรียนการหาอนุพันธ์ของฟังก์ชันจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของฟังก์ชันขณะที่ x มีค่าค่าหนึ่ง, การหาอนุพันธ์โดยใช้สูตร, การหาอนุพันธ์ของฟังก์ชันประกอบโดยใช้กฎลูกโซ่
  • การประยุกต์ของอนุพันธ์
    หลังจากเราหาอนุพันธ์กันจนคล่องแล้ว เราจะมาดูต่อว่าอนุพันธ์เรียนแล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง เราพบว่าสามารถนำไปประยุกต์ได้มากมาย เช่น การหาความชันของเส้นโค้งและเส้นสัมผัส, อนุพันธ์อันดับสูง, ฟังก์ชันเพิ่มฟังก์ชันลด, ค่าสูงสุดสัมพัทธ์ต่ำสุดสัมพัทธ์, ค่าสูงสุดสัมบูรณ์ต่ำสุดสัมบูรณ์, โจทย์ปัญหาต่าง ๆ และการประยุกต์กับวิชาฟิสิกส์ในเรื่องการเคลื่อนที่แนวตรง
  • ปฏิยานุพันธ์ของฟังก์ชัน
    หัวข้อนี้จะเป็นกระบวนการที่ทำย้อนกลับจากการหาอนุพันธ์ เราจะได้เรียนในเรื่องการหาปริพันธ์ไม่จำกัดเขตและปริพันธ์จำกัดเขต หรือที่นิยมเรียกว่าการอินทิเกรตนั่นเอง, ทฤษฎีบทหลักมูลของแคลคูลัส
  • พื้นที่ที่ปิดล้อมด้วยเส้นโค้ง
    เป็นการนำความรู้เรื่องปริพันธ์จำกัดเขตมาประยุกต์หาพื้นที่ปิดล้อมด้วยเส้นโค้ง
สรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 2

สรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 2

บทที่ 1 ความหมายของสถิติศาสตร์และข้อมูล

เนื้อหาประกอบด้วย

  • สถิติศาสตร์
  • คำสำคัญของสถิติศาสตร์
  • ประเภทของข้อมูล
  • สถิติศาสตร์เชิงพรรณนาและสถิติศาสตร์เชิงอนุมาน

พี่กอล์ฟวิเคราะห์บทเรียน

ในบทแรกจะเกริ่นนำให้น้อง ๆ รู้จักภาพกว้าง ๆ ก่อน โดยเรียนเรื่องความหมายของสถิติศาสตร์และประเภทของข้อมูล จะยังไม่มีเนื้อหาการคำนวณเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก ซึ่งในแต่ละหัวข้อจะมีรายละเอียดดังนี้

  • สถิติศาสตร์
    หัวข้อนี้จะอธิบายความหมายคร่าว ๆ และประโยชน์ของสถิติศาสตร์
  • คำสำคัญในสถิติศาสตร์
    อธิบายความหมายของคำศัพท์ที่สำคัญ เช่นคำว่า ประชากร, ตัวอย่าง, ตัวแปร, ข้อมูล และค่าสถิติ
  • ประเภทของข้อมูล
    อธิบายถึงการแบ่งประเภทของข้อมูลตามเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถ้าแบ่งตามแหล่งที่มาก็จะเป็นข้อมูลปฐมภูมิกับข้อมูลทุติยภูมิ, แบ่งตามระยะเวลาที่จัดเก็บก็จะแบ่งเป็นข้อมูลอนุกรมเวลากับข้อมูลตัดขวาง หรือถ้าแบ่งตามลักษณะข้อมูล ก็จะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณกับข้อมูลเชิงคุณภาพ
  • สถิติศาสตร์เชิงพรรณนาและสถิติศาสตร์เชิงอนุมาน
    หัวข้อนี้จะเป็นการอธิบายลักษณะการวิเคราะห์ข้อมูล 2 รูปแบบ ว่ามีลักษณะสำคัญอย่างไรบ้าง

บทที่ 2 การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพ

เนื้อหาประกอบด้วย

  • การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยตารางความถี่
  • การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยแผนภาพ

พี่กอล์ฟวิเคราะห์บทเรียน

หลังจากผ่านส่วนของการอธิบายภาพกว้าง ๆ และทำความรู้จักความหมายของคำสำคัญต่าง ๆ ในบทแรกกันมาแล้ว ในบทนี้จะพูดถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลของข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งเนื้อหาจะไม่ยากมากนัก มีความคล้ายกับบทสถิติที่เรียนมาตอนคณิตศาสตร์ ม.ต้น โดยแต่ละหัวข้อมีรายละเอียดดังนี้

  • การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยตารางความถี่
    เป็นการวิเคราะห์และนำเสนอในรูปตารางซึ่งในกรณีของข้อมูลเชิงคุณภาพ จะมีค่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความถี่, ความถี่สัมพัทธ์, ฐานนิยม
  • การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยแผนภาพ
    ในส่วนนี้หลาย ๆ คนคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัย ม.ต้น กันเลย เช่น แผนภูมิรูปภาพ, แผนภูมิวงกลม, แผนภูมิแท่ง

สรุปว่าบทนี้มีคำนวณนิด ๆ หน่อย ๆ คิดเลขสบาย เก็บคะแนนได้ง่ายเลย

บทที่ 3 การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณ

เนื้อหาประกอบด้วย

  • การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณด้วยตารางความถี่
  • การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแผนภาพ
  • ค่าวัดทางสถิติ

พี่กอล์ฟวิเคราะห์บทเรียน

บทนี้จะเริ่มมีการคำนวณเยอะมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 2 บทแรก โดยจะเป็นการพูดถึงข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งในบทที่แล้วจะเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ในแต่ละหัวข้อจะมีรายละเอียดดังนี้

  • การวิเคราะห์และการนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณด้วยตารางความถี่
    หัวข้อนี้จะพูดถึงตารางความถี่และรายละเอียดต่าง ๆ ในตาราง เช่น อันตรภาคชั้น, ความถี่, ความถี่สะสม, ความถี่สัมพัทธ์ และความถี่สะสมสัมพัทธ์
  • การวิเคราะห์และการนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแผนภาพ
    จะเป็นการวิเคราะห์และนำเสนอในรูปแบบของแผนภาพต่าง ๆ เช่น ฮิสโทแกรม, แผนภาพจุด, แผนภาพลำต้นและใบ, แผนภาพกล่อง และแผนภาพการกระจาย
  • ค่าวัดทางสถิติ
    หัวข้อนี้จะเป็นส่วนคำนวณแบบเต็ม ๆ ของบทนี้เลย จะพูดถึงค่าวัดที่สำคัญ ๆ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
    1. ค่ากลางของข้อมูล เช่น ค่าเฉลี่ยเลขคณิต, มัธยฐานและฐานนิยม
    2. ค่าวัดการกระจาย ทั้งการกระจายแบบสัมบูรณ์และสัมพัทธ์ เช่น พิสัย, พิสัยระหว่างควอไทล์, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, ความแปรปรวน
    3. ค่าวัดตำแหน่งที่ของข้อมูล เช่น ควอไทล์และเปอร์เซ็นไทล์

จะเห็นได้ว่า หัวข้อนี้เป็นการคำนวณที่มีตัวเลขค่อนข้างมาก ดังนั้นน้อง ๆ ต้องมีสติ รอบคอบ เพราะเวลาตัวเลขเยอะ ๆ จะมีโอกาสคิดเลขพลาดสูง

บทที่ 4 ตัวแปรสุ่มและการแจกแจงความน่าจะเป็น

เนื้อหาประกอบด้วย

  • ความหมายและชนิดของตัวแปรสุ่ม
  • การแจกแจงความน่าจะเป็นของตัวแปรสุ่มไม่ต่อเนื่อง
  • การแจกแจงความน่าจะเป็นของตัวแปรสุ่มต่อเนื่อง

พี่กอล์ฟวิเคราะห์บทเรียน

บทนี้เป็นบทคำนวณปิดท้ายของคณิต ม.6 เทอม 2 จะมีการนำความรู้เดิมในเรื่องหลักการนับเบื้องต้นและความน่าจะเป็นมาใช้ในการคำนวณด้วย ดังนั้นใครที่ยังจำไม่ค่อยได้ จะต้องกลับไปทบทวนให้ดีก่อนที่จะเริ่มเรียนบทนี้ โดยในแต่ละหัวข้อจะมีรายละเอียดดังนี้

  • ความหมายและชนิดของตัวแปรสุ่ม
    เริ่มจากหัวข้อแรกจะพาเราไปรู้จักกับ ตัวแปรสุ่มว่าคืออะไร แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ตัวแปรสุ่มไม่ต่อเนื่องและตัวแปรสุ่มต่อเนื่อง เพื่อให้รู้ว่าต่างกันอย่างไร และสามารถนำไปใช้ในหัวข้อต่อ ๆ ไปได้
  • การแจกแจงความน่าจะเป็นของตัวแปรสุ่มไม่ต่อเนื่อง
    หลังจากรู้จักชนิดของตัวแปรสุ่มกันแล้วก็จะมาดูตัวแปรสุ่มชนิดแรกคือแบบไม่ต่อเนื่อง โดยในหัวข้อนี้เราจะได้รู้จักการแจกแจงความน่าจะเป็น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการคำนวณค่าอื่น ๆ ต่อไป เช่น ค่าคาดหมายหรือค่าเฉลี่ย, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, ความแปรปรวน และจะได้เรียนการแจกแจงแบบต่าง ๆ เช่น การแจกแจงเอกรูปไม่ต่อเนื่อง, การแจกแจงทวินาม
  • การแจกแจงความน่าจะเป็นของตัวแปรสุ่มต่อเนื่อง
    หัวข้อนี้จะพูดถึงตัวแปรสุ่มอีกหนึ่งชนิดคือตัวแปรสุ่มต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการคำนวณจะต่างจากตัวแปรสุ่มไม่ต่อเนื่องคือ จะใช้เส้นโค้งความหนาแน่น เป็นตัวหลักในการคำนวณ โดยการแจกแจงที่เราจะเรียนในคณิต ม.6 นี้จะเป็นการแจกแจงปกติมาตรฐาน
ข้อสอบคณิตศาสตร์ ม.6 พร้อมเฉลย

ข้อสอบคณิตศาสตร์ ม.6 พร้อมเฉลย

ตัวอย่างข้อสอบคณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 1 พร้อมเฉลย

เฉลยข้อสอบคณิต ม.6 เทอม 1 ข้อ 1
เฉลยข้อสอบคณิต ม.6 เทอม 1 ข้อ 2
เฉลยข้อสอบคณิต ม.6 เทอม 1 ข้อ 3

ตัวอย่างข้อสอบคณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 2  พร้อมเฉลย

เฉลยข้อสอบคณิต ม.6 เทอม 2 ข้อ 1
เฉลยข้อสอบคณิต ม.6 เทอม 2 ข้อ 2
เฉลยข้อสอบคณิต ม.6 เทอม 2 ข้อ 3

ติวคณิต ม.6 เทอม 1 เทอม 2 กับ WE BY THE BRAIN พร้อมลุยทุกสนามสอบ

จบกันไปแล้วกับการสรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 หวังว่าจะช่วยคลายข้อสงสัย คณิต ม.6 เรียนอะไรบ้าง และทำให้น้อง ๆ สามารถวางแผนการเรียนได้อย่างเหมาะสม พร้อมสำหรับการสอบเก็บคะแนนในห้องเรียน และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่กำลังจะมาถึง

WE BY THE BRAIN พร้อมช่วยเตรียมความพร้อมให้กับน้อง ๆ ด้วยคอร์สติวคณิตศาสตร์ ม.6 สุดเข้มข้น ที่ออกแบบมาเพื่อน้อง ๆ ที่ต้องการเก็บคะแนนคณิตศาสตร์ ม.6 โดยเฉพาะ แบ่งเป็น 3 รูปแบบได้แก่

อยากเรียนเสริมบทไหน ก็สามารถเลือกคอร์สที่ถูกใจได้เลย ทุกคอร์สจัดเตรียมโดยพี่ติวเตอร์คนเก่งมากประสบการณ์ มีเทคนิค และทริกลัดดี ๆ ในการทำโจทย์เพียบ พร้อมหนังสือเรียน แบบฝึกหัด และข้อสอบหลากหลายรูปแบบ รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน!

อัปเดตข่าวสารและสอบถามรายละเอียดคอร์สติวคณิตศาสตร์ ม.6 และคอร์สคณิต A-Level จาก WE BY THE BRAIN ได้ที่ 

โรงเรียนกวดวิชา วี บาย เดอะเบรน เรียนสนุก เข้าใจง่าย ทำโจทย์ได้จริง!

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ