นี่หรือ? ฟิสิกส์ ม.ปลาย ตัวเต็งหนึ่งของความยาก

นี่หรือ ฟิสิกส์ ม.ปลาย ตัวเต็งหนึ่งของความยาก

ตกใจ ในความ ม.4 “ ของใหม่ ๆ กับใจเก่า ๆ ”

ในยามนี้ น้อง ๆ ทั้งหลายก็ได้เลื่อนชั้นเรียนขึ้นมาเป็น พี่ ม.ปลาย อย่างเต็มตัวมาพักใหญ่ ๆ แล้ว ถามว่าชินแล้วไหม? กับอะไรใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม? หลายๆคนคงตอบพี่ได้อย่างทันควัน “ยังเลยค่ะ / ยังเลยครับ” พี่ลูกตาล… พร้อมกับส่งยิ้มหวานแบบแหย ๆ ให้พี่สองที ^^

น้องบางคนยังรู้สึกว่าเพิ่งได้ผ่านช่วงเวลาลำบากของการสอบเข้าเรียนต่อ ม.ปลาย มาหมาด ๆ (แต่นี่ก็ผ่านมาเป็นเทอมแล้วนะ ฮี่ฮี่) ยังอยากพักกาย พักใจอยู่เลย… บางคนเพิ่งจะได้เข้าเรียนโรงเรียนใหม่ ๆ พบเจอเพื่อนใหม่ ๆ ทั้งแปลกและแหวกแนว ไหนจะคุณครูคนใหม่ หน้าตาที่เปลี่ยนไป สไตล์การสอนที่แปลกตา การเรียนการสอนที่รวดเร็วดั่งฟ้าแลบ  วิชาการเรียนใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ อะไร ๆ ก็ช่างใหม่สำหรับ หนู/ผม ไปหมด ถึงแม้จะผ่านมาแล้วเป็นเทอมก็ยังคงปรับตัวไม่ได้เลย..

การปรับตัว ปรับใจ สมองปรับใหม่ กับใครคนเดิม

การเรียนในระดับชั้น ม.ปลาย อันที่จริงแล้วก็ต้องยอมรับว่า มีความแปลกและแตกต่าง จากระดับชั้น ม.ต้น อยู่มากพอสมควร การที่น้อง ๆ จะยังไม่เคยชินและยังคงปรับตัวไม่ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก! แต่นับจากวันนี้ พี่ลูกตาลอยากให้น้อง ๆ เริ่มเปิดใจ เปิดรับความแปลกใหม่ที่กำลังเข้ามาในชีวิตเล็กๆ ของน้อง ๆ เพื่อที่น้องจะได้เติบโตขึ้นอีกขั้น ทั้งด้านการใช้ชีวิตและวิถีการเรียนรู้ที่เปิดกว้างมากขึ้น เปลี่ยนสิ่งแปลกใหม่ให้เป็นโอกาสในการเริ่มต้นใหม่ สิ่งไหนที่เคยผ่านมาแล้ว ก็จงปล่อยให้มันผ่านไป ตั้งตัว ตั้งต้น กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ ๆ นับจากนี้ไป

หลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกัน ถึงปัญหาการเรียนในระดับชั้น ม.ปลาย ยังไม่รู้จะเริ่มปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่นี้ได้อย่างไร? เพราะว่า..

  • ครูเริ่มสอนเร็วมากขึ้น ฟังไม่ทัน จดตามกันก็แทบไม่ทัน
  • สรุปความสั้นลง อธิบายเหมือนเรามีความรู้อันแน่นปึกมาจาก ม.ต้น
  • เปิดช่วงเวลาให้น้อง ๆ ได้มีโอกาสค้นคว้า เรียนรู้ด้วยตนเองเยอะมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ บอกคำตอบพวกหนู ๆ น้อยลง

โดยเฉพาะวิชา ฟิสิกส์ ตัวดี วิชาที่ขึ้นชื่ออันดับหนึ่ง เรื่อง “ เรียนไม่รู้เรื่อง !! ” ตั้งใจเรียนแค่ไหน ถึงตั้งใจฟังแบบไม่จดตาม ก็ยัง ไม่เข้าใจ อยู่ดี ฟิสิกส์ ม.ปลาย จะยากกกกกก แบบนี้ไปตลอดเลยไหม? แบบนี้ตุยแน่ ๆ

ก่อนอื่น เรามาเตรียมใจเตรียมความพร้อมกับ ตัวเต็งหนึ่ง ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2 กันก่อนดีกว่า ในภาคเรียนที่ 2 นี้ จะมีเรียนอะไรกันบ้างนะ? มีเรียนกี่บท? ในแต่ละบทจะต้องเรียนยังไงให้เข้าใจ? วันนี้พี่ลูกตาลมีคำตอบ เรามาอ่านไปพร้อม ๆ กันเลย

ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2

ตามหลักสูตรใหม่ หลักสูตร สสวท ฉบับปรับปรุง 2560 เนื้อหาวิชา ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2 ประกอบด้วยเนื้อหา 4 บท คือ (1) สมดุลกล, (2) งานและพลังงาน, (3) โมเมนตัมและการชน และ (4) การเคลื่อนที่แนวโค้ง บทเรียนในบางโรงเรียนมีการสลับสับเปลี่ยนไปบ้างไม่ต้องตกใจ หลาย ๆ โรงเรียน อาจจะยังคงเรียงลำดับบทเรียนตามหลักสูตรเก่าด้วยความเคยชินของผู้สอน การเคลื่อนที่แนวโค้ง (เมื่อก่อนเราใช้ชื่อ การเคลื่อนที่แบบต่าง ๆ) มาเรียนก่อน แล้วค่อยตามด้วย งานและพลังงาน, โมเมนตัมและการชน แล้ว สมดุลกล (สภาพสมดุลและสภาพยืดหยุ่น)

การลำดับเนื้อหาไม่ว่าจะรูปแบบใด ล้วนมีเหตุผลด้านความสอดคล้องและความต่อเนื่องของบทเรียนในแต่ละบท ฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าโรงเรียนเราเรียงลำดับเหมือนโรงเรียนข้างเคียงหรือไม่ ขอแค่ให้ทราบบทเรียนของโรงเรียนเรา เพื่อที่จะได้เตรียมตัวได้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาก็พอ

How to พิชิตตัวเต็งหนึ่ง ฟิสิกส์ ม.4

ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2 ในแต่ละบท มีรายละเอียดความน่าสนใจที่แตกต่างกัน ความยาก จุดเน้น จุดหลอก ก็แตกต่างกัน ดังนั้น หากน้อง ๆ ต้องการพิชิต วิชาฟิสิกส์ให้อยู่หมัด น้อง ๆ ต้องเรียนรู้ จุดเด่นจุดระวังของแต่ละบทให้ชัดเจน ว่าแล้วก็ตามพี่ลูกตาลไปทำความรู้จักเนื้อหาในแต่ละบทกันเลย

ฟิสิกส์ ม.4

(1)  สมดุลกล ว่าด้วย..

เนื้อหาหลักที่มีความต่อเนื่องจากบท แรงและกฎการเคลื่อนที่ ตามหลักการของสมดุลกล ได้แบ่งสมดุลออกเป็น 2 ประเภท หลัก ๆ นั่นคือ สมดุลการเลื่อน & สมดุลการหมุน

สมดุลการเลื่อน จะเกิดขึ้นเมื่อ แรงลัพธ์ที่กระทำต่อวัตถุเท่ากับศูนย์ ซึ่งเป็นไปตามกฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 1 ของนิวตัน เมื่อแรงลัพธ์ที่กระทำต่อวัตถุเท่ากับศูนย์ วัตถุจะรักษาสภาพการเคลื่อนที่ การรักษาสภาพการเคลื่อนที่นี้ หากเดิมวัตถุหยุดนิ่ง วัตถุก็จะหยุดนิ่งต่อไป แต่หากวัตถุเคลื่อนที่ วัตถุก็จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ต่อไป

สมดุลการหมุน จะเกิดขึ้นเมื่อ โมเมนต์ลัพธ์ที่กระทำต่อวัตถุเท่ากับศูนย์ เมื่อโมเมนต์ลัพธ์ที่กระทำต่อวัตถุเท่ากับศูนย์ วัตถุจะรักษาสภาพการหมุน หากเดิมวัตถุไม่หมุน วัตถุก็จะไม่หมุนต่อไป แต่หากวัตถุหมุนอยู่ วัตถุก็จะหมุนด้วยความเร็วเชิงมุมคงที่ค่าเดิมต่อไป

จะเห็นว่า วัตถุอาจ เลื่อน ด้วยความเร็วคงที่ แต่ไม่หมุน หรือ

               วัตถุอาจ หมุน ด้วยความเร็วเชิงมุมคงที่ แต่ไม่เลื่อน หรือ

               วัตถุอาจ ไม่เลื่อน และ ไม่หมุน                                          

รวมทั้ง   วัตถุอาจ ทั้ง เลื่อนและหมุนไปพร้อม ๆ กัน ด้วยความเร็วเชิงเส้นและเชิงมุมคงที่ ก็ได้

หากวัตถุอยู่ในทั้ง สมดุลการเลื่อน และ สมดุลการหมุน วัตถุนั้นจะถูกเรียกว่าอยู่ในสภาวะ “สมดุลสัมบูรณ์” นอกจากนี้ สมดุลกล อาจจะถูกแบ่งโดยเกณฑ์รูปแบบอื่น เป็น สมดุลสถิต และ สมดุลจลน์  ซึ่งเป็นการแบ่งตามรูปแบบสมดุลแบบหยุดนิ่ง หรือ สมดุลแบบไม่หยุดนิ่ง ก็ได้

ในบทนี้ น้อง ๆ จะได้ใช้ความรู้กฎของนิวตันข้อที่ 1 จากบท แรงและกฎการเคลื่อนที่ อย่างเต็มอิ่ม (แรงขึ้นเท่ากับแรงลง แรงซ้ายเท่ากับแรงขวา) กับโจทย์แนวใหม่ที่หลากหลายมากกว่าในบทก่อน ๆ เช่น มวลห้อยเชือกในรูปแบบต่าง ๆ ระบบมวลที่โยงไป-มา คล้องผ่านรอกหรือวางพาดบนพื้นเอียง เมื่อเรียนถึงหัวข้อสมดุลการหมุน น้อง ๆ จะได้ทบทวนความรู้ ม.ต้น เรื่องของ โมเมนต์และคาน และก็มาถึงคราวของ สมดุลสัมบูรณ์ ความรู้ทั้งหมดทั้งมวลที่สะสมมา จะถูกใช้รวมกันในหัวข้อนี้ ทั้งเรื่องของกฎนิวตันข้อที่ 1 และโมเมนต์ น้อง ๆ ห้ามพลาดโจทย์สไตล์ทรงกลมบนพื้นเอียง เป็นเด็ดขาด คานพิง คานพาด รวมทั้งบานพับประตู ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์เด็ดปราบเซียนของอาจารย์ทั้งนั้น

(2)  งานและพลังงาน ว่าด้วย..

เรื่องของการเกิดงาน รูปแบบของพลังงานกลต่าง ๆ รวมถึงกฎการอนุรักษ์พลังงาน ความสัมพันธ์ระหว่างงานและพลังงาน น้อง ๆ จะได้เรียนรู้ การทำงานที่ไม่เกิดงาน 555+ พูดแล้ว งง ใช่ไหม ? เมื่อเรียนจบเพียงหัวข้อแรก จะค้นพบว่า การเดินแบกกระสอบข้าวสารตามพื้นราบเป็น 10 กิโลเมตร ไม่เกิดงาน!! แล้วออกแรงทำงานแบบไหนบ้างหล่ะที่จะได้งาน? แล้วแบบไหนที่สูญเสียงาน? เมื่อผ่านเรื่องของงานแล้ว น้อง ๆ จะได้เรียนตามมาติด ๆ ด้วยเรื่องของ กำลัง หรือที่เรียกอีกชื่อว่า อัตราการทำงาน (งานต่อหนึ่งหน่วยเวลา) นั่นเอง จะได้จดจำอย่างขึ้นใจ ว่า กำลังเป็นหวัด (วัตต์)

พลังงานกลในรูปแบบต่าง ๆ ที่เคยเรียนมาตอน ม.ต้น จะถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจลน์จากการเคลื่อนที่ พลังงานศักย์โน้มถ่วงจากตำแหน่งที่แตกต่างจากระดับอ้างอิง และ พลังงานศักย์ยืดหยุ่นที่เกิดจากการยืด-หดของสปริง แล้วเพิ่มเติมด้วย กฎการอนุรักษ์พลังงาน ตามแบบฉบับ ฟิสิกส์ ม.ปลาย น้อง ๆ ต้องหัดวิเคราะห์ ณ ตำแหน่งต่าง ๆ ของวัตถุในโจทย์ ว่าวัตถุมีพลังงานชนิดใดอยู่บ้าง แล้วตั้งสมการตามรูปแบบกฎการอนุรักษ์พลังงาน “พลังงานรวม ณ ตำแหน่งที่ 1 เท่ากับ พลังงานรวม ณ ตำแหน่งที่ 2” เรื่องนี้บอกเลยว่ามันส์.. พี่ลูกตาลชอบมว๊ากกก ปิดท้ายบทด้วยสไตล์โจทย์ปราบเซียน  เรื่องของ ความสัมพันธ์ระหว่างงานและพลังงาน ข้อสอบข้อยากของทุกโรงเรียนต้องมาแน่ !!

(3)  โมเมนตัมและการชน ว่าด้วย..

บทเล็ก ๆ เนื้อหาน้อย ๆ แต่โจทย์ประยุกต์ ไม่น้อยนะคร๊าบบบ เริ่มต้นบท น้อง ๆ จะได้สัมผัสกับสิ่งลี้ลับ ที่เรียกว่า “ โมเมนตัม ” (โมเมนต์ และ โมเมนตัม ไม่ใช่ตัวเดียวกันนะเออ) ไร้ตัวตน แต่มัน สำคัญ!! เวกเตอร์ต้องมาสำหรับหัวข้อนี้ ใครพลาด คะแนนหายแน่นอน โมเมนตัมมีทั้งการพิจารณาใน 1 มิติ และ 2 มิติ ความรู้เรื่องการแตกเวกเตอร์ การรวมเวกเตอร์ ต้องเอามาใช้อีกครั้ง

ต่อมาเป็นเรื่อง การดล หรือ การเปลี่ยนแปลงโมเมนตัม ซึ่งเกิดจากแรงดล ที่มากระทำ เอาหล่ะมาเกือบครบครอบครัวละ เหลือหัวหน้าครอบครัวอย่าง “กฎการอนุรักษ์โมเมนตัม” ที่สามารถประยุกต์แตกออกเป็นโจทย์ได้อีกหลากหลาย ในแต่ละแนวล้วนมีความยากและซับซ้อนที่แตกต่างกัน เช่น

  • การชนแบบยืดหยุ่น ซึ่งเป็นการชนในรูปแบบที่อนุรักษ์โมเมนตัมและอนุรักษ์พลังงานจลน์
  • การชนแบบไม่ยืดหยุ่น การชนแบบไม่ยืดหยุ่นสัมบูรณ์ ชนแล้วติดกันไป
  • การระเบิด การแยกออกจากกันระหว่างลูกปืนและตัวปืนหลังจากยิง การปล่อยขีปนาวุธของเครื่องบินรบ โดยการระเบิดสามารถแยกย่อยออกเป็น การระเบิดแบบอิสระ และ การระเบิดแบบสัมพัทธ์ ได้อีก

(4)  การเคลื่อนที่แนวโค้ง ว่าด้วย..

บทเก่าที่เคยเก๋ามาก่อน บทการเคลื่อนที่แนวโค้งนี้แต่เดิมถือว่าเป็นบทใหญ่ซึ่งจะเรียนตั้งแต่ตอนต้นเทอมของ ม.4 เทอม 2 เนื้อหาหลัก ๆ ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ นั่นก็คือ การเคลื่อนที่วิถีโค้งโพรเจกไทล์ และ การเคลื่อนที่แบบวงกลม  (เมื่อก่อนรวมเอา การเคลื่อนที่แบบฮาร์มอนิกอย่างง่ายไว้ในบทนี้) ด้วยความที่เคยเป็นบทเก๋ามาก่อน รูปแบบสไตล์โจทย์จึงมีการประยุกต์หลากหลาย ล้ำหน้าบทอื่น ๆ พอสมควรเลยทีเดียว ถึงแม้ในหลักสูตรใหม่ หลักสูตร สสวท ฉบับปรับปรุง 2560 นี้ สัดส่วนเนื้อหาและความสำคัญจะถูกลดทอนลงไป แต่สไตล์โจทย์ที่หลากหลายเหล่านั้นยังคงสามารถสอดคล้องกับหลักสูตรและยังสามารถนำมาออกข้อสอบได้อย่างดีเลยทีเดียว

วัตถุที่เคลื่อนที่ตามวิถีโค้งโพรเจกไทล์ จะมีการเคลื่อนที่ 2 แกนไปพร้อม ๆ กัน โดยในแกนราบวัตถุมีความเร็วคงที่ และในแกนดิ่งวัตถุมีความเร่งคงที่ การเรียนเรื่องการเคลื่อนที่วิถีโค้งโพรเจกไทล์จึงเป็นการนำเอาความรู้ของการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่และความเร่งคงที่มาพิจารณาร่วมกัน โดยใช้เวลาเป็นตัวเชื่อมโยงของทั้งสองแนว นอกจากน้อง ๆ จะต้องสามารถจดจำสูตรการเคลื่อนที่ทั้งสองรูปแบบได้ทั้งหมดแล้ว น้องยังต้องสามารถนำสูตรไปใช้ในโจทย์ที่มีจุดต้นและจุดปลายที่แตกต่างหลาย รวมทั้งต้องกำหนดทิศเครื่องหมายหลักเป็นสิ่งสำคัญ จึงจะสามารถกำหนดวิถีการเคลื่อนที่ของวัตถุได้อย่างเหมาะสม ทำให้ง่ายต่อการแทนค่าและการคำนวณอย่างถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น ในเรื่องการเคลื่อนที่วิถีโค้งโพรเจกไทล์ นี้ ยังมี รวมสูตรลัด ที่พี่ลูกตาลรวบรวมมาไว้ให้เป็นที่เรียบร้อย ใครจำได้ บอกเลยว่าแซงเพื่อนทางโค้งได้อย่างทันควัน และแน่นอนโจทย์ปราบเซียนในบทนี้ก็มีเช่นกัน อาจจะมาในแนวของการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์บนยานพาหนะ การเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์ของสองวัตถุมาชนกัน หรือ การเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์บนพื้นเอียง

อีกรูปแบบของบทนี้ ถือว่ามีเนื้อหาอีกครึ่งหนึ่งของบทเลยทีเดียว นั่นก็คือ การเคลื่อนที่แบบวงกลม การเคลื่อนที่รูปแบบนี้ก็สามารถประยุกต์ออกมาเป็นโจทย์ได้หลายรูปแบบ ประสบการณ์และความชำนาญในการทำโจทย์ที่หลากหลายเท่านั้นจะช่วยน้องได้!! น้อง ๆ ควรรวบรวมโจทย์จากหลากหลายแหล่ง คิด วิเคราะห์ โจทย์แต่ละรูปแบบจนเคยชิน บอกเลย..ถ้าทำได้ครบทั้ง 7 รูปแบบที่พี่ลูกตาลสรุปมาให้ โจทย์ข้อสอบไม่เกินนี้แน่นอน การเคลื่อนที่แบบวงกลมจะกลายเป็นหัวข้อที่ง่ายและตายตัวไปเลยทีเดียว

แล้วอย่างไร กับชีวิตกันดีพวกเรา?

น้อง ๆ ที่อ่านมาถึงจุดนี้ กำลังปาดเหงื่อปาดน้ำตากันอยู่หรือเปล่า 555+ อย่าเพิ่งกังวลไป พี่ลูกตาลจะอยู่เคียงข้างพวกเราเสมอ เราจะค่อย ๆ เรียนรู้และปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน ตอนนี้น้อง ๆ ได้เรียนรู้  core สำคัญของเนื้อหาฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2 จนจบเทอม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระหว่างทางต่อจากนี้ ก็ขอให้ทุกคนตั้งสติ ทำใจร่ม ๆ ค่อย ๆ เดินตามพี่ลูกตาลมาทีละก้าว ด้วยประสบการณ์อันยาวนานของพี่ (บ่งบอกอายุ แหะ ๆ) รับรอง ฟิสิกส์จะกลายเป็นเรื่อง จิ๊บ ๆ สำหรับน้อง ๆ อย่างแน่นอน

Good News for YOU !! เนื้อหาฟิสิกส์ กลุ่มกลศาสตร์ ได้จบลงภายในระดับ ม.4 นี้แล้ว สำหรับใครที่ไม่ถูกใจ หรือไม่ถนัดกับสไตล์กลุ่มเนื้อหานี้ โอกาสใหม่มาถึงคุณแล้ว ในเทอมถัดไป ระดับชั้น ม.5 น้อง ๆ จะได้เรียนเนื้อหากลุ่มใหม่ นั่นก็คือ กลุ่มคลื่น เนื้อหากลุ่มนี้ประกอบด้วย การเคลื่อนที่แบบฮาร์มอนิกอย่างง่าย คลื่น แสงเชิงคลื่น แสงเชิงรังสี และ เสียง เป็นเนื้อหาอีกหนึ่งสไตล์ที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มกลศาสตร์ ซึ่งหลาย ๆ คน ถูกใจสิ่งนี้ (และแน่นอน หลายคนก็ไม่ถูกใจสิ่งนี้เช่นกัน) สำหรับรายละเอียดในกลุ่มคลื่น ฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 น้อง ๆ คงต้องรอติดตามบทความของพี่ลูกตาลฉบับหน้า แต่ถ้าใครอดใจไม่ไหว อยากแซงซ้ายเพื่อน ๆ มาปรับตัว พิชิต ฟิสิกส์ ม.5 ให้อยู่หมัดแล้วหล่ะก็ มาพบกับพี่ลูกตาลในคอร์ส ฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 หรือ คอร์ส ฟิสิกส์ กลุ่มคลื่น ได้เลยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ