เคล็ดลับเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย ให้เข้าใจ ทำข้อสอบได้ พร้อมลุยทุกสนามสอบ

เคล็ดลับเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย ให้เข้าใจ ทำข้อสอบได้ by ดร.พี่ลูกตาล

      ใครเรียนฟิสิกส์ไม่เข้าใจ หรือท่องสูตรฟิสิกส์ได้ครบ แต่ทำข้อสอบไม่ได้ มารวมตัวกันตรงนี้ให้ไวเลยค่ะ!! (กวักมือเรียก 👋)

      พี่ลูกตาลเชื่อว่า “ฟิสิกส์” คงจะเป็นวิชาสุดหินของหลายคนแน่ ๆ โดยเฉพาะน้อง ม.ปลาย สายวิทย์ – คณิต พอเริ่มเรียนฟิสิกส์และได้เจอกับเนื้อหาใหม่ ๆ และสูตรมากมายที่ไม่เคยเรียนมาก่อน หลายคนที่ปรับตัวไม่ทัน หรือไม่ได้เตรียมพร้อมล่วงหน้า ก็อาจจะเรียนฟิสิกส์ไม่เข้าใจ ทำข้อสอบไม่ได้ จนฟิสิกส์กลายมาเป็นวิชาฉุดเกรดซะงั้น

      แต่น้อง ๆ คนไหนที่ยังไม่อยากถอดใจกับวิชานี้ พี่ลูกตาลมี เคล็ดลับเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย มาฝาก ถ้าอยากรู้ว่าต้องเรียนฟิสิกส์ยังไงให้เข้าใจและทำข้อสอบได้ ก็ตามมาดูพร้อมกันเลย

สนใจหัวข้อไหน คลิกอ่านเลย!

ทำไมต้องเรียนฟิสิกส์? วิชานี้สำคัญยังไง?

ทำไมต้องเรียนฟิสิกส์? วิชานี้สำคัญยังไง?

      น้อง ๆ หลายคนที่เรียนฟิสิกส์ไม่เข้าใจ หรือมองว่าการเรียนฟิสิกส์มันช่างยากแสนยาก พี่ลูกตาลขอเดาว่าคำถามยอดฮิตที่โผล่ขึ้นมาก็คงหนีไม่พ้น “ทำไมต้องเรียนฟิสิกส์” / “เราเรียนฟิสิกส์ไปเพื่ออะไรกันนะ?” พี่ลูกตาลจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวิชาฟิสิกส์ให้มากขึ้นกันค่ะ

      “ฟิสิกส์” เป็นสาขาหนึ่งในวิทยาศาสตร์ การเรียนฟิสิกส์จะมุ่งเน้นศึกษาและอธิบายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว พฤติกรรม หลักการและกฎตามธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นพื้นฐานความรู้ที่สำคัญให้กับวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ เช่น เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ เป็นต้น ระดับขนาดของสิ่งที่ศึกษาในวิชาฟิสิกส์ เริ่มต้นตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ ระดับอะตอม ไปจนถึงสิ่งที่มีขนาดใหญ่มหาศาลระดับจักรวาลเลยทีเดียว

      ซึ่งการเรียนฟิสิกส์ระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย หลาย ๆ สิ่งจะสามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ถึงการมีอยู่จริง อยู่ในระดับขนาดที่ใกล้ตัวมนุษย์ เช่น การเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีขนาด รูปร่าง รูปทรงที่คงที่, พฤติกรรมของคลื่น ทั้งคลื่นน้ำ แสง และเสียง, การสว่างของหลอดไฟในวงจรไฟฟ้า, การไหลของของไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หรือแม้กระทั่งพลังงานความร้อนที่มีการถ่ายเทจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา

      หากน้อง ๆ มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ดีในการเรียนฟิสิกส์ น้องก็จะสามารถเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรม ที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการนำความรู้จากการเรียนฟิสิกส์ไปต่อยอดในรายวิชาระดับสูงในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีมากมายหลากหลายแขนงวิชา เช่น กลศาสตร์วิศวกรรม, พลศาสตร์ของไหล, เทอร์โมไดนามิกส์, ทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า, กลศาสตร์ควอนตัม, รังสีวินิจฉัย, รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น

      และสามารถนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันนี้ไปใช้ประโยชน์ในอาชีพการงานต่อไปในอนาคตได้ ไม่ว่าน้อง ๆ จะใฝ่ฝันในอาชีพสายวิศวกรรมศาสตร์ สายแพทยศาสตร์ หรือสายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ตาม และทั้งหมดนี้ก็คือความสำคัญของการเรียนฟิสิกส์ ที่จะช่วยตอบคำถามได้ว่าเราเรียนฟิสิกส์ไปเพื่ออะไรนั่นเองค่ะ

ฟิสิกส์ ม.ปลาย ตามหลักสูตร สสวท. เรียนอะไรบ้าง?

      สำหรับน้อง ม.ปลาย ที่อยากรู้ว่า ต้องเรียนฟิสิกส์ยังไงให้เข้าใจ? น้อง ๆ ควรรู้ภาพรวมของเนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย ก่อนเป็นอันดับแรกค่ะ โดยพี่ลูกตาลได้สรุปเนื้อหา ฟิสิกส์ ม.ปลาย ตามหลักสูตร สสวท. มาให้แล้ว ว่าในแต่ละระดับชั้น แต่ละเทอม จะได้เรียนฟิสิกส์เรื่องอะไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลย!!

ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1 และเทอม 2 เรียนอะไร?

ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1 และเทอม 2 เรียนอะไร?

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1

      การเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย ในช่วง ม.4 เทอม 1 จะเริ่มต้นด้วยกลุ่มเนื้อหาเกี่ยวกับ กลศาสตร์ (Mechanics) ค่ะ พี่ลูกตาลแอบกระซิบบอกก่อนเลยว่า กลศาสตร์ถือเป็นเนื้อหากลุ่มใหญ่ที่น้อง ๆ จะได้เรียนกันตลอดทั้ง 2 เทอม แล้วถ้าแบ่งเนื้อหากลุ่มนี้คร่าว ๆ จะแบ่งออกเป็น กลุ่มกลศาสตร์ 1 และ กลุ่มกลศาสตร์ 2 ซึ่งเนื้อหาฟิสิกส์กลุ่มกลศาสตร์ 1 ประกอบด้วย

  • บทที่ 1 ธรรมชาติและพัฒนาการทางฟิสิกส์
  • บทที่ 2 การเคลื่อนที่แนวตรง
  • บทที่ 3 แรงและกฎการเคลื่อนที่

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2

      ส่วนการเรียนฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2 จะได้เรียนเนื้อหา กลุ่มกลศาสตร์ 2 ที่ต่อเนื่องมาจากกลุ่มก่อนหน้า ซึ่งประกอบไปด้วยบทต่าง ๆ ดังนี้

  • บทที่ 4 สมดุลกล
  • บทที่ 5 งานและพลังงาน
  • บทที่ 6 โมเมนตัมและการชน
  • บทที่ 7 การเคลื่อนที่แนวโค้ง

ฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 และเทอม 2 เรียนอะไร?

ฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 และเทอม 2 เรียนอะไร?

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1

      ตามพี่ลูกตาลมาดูเนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 กันบ้างดีกว่า ในเทอม 1 นี้น้อง ๆ จะได้เรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย ที่เป็นเนื้อหา กลุ่มคลื่น ซึ่งประกอบด้วย

  • บทที่ 8 การเคลื่อนที่แบบฮาร์มอนิกอย่างง่าย
  • บทที่ 9 คลื่น
  • บทที่ 10 แสงเชิงคลื่น
  • บทที่ 11 แสงเชิงรังสี

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 2

      ส่วนการเรียนฟิสิกส์ ม.5 เทอม 2 จะมีเนื้อหาหนึ่งบทที่ต่อเนื่องใน กลุ่มคลื่น (ที่เรียนกันไปแล้วตอนเทอม 1) นั่นก็คือ คลื่นเสียง แล้วต่อด้วยเนื้อหา กลุ่มไฟฟ้า ที่ประกอบด้วย

  • บทที่ 12 เสียง
  • บทที่ 13 ไฟฟ้าสถิต
  • บทที่ 14 ไฟฟ้ากระแส

ฟิสิกส์ ม.6 เทอม 1 และเทอม 2 เรียนอะไร?

ฟิสิกส์ ม.6 เทอม 1 และเทอม 2 เรียนอะไร?

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 เทอม 1

      ในส่วนการเรียนฟิสิกส์ ม.6 เทอม 1 จะได้เรียนเนื้อหา กลุ่มไฟฟ้า และ กลุ่มสมบัติสาร ที่ประกอบด้วยเนื้อหาต่อไปนี้

  • บทที่ 15 แม่เหล็กและไฟฟ้า
  • บทที่ 16 ความร้อนและแก๊ส
  • บทที่ 17 ของแข็งและของไหล

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 เทอม 2

      ปิดท้ายด้วยฟิสิกส์ ม.6 เทอม 2 ที่เป็นการเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย ช่วงโค้งสุดท้ายแล้วนะ น้อง ๆ จะได้เรียนเนื้อหา กลุ่มฟิสิกส์แผนใหม่ ซึ่งประกอบด้วย

  • บทที่ 18 คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • บทที่ 19 ฟิสิกส์อะตอม
  • บทที่ 20 ฟิสิกส์นิวเคลียร์และฟิสิกส์อนุภาค

เคล็ดลับปรับตัวสำหรับน้อง ม.ต้น ให้พร้อมก่อนเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย อย่างเข้าใจ

เคล็ดลับปรับตัวสำหรับน้อง ม.ต้น ให้พร้อมก่อนเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย

      หลังจากที่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ พาร์ตฟิสิกส์ ไปบางบทในระดับชั้น ม.ต้น และได้เห็นภาพรวมเนื้อหาการเรียนฟิสิกส์ ในระดับชั้น ม.4 – 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว น้อง ๆ บางคนอาจจะกังวลกับการเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย ว่าจะเรียนไหวไหม คิดไปล่วงหน้าว่าคงเรียนฟิสิกส์ไม่เข้าใจแน่ ๆ …

      พี่ลูกตาลจะบอกว่าอย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ ตอนนี้เรายังเรียนอยู่ระดับ ม.ต้น ถ้าไปแอบดูโจทย์ หรือเนื้อหาฟิสิกส์ของพี่ ม.ปลาย ก็ต้องไม่เข้าใจและยังทำไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น ขอให้ทำใจร่ม ๆ ไว้ก่อน

      เมื่อถึงเวลาน้อง ๆ จะได้เรียนฟิสิกส์ในเนื้อหาที่ลึกมากขึ้นกว่าระดับชั้นปัจจุบัน ถึงแม้จะเป็นชื่อหัวข้อเดียวกัน แต่ระดับความลึกเนื้อหาของ ม.ต้น กับ ม.ปลาย แตกต่างกันอยู่เยอะพอสมควร จะเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนฟิสิกส์ของ ม.ต้น ไปทำโจทย์ฟิสิกส์ ม.ปลาย มันม่ายร่ายยย!!

      พี่ลูกตาลจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้นค่ะ การเรียนฟิสิกส์ ม.ต้น และ ม.ปลาย ที่มีชื่อบทเดียวกัน เนื้อหาฟิสิกส์ที่ได้เรียนรู้ตอน ม.ต้น นั้นจะเป็นการเกริ่นนำเนื้อหา เน้นเรื่องการนำเสนอหัวข้อความรู้ให้ได้รู้จักว่ามันมีอยู่บนโลกใบนี้ เป็นการแนะนำให้น้อง ๆ ให้ได้เห็นแนวทางว่า หัวข้อนั้น ๆ เกี่ยวข้องกับอะไร? เกี่ยวข้องยังไง? หน้าตาเป็นแบบไหน? อยู่ตรงไหนหรือส่วนไหนในชีวิตจริง? โดยการเรียนฟิสิกส์ ม.ต้น จะยังไม่เน้นการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เพื่อใช้ในการประเมินค่าเชิงตัวเลข หรือแก้ไขโจทย์ปัญหาในเชิงตัวเลข

      แต่สำหรับการเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย บอกเลยว่าการคำนวณต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์นี้มาเต็ม!! น้องที่ไม่ถนัดคณิตศาสตร์ควรต้องรีบปรับพื้นฐานด่วนเลย โดยเฉพาะคณิตศาสตร์พื้นฐานในการเรียนฟิสิกส์ อย่างเช่น หัวข้อเรื่องตรีโกณมิติ อัตราส่วนสามเหลี่ยมมุมฉาก พีทาโกรัส การแก้สมการและอสมการ การแยกตัวประกอบ การบวก-ลบ-คูณ-หารเลขยกกำลัง เป็นต้น เพราะเนื้อหาเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการแก้โจทย์ปัญหาฟิสิกส์ ซึ่งน้อง ๆ จะต้องนำมาใช้งานเลย แบบไม่มีการทบทวนให้ก่อนนำมาใช้อีกแล้วนะคะ เพราะถือว่าเรียนมาในคณิตศาสตร์ ม.ต้น แล้วนั่นเอง

เรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย เข้าใจ แต่ทำโจทย์ไม่ได้ ทำยังไงดี?

      หลายคนมักบ่นกันว่า เรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย เข้าใจ แต่ทำโจทย์ไม่ได้ จะทำยังไงดี? ก่อนอื่นพี่ลูกตาลอยากจะชวนน้อง ๆ มาสำรวจตนเองกันก่อนว่า เราได้เรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย ด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมมาก-น้อยเพียงใด? เรียนเข้าใจแล้ว… เข้าใจจริง ๆ มั้ย? ที่ว่าเข้าใจนั้น… เข้าใจอะไรกันแน่? ไม่ใช่ว่าเข้าใจในความหมายของคำที่เขียนไว้ในหนังสือแค่นั้นนะ เพราะการเรียนฟิสิกส์ต้องการความเข้าใจที่มากกว่านั้น เรามาเริ่มสำรวจตนเองจาก 9 ลำดับขั้นการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์ By พี่ลูกตาล กันก่อนเลย

ลำดับขั้นการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์ By ดร.พี่ลูกตาล

      จากประสบการณ์การสอนที่ยาววววววนาน พี่ลูกตาลมั่นใจว่าพี่ได้พบเจอปัญหาการเรียนฟิสิกส์ของน้อง ๆ มามากมายหลากหลายรูปแบบ โดยพี่ลูกตาลจะแบ่งระดับอาการออกเป็น 9 ขั้น ดังนี้

9 ลำดับขั้นการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์ by ดร.พี่ลูกตาล

      หลังจากที่ได้ลองเช็กอาการ (การเรียนฟิสิกส์) ของตนเอง ตอนนี้น้อง ๆ อยู่ขั้นไหนกันแล้วคะ? โดยทั่วไปแล้วลำดับขั้นมักเรียงกัน แต่ก็อาจจะมีบางคนที่ข้ามขั้นบางขั้นไป พอรู้สึกตัวอีกทีก็มาอยู่ในขั้นที่สูงกว่า (แล้วเพิ่งรู้ตัวว่า ตนเองมีปัญหาที่ขั้นนี้!!) แต่ไม่เป็นไรนะคะ อย่างน้อยน้อง ๆ ก็จะได้รู้ตัวสักที ส่วนใครข้ามขั้นไหนไป พี่ลูกตาลแนะนำให้ย้อนกลับไปแก้ไขตั้งแต่ขั้นล่างก่อนเลยนะคะ เพราะพื้นฐานต้องดีก่อน เราจึงจะไปต่อด้านการเรียนฟิสิกส์ได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนค่ะ

      เมื่อน้อง ๆ แต่ละคนรู้แล้วว่าเราติดอยู่ที่ขั้นไหน… ต่อไปเรามา เลื่อนลำดับขั้นการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์ ด้วยวิธีการเลื่อนขั้นจากพี่ลูกตาลกัน!!

วิธีการเลื่อนลำดับขั้นการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์

      ขั้นที่ 1 ไม่รู้เลยว่าข้อนี้บทไหน โจทย์วัดความรู้หัวข้ออะไร

            O มองภาพรวมวิชาฟิสิกส์ เขียนบันทึกรายการบทเรียนทั้งหมดในรูปแบบ List หรือ Mind Map ก็ได้นะ

            O สำรวจตนเองว่าจำอะไรได้มาก – น้อยแค่ไหน ในแต่ละบทเรียน เช่น มีหัวข้อเรื่องอะไรบ้าง มีหลักการ หรือสูตรอะไรสำคัญบ้าง

      ขั้นที่ 2 รู้ว่าโจทย์จากบทไหน หัวข้ออะไร แต่ไม่รู้จะเริ่มแก้โจทย์ยังไง จะใช้หลักการไหนในการหาคำตอบ

            O ฝึกเขียนสรุปสูตร & หลักการสำคัญในเวอร์ชันของตนเอง เขียนละเอียดได้ตามใจชอบ เจอเพิ่มก็จดเพิ่มได้เสมอ

            O เรียนรู้การตีความตัวแปลจากโจทย์ คำไหนในโจทย์แทนด้วยตัวแปรอะไรในสูตร เขียนกำกับไว้เลย

            O หัดเชื่อมโยงตัวแปรที่ได้จากโจทย์กับสูตรที่มี เช็กในสูตรที่ใช้ว่าต้องเหลือตัวแปรไม่ทราบค่าแค่เพียงตัวเดียวเท่านั้น ถ้าใช้สูตรไหนแล้วติดตัวแปรไม่ทราบค่ามากกว่า 1 ตัว ต้องหาสูตรอื่นมาช่วยหาค่าตัวแปรนั้น ๆ ก่อน ให้เหลือตัวแปรไม่ทราบแค่เพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งตัวนั้นก็ต้องตรงกับที่โจทย์ให้หาด้วยน้าาา

      ขั้นที่ 3 มีแนวทางแก้โจทย์ แต่ไม่แน่ใจว่าหลักการที่คิดนั้นใช้ยังไง ถูกต้องแน่มั้ย

          O ทบทวนหลักการที่ไม่แน่ใจนั้น ครั้งหน้าหากต้องนำมาใช้อีก จะได้มั่นใจเกิน 100%

          O ลองทำเลย ได้ / ไม่ได้ เดี๋ยวว่ากัน

      ขั้นที่ 4 ลองทำแล้ว แต่ไปไม่ถึงคำตอบ ตันระหว่างทาง

          O พลาดตั้งแต่ขั้นที่ 2 หรือเปล่า ตรวจดูให้แน่ใจนะ ได้ตรวจเช็กหรือยังว่าต้องเหลือแค่ตัวแปรที่ไม่ทราบค่าเพียงตัวเดียวเท่านั้น และต้องเป็นตัวแปรแทนคำตอบที่โจทย์ต้องการด้วยนะ!

          O ฝึกหัดวางกระบวนการแก้โจทย์ จากคำตอบย้อนกลับมาหาข้อมูลจากโจทย์

      ขั้นที่ 5 ทำได้แล้ว แต่ตรวจเฉลย ไม่ถูกอะ! ผิดตรงไหนไม่รู้!! อ่านเฉลยที่มีมาให้ก็ไม่เข้าใจ!!!

          O เช็กความถูกต้องของสูตร / การคิดเลข / หลักการนำมาใช้ (ข้อจำกัดการใช้งาน)

          O มองหา “หลักการ” จากเฉลย

      ขั้นที่ 6 ดูเฉลยที่มีให้แล้วพอเข้าใจนะ แต่เจอแนวนี้อีกก็ทำไม่เป็น

          O พื้นฐานแข็งแรงเพียงพอหรือยัง? แน่ใจนะว่าดูเฉลยแล้วเข้าใจ ไม่ใช่แค่ในเฉลยเขาแทนค่าถูก..

          O อย่ารีบดูเฉลยเร็วไป คิดกระบวนการเองจนจบก่อน

          O ย้อนกลับไปแก้ไขขั้นก่อนหน้าก่อนเลย… ต้องได้ทั้งหมดเลยนะ

          O ความจำไม่ดี พักผ่อนน้อยเกินไป ก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่จะเป็นแค่บางช่วงบางวัน ใครเป็นทุกวันเป็นเดือน ๆ อันนี้ต้องทบทวนตนเองแล้วนะ ว่าใช้ชีวิตตึงมากเกินไปหรือเปล่า? อะไรที่มันมากไปก็จะทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ลองปรับใหม่ให้ใช้ได้ระยะยาวดีกว่านะ

      ขั้นที่ 7 เริ่มทำเองเป็นนะ ถูกบ้าง ผิดบ้าง อ่านเฉลยข้อผิดก็เข้าใจ แต่โจทย์ข้อสอบทำไมยากจัง ผิดทุกที

          O ทบทวนหลักการจากโจทย์ข้อสอบ

          O มองหา “หัวข้อการวัดผลความรู้” จากผู้ออกข้อสอบ

      ขั้นที่ 8 ทำได้เองเกือบหมดแล้ว แต่บางข้อก็พลาดบ้างอะไรบ้าง

          O สังเกตจุดพลาดของตนเองที่เป็นบ่อย

          O หาทางกำจัด / ลดความเสี่ยงการพลาด เช่น คำนวณทศนิยมผิดบ่อย เลี่ยงไปเป็นเศษส่วนที่ถนัดมากกว่าก็ได้นะ อย่างเช่น 0.125 ก็คือ 1/8 ไง บางทีตัดเลขได้ด้วย

      ขั้นที่ 9 ทำเองได้หมดแล้ว มีโจทย์แบบไหนน่าสนใจกว่านี้อีกมั้ยนะ

          O เสาะหาแนวโจทย์ใหม่ ๆ จากสนามแข่งขันต่าง ๆ

          O เน้นฝึกกระบวนการวางแผนแก้โจทย์ & มองหา “หัวข้อการวัดผลความรู้” ถ้ามาถึงขั้นนี้แล้ว การคิดคำนวณตัวเลขเพื่อหาคำตอบที่แน่นอนอาจจะสามารถละทิ้งไปได้บางข้อ เพื่อเราจะได้มีเวลาในการเจอโจทย์ที่หลากหลายมากขึ้น

          O สรุปความคิดของตนเอง แนวโจทย์ทั้งหมดที่เคยเจอมา แนวทางการแก้โจทย์แต่ละรูปแบบ

          O จิบชาเย็นวนไป

      และนี่ก็คือ เคล็ดลับเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย ยังไงให้เข้าใจ ที่พี่ลูกตาลนำมาฝากน้อง ๆ ในวันนี้ค่ะ ถ้าอยากเรียนฟิสิกส์เข้าใจ ทำข้อสอบได้ พิชิตเกรด 4 วิชาฟิสิกส์แบบสบาย ๆ ก็ควรรู้ภาพรวมคร่าว ๆ ของเนื้อหาฟิสิกส์ว่าเรียนหัวข้ออะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนเรียน

      แต่สำหรับคนที่เริ่มเรียนฟิสิกส์ไปแล้ว และรู้สึกว่าเรียนไม่เข้าใจ จำสูตรได้แต่เลือกใช้ไม่ถูก ก็ให้ลองเช็ก 9 ลำดับขั้นการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์ของพี่ลูกตาลดูว่า ตัวเรามีอาการแบบไหน ต้นตอเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

      หรือใครอยากจะเรียนฟิสิกส์ด้วยความเข้าใจและปูพื้นฐานความรู้ให้แน่นยิ่งขึ้น ก็มาเจอกับพี่ลูกตาลใน คอร์สฟิสิกส์ ม.ปลาย ที่ WE BY THE BRAIN ได้เลย เพราะมีคอร์สเรียนฟิสิกส์ให้เลือกหลายแบบ ทั้ง คอร์สฟิสิกส์ ม.ปลาย รวมทุกบท และ คอร์สฟิสิกส์ ม.ปลาย บทย่อย ที่พี่ลูกตาลสรุปเนื้อหาเข้มข้น ครอบคลุม เน้นทุกจุดสำคัญ พร้อมพาตะลุยโจทย์หลากหลายแนวจากสนามสอบแข่งขันต่าง ๆ และน้อง ๆ จะได้เรียนรู้เทคนิคแก้โจทย์ไว ที่นำไปใช้ได้จริงในห้องสอบด้วยนะคะ

      แล้วถ้าน้อง ๆ อยากจะได้ความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์ และไม่พลาดสาระดี ๆ จากพี่ลูกตาล ไม่ว่าจะเป็นการสรุปเนื้อหา เจาะลึกแนวข้อสอบสนามสำคัญ หรือแจกเคล็ดลับการเรียน ก็รีบกดติดตามได้ที่ช่องทางเหล่านี้เลย!!

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ