คณะวิศวกรรมศาสตร์ถือเป็นคณะยอดฮิตอีกหนึ่งคณะในดวงใจของหลาย ๆ คน ทั้งภาพลักษณ์ที่ดูทะมัดทะแมง เท่ ๆ ลุคสบาย ๆ ที่เป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดให้น้อง ๆ ตัดสินใจที่จะเลือกเรียนในคณะนี้ แต่รู้หรือไม่คณะเท่ ๆ แบบนี้นี่แหละแท้จริงแล้วยังแอบซ่อนความโหดหินไว้ด้วย เพราะเป็นคณะที่มีการประยุกต์ใช้ทั้งวิชาทางด้าน ฟิสิกส์ เคมี คำนวณ คณิตศาสตร์ เข้ามาเพื่อใช้ในการออกแบบและพัฒนาโครงสร้าง เครื่องจักร เครื่องมือ กระบวนการผลิตต่าง ๆ หรือแม้แต่สร้างอุปกรณ์ทดแทนการทำงานของมนุษย์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย และวันนี้เราจะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ในแต่ละสาขา เพื่อเช็คว่าสาขาไหนเป็นอย่างไร? และเหมาะกับใครบ้าง?
1. สาขาวิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมเคมีต้องเรียนอะไรบ้าง?
- ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบอุปกรณ์ โรงงาน และระบบควบคุม
- ศึกษากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควบคู่กับหลักเศรษฐศาสตร์ทั้งในด้านวิศวกรรมเคมีพื้นฐาน ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น นาโนเทคโนโลยี เป็นต้น โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ และซอฟท์แวร์ตลอดทั้งหลักสูตร
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
- งานออกแบบและพัฒนากระบวนการผลิต
- งานวิเคราะห์และบริหารโครงการ
- งานควบคุมกระบวนการผลิต
- งานขาย
- งานบริการทางเทคนิค
- งานวิจัยและพัฒนา
**ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์/กระดาษ เป็นต้น
2. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
สาขาที่เกี่ยวกับการผลิต การประยุกต์ใช้พลังงานไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อุปกรณ์ทางไฟฟ้า อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำและวงจรไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
วิศวกรรมไฟฟ้าเรียนอะไรบ้าง?
- การออกแบบวิเคราะห์ระบบไฟฟ้า วงจรไฟฟ้า
- การรับส่งข้อมูลในรูปสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- การควบคุมระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำในระดับขนาดไมโครเมตรและนาโนเมตร
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
สามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีการใช้ไฟฟ้า หรือสถานที่ไหนที่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นที่จะต้องใช้วิศวกรไฟฟ้าในการควบคุม เช่น การดูระบบในโรงงานต่าง ๆ โรงไฟฟ้า บริษัทสื่อสาร บริษัทน้ำมัน บริษัทซอฟแวร์ต่างๆ บริษัทเดินรถ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ทั่วประเทศ) การไฟฟ้านครหลวง (กรุงเทพฯ ปริมณฑล) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ เขื่นสิริกิตต์) หรือถ้าเป็นหมวดสายงานอื่น ๆ ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน เช่น พนักงานขาย ฝ่ายการจัดซื้อ เป็นต้น
3. สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้หลักการทางฟิสิกส์สำหรับการวิเคราะห์ออกแบบ ผลิต และบำรุงรักษาระบบทางกล วิศวกรรมเครื่องกลนั้นถือว่าเป็นสาขาวิชาหลักสาขาหนึ่งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีความสนใจทางด้านวิศวกรรมเชิงกล
วิศวกรรมเครื่องกลเรียนอะไรบ้าง?
- กลศาสตร์
- จลนศาสตร์
- อุณหพลศาสตร์
- กลศาสตร์ของไหล
โดยนำหลักการทางทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ และออกแบบระบบทางกลต่างๆ
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
สามารถทำงานออกแบบระบบทางวิศวกรรม ดูแลและควบคุมกระบวนการผลิต ตรวจสอบและซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล วิจัยและพัฒนาผลิตดภัณฑ์ในหน่วยงาน หรือศูนย์วิจัย
4. สาขาวิศวกรรมโยธา
สายลุยต้องเรียนสาขานี้เลย เพราะเป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวข้องกับการสร้างและใช้สิ่งก่อสร้าง เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมมนุษย์ โดยศึกษาตั้งแต่การออกแบบ การวิเคราะห์ การก่อสร้างหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การจัดการและการบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างโดยให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิมน้อยที่สุด ได้แก่ อาคารสูง บ้าน สะพาน เส้นทางรถไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ เขื่อน ถนน เป็นต้น
วิศวกรรมโยธาเรียนอะไรบ้าง?
เรียนเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างทางโยธาในหลายรูปแบบ เช่น อาคาร สะพาน สนามบิน ท่าเรือ เขื่อน ถนน สัญญาณไฟจราจร เป็นต้น โดยเริ่มตั้งแต่ศึกษาความเหมาะสมของสิ่งก่อสร้าง วิธีวิเคราะห์และออกแบบ การจัดการ การดำเนินการ และการบำรุงรักษาโดยให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น วิศวกรออกแบบ วิศวกรก่อสร้าง วิศวกรโครงการ วิศวกรควบคุม โดยทำงานได้ในหลาย ๆ องค์กร เช่น บริษัทวิศวกรที่ปรึกษา บริษัทผลิตภัณฑ์วัสดุ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ทั้งบริษัทใหญ่ เล็ก และนานาชาติ
5. สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
สายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องสาขานี้เลย เพราะเป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดน้ำเสีย การควบคุมมลพิษทางอากาศ การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงการผลิตน้ำประปาและการจัดการระบบสิ่งแวดล้อม เช่น ISO 14000 เป็นต้น
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเรียนอะไรบ้าง?
- ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำ อากาศ และของเสีย
- การออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อควบคุมมลพิษ
- การผลิตประปา สุขาภิบาลอาคาร
- ระบบระบายน้ำ
- การจัดการระบบสิ่งแวดล้อม
- การป้องกันมลพิษ
- การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
สามารถทำงานด้านการออกแบบและควบคุมระบบบำบัดมลพิษ ระบบประปาและระบบระบายน้ำ ตรวจวัดคุณภาพน้ำ อากาศ และดิน ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
6. สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ
ในสาขาวิชานี้จะเกี่ยวข้องกับการสร้าง การปรับปรุงและการใช้งานระบบที่เกิดจากการรวมกันของคน ความรู้ ข่าวสารข้อมูล วัตถุดิบ เครื่องจักรและกระบวนการให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกมาได้ตามความต้องการของลูกค้าในระยะเวลาที่ต้องการด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด และเหมาะสมที่สุด
วิศวกรรมอุตสาหการเรียนอะไรบ้าง?
การจัดการคน วัตถุดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยเทคนิคระดับพื้นฐาน จนถึงระดับนวัตกรรมใหม่ โดยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญในการตัดสินใจ
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
สามารถเป็นผู้จัดการโรงงาน วิศวกรระบบ วิศวกรโรงงาน วิศวกรโครงการ วิศวกรหน่วยงานของรัฐ วิศวกรในสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมบริการชั้นนำของประเทศ เป็นต้น
7. สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ
เป็นสาขาที่มุ่งเน้นผลิตบุคลากรเพื่อเข้าทำงานในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ออกแบบ ซ่อมบำรุง การผลิต และการวิจัย
วิศวกรรมการบินและอวกาศเรียนอะไรบ้าง?
ศึกษาทางด้านอากาศพลศาสตร์ การวิเคราะห์โครงสร้าง เพื่อการออกแบบการสร้าง การซ่อมบำรุงเครื่องบิน เครื่องยนต์เจ็ท เทคโนโลยีดาวเทียมการซ่อมบำรุง รวมไปถึงการบริหารธุรกิจการบิน
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
ทำงานในด้านการออกแบบและสร้างอากาศยาน เครื่องยนต์เจ็ท ดาวเทียม ควบคุมการซ่อมบำรุงอากาศยานและชิ้นส่วนประกอบ ควบคุมวงโคจรและสถานีดาวเทียม การบริหารและการจัดการอุตสาหกรรมและธุรกิจการบินและอวกาศ
8. สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ
เป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการบังคับน้ำ หรือ การควบคุมปริมาณและระดับน้ำไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การจัดการ และการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการการจัดการคุณภาพน้ำ
วิศวกรรมทรัพยากรน้ำเรียนอะไรบ้าง?
ความรู้พื้นฐานทางด้านกลศาสตร์ของของไหล วิศวกรรมชลศาสตร์ วิศวกรรมแม่น้ำและชายฝั่งทะเล วิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม งานอุทกวิทยาของน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน การจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธา เพื่อออกแบบโครงสร้างอาคารชลศาสตร์
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
สามารถปฏิบัติงานได้ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประชาภูมิภาค ฯลฯ ตลอดจนบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาทั้งด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และด้านวิศวกรรมโยธา
9. สาขาวิศวกรรมวัสดุ
สาขานี้จะบูรณาการความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ของโครงสร้าง สมบัติ กระบวนการผลิต และการใช้งานของวัสดุเชิงวิศวกรรม เช่น โลหะ พอลิเมอร์ เซรามิก วัสดุประกอบ วัสดุนาโนวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
วิศวกรรมวัสดุเรียนอะไรบ้าง?
พื้นฐานและกระบวนการผลิตเกี่ยวกับวัสดุทุกประเภท และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านวัสดุ เพื่อให้สามารถพัฒนาคิดค้นวัสดุชนิดใหม่ และเทคนิคกระบวนการผลิตต่างๆ ได้
รวมถึงหลักในการคัดเลือก ออกแบบและปรับปรุงสมบัติวัสดุให้เหมาะสมกับการใช้งาน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการ และเทคนิคในการวิเคราะห์สมบัติวัสดุชนิดต่าง ๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติรวมถึงการวิเคราะห์สาเหตุความวิบัติซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมได้
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
สามารถทำงานด้านการวิจัย พัฒนา และคิดค้นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในหน่วยวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ควบคุมและปรับปรุงกระบวนการผลิตในโรงงานต่าง ๆ
10. สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
สาขานี้เป็นสาขาที่เหมาะกับคนที่ชอบคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ออกแบบและพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีความครอบคลุมทั้งด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ การสื่อสารข้อมูล รวมไปถึงระบบฝังตัว อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์อัตโนมัติส่วนใหญ่รอบ ๆ ตัวเรา
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์เรียนอะไรบ้าง?
ศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในด้านการโปรแกรมการออกแบบและวิเคราะห์กระบวนการแก้ปัญหาด้วยคอมพิวเตอร์การออกแบบวงจรดิจิทัล องค์ประกอบและสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ระบบฐานข้อมูล การสื่อสารข้อมูล ระบบปฏิบัติการการโต้ตอบระหว่างคนและเครื่องคอมพิวเตอร์ ออกแบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
จบไปทำอะไรได้บ้าง?
สามารถปฎิบัติงานด้านการวางระบบภายในองค์กร วิเคราะห์ระบบ วิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติสำหรับงานสาขาอื่น ๆ
สถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรคณะวิศวกรรมศาสตร์
รายชื่อมหาวิทยาลัย | |
1 | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
2 | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
3 | มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี |
4 | มหาวิทยาลัยกรุงเทพ |
5 | มหาวิทยาลัยคริสเตียน นครปฐม |
6 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี |
7 | บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี |
8 | สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี |
9 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ |
10 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง |
11 | บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธรไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ |
12 | สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง |
13 | มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
14 | มหาวิทยาลัยพะเยา |
15 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร |
16 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ |
17 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก |
18 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี |
19 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน |
20 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น. |
21 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร |
22 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ |
23 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา |
24 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย |
25 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ |
26 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี |
27 | มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น |
28 | มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ |
29 | มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
30 | มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย |
31 | มหาวิทยาลัยทักษิณ |
32 | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
33 | มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ |
34 | มหาวิทยาลัยนเรศวร |
35 | มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ |
36 | มหาวิทยาลัยบูรพา |
37 | มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
38 | มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |
39 | มหาวิทยาลัยมหิดล |
40 | มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี |
41 | มหาวิทยาลัยรังสิต |
42 | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
43 | มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล |
44 | มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ |
45 | มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ |
46 | มหาวิทยาลัยศรีปทุม |
47 | มหาวิทยาลัยศิลปากร |
48 | มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
49 | มหาวิทยาลัยสยาม |
50 | มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช |
51 | มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย |
52 | มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ |
53 | มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย |
54 | มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
55 | สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย |
56 | สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ( SIIT TU ) |
57 | สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน |
58 | สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น |
59 | สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย |
60 | สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) |
61 | วิทยาลัยการชลประทาน สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
62 | มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ |
63 | มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม |
64 | มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ |
65 | มหาวิทยาลัยนครพนม |
66 | สถาบันรัชต์ภาคย์ |
67 | มหาวิทยาลัยปทุมธานี |
68 | มหาลัยวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี |
69 | วิทยาลัยพิชญบัณฑิต |