สรุปฟิสิกส์ ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6) ตามหลักสูตร สสวท. เรียนอะไรบ้าง?

สรุปฟิสิกส์ ม.ปลาย ตามหลักสูตร สสวท. เรียนอะไรบ้าง?

      น้อง ม.ต้นที่กำลังจะเลื่อนชั้นขึ้น ม.ปลาย หรือน้อง ๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นการเรียน ม.ปลาย ควรเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อรับมือกับเนื้อหาในรายวิชาต่าง ๆ ที่แตกต่างไปจากระดับชั้น ม.ต้น มีความยากและซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่เลือกเรียนสายวิทย์ – คณิต ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับ วิชา ฟิสิกส์ ม.ปลาย กันทุกคน

      แม้ว่าวิชานี้จะขึ้นชื่อว่ายาก เนื้อหา & สูตรเยอะ ก็อย่าได้กังวลกันจนเกินไปนะ วันนี้ พี่ลูกตาล WE BY THE BRAIN จะช่วย สรุปเนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย ตามหลักสูตร สสวท. ให้ครบ ทั้งฟิสิกส์ ม.4, ฟิสิกส์ ม.5 และฟิสิกส์ ม.6 ว่าแต่ละเทอมเรียนอะไร บทไหนง่าย – ยาก พร้อมเก็งแนวข้อสอบสนามสำคัญ ๆ ให้น้อง ๆ ด้วย

คลิกอ่านหัวข้อที่สนใจ

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย : ฟิสิกส์ ม.4 ตามหลักสูตร สสวท. เรียนอะไรบ้าง?

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1

      พี่ลูกตาลพาน้อง ๆ เริ่มตะลุยเนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย อย่าง ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1 ก่อนเลย เริ่มต้นด้วยกลุ่มเนื้อหาเกี่ยวกับ กลศาสตร์ (Mechanics) ซึ่งเป็นเนื้อหากลุ่มใหญ่ที่จะเรียนกันตลอดทั้งสองเทอม แบ่งคร่าว ๆ ออกเป็น กลุ่มกลศาสตร์ 1 และ กลุ่มกลศาสตร์ 2 โดยที่กลุ่มกลศาสตร์ 1 เป็นเนื้อหาเริ่มต้นของกลศาสตร์พื้นฐาน ประกอบด้วยบทต่าง ๆ ดังนี้

สรุปฟิสิกส์ ม.ปลาย เนื้อหาฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1

      เนื้อหาฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1 บทที่ 1 ธรรมชาติและพัฒนาการทางฟิสิกส์ เป็นเหมือนบทนำเข้าสู่วิชาวิทยาศาสตร์ พาร์ตฟิสิกส์ แต่เนื้อหามีความเข้มข้นไม่น้อย น้อง ๆ ต้องตั้งใจเรียนนะคะ เพราะออกข้อสอบสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันตั้งแต่บทนี้เลย

      ที่สำคัญต้องใช้ความรู้ทั้งเรื่องเลขนัยสำคัญ ความคลาดเคลื่อน รวมทั้งพื้นฐานความรู้อื่น ๆ เช่น หน่วย, คำอุปสรรค ในการเรียนต่อในบทต่อ ๆ ไปทั้งหมดอีกด้วย

      บทต่อมาที่น้อง ๆ จะได้เรียนคือ บทที่ 2 การเคลื่อนที่แนวตรง เป็นการเข้าเนื้อหาหลักการของฟิสิกส์อย่างเต็มตัว ในบทนี้จะได้เรียนการเคลื่อนที่แนวเส้นตรง มีทั้งการเคลื่อนที่ความเร็วคงที่ และการเคลื่อนที่ด้วยความเร่งคงที่ ซึ่งทั้งสองแบบนี้ใช้หลักการและสูตรการคำนวณที่แตกต่างกัน ใช้แทนกันไม่ได้นะ

      ส่วนแนวเคลื่อนที่ สามารถพิจารณาการเคลื่อนที่ได้ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง น้อง ๆ ต้องแยกให้ออกว่าเคลื่อนที่แนวราบด้วยความเร็วคงที่ หรือความเร่งคงที่ หรือจะเป็นการเคลื่อนที่แนวดิ่งด้วยความเร่งคงที่กันแน่

      และบทสุดท้ายของฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1 คือ บทที่ 3 แรงและกฎการเคลื่อนที่ เนื้อหาต่อเนื่องมาจาก ม.ต้น ที่น้อง ๆ ได้เรียนแรงชนิดต่าง ๆ มามากมาย ในบทนี้จะได้เรียนเรื่องการคำนวณแรงอย่างจริงจัง รวมทั้งหลักการกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน ซึ่งเป็นใจความหลักของบทนี้เลย

      นอกจากคำนวณต้องได้แล้ว (ใครที่พื้นฐานคณิตศาสตร์ไม่แข็งแรง ต้องรีบฟื้นกันในบทนี้แล้วนะ เดี๋ยวจะท้อแท้ 😂) เรื่องหลักการความเข้าใจก็สำคัญมาก เพราะข้อสอบสอบเข้าแนววัดผลความรู้ความเข้าใจในบทนี้มีเยอะเลยทีเดียว

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2

      ต่อด้วยเนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย ในส่วนของ ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2 กันเลย เนื้อหาในเทอมนี้เป็นเนื้อหากลุ่มกลศาสตร์ ที่ต่อเนื่องจากกลุ่มก่อนหน้า ซึ่งเนื้อหา กลุ่มกลศาสตร์ 2 ประกอบด้วยบทต่าง ๆ ดังนี้

สรุปเนื้อหาฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2

      ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2 ใน บทที่ 4 สมดุลกล ความรู้เรื่องแรงและกฎของนิวตัน จะถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในส่วนของสมดุลการเลื่อน หรือสมดุลการเคลื่อนที่ นอกจากสมดุลชนิดนี้แล้ว อีกกว่าครึ่งบทน้อง ๆ จะได้เรียนสมดุลการหมุน ซึ่งต้องรื้อฟื้นเอาเนื้อหาโมเมนต์ของ ม.ต้น มาใช้ด้วย

      บทต่อมาคือ บทที่ 5 งานและพลังงาน ในบทนี้น้องจะได้เรียนสิ่งที่เรียกว่า “งาน” นับว่าเป็นหัวข้อหนึ่งที่ยากสำหรับหลายคน เพราะมันไม่มีตัวตน ดังนั้นตอนเริ่มเรียนบทนี้ ขอให้น้อง ๆ ตั้งใจเรียนให้ดีนะคะ เมื่อมีแรงกระทำต่อวัตถุอาจจะทำให้เกิดงาน และงานของแรงต่าง ๆ สามารถพิจารณาได้แยกจากกัน

      นอกจากนี้จะได้เรียนเรื่องพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าน้อง ๆ เคยเรียนมาแล้วตอน ม.ต้น แต่สำหรับ ม.ปลาย จะมีรูปแบบโจทย์ที่ซับซ้อนกว่า เน้นพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ในส่วนของกลศาสตร์ ทั้งพลังงานจลน์ พลังงานศักย์ และพลังงานศักย์ยืดหยุ่น ที่ประยุกต์ไปสู่ “กฎการอนุรักษ์พลังงาน” และ “สมการความสัมพันธ์ระหว่างงานและพลังงาน” ซึ่งสองหัวข้อหลังนี้เป็นหัวข้อหลักประจำบท พี่ลูกตาลแอบกระซิบว่าโจทย์! มันส์!! มาก!!!

      ส่วน บทที่ 6 โมเมนตัมและการชน ต้องบอกก่อนว่า “โมเมนตัม” แตกต่างจาก “โมเมนต์” นะ!! และเนื้อหาส่วนนี้ก็ไม่เป็นตัวเป็นตนอีกแล้ว แต่ยังดีที่โจทย์ไม่ค่อยประยุกต์ น้อง ๆ ต้องจับหลักการสำคัญให้ได้ในเรื่องของเวกเตอร์ เพราะโมเมนตัมเป็นปริมาณเวกเตอร์ ต้องพิจารณาทิศทาง ความยากของบทนี้คือเรื่องการชนที่มีหลากหลายรูปแบบ ต้องอ้างอิงจากหลักการและพิจารณาในรูปแบบเฉพาะของโจทย์ จะใช้การจำแต่ละแบบไปเลยก็อาจจะไม่ไหวนะคะ

      และบทสุดท้ายของฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2 อย่าง บทที่ 7 การเคลื่อนที่แนวโค้ง บางโรงเรียนอาจเรียนบทนี้ไม่ทัน และได้เนื้อหาหลักของการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์เป็นส่วนสำคัญ ส่วนเนื้อหาอีกกลุ่มอย่างการเคลื่อนที่แบบวงกลม อาจได้เรียนแบบไม่ลึก ไม่ครบทุกรูปแบบ น้อง ๆ ควรต้องศึกษาเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เพราะออกข้อสอบในสนามสอบเข้าเรียนต่อเยอะอยู่ ใช้หลักการเดียวกัน แต่แตกต่างตรงรูปแบบรายละเอียดของโจทย์ค่ะ

ฟิสิกส์ ม.4 บทไหนง่าย? บทไหนยาก?

ฟิสิกส์ ม.4 บทไหนง่าย? บทไหนยาก?

      เมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาทั้งหมดและรูปแบบโจทย์ของฟิสิกส์ ม.4 ทั้งสองเทอม พี่ลูกตาลแนะนำให้น้อง ๆ ที่ยังไม่คล่อง เริ่มเก็บเนื้อหาบทแรก ๆ ก่อนเลย เพราะแม้จะเป็นฟิสิกส์เหมือนกัน แต่รูปแบบโจทย์ไม่ค่อยซับซ้อนเมื่อเทียบกับบทหลัง ๆ เพราะเนื้อหาบทหลัง ๆ มักจะประยุกต์เนื้อหาในบทก่อนหน้ามารวมอยู่ด้วย

      เช่น บทการเคลื่อนที่แนวตรง เนื้อหาจะมีเฉพาะส่วนแนวตรง แต่พอนำมาประยุกต์เข้ากับการเคลื่อนที่แนวโค้งแบบโพรเจกไทล์ การพิจารณาการเคลื่อนที่ก็จะเป็นการเคลื่อนที่แนวตรง 2 แกน เคลื่อนที่ไปพร้อม ๆ กัน จึงให้ผลลัพท์ออกมาเป็นแนวโค้ง

      ดังนั้นหากน้อง ๆ มีพื้นฐานที่ดีในเรื่องของ การเคลื่อนที่แนวตรง เมื่อเรียน การเคลื่อนที่แนวโค้ง ก็จะรู้สึกว่าไม่ยาก ซึ่งแตกต่างจากน้องที่พื้นฐานไม่ค่อยดี เมื่อเรียนการเคลื่อนที่แนวโค้งก็จะรู้สึกว่ายากมากกก ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน

      พี่ลูกตาลยกตัวอย่างเนื้อหาของ บทแรงและกฎการเคลื่อนที่ หากน้องมีพื้นฐานบทนี้ที่ดี เมื่อเรียน บทสมดุลกล ในส่วนของสมดุลแรง น้อง ๆ ก็จะพบว่าไม่ยากเท่าไร แค่ประยุกต์เพิ่มเติมหลักการของบทเข้าไปนั่นเอง

ฟิสิกส์ ม.4 ข้อสอบ Midterm / Final ชอบออกแนวไหน?

      หลังจากที่ได้รู้กันไปแล้วว่าเนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย ในส่วนของฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1 และ 2 เรียนเนื้อหาอะไรบ้าง คราวนี้พี่ลูกตาลขอเก็ง แนวข้อสอบ Midterm / Final ว่าข้อสอบฟิสิกส์ ม.4 ชอบออกแนวไหนบ้างดีกว่า

ฟิสิกส์ ม.4 ข้อสอบ Midterm / Final ชอบออกแนวไหน?

ฟิสิกส์ ม.4 บทไหน ข้อสอบ A-Level ออกบ่อย?

      น้อง ๆ ที่อยากเตรียมตัวลุยสนามสอบในระบบ TCAS สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันตั้งแต่เนิ่น ๆ พี่ลูกตาลก็ไม่พลาดที่จะปักหมุด TOP 5 บทออกสอบบ่อยฟิสิกส์ A-Level ในส่วนของเนื้อหาฟิสิกส์ ม.4 มาฝากกันด้วยค่ะ

ฟิสิกส์ ม.4 TOP 5 บทออกบ่อยในข้อสอบ A-Level

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย : ฟิสิกส์ ม.5 ตามหลักสูตร สสวท. เรียนอะไรบ้าง?

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1

      ตามพี่ลูกตาลมาดูเนื้อหา ฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 ซึ่งเป็นเนื้อหา กลุ่มคลื่น ต่อกันเลย เนื้อหาที่น้อง ๆ จะได้เรียนกันประกอบด้วยบทต่าง ๆ ดังนี้

สรุปเนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1

      เริ่มด้วยบทแรกของฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 อย่าง บทที่ 8 การเคลื่อนที่แบบฮาร์มอนิกอย่างง่าย หรือ Simple Harmonic Motions (SHM) ในบทนี้จะเรียนเรื่องการเคลื่อนที่แบบ SHM ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนที่ของเงาในการเคลื่อนที่แบบวงกลม การสั่นกลับไป – มาของมวลติดสปริง การแกว่งของลูกตุ้มอย่างง่าย เป็นต้น ซึ่งการเคลื่อนที่แบบ SHM เป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นเรียนเรื่องคลื่นในบทถัดไป

      บทที่ 9 คลื่น จะเรียนเรื่องคลื่นชนิดต่าง ๆ โดยเน้นกลุ่มคลื่นกลที่อาศัยตัวกลางในการเคลื่อนที่ พื้นฐานการเคลื่อนที่และการคำนวณการเคลื่อนที่ของคลื่น อัตราเร็วคลื่นในตัวกลางต่าง ๆ คุณสมบัติหลักทั้ง 4 ประการของคลื่น

      บทต่อมาเป็นบทที่ 10 ของรายวิชาฟิสิกส์ ม.ปลาย แล้ว นั่นก็คือ แสงเชิงคลื่น ในบทนี้น้อง ๆ จะได้เรียนเจาะเฉพาะลงไปเกี่ยวกับคลื่นแสง ในคุณสมบัติเชิงคลื่น ซึ่งก็คือการแทรกสอดและการเลี้ยวเบน โดยเนื้อหาหลักจะถูกแบ่งออกเป็นกรณีช่องแคบคู่ (สลิตคู่), ช่องแคบเดี่ยว (สลิตเดี่ยว) และเกรตติง

      ส่วนเนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 ใน บทที่ 11 แสงเชิงรังสี จะเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของคลื่นแสงทางด้านการสะท้อนและการหักเห ซึ่งมักพบในกรณีกระจกเงาราบ กระจกโค้ง และเลนส์บาง ทั้งเลนส์เว้าและเลนส์นูน นอกจากนี้การแก้ไขค่าสายตาด้วยการใช้ทัศนอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เป็นเนื้อหาอีกส่วนที่สำคัญ รวมถึงแสงสีต่าง ๆ และการมองเห็นด้วยนะคะ

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 2

      พี่ลูกตาลขอบอกเลยว่า ฟิสิกส์ ม.5 เทอม 2 มีหนึ่งบทที่เป็นเนื้อหาต่อเนื่องในกลุ่มคลื่น นั่นคือ คลื่นเสียง แล้วต่อด้วยเนื้อหา กลุ่มไฟฟ้า ประกอบด้วยบทต่าง ๆ ดังนี้

สรุปเนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 2

      บทที่ 12 เสียง เป็นเนื้อหาต่อเนื่องของกลุ่มคลื่น แต่ถูกแยกออกมาโดยเฉพาะ เนื่องจากมีเนื้อหาหลักเฉพาะของเสียงที่เด่นชัด เช่น ความดัง – ค่อยของเสียง ความเข้มเสียง กำลังเสียง เป็นต้น ในช่วงเริ่มต้นของบทนี้ในเนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 2 จะได้เรียนการสะท้อนของเสียง โดยใช้ความรู้เรื่องการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ น้อง ๆ ต้องรื้อฟื้นความรู้ ม.4 อีกแล้วสิ!!

      ส่วนฟิสิกส์ ม.5 เทอม 2 ที่เป็นเนื้อหากลุ่มไฟฟ้าในบทแรกคือ บทที่ 13 ไฟฟ้าสถิต น้อง ๆ จะได้เรียนการคำนวณแรงทางไฟฟ้า แรงดูด แรงผลักของจุดประจุ ความเข้มสนามไฟฟ้า ศักย์ไฟฟ้า และความต่างศักย์ รวมทั้งงานเนื่องจากจุดประจุรูปแบบต่าง ๆ เนื้อหาส่วนนี้เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับน้องทุกคน ไม่ต้องตกใจไปนะ เพราะเพื่อนก็ตกใจเหมือนกัน 😅

      ต่อด้วย บทที่ 14 ไฟฟ้ากระแส เนื้อหาในบทนี้เรียนเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้า ที่น้อง ๆ ได้เรียนพื้นฐานกันมาแล้วตั้งแต่ตอนประถมและ ม.ต้น แต่เพิ่มเติมองค์ประกอบบางอย่างให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น

      เช่น แหล่งกำเนิดไฟฟ้า เดิมอาจอยู่ในรูปแบบแบตเตอรี่เพียงอันเดียว แต่ในระดับ ม.ปลาย จะพบว่าการต่อแหล่งกำเนิดไฟฟ้า ทั้งในแบบอนุกรม ขนาน หรือผสม เพื่อสร้างเป็นแหล่งกำเนิดเสมือน ก่อนที่จะป้อนพลังงานให้แก่วงจร สามารถต่อกันอยู่ในรูปแบบอนุกรม ขนาน หรือผสมเช่นกัน

ฟิสิกส์ ม.5 บทไหนง่าย? บทไหนยาก?

ฟิสิกส์ ม.5 บทไหนง่าย? บทไหนยาก?

      พี่ลูกตาลวิเคราะห์เนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 และ 2 มาให้น้อง ๆ แล้ว ว่าบทไหนง่าย บทไหนยาก จะได้เตรียมตัวล่วงหน้าทันค่ะ

      สำหรับเนื้อหาในกลุ่มคลื่น พี่ลูกตาลเชื่อว่าหลายคนอาจเริ่มปรับตัวในการเรียนฟิสิกส์ได้ดีขึ้นพอสมควรแล้ว ต่อให้เนื้อหาในกลุ่มนี้จะยากกว่ากลุ่มกลศาสตร์ น้อง ๆ หลายคนก็ทำคะแนนได้ดีขึ้นพอสมควร

      ใน กลุ่มคลื่น บทที่พี่ลูกตาลคิดว่ายากที่สุดน่าจะเป็นแสงเชิงรังสี ที่รวมเอาทัศนอุปกรณ์ต่าง ๆ มาให้น้องได้คำนวณกันอย่างสนุกสนาน ทั้งเรื่องเครื่องหมายบวก – ลบ ตามชนิดของกระจก / เลนส์และชนิดของภาพ ตำแหน่งภาพที่จะเกิดขึ้นแต่ละกรณี ทำเอาพลาดกันมามากและต้องเสียดายคะแนน

      เนื้อหาใน บทเสียง เป็นบทที่หลายคนเก็บคะแนนชดเชยความเจ็บช้ำในเทอมก่อนได้ เนื่องจากโจทย์ค่อยข้างตายตัว แม้จะมีความรู้คณิตศาสตร์เข้ามาผสมในการแก้คำตอบ แต่หากมีเทคนิคลัดเป็นตัวช่วย ก็หาคำตอบได้ไม่ยากเลย

      ส่วน บทไฟฟ้าสถิต ในบทนี้น้อง ๆ อาจจะตกใจกับการคิดเลขยกกำลังที่แลดูยากอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากไฟฟ้าสถิตเกี่ยวข้องกับระดับขนาดเล็ก ๆ เลขยกกำลังติดลบจึงต้องถูกใช้คำนวณเสมอ แต่เมื่อผ่านการทำโจทย์ไปสักระยะ น้อง ๆ จะปรับพื้นฐานความรู้และชินกับการคิดเลขลักษณะนี้ไปเองค่ะ

      บทไฟฟ้ากระแส นับเป็นบทยากบทหนึ่งของฟิสิกส์ ม.5 เนื่องจากวงจรไฟฟ้ามีลักษณะที่ไม่ตายตัว สามารถประยุกต์หรือดัดแปลงโจทย์ได้หลายรูปแบบ ยากแก่การคาดเดา และเนื่องจากไฟฟ้าไม่มีตัวตนให้น้อง ๆ มองเห็นได้ ทำให้หลายคนเสียคะแนนในบทนี้เป็นส่วนใหญ่

      พี่ลูกตาลแนะนำให้น้อง ๆ ตั้งใจเรียนตั้งแต่เริ่มต้นบท เพื่อความเข้าใจที่ต่อเนื่อง และยึดมั่นในหลักการเป็นหลัก จากนั้นจึงประยุกต์ใช้ความรู้กับแต่ละโจทย์ และต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำโจทย์ค่อนข้างเยอะ จึงจะสามารถเอาชนะบทนี้ได้ค่ะ

ฟิสิกส์ ม.5 ข้อสอบ Midterm / Final ชอบออกแนวไหน?

      สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเก็บคะแนนสอบ Midterm / Final เพื่อคว้าเกรด 4 วิชาฟิสิกส์ ม.ปลาย มาครอบครองไว้ ก็รีบตามพี่ลูกตามมาดู แนวข้อสอบฟิสิกส์ ม.5 ว่าข้อสอบชอบออกแนวไหนกันได้เลย

ฟิสิกส์ ม.5 ข้อสอบ Midterm / Final ชอบออกแนวไหน?

ฟิสิกส์ ม.5 บทไหน ข้อสอบ A-Level ออกบ่อย?

      เนื้อหาฟิสิกส์ ม.5 เทอม 1 และ เทอม 2 เป็นเนื้อหาส่วนที่ออกสอบในสนามสอบ A-Level เยอะไม่แพ้ใครเลยนะ พี่ลูกตาลเลยจัดอันดับ TOP 5 บทออกสอบบ่อยในข้อสอบฟิสิกส์ A-Level มาฝากกันค่ะ

ฟิสิกส์ ม.5 TOP 5 บทออกบ่อยในข้อสอบ A-Level

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย : ฟิสิกส์ ม.6 ตามหลักสูตร สสวท. เรียนอะไรบ้าง?

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 เทอม 1

      คราวนี้ได้เวลาเจาะลึกเนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย ในส่วนของ ฟิสิกส์ ม.6 เทอม 1 แล้วค่ะ ในเทอมนี้น้องจะได้พบเจอกับเนื้อหาดังต่อไปนี้

สรุปเนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 เทอม 1

      เนื้อหากลุ่มไฟฟ้าบทสุดท้ายที่จะได้เรียนกันในฟิสิกส์ ม.6 เทอม 1 คือ บทที่ 15 แม่เหล็กและไฟฟ้า เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับแม่เหล็ก ในช่วงแรกของบท น้อง ๆ จะเรียนเรื่องแรงทางแม่เหล็ก สนามแม่เหล็ก แล้วต่อขยายไปสู่ความสัมพันธ์เกี่ยวกับแม่เหล็กและไฟฟ้า

      เช่น แรงเนื่องจากจุดประจุที่เคลื่อนที่ในบริเวณที่มีสนามแม่เหล็ก แรงดูด – แรงผลักอันเนื่องจากลวดตัวนำสองเส้นที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ซึ่งวางอยู่ในบริเวณที่มีสนามแม่เหล็ก เป็นต้น

      ตามมาด้วย บทที่ 16 ความร้อนและแก๊ส ที่จะได้รื้อฟื้นความรู้เกี่ยวกับความร้อน และการถ่ายโอนความร้อนที่เรียนกันมาแล้วตอน ม.ต้น แต่เนื้อหา ม.ปลาย จะได้เรียนลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ทั้งความเข้าใจและการคำนวณการถ่ายโอนความร้อนจนถึงอุณหถูมิผสม ลำดับขั้นของการเปลี่ยนแปลงสถานะและการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของสารต่าง ๆ และต่อด้วยทฤษฎีจลน์ของแก๊ส กฎของแก๊ส รวมไปถึงหลักการเทอร์โมไดนามิก

      ใน บทที่ 17 ของแข็งและของไหล เนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 เทอม 1 ในครึ่งแรกของบทนี้ น้องจะได้เรียนสมบัติของของแข็ง สภาพยืดหยุ่น กราฟของแรงและสภาพยืดหยุ่น ความเค้น ความเครียด ส่วนครึ่งหลังของบทจะเรียนเกี่ยวกับของไหล ความดันของของไหล แรงดัน แรงลอยตัว แรงหนืด รวมไปถึงอัตราการไหลและหลักการแบร์นูลี

เนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 เทอม 2

      มาถึงช่วงโค้งสุดท้ายของฟิสิกส์ ม.ปลาย กับเนื้อหา ฟิสิกส์ ม.6 เทอม 2 แล้วค่ะ สำหรับเนื้อหาที่น้อง ๆ จะได้เรียนกัน ประกอบด้วย 3 บท ดังนี้

สรุปเนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 เทอม 2

      เนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 เทอม 2 จะเป็นเนื้อหาฟิสิกส์แผนใหม่ ค่อนข้างคาบเกี่ยวกับรายวิชาวิทยาศาสตร์ พาร์ตเคมี หากใครถนัดทางสายวิชาเคมี บทเหล่านี้ก็จะไม่ยากเท่าไรค่ะ

      โดย บทที่ 18 คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เนื้อหาบทนี้จะเน้นไปทางการอ่านและจดจำ เป็นการบรรยายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความถี่ต่าง ๆ และการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน น้องคนไหนถนัดแนวอ่านและจดจำ ไม่เน้นการคำนวณ บทนี้ถือเป็นบทของน้อง ๆ แล้ว!! ซึ่งบทนี้อาจให้น้อง ๆ ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นต้องขยันเก็บรายละเอียดกันหน่อยนะคะ

      ส่วน บทที่ 19 ฟิสิกส์อะตอม น้อง ๆ จะได้เรียนประวัติศาสตร์การพัฒนาแนวคิดด้านโครงสร้างอะตอม ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละแนวคิดก็จะมีความเชื่อ วิธีการศึกษา การคำนวณที่รองรับแต่ละแนวคิด น้องต้องตั้งสติดี ๆ นะคะ ว่าเรากำลังศึกษาหรือดำเนินการตามแนวคิดระดับไหนอยู่

      และในบทสุดท้ายของวิชาฟิสิกส์ ม.6 เทอม 2 อย่าง บทที่ 20 ฟิสิกส์นิวเคลียร์และฟิสิกส์อนุภาค เนื้อหาส่วนแรกจะเป็นฟิสิกส์นิวเคลียร์ น้อง ๆ จะได้ศึกษาเกี่ยวกับนิวเคลียสของธาตุและการสลายตัว การเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ทั้งรูปแบบฟิชชันและฟิวชัน การสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี

      ต่อด้วยเนื้อหาส่วนหลังคือฟิสิกส์อนุภาค เป็นเนื้อหาแนวคิดสมัยใหม่ที่ได้รับการค้นพบด้านอนุภาคของสสาร การแลกเปลี่ยนอนุภาคสื่อแรงต่าง ๆ และ Standard Model เป็นต้น

ฟิสิกส์ ม.6 บทไหนง่าย? บทไหนยาก?

ฟิสิกส์ ม.6 บทไหนง่าย? บทไหนยาก?

      สำหรับเนื้อหาที่น้อง ๆ จะได้เรียนในฟิสิกส์ ม.6 ทั้งเทอม 1 และ 2 จะเน้นไปทาง กลุ่มความร้อนและสมบัติสาร และ กลุ่มฟิสิกส์แผนใหม่ ค่ะ

      ใน กลุ่มความร้อนและสมบัติสาร น้อง ๆ ยังต้องใช้การคำนวณอยู่มากเช่นเดิม รวมทั้งอาจมีการนำความรู้ในกลุ่มกลศาสตร์ และกลุ่มไฟฟ้ามาประยุกต์รวมได้ทุกเมื่อ

      เช่น การเคลื่อนที่ของลูกเหล็กจำนวนมากในกระบอก ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่แบบตกอิสระ อันนำไปสู่พลังงานศักย์และพลังงานจลน์ เพื่อถ่ายโอนให้เกิดพลังงานความร้อนและเกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ เป็นต้น

      ส่วนใน กลุ่มฟิสิกส์แผนใหม่ เนื้อหาจะเน้นความเข้าใจและการจดจำที่มากกว่ากลุ่มก่อน ๆ การคำนวณและการพลิกแพลงของโจทย์จะน้อยลง แต่เพิ่มเติมในด้านการวิเคราะห์มากขึ้น ดังนั้นอาจได้เจอกับข้อสอบแนววิเคราะห์ถูก / ผิด และน้อง ๆ ต้องอ่านหนังสือเพิ่มความจำให้มากขึ้นด้วยนะคะ

ฟิสิกส์ ม.6 ข้อสอบ Midterm / Final ชอบออกแนวไหน?

      แม้ว่าเนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 ที่น้อง ๆ จะได้เรียนกันทั้งในเทอม 1 และ 2 จะมีจำนวนบทที่น้อยกว่าเนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย ในระดับชั้นอื่น ๆ แต่ ข้อสอบ Midterm / Final ก็มีแนวข้อสอบที่หลากหลาย ตามนี้เลยค่ะ

ฟิสิกส์ ม.6 ข้อสอบ Midterm / Final ชอบออกแนวไหน?

ฟิสิกส์ ม.6 บทไหน ข้อสอบ A-Level ออกบ่อย?

      พี่ลูกตาลขอปักหมุดให้น้อง ๆ เลยว่าฟิสิกส์ ม.6 เป็นเนื้อหาส่วนสำคัญที่ไม่ควรพลาดของข้อสอบสนาม A-Level ใครอยากเก็บคะแนนมาตุนเอาไว้ ก็ตามไปดู TOP 5 เนื้อหาฟิสิกส์ ม.6 บทออกบ่อยในข้อสอบฟิสิกส์ A-Level เลย

ฟิสิกส์ ม.6 TOP 5 บทออกบ่อยในข้อสอบ A-Level

แนวข้อสอบฟิสิกส์ ม.ปลาย (Midterm / Final) พร้อมเฉลย by ดร.พี่ลูกตาล

ข้อที่ 1

แนวข้อสอบฟิสิกส์ ม.ปลาย Midterm / Final พร้อมเฉลย by ดร.พี่ลูกตาล (ข้อ 1)

เฉลย

เฉลยข้อสอบฟิสิกส์ ม.ปลาย Midterm / Final by ดร.พี่ลูกตาล (ข้อ 1)

ข้อที่ 2

แนวข้อสอบฟิสิกส์ ม.ปลาย Midterm / Final พร้อมเฉลย by ดร.พี่ลูกตาล (ข้อ 2)

เฉลย

เฉลยข้อสอบฟิสิกส์ ม.ปลาย Midterm / Final by ดร.พี่ลูกตาล (ข้อ 2)

      ใครมีอาการหน้ามืด ตาลาย คล้ายจะเป็นลม หลังจากที่อ่านเนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6) บ้าง? พี่ลูกตาลขอให้น้องใจเย็น ๆ และตั้งสติก่อนนะคะ แม้ว่าฟิสิกส์ ม.ปลาย หลายคนจะยกให้เป็นวิชาที่ยาก และทำเกรดได้ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก

      แต่พี่ลูกตาลเชื่อว่าหากน้อง ๆ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเรียน อ่านทบทวนเนื้อหาและฝึกฝนทำโจทย์บ่อย ๆ หรือหาคอร์สเรียนพิเศษฟิสิกส์เสริม ก็จะช่วยให้เรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย ได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น และทำคะแนนได้ดีกันทุกคนแน่นอน พี่ลูกตาลเป็นกำลังใจให้นะคะ 🥰

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ