ใครอยากเรียน ภาษาไทย ม.ปลาย ให้ปัง ตามพี่ยูมาทางนี้ได้เลย!!
ภาษาไทย เป็นหนึ่งในวิชาที่น้อง ๆ จะต้องเรียนกันทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว แถมยังเป็นวิชาสอบของสนามสำคัญ ๆ อีกหลายสนาม
จากครั้งก่อนที่พี่ยูได้พาน้อง ม.ต้น ไปเจาะเนื้อหา ภาษาไทย ม.ต้น กันไปแล้ว วันนี้พี่ยูขอพาน้อง ๆ ที่กำลังจะขึ้น ม.ปลาย หรือกำลังเรียนอยู่ในระดับชั้น ม.4 – 6 มาดูเนื้อหา ภาษาไทย ม.ปลาย ว่าต้องเรียนเรื่องอะไรกันบ้าง พร้อมกระซิบบอกแนวข้อสอบและเทคนิคพิชิตข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย ให้ดูเป็นตัวอย่าง เผื่อจะได้ลองฝึก ลองคิด ลองตอบ ตามกันด้วย 🤩
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจเลย!
ภาษาไทย ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6) เรียนอะไรบ้าง?
วิชาภาษาไทย ม.ปลาย น้อง ๆ ยังคงต้องเรียนเนื้อหาภาษาไทย 5 สาระสำคัญเหมือนที่ผ่านมาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับมัธยมต้น ได้แก่ การอ่าน / การเขียน / การฟัง การดู และการพูด / หลักการใช้ภาษา / วรรณคดีและวรรณกรรม
พี่ยู สรุปเนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6) โดยแยกออกเป็นเรื่องที่ต้องเรียนในแต่ละสาระ ดังนี้
1. สาระ : การอ่าน
- อ่านออกเสียงบทร้อยแก้ว / ร้อยกรอง
- อ่านแปลความ ตีความ และขยายความเรื่องที่อ่าน*
- อ่านวิเคราะห์ วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นโต้แย้ง*
- อ่านคาดคะเนเหตุการณ์และประเมินค่าเพื่อนำไปประยุกต์ใช้*
(* บทอ่านทั้งงานเขียนร้อยแก้วและร้อยกรอง) - มารยาทในการอ่าน
2. สาระ : การเขียน
- เขียนเรียงความ
- เขียนย่อความจากสื่อที่หลากหลากหลาย
- เขียนรายงานวิชาการ
- มารยาทในการเขียน
3. สาระ : การฟัง การดู และการพูด
- สรุปแนวคิดและแสดงความคิดเห็นจากเรื่องที่ฟังและดู
- วิเคราะห์แนวคิด การใช้ภาษา ความน่าเชื่อถือจากเรื่องที่ฟังและดู
- วิจารณญาณในการฟังและดู
- พูดในโอกาสต่าง ๆ
- พูดแสดงทรรศนะ
- พูดโต้แย้ง
- พูดโน้มน้าวใจ
- มารยาทในการฟัง การดู และการพูด
4. สาระ : หลักการใช้ภาษา
- ธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของภาษา
- พันธกิจของภาษา
- พลังของภาษา
- ส่วนประกอบของภาษาระดับต่าง ๆ (เสียง / คำ / ประโยค)
- การสร้างคำ
- อิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
- โครงสร้างประโยค
- การใช้ถ้อยคำและสำนวน
- ระดับภาษา
- ราชาศัพท์
- การแต่งบทร้อยกรองประเภทโคลง ฉันท์ ร่าย
5. สาระ : วรรณคดีและวรรณกรรม
- การวิเคราะห์คุณค่าด้านภาษา / ศิลปะการประพันธ์
- การวิเคราะห์คุณค่าด้านวัฒนธรรม / ความรู้ / ความเชื่อ
- การวิเคราะห์คุณค่าด้านข้อคิด คติธรรม
- การวิเคราะห์คุณค่าด้านอารมณ์
เนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย สาระวรรณคดีและวรรณกรรม มี รายชื่อวรรณคดี / วรรณกรรม (หนังสือเรียนกระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551) ที่น้อง ๆ จะได้เรียนกัน ได้แก่
วรรณคดีและวรรณกรรม - ภาษาไทย ม.4
- บทนมัสการมาตาปิตุคุณและนมัสการอาจาริยคุณ
- อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง
- นิทานเวตาลเรื่องที่ 10
- นิราศนรินทร์คำโคลง
- หัวใจชายหนุ่ม
- ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
- มงคลสูตรคำฉันท์
- มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก
วรรณคดีและวรรณกรรม - ภาษาไทย ม.5
- มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี
- ลิลิตตะเลงพ่าย
- บทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา
- คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
- โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน
วรรณคดีและวรรณกรรม - ภาษาไทย ม.6
- เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา
- สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
- กาพย์เห่เรือ
- สามัคคีเภทคำฉันท์
- ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ
- ขัตติยพันธกรณี
ภาษาไทย ม.ต้น vs ภาษาไทย ม.ปลาย แตกต่างกันอย่างไร?
แม้ว่าวิชาภาษาไทยระดับชั้นประถม มัธยมต้น จนถึงมัธยมปลาย จะเรียน 5 สาระสำคัญเหมือนกัน แต่เนื้อหาภาษาไทยของแต่ละระดับชั้นจะมีความแตกต่างกันในบางเรื่อง เช่น ความละเอียดลุ่มลึกของเนื้อหา ระดับความยากและซับซ้อนของบทอ่านหรือตัวอย่างถ้อยคำ สำนวน ฯลฯ เป็นต้น
เพื่อให้น้อง ๆ เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น พี่ยูจะ เปรียบเทียบเนื้อหาภาษาไทย ม.ต้น และภาษาไทย ม.ปลาย ให้ดูว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไรบ้าง
✓ ความเหมือนในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย
ความเหมือนกันของการเรียนวิชาภาษาไทย ม.ต้น และภาษาไทย ม.ปลาย คือ น้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ให้คล่องแคล่วยิ่งขึ้น เรียนรู้คำศัพท์ สำนวน ความหมายที่กว้างขึ้น
ได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านภาษา / วรรณคดีหรือวรรณกรรม และฝึกแต่งคำประพันธ์หรือร้อยกรองของไทย
รวมทั้งได้ฝึกการใช้ถ้อยคำ สำนวน ให้เหมาะสมในการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ และได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ทางภาษาเรื่อง เสียง คำ ประโยคด้วย
✕ ความต่างเมื่อได้เรียนภาษาไทย ม.ปลาย
ความแตกต่างของการเรียนภาษาไทยในระดับชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย คือ ภาษาไทย ม.ปลาย น้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะทางภาษาหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เพิ่มวงศัพท์ สำนวน ลักษณะทางความหมายของถ้อยคำ ขอบเขตความรู้และข้อสังเกตกว้าง ละเอียด และยากมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากเนื้อหาหรือหลักเกณฑ์ทางภาษา การฝึกทักษะทางภาษาทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน น้อง ๆ จะได้เรียนเรื่องกระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านภาษา / วรรณคดีหรือวรรณกรรม ที่มีมิติหลากหลายขึ้น การแต่งคำประพันธ์ตามฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยก็เพิ่มประเภทหลักและประเภทย่อยมากขึ้นกว่าตอนเรียนชั้นประถมหรือมัธยมต้น การใช้ถ้อยคำ สำนวน ประโยค ต้องคำนึงถึงปัจจัยและรูปแบบการสื่อสารที่ซับซ้อนขึ้น
เรียกง่าย ๆ ว่าการเรียนภาษาไทย ยิ่งระดับสูงขึ้นก็จะได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ทางภาษา ข้อยกเว้น ข้อสังเกต ตัวอย่าง ที่เพิ่มความละเอียดลุ่มลึก ความซับซ้อนและขยายวงความรู้ให้กว้างขวางมากขึ้นนั่นเอง
การสอบวิชาภาษาไทย ระดับ ม.ปลาย มีสอบสนามไหนบ้าง?
พี่ยูขอบอกเลยว่า การสอบวิชาภาษาไทยระดับ ม.ปลาย มีสอบทั้งสนามในโรงเรียน และสนามสำคัญระดับประเทศ เลยนะ โดยสามารถแบ่งสนามสอบสำคัญออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. ข้อสอบในระบบวัดและประเมินของโรงเรียน (มีคะแนน มีเกรด) เช่น
- ข้อสอบเก็บคะแนนระหว่างภาค
- ข้อสอบกลางภาค / ปลายภาค
2. ข้อสอบในระบบวัดและประเมินระดับชาติ เช่น
ข้อสอบ O-NET ม.6
3. ข้อสอบแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศทางภาษาไทย เช่น
เพชรยอดมงกุฎ ม.ปลาย
4. ข้อสอบแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัย เช่น
- TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล (ด้านความสามารถทางภาษา)
- A-Level ภาษาไทย
- NETSAT ภาษาไทย
รู้ไว้ไม่พลาด! แนวข้อสอบ ภาษาไทย ม.ปลาย เป็นอย่างไร?
เตรียมตัวให้ดี… พี่ยูจะแอบกระซิบ แนวข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย ให้ฟัง!! โดยขอสรุปจากภาพรวมของข้อสอบ ดังนี้
- ข้อสอบในระบบวัดและประเมินของโรงเรียน
- ข้อสอบในระบบวัดและประเมินระดับชาติ
- ข้อสอบแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศทางภาษาไทย
- ข้อสอบแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัย
แนวข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย โดยทั่วไปพบว่า
1. ด้านเนื้อหาตามหลักสูตร
- เน้นออกตามหลักสูตร เช่น
– ข้อสอบกลางภาค / ปลายภาค
– ข้อสอบ O-NET ม.6
– ข้อสอบ A-Level - เน้นประมวลความถนัดและทักษะทางภาษาที่ผ่านการเรียนตามหลักสูตรและประสบการณ์การใช้ภาษาไทยนอกหลักสูตร เช่น
– ข้อสอบ TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล (ความสามารถทางภาษา)
– ข้อสอบ NETSAT ภาษาไทย
– ข้อสอบ A-Level ภาษาไทย (บางข้อ)
2. ด้านรูปแบบข้อสอบและสิ่งที่ต้องการวัดความรู้ซึ่งสังเกตจากโจทย์และตัวเลือก
- เน้นรูปแบบปรนัย หลายตัวเลือก (ส่วนใหญ่มี 5 ตัวเลือก) เลือกเพียง 1 คำตอบ เช่น ข้อสอบ A-Level / TGAT2 (ความสามารถทางภาษา) / O-NET
- มีทั้งวัดความรู้ความจำ แต่ที่นิยมมาก คือ คิดวิเคราะห์โดยมีพื้นฐานจากความรู้ความจำหรือแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์หรือระเบียบการใช้ภาษา เช่น ข้อสอบกลางภาค / ปลายภาค / A-Level / O-NET
- ให้น้ำหนักกับข้อสอบประเภทวัดทักษะ ประสบการณ์ทางภาษา โดยเฉพาะเรื่องคำศัพท์ / สำนวน / ข้อบกพร่องในการใช้ภาษาแบบต่าง ๆ สู่การประเมินความถนัดด้านการใช้ภาษามากยิ่งขึ้น เช่น
– ข้อสอบ TGAT2 (ความสามารถทางภาษา)
– ข้อสอบ A-Level (บางข้อ)
– ข้อสอบ NETSAT
3. ด้านเนื้อหาตามสาระย่อย 5 สาระ
- เน้นทั้ง 5 สาระ ที่เรียนตามหลักสูตร เช่น
– ข้อสอบกลางภาคและปลายภาค
– ข้อสอบ O-NET ม.6 - บางสนามสอบเน้นเพียง 4 สาระ (หลักการใช้ภาษา / การอ่าน / การเขียน / การฟัง การดู และการพูด) ไม่เน้นสาระวรรณคดีและวรรณกรรม เช่น
– ข้อสอบ A-Level - บางสนามสอบเน้นเพียง 2 – 3 สาระ (หลักการใช้ภาษา / การอ่าน / การเขียน) เช่น
– ข้อสอบ TGAT2 (ความสามารถทางภาษา)
– ข้อสอบ NETSAT
ตัวอย่างข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย พร้อมเฉลย by พี่ยู
หลังจากที่ได้รู้แนวข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย ไปแล้ว น้อง ๆ หลายคนคงอยากรู้ว่าข้อสอบภาษาไทยระดับชั้น ม.ปลาย แต่ละสนามมีความยาก – ง่ายประมาณไหน? มีวิธีวิเคราะห์โจทย์อย่างไร? พี่ยูไม่พลาดที่จะหยิบ ตัวอย่างข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย พร้อมเฉลยละเอียด มาฝากกัน
แนวข้อสอบ A-Level ภาษาไทย สาระการอ่าน
เฉลยแนวข้อสอบ A-Level ภาษาไทย สาระการอ่าน
แนวข้อสอบ TGAT2 (ด้านความสามารถทางภาษา)
เฉลยแนวข้อสอบ TGAT2 (ด้านความสามารถทางภาษา)
ติวตรงจุด! ภาษาไทย ม.ปลาย บทยอดฮิต ออกสอบบ่อย
ถ้าอยากกวาดคะแนนสอบวิชาภาษาไทยให้ตุงกระเป๋าหรืออุ่นใจได้แต้ม น้อง ๆ ต้องอ่านหนังสือแบบเค้นประเด็น ฝึกทำโจทย์ หรือติวสอบให้ตรงจุด สำหรับ บทยอดฮิต ออกสอบบ่อย ของข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย พี่ยูได้วิเคราะห์ประเด็นหลักที่มักออกข้อสอบใน 3 สนามสำคัญของระดับชั้น ม.ปลาย คือ ข้อสอบ TGAT2 (ความสามารถทางภาษา), ข้อสอบ A-Level และข้อสอบ NETSAT ดังนี้
1. ข้อสอบ TGAT2 (ด้านความสามารถทางภาษา) ออกสอบ 4 ประเด็น
- การสื่อความหมาย
– ความหมายกว้าง / ความหมายแคบ
– ความหมายโดยตรง / ความหมายโดยนัย
– ความหมายประจำคำ / ความหมายตามบริบท - การใช้ภาษา
– ข้อบกพร่องในการใช้ภาษาแบบต่าง ๆ (กำกวม / ฟุ่มเฟือย / ต่างระดับ)
– การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับบริบทหรือความหมาย
– ระดับภาษา - การอ่าน
– การอ่านสรุปความ / จับใจความ
– การอ่านวิเคราะห์จุดประสงค์
– การอ่านตีความ / อนุมาน - การเข้าใจภาษา
– การเลือกใช้ถ้อยคำ
– การเลือกใช้สำนวน
2. ข้อสอบ A-Level ออกสอบ 4 สาระ (ไม่ออกสาระวรรณคดีและวรรณกรรม)
- การอ่าน
– การอ่านวิเคราะห์จุดประสงค์ / น้ำเสียง / เจตนา
– การอ่านเพื่อเข้าใจเนื้อหา / จับใจความ
– การอ่านวิเคราะห์ข้อคิด
– การอ่านตีความ / อนุมาน
– การอ่านวิเคราะห์ทรรศนะ ข้อคิดเห็น - การเขียน
– โวหารการเขียน
– การเขียนเรียงความ
– การเรียงลำดับข้อความ
– ภาษาแสดงทรรศนะ
– ภาษาแสดงเหตุผล
– ภาษาโน้มน้าวใจ
– ภาษาโต้แย้ง - การฟังและการพูด
– การอ่านวิเคราะห์จุดประสงค์ / น้ำเสียง / เจตนา
– การถาม – ตอบที่สัมพันธ์กัน
– การสรุปสาระสำคัญจากเรื่องที่ฟัง
– การพูดในโอกาสต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
– การฟังอย่างมีวิจารณญาณ - หลักการใช้ภาษา
– การเขียนสะกดคำ
– ประโยคบกพร่อง (กำกวม / ฟุ่มเฟือย / ต่างระดับ)
– การใช้คำตามบริบท
– คำที่มีความหมายตรง / ความหมายอุปมา
– คำยืมภาษาอังกฤษ
– ถ้อยคำสำนวน
– โครงสร้างและเจตนาของประโยค
– ระดับภาษา
– ราชาศัพท์*** ไม่ออกสาระวรรณคดีและวรรณกรรม ***
3. ข้อสอบ NETSAT ออกสอบ 2 สาระ คือ
- การอ่าน
– ความหมายของคำ วลี ประโยค และข้อความ
– ถ้อยคำหรือข้อความที่แสดงเจตนาต่าง ๆ
– การสรุปใจความสำคัญ
– การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น
– การตีความและประเมินคุณค่า
– การอ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ - การเขียน
– การใช้คำ วลี ประโยค และข้อความ
– การเชื่อมโยงความ
– การใช้ภาษาระดับต่าง ๆ
– การเขียนย่อหน้า
เทคนิค “รู้ 3 ทำ 2 by พี่ยู” พิชิตข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย ให้คะแนนทะลุเป้า
รู้ 3 มีอะไรบ้าง ?
1. รู้ศักยภาพตัวเอง
เทคนิครู้ 3 ในข้อแรก สิ่งที่น้อง ๆ ต้องรู้คือ รู้ว่าวิชาภาษาไทย ตัวเราเองมั่นใจขนาดไหน? เคยลองทำข้อสอบจริงหรือยัง? และทำได้แค่ไหน? เพื่อประเมินศักยภาพของตัวเอง
โดยเฉพาะ การจำลองสถานการณ์การสอบด้วยการทำข้อสอบย้อนหลังของสนามนั้นอย่างน้อย 2 – 3 ปีล่าสุด (กำหนดเวลาเสมือนจริง ไม่คิดหาตัวช่วยระหว่างหาคำตอบ) แล้วดูคะแนนที่ได้ในแต่ละฉบับ ดูคะแนนเฉลี่ยจากทุกฉบับที่ทำได้ ให้คะแนนเป็นตัวประเมินความสามารถตามสภาพจริง อย่าเพิ่งคิดว่า ได้เกรด 3.5 หรือเกรด 4 ที่โรงเรียนมาจะเป็นตัวการันตีว่าเก่งหรือแน่ภาษาไทย เราควรเข้าใจความจริงว่า สุดท้ายเราวัดและแข่งขันกันที่ผลการสอบของสนามนั้น ๆ
ต้องรู้ว่า คณะ / มหาวิทยาลัยที่จะสอบ ต้องใช้คะแนน A-Level ภาษาไทยหรือไม่? ใช้เท่าไหร่? แต่ไม่ว่าจะใช้สัดส่วนกี่ % ถ้าต้องใช้คะแนนก็คือสำคัญ จะได้ไม่คิดทิ้งขว้างและตั้งใจจริง ที่สำคัญถ้ายิ่งใช้คะแนนเยอะก็ยิ่งต้องทุ่มเทให้มากเป็นพิเศษ
อย่าลืมดูเงื่อนไขคะแนนวิชาอื่น ๆ หรืออย่าเทอย่าทิ้งวิชาอื่นที่ต้องใช้คะแนนยื่นร่วมด้วยนอกจากคะแนนวิชาภาษาไทย หลายคนมักประมาท คิดว่าถ้าได้คะแนนสูง ๆ จากวิชาหนึ่งแล้ว วิชาอื่นก็จะไม่สนใจเลย ต้องดูคะแนนต่ำสุดของปีล่าสุดหรือ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ของสาขาหรือคณะที่เราสนใจจะเลือกเรียนด้วยว่า คะแนนรวมควรได้ไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ หรือคะแนนที่ปลอดภัยควรเผื่อไว้กี่คะแนนจากวิชาไหนบ้าง
ยิ่งถ้าน้องได้ได้ลองทำข้อสอบจริงหลายฉบับแล้ว ต้องสังเกตและสรุปให้ได้ว่า บทไหนตัวเองพลาดบ่อย? บทไหนเป็นจุดแข็งที่ปล่อยผ่านได้อย่างสบายใจ? จะได้แก้ไขปัญหาเฉพาะบท เฉพาะเรื่องให้ตรงจุดที่สุด การจับปัญหาได้แล้วรีบแก้จะดีกับเราอย่างแท้จริง
2. รู้วิธีที่คนสอบติดใช้ และ Timeline การสอบ
น้อง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเตรียมตัวสอบภาษาไทย ม.ปลาย อย่างไร? คนสอบติดถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี หรือเป็นโมเดลให้เราทำตามได้ แบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์
ถ้าน้องรู้ว่าคนที่สอบติดมีวิธีเตรียมตัวอย่างไร ก็ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก นำวิธีที่เขาเหล่านั้นใช้มาเป็นทางลัดที่มีคนเคยผ่านไปแล้วถึงที่หมายได้จริง เช่น อ่านรีวิวการเตรียมตัวสอบ คลิปแนะนำการเตรียมตัวสอบจากรุ่นพี่ ประเด็นปัญหาที่รุ่นพี่มาเล่าหรือเน้นย้ำว่าอย่าทำพลาดเรื่องนั้นเรื่องนี้
สำคัญอีกเรื่องที่ต้องรู้ก็คือ Timeline การสอบ รู้ว่าจะเริ่มสอบช่วงไหน ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนไหน เพื่อจะได้วางแผนต่อไปได้ ทั้งนี้การเตรียมตัวก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพวิชาภาษาไทยของของน้อง ๆ แต่ละคนที่ดูได้จากการลองทำข้อสอบจริง
พี่ยูแนะนำว่าไม่ควรดูหรือมั่นใจว่า ตัวเองจะทำข้อสอบสนามนั้นได้ดีเพียงดูจากเกรดของโรงเรียนที่ผ่านมา เพราะหลายครั้งจากหลายคนพบและตระหนักแล้วว่า เกรดไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า จะทำข้อสอบจริงได้มากหรือน้อย สุดท้ายขึ้นอยู่กับความแม่นยำต่อเนื้อหาในประเด็นที่ออกสอบจริงและประสบการณ์การทำข้อสอบของสนามนั้นแบบมากพอจนตัวเราเองเห็นแนวโน้มหรือโอกาสและปัญหาที่ต้องพัฒนาหรือแก้ไขให้ทันก่อนถึงวันสอบจริง
3. รู้แนวข้อสอบ (ข้อนี้สำคัญสุด)
เทคนิครู้ 3 ในข้อสุดท้ายนี้ก็คือ ต้องรู้ Test Blueprint ที่เป็นปัจจุบันหรืออย่างน้อยย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี แต่ถ้าจะให้ดีสุดคือข้อมูลปีที่น้อง ๆ จะสอบ และ 1 ปีก่อนหน้า จะได้นำมาเทียบกันดูว่าบทไหนเป็นขาประจำ ออกซ้ำ ออกบ่อย หรือบทไหนไม่ออกเลย จะได้เตรียมตัวแบบไม่หลงทาง อ่านตรงจุด สะดุดเจอเแต่เรื่องที่ทุ่มเทไปแบบไม่เสียเวลาหรือไม่เปลืองแรง
พี่ยูแนะนำว่าควรฝึกทำข้อสอบจริงย้อนหลัง อย่างน้อย 1 – 3 ฉบับ ที่ใกล้ปีที่เราสอบที่สุด เวลาทำข้อสอบก็ให้ลองสังเกตประเด็นที่ถามในบทนั้น จะได้ตามอ่านได้แบบล็อกเป้าหมาย
บทไหนที่รู้ว่าออกชัวร์ ออกเยอะ ให้น้อง ๆ เก็บบทนั้นก่อนได้เลย ส่วนบทอื่นที่ออกน้อยข้อก็ไม่ใช่ทิ้งขว้าง ถ้ามีเวลาควรเก็บให้ได้ทุกบททุกข้อเท่าที่จะทำได้สุดความสามารถ
ทำ 2 มีอะไรบ้าง ?
1. ทำแผน (อย่างรอบคอบ & รอบด้าน)
– แผนก่อนสอบ คนสอบติดมักมีแผนการใช้เวลาก่อนสอบ เช่น การอ่านหนังสือ การทำโจทย์ การทบทวน การลำดับความสำคัญว่าจะทำอะไร จะอ่านวิชาไหนบ้าง ฯลฯ
– แผนวันสอบ พอถึงวันสอบจริงอาจเกิดอาการลนได้ แต่ต้องนิ่งให้ไว สติต้องกลับมา และควรวางแผนวันสอบ เช่น ไม่จำเป็นต้องทำเรียงข้อ ข้อไหนทำได้ทำก่อน หรือถ้าจะมั่วก็ต้องดูแนวโน้มตัวเลือกที่น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
2. ทำตามแผน (อย่างจริงจัง & อย่างสม่ำเสมอ)
– แผนอ่านหนังสือ เก็บเนื้อหาพื้นฐาน ประเด็นที่ข้อสอบมักถาม หลักการที่จำเป็นต้องรู้ เช่น จะอ่านวันละกี่ชั่วโมง สัปดาห์ไหน เดือนไหน ต้องอ่านอะไรได้ถึงไหน แผนระหว่างทางอาจยืดหยุ่นได้ แต่เป้าหมายปลายทางจะต้องเห็นผลจริง ไม่ผ่อนผันแบบเลื่อนลอย อย่ายืดหยุ่นแบบไม่เห็นวันที่จะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ขืนทำแบบนั้น ไม่เรียกว่ามีแผน หรือมีแผนแต่เป็นแผนที่ไกลจากความสำเร็จ
– แผนทำโจทย์จริง อย่างน้อย 3 – 5 ฉบับ ที่ผ่านมาต้องได้ลองทำเองจริงจัง จับเวลาเสมือนจริง สังเกตแนวคำถาม ประเด็นที่โจทย์จี้ไปตรงจุดของบทนั้น ข้อไหนตรงกับบทไหนเรื่องไหน ตัวเราเองมักพลาดที่เรื่องอะไร โจทย์แนวไหนเรื่องไหนที่ทำให้เสียเวลาคิดนาน จะคิดจะข้ามแนวโจทย์ประเภทไหน เรื่องไหนแนวไหนที่ออกบ่อยหลายปี ถ้าทิ้งถ้าเทจะเสียคะแนนฟรีทั้ง ๆ ที่รู้ก่อนแล้วว่าจะออก แบบนั้นไม่ควรข้าม ไม่ควรเท ไม่ควรทิ้ง
พลาดข้อไหนต้องเรียนรู้ แม่นข้อไหนแนวไหนแล้วอาจปล่อยผ่านได้แบบไม่ต้องกังวลจนลนลาน ทำโจทย์จริงไม่ได้ให้ได้ชื่อว่า ขยันทำโจทย์ได้มาก ไม่ได้เก็บจำนวนฉบับหรือจำนวนข้อไว้ขิงใคร แต่ทำโจทย์เพื่อให้เห็นแนว เห็นประเด็นที่ข้อสอบเน้น ชอบถาม ที่สำคัญคือ เห็นว่าบทไหนเป็นปัญหาที่ต้องแก้ให้ทันก่อนวันสอบจริง
– แผนทบทวน บทที่เป็นปัญหา / พลาดบ่อย จะทบทวนได้ตรงประเด็นจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า จะทบทวนอะไร ทบทวนจุดไหน จะทบทวนให้ไม่เสียแรงเสียเวลาเปล่า สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้สภาพ ต้องรู้จุดอ่อนจุดด้อยของวิชานั้น เรื่องนั้น ประเด็นนั้น เช่น ถ้าทำโจทย์ 3 ฉบับย้อนหลัง ผิดเรื่องราชาศัพท์ทุกฉบับ ต้องสังเกตว่า แต่ละฉบับที่ทำผ่านมา ออกราชาศัพท์ที่เราต้องรู้หรือแม่นหัวข้ออะไร เช่น หลักการใช้ “ทรง” หรือการใช้คำว่า “บรม” หรือกริยาราชาศัพท์คำไหนที่ออกบ่อย
ถ้ารู้ความผิดพลาดของตัวเราเองแบบละเอียด เราจะทบทวนหรือแก้ไขได้ง่าย เหมือนกินยารักษาตรงตามอาการ ไม่ใช่ทบทวนหมดเหมือนกินยาชุด อาการไหนหนักหรือทุเลาแล้วก็ยังกินยาทั้งชุด ยาบางชุดไม่ตรงกับอาการที่สาหัสอีก แบบนั้นกินยาไปเปลืองเปล่า นอกจากโรคจะไม่หาย ยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ให้ป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรังอีก
แผนทุกอย่างที่วางไว้ต้องทำให้ได้อย่างที่วางแผน หากน้อง ๆ จริงจัง สม่ำเสมอ และทุ่มเทสุดฤทธิ์ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว สู้ ๆ นะ อย่าลืมว่า ตัวเราเองรอรับความสำเร็จของตัวเราเองอยู่ ยังมีพี่ยูและเพื่อน ๆ รวมถึงคนที่พร้อมสนับสนุนและฮีลใจเราพร้อมเป็นแรงใจให้เราผ่านทุกการทดสอบไปได้ด้วยดีนะ ลุย ลุย ลุย
พี่ยูหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้น้อง ๆ มีความเข้าใจในเนื้อหาวิชาภาษาไทย ม.ปลาย มากขึ้นว่าเรียนเรื่องอะไรบ้าง? แนวข้อสอบเป็นอย่างไร? และนำความรู้ไปใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือเนื้อหาวิชาภาษาไทย ม.ปลาย และพิชิตคะแนนภาษาไทยในสนามสอบสำคัญ ๆ ได้
หรือหากใครต้องการตัวช่วยติวภาษาไทย พี่ยูขอแนะนำ คอร์สภาษาไทย ม.ปลาย และ คอร์สภาษาไทย A-Level ที่จะช่วยให้น้อง ๆ พิชิตเกรด 4 และเพิ่มความมั่นใจก่อนลงสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัย
โดยพี่ยู สรุปเนื้อหาไว้ครบ สกัดประเด็นที่จำเป็นต้องรู้ และรวบรวมข้อสอบจากหลากหลายสนามให้ลองฝึกทำ พร้อมเสริม Harmonic Memo สรุปจำเป็นทำนอง สนุกท่องเป็นจังหวะ เทคนิคช่วยจำที่นำไปใช้ได้จริง อยากเรียนภาษาไทยให้สนุก ห้ามพลาดเด็ดขาดเลย!!