สวัสดีเด็ก WE ทุกคน 🤗 วันนี้ พี่ยู สุดยอดกูรู “ภาษาไทย” ยุคใหม่ แวะมาทักทาย พร้อมนำความรู้เกี่ยวกับวิชาภาษาไทยมาแบ่งปันกันอีกเช่นเคย ในครั้งนี้พี่ยูเลือกหยิบหัวข้อที่น่าสนใจอย่าง สำนวนไทย มาให้ได้เรียนรู้กัน
น้อง ๆ รู้รึเปล่าว่า สำนวนไทยที่เราพบเห็นผ่านตาในชีวิตประจำวัน หรือได้ยินกันจนคุ้นหูเนี่ย เป็นเนื้อหาที่เจอได้บ่อย ๆ ในข้อสอบสนามสำคัญ ๆ หลายสนามเลยนะ
พี่ยูจัดหนักจัดเต็มเนื้อหามาให้ครบ ทั้งความหมายของสำนวนไทย ที่มาของสำนวนไทย สำนวนและความหมายน่ารู้ ออกสอบบ่อย งานนี้มีตัวอย่างข้อสอบเรื่องสำนวนไทยด้วย รีบตามพี่ยูมาดูกันได้เลย!!
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ
สำนวนไทย อยู่ในเนื้อหาวิชาภาษาไทย ระดับชั้นไหน?
![สำนวนไทย อยู่ในเนื้อหาวิชาภาษาไทย ระดับชั้นไหน?](https://www.webythebrain.com/wp-content/uploads/2024/02/asian-student-high-school-uniform-thinking-gesture-happy-smile-with-creative-with-space-text.jpg)
ก่อนที่จะเริ่มเจาะลึกเนื้อหาสำนวนไทย พี่ยูเชื่อว่าคงมีน้อง ๆ หลายคนที่อาจกำลังทำหน้างงด้วยความสงสัยว่า เราได้เรียนสำนวนไทยกันในระดับชั้นไหน?
พี่ยูตอบเลยว่า สำนวนไทยอยู่ในเนื้อหาภาษาไทยทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถม / มัธยมต้น / มัธยมปลาย ไปจนถึงมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว
และทุกสนามสอบที่วัดความรู้หลักการใช้ภาษาไทยจะมีข้อสอบเรื่องสำนวนไทย ไม่เพียงข้อสอบสำหรับนักเรียนทุกระดับเท่านั้นนะ แม้กระทั่งข้อสอบสอบเข้าทำงาน หรือรับราชการ ก็มีข้อสอบเรื่องสำนวนไทยด้วย ออกทุกระดับว่างั้น
นอกจากน้อง ๆ จะได้ทำข้อสอบสำนวนไทยในสนามต่าง ๆ แล้ว ยังมีการใช้สำนวนไทยในชีวิตประจำวันอยู่ด้วยจนบางคนไม่ทันสังเกต เช่น การสนทนา / ข่าว / รายการทีวี / ละคร อะนิเมะ การ์ตูน หรือภาพยนตร์ ฯลฯ เรียกว่าสำนวนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ
พี่ยูพาทำความรู้จักความหมายของ สำนวนไทย คืออะไร?
![ชวนรู้จักความหมายของสำนวนไทย คืออะไร?](https://www.webythebrain.com/wp-content/uploads/2024/02/what-is-thai-aphorism.jpg)
สำนวน หมายถึง คำคำเดียว กลุ่มคำ ประโยค หรือข้อความ ที่ไม่ได้หมายความตามรูป แปลตามตัวอักษรแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ เพราะใช้สื่อความหมายในเชิงเปรียบเทียบ หลายสำนวนต้องอาศัยบริบทความเข้าใจทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้ใช้สำนวนนั้นร่วมด้วย จึงจะเข้าใจความหมายได้รวดเร็วหรือเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รู้ที่มาที่ไป เรียกง่าย ๆ ว่า มีอารมณ์ร่วมในความหมายของสำนวนและสถานการณ์นั้น ๆ
สำนวนไทย จึงหมายถึง คำ กลุ่มคำ ประโยค หรือข้อความ ในภาษาไทย ที่ไม่ได้หมายความตามรูป แปลตามตัวอักษรแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ เพราะใช้สื่อความหมายในเชิงเปรียบเทียบ ต้องอาศัยบริบทความเข้าใจทางสังคมและวัฒนธรรมไทยร่วมด้วย จึงจะเข้าใจความหมายได้รวดเร็วหรือเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รู้ที่มาที่ไป
สำนวนในแต่ละภาษา สามารถสะท้อนวัฒนธรรมและวิธีคิดของคนในสังคมผู้ใช้ภาษานั้น เป็นคลังภาษาและบันทึกความคิดความเข้าใจและการมองโลกของผู้ใช้สำนวนในภาษานั้น ๆ ได้อีกด้วย
ถ้อยคำสำนวน ที่ใช้สนทนาหรือถ่ายทอดเป็นตัวอักษร มีทั้งสำนวนไทยที่มีแบบแผนการใช้คำศัพท์ที่สืบทอดมาหลายรุ่นอายุของผู้ใช้ภาษานั้น และมีทั้งที่เป็นสำนวนเกิดใหม่ แหวกขนบ หรือล้อเลียนสำนวนแบบแผนที่มีอยู่เดิม
สำนวนไทย มีที่มาจากอะไร?
![ที่มาของสำนวนไทย มาจากอะไรบ้าง](https://www.webythebrain.com/wp-content/uploads/2024/02/pantomime-khon-festival-candles.jpg)
สำนวนไทยที่น้อง ๆ คุ้นเคย หรือสำนวนไทยแปลกหูแปลกตา ที่เพิ่งเคยได้ยินหรือเห็นเป็นครั้งแรก สำนวนในภาษาไทยเหล่านี้มีที่มาหลากหลาย เช่น
1. มาจากวรรณคดี / วรรณกรรม (นิทานพื้นบ้าน / นิทานชาดก ฯลฯ) เช่น
ศรศิลป์ไม่กินกัน (มาจาก รามเกียรติ์)
= ทำอันตรายต่อกันไม่ได้ / ไม่ถูกกัน เจอกันมักวิวาทกัน
ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง (มาจาก อิเหนา)
= ตำหนิผู้อื่นเรื่องใดแล้วตนก็กลับทำในเรื่องนั้นเสียเอง
2. มาจากศาสนาและความเชื่อ เช่น
สวรรค์ (อยู่) ในอก นรก (อยู่) ในใจ
= ความสุขที่เกิดจากการทำความดี หรือความทุกข์ที่เกิดจากการทำความชั่ว ย่อมอยู่ในใจของผู้ทำเอง
กรวดน้ำคว่ำขัน
= ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
3. มาจากการละเล่น / การแข่งขัน เช่น
ล้มกระดาน (มาจาก การเล่นหมากรุก)
= การที่ฝ่ายมีอำนาจล้มเลิกการประชุมหรือกิจการใด ๆ เสียกลางคัน
สู้ยิบตา (มาจาก การเล่นไก่ชน / เล่นตีไก่)
= สู้จนถึงที่สุด, สู้ไม่ถอย (กร่อนเสียงมาจาก สู้จนเย็บตา)
4. มาจากการสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์หรือสัตว์ เช่น
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง (การกระทำของมนุษย์)
= ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล
ปลาหมอตายเพราะปาก (พฤติกรรมของปลาหมอ)
= คนที่พูดพล่อยจนได้รับอันตราย
5. มาจากการสังเกตธรรมชาติแวดล้อม / ลักษณะของพืช เช่น
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
= ลูกย่อมไม่ต่างกับพ่อแม่มากนัก
ต้นไม้ตายเพราะลูก
= พ่อแม่ที่รักลูกมาก ถ้าลูกได้รับความเดือดร้อนหรือเป็นอันตราย พ่อแม่ก็จะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะลูกด้วย
สำนวนไทย ที่พบเจอได้บ่อยในชีวิตประจำวัน
หลังจากที่ได้รู้ความหมายและที่มาของสำนวนไทยกันไปแล้ว คราวนี้พี่ยูจะยกตัวอย่างสำนวนไทยที่มักพบหรือใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน ให้น้อง ๆ ลองสังเกตว่าเคยเห็น หรือเคยได้ยินสำนวนในภาษาไทยเหล่านี้มาก่อนหรือเปล่า
![ตัวอย่างสำนวนไทย ที่พบเจอได้บ่อยในชีวิตประจำวัน](https://www.webythebrain.com/wp-content/uploads/2024/02/common-thai-aphorism.jpg)
1. มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ
= ไม่ช่วยทำแล้วยังขัดขวางการทำงานของผู้อื่น
เช่น พี่ที่ออฟฟิศคนึงชอบทำตัวมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ นอกจากจะไม่คิดช่วยงานอะไรใครแล้ว ยังเอาแต่พูดขัด พูดติ พูดแทรก พูดเอาดีใส่ตัว จนคนอื่นทำงานกันลำบาก
2. ดินพอกหางหมู
= งานหรือหนี้สินเป็นต้นที่คั่งค้างพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องลำบากหรือยุ่งยากเดือดร้อน
เช่น รายงานที่ครูให้ทำ 3 วิชา ตอนนี้ยังไม่เริ่มทำเลยสักงาน วันนี้มีรายงานวิชาใหม่เข้ามาอีก ตอนนี้งานที่ต้องทำส่งเป็นดินพอกหางหมูแล้วจ้า
3. ปากเปียกปากแฉะ
= เรียกการว่ากล่าวตักเตือนซํ้าแล้วซํ้าเล่าก็ยังไม่ได้ผลตามที่มุ่งหมาย
เช่น แม่เตือนแล้วเตือนอีกจนปากเปียกปากแฉะว่า อย่าเล่นมือถือตอนกินข้าว แต่ก็ไม่เคยเชื่อไม่เคยทำตาม แม่ก็เพลียและเจ็บคอมากนะ
สำนวนไทย ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน
ตามพี่ยูมาดูกันต่อกับตัวอย่างสำนวนไทยที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ไม่เหมือนกัน ใช้แทนกันไม่ได้ เช่น กลุ่มสำนวนที่มีความหมายร่วมกันว่า
“การเข้าไปขัดขวางหรือทำให้ผู้อื่นทำหรือดำเนินการไม่สะดวก”
![ตัวอย่างสำนวนไทย ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน](https://www.webythebrain.com/wp-content/uploads/2024/02/similar-thai-aphorism.jpg)
1. ขัดขา / ขัดแข้งขัดขา
= จงใจขัดขวางเพื่อไม่ให้ผู้อื่นทำงานได้สะดวก
เช่น พอเขาจะทำโครงการนี้เพื่อสร้างผลงานให้หัวหน้าเห็น เธอก็ชอบไปขัดแข้งขัดขาเขาจนทำโครงการล่าช้า ไม่เสร็จเสียที
2. ชักซุงตามขวาง
= ขัดขวางผู้มีอำนาจย่อมได้รับความเดือดร้อน
เช่น ใครจะกล้าไปมีเรื่องหรือขัดใจผู้มีอิทธิพลในท้องที่ได้ล่ะ ทำแบบนั้นก็ชักซุงตามขวาง มีหวังได้เดือดร้อนแน่
3. ก้างขวางคอ
= ขัดขวางให้ผู้อื่นเสียประโยชน์หรือไม่สะดวก (มักใช้ในบริบทที่เข้าไปขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล)
เช่น หนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มาเที่ยวกันเป็นคู่ ๆ เขาก็อยากใช้เวลาโรแมนติกส่วนตัวกันบ้าง คนโสดอย่างเราอย่าเพิ่งเข้าไปขัดจังหวะเป็นก้างขวางคอพวกเขาตอนนี้เลย
สำนวนไทย ที่มักออกเสียงผิดหรือสะกดคำผิดจนเคยชิน
น้อง ๆ ที่ชอบใช้ถ้อยคำสำนวนในประโยคสนทนา บางครั้งอาจเผลอใช้สำนวนไทยผิด ๆ แบบไม่รู้ตัว พี่ยูจึงหยิบตัวอย่างสำนวนไทยที่มักออกเสียงผิด หรือสะกดคำผิดในสำนวนจนเคยชินมาให้ลองเช็กกัน จะได้ดู จำ และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง หรือถ้าเจอสำนวนไทยเหล่านี้ในข้อสอบ จะได้ตอบถูกและเก็บคะแนนสบาย ๆ เลย
![ตัวอย่างสำนวนไทย ที่มักออกเสียงผิด หรือสะกดคำผิดจนเคยชิน](https://www.webythebrain.com/wp-content/uploads/2024/02/thai-aphorism-mistakes.jpg)
1. กงกรรมกงเกวียน (X) ที่ถูกคือ กงเกวียนกำเกวียน (✓)
= ทำความผิด ความเลว ความชั่ว ไว้แก่ผู้อื่น ความผิด ความเลว ความชั่วนั้นก็กลับมาสนองผู้ทำเอง
2. ผลัดวันประกันพรุ่ง (X) ที่ถูกคือ ผัดวันประกันพรุ่ง (✓)
= ขอเลื่อนเวลาออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า
3. บ่าวช่างยุ (X) ที่ถูกคือ บ่างช่างยุ (✓)
= คนที่ชอบพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน
พี่ยูพาเล็ง เก็งข้อสอบ สำนวนไทย
ตัวอย่างข้อสอบเข้า ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เรื่องสำนวนไทย
![ตัวอย่างข้อสอบเข้า ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วิชาภาษาไทย เรื่องสำนวนไทย](https://www.webythebrain.com/wp-content/uploads/2024/02/thai-aphorism-test-a-level.jpg)
ตัวอย่างข้อสอบวิชาสามัญ เรื่องสำนวนไทย
![ตัวอย่างข้อสอบวิชาสามัญ วิชาภาษาไทย เรื่องสำนวนไทย](https://www.webythebrain.com/wp-content/uploads/2024/02/thai-aphorism-test.jpg)
นี่เป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งของสำนวนไทย ที่พี่ยูนำมายกตัวอย่างให้น้อง ๆ ได้เห็นกันเท่านั้น จริง ๆ แล้วสำนวนน่ารู้ที่มีความหมายน่าสนใจ ยังมีให้น้องได้เรียนรู้กันอีกเพียบเลย
ถ้าน้อง ๆ ตั้งใจเรียนเนื้อหาเรื่องสำนวนไทย รู้ความหมายของแต่ละสำนวน ก็จะสามารถใช้สำนวนในภาษาไทย สื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ แล้วยังเก็บคะแนนสอบวิชาภาษาไทยในสนามสอบสำคัญ ๆ ได้หลายสนามอีกด้วย สุดปังมาก!! 🥰