A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 คืออะไร ต่างกันอย่างไร ใครต้องสอบ?

 

น้อง ๆ #DEK67 คงกำลังเตรียมความพร้อมและติวเข้มก่อนลงสนามสอบ TCAS67 กันอยู่แน่ๆ เลยล่ะสิ พี่วีวี่เชื่อว่าหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่น้อง ๆ หลายคนสงสัย คงหนีไม่พ้นคำถามเกี่ยวกับสนามสอบ A-Level ที่มีวิชาสอบถึง 10 วิชา แถมวิชาคณิตศาสตร์ก็ยังมีทั้งคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 จนไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องสมัครสอบวิชาไหนบ้าง ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย

แต่น้อง ๆ ไม่ต้องกังวลกันมากเกินไปนะคะ วันนี้พี่วีวี่จะมาอธิบายให้ฟังแบบชัด ๆ ว่า คณิตศาสตร์ประยุกต์คืออะไร? คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 ต่างกันอย่างไร? ออกสอบเรื่องไหน? ใครต้องสอบวิชาไหนบ้าง? ถ้าพร้อมแล้วก็ตามไปดูได้เลย!!

 

A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ คืออะไร?

ภาพประกอบ A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ คืออะไร?

 

พี่วีวี่ขอพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับ คณิตศาสตร์ประยุกต์ ในสนามสอบ A-Level ว่าคืออะไร? ก่อนค่ะ A-Level หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Applied Knowledge Level คือการสอบเพื่อวัดความรู้เชิงวิชาการ ที่เน้นเรื่องการประยุกต์ใช้งานจริงของเนื้อหาที่น้อง ๆ เรียนมาในช่วง ม.ปลาย ตั้งแต่ ม.4-ม.6 ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อ้างอิงหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. และมั่นใจได้เลยว่าเนื้อหาที่ออกสอบไม่เกินจากหลักสูตรอย่างแน่นอนค่ะ การสอบ A-Level จะมีวิชาให้เลือกสอบทั้งหมด 10 วิชา แล้วคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 ก็รวมอยู่ในรายวิชาเหล่านั้นด้วยนั่นเอง

 

คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 VS คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 แตกต่างกันอย่างไร?

A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 ต่างกันอย่างไร?
ภาพประกอบแสดงความแตกต่างระหว่าง A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2

แหล่งข้อมูล Test Blueprint จาก mytcas.com 

 

[ จำง่าย ๆ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 = คณิตพื้นฐาน + คณิตเพิ่มเติม
ส่วนคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 = คณิตพื้นฐาน ]

เอาล่ะ!! ขอให้น้อง ๆ สูดหายใจลึก ๆ ตั้งสติ แล้วตามมาดูกันต่อเลยดีกว่าว่า คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 ในสนามสอบ A-Level มันแตกต่างกันตรงไหนกันแน่?!

เริ่มด้วยวิชาแรกอย่าง “คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1” ก่อนเลยค่ะ เนื้อหาที่ออกสอบในวิชาคณิต 1 จะครอบคลุมเนื้อหาทุกบทของคณิตศาสตร์ระดับชั้น ม. ปลาย ทั้งคณิตพื้นฐานและคณิตเพิ่มเติมเลยนั่นเอง

ส่วนเนื้อหาที่ออกสอบในวิชา “คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2” ก็จะครอบคลุมเนื้อหาทุกบทของคณิตศาสตร์ระดับชั้น ม. ปลาย ด้วยเช่นกัน แต่ออกเฉพาะเนื้อหาคณิตพื้นฐานค่ะ

 

โครงสร้างข้อสอบ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 VS 2

หลังจากที่ได้รู้ถึงความแตกต่างระหว่าง คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 กันไปแล้ว พี่วีวี่เดาว่าสิ่งต่อมาที่น้อง ๆ อยากจะรู้ก็คือเนื้อหาที่ออกสอบของแต่ละวิชาว่าออกบทไหนบ้าง? ออกบทละกี่ข้อ? เพื่อจะได้รู้ไว้เป็นแนวทางคร่าว ๆ ว่าควรวางแผนติว A-Level คณิตก่อนลุยสนามสอบ A-Level อย่างไรดี พี่วีวี่ไม่พลาดที่จะหยิบโครงสร้างข้อสอบ A-Level คณิต 1 และ 2 มาเปรียบเทียบให้เห็นภาพกันแบบชัด ๆ ค่ะ

 

โครงสร้างข้อสอบ A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2
ภาพประกอบแสดงโครงสร้างข้อสอบ A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2

แหล่งข้อมูล Test Blueprint จาก mytcas.com 

 

[ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 VS 2 เนื้อหาออกสอบต่างกัน
แต่มีข้อสอบ 30 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน และเวลาทำ 90 นาทีเท่ากัน ]

โดยเนื้อหาที่ออกสอบในวิชา คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 ก็คือ

  • บทจำนวนและพีชคณิต ได้แก่ เซต, ตรรกศาสตร์, จำนวนจริงและพหุนาม, ความสัมพันธ์และฟังก์ชัน, เลขยกกำลัง, ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม, ฟังก์ชันตรีโกณมิติ, จํานวนเชิงซ้อน, เมทริกซ์, ลําดับและอนุกรม ถือเป็นบทที่ต้องเก็บและห้ามพลาดเด็ดขาดเลยนะคะ เพราะบทนี้ออกสอบมากถึง 15-17 ข้อเลยทีเดียว
  • บทสถิติและความน่าจะเป็น ได้แก่ สถิติ, การแจกแจงความน่าจะเป็นเบื้องต้น, หลักการนับเบื้องต้นและความน่าจะเป็น ออกสอบ 6-8 ข้อ
  • บทการวัดและเรขาคณิต ได้แก่ เรขาคณิตวิเคราะห์, เวกเตอร์ในสามมิติ ออกสอบ 3-5 ข้อ
  • บทแคลคูลัส ได้แก่ แคลคูลัสเบื้องต้น ออกสอบ 2-4 ข้อ

ส่วนเนื้อหาที่ออกสอบในวิชา คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 ก็คือ

  • บทจำนวนและพีชคณิต ได้แก่ เซต, ตรรกศาสตร์เบื้องต้น, เลขยกกำลัง, ฟังก์ชัน, ลําดับและอนุกรม (รวมเรื่องดอกเบี้ยและมูลค่าของเงิน) ออกสอบ 14-16 ข้อ
  • บทสถิติและความน่าจะเป็น ได้แก่ สถิติ, หลักการนับเบื้องต้นและความน่าจะเป็น ออกสอบ 14-16 ข้อ
  • บทที่ไม่ออกสอบ ได้แก่ จำนวนจริงและพหุนาม, ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม, ฟังก์ชันตรีโกณมิติ, จํานวนเชิงซ้อน, เมทริกซ์, การแจกแจงความน่าจะเป็นเบื้องต้น, เรขาคณิตวิเคราะห์และภาคตัดกรวย, เวกเตอร์ในสามมิติ, แคลคูลัสเบื้องต้น

น้อง ๆ จะเห็นว่า คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 มีเนื้อหาที่ออกสอบแตกต่างกันบ้างในบางบท แต่ที่เหมือนกันก็คือทั้งคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 จะมีเวลาในการทำข้อสอบ 90 นาที มีข้อสอบทั้งหมด 30 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยแบ่งเป็นข้อสอบปรนัย 5 ตัวเลือก ทั้งหมด 25 ข้อ (75 คะแนน) และระบายคำตอบที่เป็นตัวเลข 5 ข้อ (25 คะแนน)

 

คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 เลือกสอบอย่างไร? ใครต้องสอบบ้าง?

ภาพประกอบ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 เลือกสอบอย่างไร? ใครต้องสอบบ้าง?

 

[ ไม่ต้องสอบคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 ครบทั้งสองวิชา

แต่เลือกสอบตามเกณฑ์การคัดเลือกของคณะ / มหาวิทยาลัยที่สนใจ ]

แม้จะรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 รวมถึงโครงสร้างข้อสอบของแต่ละวิชาว่าออกบทไหน และมีสัดส่วนข้อสอบอย่างไรไปแล้ว น้อง ๆ หลายคนอาจยังสับสนมึนงงอยู่ว่าสรุปแล้วเราต้องเลือกสอบคณิต 1 หรือ 2? หรือจะเลือกสอบทั้งสองตัวแบบแพ็กคู่กันพลาดให้มันจบ ๆ ไปเลยดีนะ!!

พี่วีวี่ขอตอบตรงนี้เลยว่าวิธีการสมัครสอบ A-Level สำหรับนำคะแนนไปยื่นในระบบ TCAS เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นจะต้องสมัครสอบครบทุกวิชา แล้วขอขีดเส้นใต้เน้นย้ำชัด ๆ เลยว่า การสมัครสอบวิชาคณิต 1 และ 2 ไม่ได้เลือกสอบตามแผนการเรียนในระดับ ม.ปลาย ที่เราเรียนมานะ น้อง ๆ หลายคนอาจพลาดเพราะคิดว่าใครที่เรียนสายวิทย์ต้องสอบคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และใครที่เรียนสายศิลป์ต้องสอบคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ

โดยการสมัครสอบ A-Level ระหว่าง คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 ให้น้อง ๆ เลือกรายวิชาที่สมัครสอบโดยยึดตามประกาศจากมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับคณะ / หลักสูตรที่น้อง ๆ สนใจอยากจะเข้าศึกษาต่อ ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยมีการกำหนดคุณสมบัติและใช้เกณฑ์คะแนนอะไรบ้างได้เลย

 

คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 ยื่นคณะไหนได้บ้าง?

A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 ยื่นคณะไหนได้บ้าง?
ภาพประกอบแสดง 10 คณะยอดฮิตที่ยื่นคะแนน A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 ได้

แหล่งข้อมูลการรับสมัครของมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2566 จาก mytcas.com

 

[ ส่วนใหญ่ “คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1” ใช้ยื่น “คณะสายวิทย์”
“คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2” ใช้ยื่น “คณะสายศิลป์” ]

สำหรับน้อง ๆ ที่อยากวิ่งเข้าสู่เส้นชัยและสอบติดมหาวิทยาลัย / คณะในฝัน พี่วีวี่ขอแนะนำว่าควรเตรียมตัวให้พร้อมและตั้งใจทำข้อสอบ A-Level แบบสุดกำลังกันไปเลยนะ เพราะน้อง ๆ สามารถนำคะแนน A-Level ไปยื่นสมัคร TCAS67 ได้ถึง 3 รอบ ทั้งรอบ Quota, Admission, และ Direct Admission ยิ่งได้คะแนนสอบ A-Level เยอะ ๆ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสสอบติดคณะที่อยากเข้าศึกษาต่อมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง

สำหรับคำถามที่ว่า คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 ยื่นคะแนนคณะไหนได้บ้าง? โดยส่วนใหญ่แล้วคะแนนคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 สามารถใช้ยื่นคณะในกลุ่ม กสพท. (แพทย์, เภสัช, ทันตะ, สัตวะ), วิศวกรรมศาสตร์, สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯลฯ

ส่วนคะแนนคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 ส่วนใหญ่แล้วสามารถใช้ยื่นคณะในกลุ่มสายศิลป์ เช่น อักษรศาสตร์, นิเทศศาสตร์, ศิลปกรรมศาสตร์ ฯลฯ แต่อย่างที่พี่วีวี่ได้บอกไปแล้วว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอาจมีการกำหนดคุณสมบัติและใช้เกณฑ์คะแนนแตกต่างกัน น้อง ๆ จึงควรศึกษาหาข้อมูลให้ดี ๆ ว่าคณะของมหาวิทยาลัยที่น้องสนใจนั้นต้องสอบวิชาไหนหรือยื่นคะแนนอะไรบ้างค่ะ

 

ทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 และ 2 ที่น้อง ๆ #DEK67 ต้องพบเจอในสนามสอบ A-Level ที่พี่วีวี่รวบรวมมาฝากแบบครบถ้วนจุใจกันในวันนี้ค่ะ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจเกี่ยวกับการสอบวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์มากขึ้น รวมทั้งรู้ว่าควรเตรียมความพร้อมอย่างไร ควรติวเนื้อหาบทไหนให้ตรงจุดและตรงกับเนื้อหาที่ออกสอบ พี่วีวี่เชื่อว่าถ้าน้อง ๆ เตรียมตัวดี ขยันอ่าน ขยันทำโจทย์เยอะ ๆ ก็จะช่วยลดความตื่นเต้นและอาการตื่นสนาม มีสติในการทำข้อสอบให้ผ่านฉลุยได้แน่นอน

แล้วสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามจริง อยากรู้ว่าคะแนนเฉลี่ยปีล่าสุดเป็นอย่างไร? ข้อสอบจริงปีที่แล้วออกเรื่องอะไร? และมีวิธีเตรียมตัวพิชิตคณิต 1 A-Level เพื่อเก็บคะแนนรัว ๆ อย่างไรบ้าง? ก็ตามไปอ่านต่อในบทความด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ

เจาะลึกข้อสอบคณิต 1 A-Level พร้อมเทคนิคพิชิตคะแนนปี 67

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ