สำรวจเส้นทางสู่สาขาบัญชีในระบบ TCAS

เส้นทางสู่-คณะบัญชี-tcas

สวัสดีค่ะน้องทุกคน
เมื่อไม่นานมานี้ พี่วีวี่ได้พาน้อง ๆ ไป ทำความรู้จักสาขาบัญชี กันมาแล้วว่าเรียนอะไรบ้าง จบมาทำงานอะไร วันนี้พี่วีวี่จะพาน้อง ๆ มาสำรวจเส้นทางสู่สาขาบัญชีในระบบ TCAS ทั้ง 5 รอบอย่างละเอียด เพื่อเป็นแนวทางให้น้อง ๆ ที่มีความสนใจจะเรียนสาขาบัญชี ได้ทำความเข้าใจและวางแผนถูกว่าจะต้องเตรียมสอบ TCAS ในแต่ละรอบอย่างไรบ้าง
โดยพี่วีวี่จะพาน้องไปดูตัวอย่างการเปิดรับสาขาบัญชีในระบบ TCAS ปี 62 (ปีล่าสุด) ซึ่งน้อง ๆ ม.ปลาย สามารถดูเป็นตัวอย่างได้ว่าจะต้องเตรียมตัวสอบอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม พี่วีวี่แนะนำให้น้อง ๆ ติดตามประกาศข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จากปีการศึกษาที่น้องจะเข้าเรียนกันอีกทีนะคะ
 

ตัวอย่างการรับในระบบ TCAS 62

รอบที่ 1 การรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) โดยไม่มีการสอบข้อเขียน

การรับรอบที่ 1 เป็นการรับเด็กนักเรียนที่มีความสามารถทางวิชาการ โดยไม่มีการสอบข้อเขียน แต่จะให้ยื่นแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ในการสอบเข้า ประกอบกับการสอบสัมภาษณ์ โดยการสมัครรอบแรกจะเป็นการสมัครโดยตรงกับมหาวิทยาลัย อาจมีทั้งการสมัครแบบออนไลน์ หรือการส่งเอกสารทางไปรษณียให้แก่มหาวิทยาลัย
โดยพี่วีวี่จะขอยกตัวอย่างเกณฑ์การคัดเลือกรอบที่ 1 สาขาบัญชีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้น้องดูเป็นตัวอย่างนะคะ
 
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การพิจารณาผู้ผ่านการคัดเลือก

  1. มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ภาคต้น) รวม 5 ภาค หรือ 6 ภาคสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 3.00
  2. การพิจารณาผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ จะพิจารณาจาก แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) โดยมีผลงานด้านวิชาการตามข้อ 2.1 หรือ 2.2 อย่างน้อย 1 ข้อ ดังนี้
    • เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ (ระดับนานาชาติ) ซึ่งผ่านการคัดเลือกให้ไปเข้าร่วมแข่งขันโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวท.)
    • เป็นผู้ที่มีผลคะแนนการทดสอบ SAT ส่วนการสื่อสารภาษาอังกฤษ (Evidence-Based Reading and Writing) และความถนัดทางคณิตศาสตร์ (Math) รวมกันไม่ต่ำกว่า 1,400 คะแนน และคะแนน SAT เฉพาะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 650 คะแนน (และเป็นคะแนนย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี)
  3. คณะกรรมการจะพิจารณารายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์จากแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เรียงลำดับตามคะแนนรวมจากมากไปหาน้อย ผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์จะต้องได้คะแนนแฟ้มสะสมผลงาน รวมกันไม่ต่ำกว่า 85 คะแนน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาการประกาศรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์

 
สำหรับรูปแบบการทำแฟ้มสะสมผลงาน ทางจุฬาฯ ได้กำหนดเนื้อหาไว้ดังนี้

  1. จัดทำเป็นรูปเล่มมีความหนาไม่เกิน 10 หน้ากระดาษขนาด A4 (ไม่รวมปก)
  • หน้าปกของแฟ้มสะสมผลงาน ติดรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป และระบุ ชื่อ – นามสกุล/โครงการที่ทำการสมัคร
  1. เนื้อหาในแฟ้มสะสมผลงาน
  • หลักฐานการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติหรือผลการสอบSAT รวมถึงรางวัลที่ได้รับและการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถ และทักษะของผู้สมัคร

เมื่อน้อง ๆ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์แล้ว ก็จะมาถึงรอบสอบสัมภาษณ์ที่จะมีเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้
 

                                                                 เกณฑ์ คะแนน
1.บุคลิกภาพ และทักษะด้านการสื่อสาร 25
2.ความรู้ทั่วไป และทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 25
3.ความตั้งใจในการศึกษา และเป้าหมายการประกอบอาชีพ 25
4.ความมีจิตสาธารณะ ภาวะผู้นำ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และกิจกรรมอื่นๆ 25

 
หมายเหตุ : ผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์จะต้องได้คะแนนสอบสัมภาษณ์ตามข้อ 1-4 รวมกันไม่ต่ำกว่า 60 คะแนน และจะต้องได้คะแนนในแต่ละข้อไม่ต่ำกว่า 15 คะแนน จึงจะถือว่าเป็นผู้ผ่านการคัดเลือก
นี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างการพิจารณาคัดเลือกรอบ 1 รอบ Portfolio ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2562 แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีเกณฑ์การพิจารณาที่แตกต่างกันไปค่ะ

รอบที่ 2 การรับแบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือข้อสอบปฏิบัติ

การรับรอบที่ 2 รอบโควตา จะเป็นการรับเด็กนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาค, โควตาโรงเรียนในเครือข่าย,โครงการความสามารถพิเศษต่าง ๆ โดยการรับสมัครและการคัดเลือกมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนด
พี่วีวี่ขอยกตัวอย่างสาขาบัญชี คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาให้น้อง ๆ ดูเป็นตัวอย่าง
 
คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี สาขาบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการรับโควตาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (20 จังหวัด)
เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก

  1. สำหรับผู้สมัครที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น (โควตาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
  2. ผู้สมัครยื่นคะแนนสอบ 9 วิชาสามัญ โดยมีค่าน้ำหนักคะแนนดังนี้

 

ค่าน้ำหนักคะแนน 9 วิชาสามัญ (%)
คณิตศาสตร์ 1 30 % ภาษาไทย 20 % สังคม 10 % อังกฤษ 30 % วิทย์ทั่วไป 10 %

 

  1. เมื่อผ่านการยื่นคะแนนแล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะประกาศผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์
  2. เมื่อสอบสัมภาษณ์เสร็จเรียบร้อย ทางมหาวิทยาลัยจะประกาศผู้ผ่านการคัดเลือก และผู้สมัครจะต้องยืนยันสิทธิ์กับทาง ทปอ.

 
การรับรอบที่ 2 นี้ น้อง ๆ ควรจะติดตามข่าวสารจากทางมหาวิทยาลัยที่น้องสนใจอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบดูว่าน้องเข้าเกณฑ์โควตาอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในเครือข่าย โควตาพื้นที่ หรือโควตาอื่น ๆ

รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน

การรับรอบที่ 3 รอบรับตรงร่วมกัน เป็นการรับนักเรียนโครงการ กสพท, โครงการอื่น ๆ และนักเรียนทั่วไป โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์คะแนนเอง และมี ทปอ.เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร ซึ่งน้อง ๆ สามารถเลือกสาขาวิชาในรอบนี้ได้ 6 สาขา โดยจะพิจารณาตามลำดับ และติดได้แค่ 1 สาขา
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่พี่วีวี่จะยกมาให้ดูเกณฑ์การพิจารณาก็คือ
 
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรบัญชีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก

  1. มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ภาคต้น) รวม 5 ภาค หรือ 6 ภาคสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 3.00
  2. คัดเลือกจากคะแนน GAT/PAT ตามเกณฑ์คะแนนที่คณะกำหนด ดังนี้

 

                                                                           ค่าน้ำหนักคะแนน (%)
GAT 40 % PAT 1 60 %

 

  1. เมื่อยื่นคะแนนผ่านแล้ว ก็จะเป็นการสอบสัมภาษณ์ต่อไป

 
ในรอบ 3 ปกติแล้ว จะเป็นรอบที่เปิดรับเยอะที่สุดในทั้ง 5 รอบ ในปี 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับสาขาบัญชีกว่า 250 คน เพราะฉะนั้นแล้ว รอบ 3 จึงเป็นรอบที่น้องทุกคนมีโอกาสที่จะสอบติดสูง ถ้าน้อง ๆ วางแผนอ่านหนังสือและเตรียมตัวมาดี

รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิชชั่น

รอบที่ 4 รอบแอดมิชชั่น จะเป็นการรับที่ใช้เกณฑ์คะแนนจากส่วนกลาง ทปอ. ในการคัดเลือกเข้าคณะของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยน้อง ๆ สามารถเลือกสาขาวิชา/คณะที่จะเข้าได้ 4 สาขา ติดได้แค่ 1 อันดับ
 
เกณฑ์คะแนนจากส่วนกลางสาขาบัญชี

ค่าน้ำหนักคะแนน (%)
GPAX 20 % O-NET 30 % GAT 30 % PAT 1 20 %

 
โดยเกณฑ์คะแนนจากส่วนกลางนี้ ไม่ว่าน้อง ๆ จะไปยื่นมหาวิทยาลัยไหนในสาขาบัญชี ก็จะใช้เกณฑ์คะแนนตามตารางข้างบนในการยื่น
ดูคะแนนสูงสุด – ต่ำสุด รอบ 4 แอดมิชชั่น ปี 2551 – 2561 คลิก 

รอบที่ 5 การรับตรงอิสระ

สำหรับรอบสุดท้าย เป็นรอบที่หลาย ๆ คน มักเรียกว่าเป็นรอบเก็บตก คือ การเปิดรับและจำนวนการรับจะไม่ค่อยแน่นอน โดยมหาวิทยาลัยจะเปิดรับโดยตรงด้วยวิธีการของมหาวิทยาลัยเอง รอบนี้ พี่วีวี่แนะนำให้น้อง ๆ ติดตามประกาศจากทางมหาวิทยาลัยที่น้องสนใจจะเรียนอีกรอบนะคะ เนื่องจากหลายมหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดรับสาขาบัญชีในรอบ 5
 
มาถึงตรงนี้ พี่วีวี่อยากหมายเหตุตัวโตๆ ว่า สาขาบัญชีนั่น บางมหาวิทยาลัยก็จัดอยู่ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ขณะที่บางมหาวิทยาลัยก็จัดอยู่ในคณะบริหารธุรกิจ อีกทั้ง เมื่อยื่นคะแนนสอบเข้า บางมหาวิทยาลัยไม่ได้ให้เลือกสาขาตอนยื่นเลย ต้องรอจนเข้าเรียนหรือจบปี 1 ก่อนค่ะ เพราะฉะนั้นแล้ว น้อง ๆ ต้องศึกษาระเบียบการของมหาวิทยาลัยที่สนใจจะเรียนให้ดีก่อนยื่นคะแนนนะคะ
 


 
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับเส้นทางสู่สาขาบัญชี ในระบบ TCAS ทั้ง 5 รอบ สาขาบัญชีเป็นสาขาหนึ่งที่ใช้คะแนนคณิตศาสตร์เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น PAT 1 และคณิตศาสตร์ 1 ดังที่เห็นได้จากรอบ 3 ของจุฬาฯ ซึ่งใช้ PAT1 ถึง 60 %
ดังนั้นแล้ว น้อง ๆ คนไหนที่วางแผนจะเข้าสาขาบัญชี ต้องเตรียมอ่านหนังสือและฝึกทำโจทย์วิชาคณิตให้ดี แต่ถ้าน้องคนไหนอ่านหนังสือเองแล้วยังไม่มั่นใจ พี่วีวี่แนะนำให้ไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมวิชาคณิตที่โรงเรียนกวดวิชาเลยค่ะ รับรองว่าน้อง ๆ จะมั่นใจกับการเตรียมตัวสอบ TCAS แน่นอน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ