ในวันที่เรียนชีวะแล้วไม่แน่ใจ เราเหมาะจะเป็นเด็กสายวิทย์หรือเปล่า

สายวิทย์ดีใหม

ช่วงเวลาตอน ม. 4 เป็นช่วงที่เพิ่งก้าวสู่วัย ม.ปลาย น้อง ๆ หลายคนอาจยังสงสัยในตัวเองว่าเราเลือกแผนการเรียนมาถูกสายหรือเปล่า เพราะสายการเรียนในช่วง ม.ปลายนี้ ไม่ว่าจะเป็นสายวิทย์ หรือสายศิลป์ มีส่วนสำคัญมากในการกำหนดทิศทางสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการประกอบอาชีพในอนาคต สำหรับเด็กสายวิทย์ที่ยังสงสัยในการเลือกแผนการเรียนของตนเอง อาจเป็นเพราะยังปรับตัวไม่ได้กับเนื้อหาอันหนักหน่วงที่ถาโถมเข้ามาเมื่อตอนเริ่มขึ้น ม.ปลาย ทั้งคณิตพื้นฐาน คณิตเพิ่มเติม วิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์เชิงลึกที่แยกออกไปเป็นวิชาย่อย ๆ ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ซึ่งแต่ละวิชาก็มีหน่วยกิตสูงซะด้วยสิ ถ้าเกรดออกมาแย่แค่ตัวเดียวก็จะฉุดเกรดเฉลี่ยให้ดิ่งวูบ การทำเกรดในตอน ม.ปลายสำหรับน้องหลาย ๆ คนจึงยากกว่าตอน ม.ต้น เยอะ น้องบางคนอาจเริ่มคิดอยากจะเปลี่ยนสายการเรียน แต่สำหรับคนที่คิดจะสู้ต่อ เรามาดูกันซิว่าจะต้องปรับตัวยังไงบ้าง

เด็กสายวิทย์

What’s in ม.4 เทอม 2

เนื้อหาของเด็กสายวิทย์ของแต่ละโรงเรียนอาจจะไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่สายวิทย์ของโรงเรียนเดียวกันยังอาจจะมีหลายสายย่อยอีก เช่น ห้อง Gifted (ห้องเรียนคัดนักเรียนศักยภาพสูง) , ห้อง EP (English : โปรแกรมเรียนเป็นภาษาอังกฤษ), ห้อง SME (Sciences Math English : เน้นเรียนวิทย์ คณิต และอังกฤษมากขึ้น) แต่โดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่จะเรียนเนื้อหาวิทยาศาสตร์ตามแบบเรียนของ สสวท. หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “หลักสูตรกระทรวง” น้อง ๆ ที่เพิ่งผ่าน ม.4 เทอม 1 มาบางคนอาจยังช็อกกับผลคะแนนที่ออกมา เตรียมใจเอาไว้เลยว่า เทอมต่อ ๆ ไปก็จะเจอกับเนื้อหาที่มีความยากระดับนี้แหละ แต่จะเรียนต่อในบทอื่น ๆ ในบทความนี้จะเจาะลึกในส่วนวิชาชีววิทยา แต่น้อง ๆ สามารถอ่านบทความในวิชาอื่น ๆ ได้ใน linked (คณิต ม.4 เทอม 2 ,ฟิสิกส์ ม.4 เทอม 2 , เคมี ม.4 เทอม 2) สำหรับ ชีววิทยา ม.4 เทอม 2 น้อง ๆ จะเจอกับบทต่าง ๆ ในกลุ่มพันธุศาสตร์ มีเนื้อหา 4 บท ได้แก่ (1) โครโมโซม และสารพันธุกรรม, (2) การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม, (3) เทคโนโลยีทางดีเอ็นเอ, (4) วิวัฒนาการ

ม.4 เทอม 2 กลุ่มพันธุศาสตร์

How to success for ชีวะ ม.4 เทอม 2

  • โครโมโซม และสารพันธุกรรม : บทแรกที่น้อง ๆ ต้องเจอในเทอมนี้ จะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อย ๆ ได้แก่ เรื่องโครโมโซม, สารพันธุกรรม, สมบัติของสารพันธุกรรม และมิวเทชัน ในบทนี้มีบางส่วนที่เราอาจจะคุ้น ๆ เหมือนกับที่เคยได้เรียนมาตอน ม.ต้น แต่พอขึ้น ม.ปลายแล้วจะได้ลงรายละเอียดลึกขึ้น สำหรับในบทนี้ พี่บิ๊กบอกเลยว่า น้อง ๆ ควรจะต้องแม่นเรื่องโครงสร้างของ DNA ก่อน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนหัวข้ออื่น ๆ ในบทนี้ อีกจุดหนึ่งที่ต้องเน้นเพราะออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกือบทุกปี ในระบบการสอบแบบ TCAS ก็หนีไม่พ้น ก็คือหัวข้อ Central Dogma of Molecular Biology ได้แก่ กระบวนการจำลองตัวเองของ DNA, การถอดรหัส และการแปลรหัส
  • การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม : มีหัวข้อย่อยคือเรื่อง การศึกษาพันธุกรรมของเมนเดล, ลักษณะทางพันธุกรรมที่เป็นส่วนขยายของเมนเดล และยีนบนโครโมโซมเดียวกัน (linked genes) ในบทนี้จะมีส่วนที่ต้องคำนวณด้วย แต่ถ้าเราจับประเด็นได้มันก็ไม่ยากเกินไป สิ่งสำคัญคือการฝึกฝนแนวโจทย์ให้ได้หลากหลายแนว คล้าย ๆ กับการเรียนคณิตศาสตร์ และบางประเด็นในบทนี้อาจต้องนำความรู้คณิตศาสตร์เรื่องความน่าจะเป็นมาใช้ด้วย
  • เทคโนโลยีทางดีเอ็นเอ : บอกเลยว่าบทนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่น้อง ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่เคยเจอมาก่อนตอนเรียน ม.ต้น ยกเว้นบางคนที่เรียนล่วงหน้าเท่านั้น นอกจากจะใหม่แล้วยังค่อนข้างต้องใช้จินตนาการสูงด้วย เพราะในเนื้อหา เราจะต้องคิดภาพโมเลกุล DNA ในหัว แล้วจินตนาการการเพิ่มจำนวนโมเลกุล หรือจินตนาการการทำงานของมัน ดังนั้นเทคนิคหนึ่งที่พี่บิ๊กแนะนำน้อง ๆ เสมอในการเรียนบทแบบนี้ คือ ให้เราวาดรูปไปด้วยตอนทำ short note มันจะช่วยในการทำความเข้าใจได้มากขึ้น แต่ไม่หลงประเด็นตอนที่ต้องเจอกับโจทย์ข้อสอบ บทนี้ประกอบด้วยเรื่อง พันธุวิศวกรรม และการโคลนยีน, การหาขนาดของ DNA และการหาลำดับนิวคลีโอไทด์, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทาง DNA, ความปลอดภัยทางชีวภาพ และชีวจริยธรรม
  • วิวัฒนาการ : สำหรับบทนี้ก็มีคำนวณอีกนิดหนึ่ง ตอนที่ต้องคำนวณหาความถี่แอลลีล แต่ก็ไม่ยากอีกนั่นแหละ เป็นการคำนวณเบา ๆ แบบเด็กชอบชีวะแต่เกลียดเลข บทนี้ถือว่าเป็นบทเล็กข้อสอบตอนเข้ามหาวิทยาลัยออกน้อยหน่อย แต่ก็ออกนะ ออกตลอดเลย 2 ข้อบ้าง 3 ข้อบ้าง เนื้อหาในบทนี้ ได้แก่ หลักฐานการศึกษาวิวัฒนาการ, แนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต, พันธุศาสตร์ประชากร, ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความถี่แอลลีล, กำเนิดสปีชี่ส์
ม.4 กลุ่มพันธุศาสตร์

Why ต้องเรียนล่วงหน้า

มีคนบอกว่า “ม.4 เก็บเกรด, .5 เก็บกิจกรรม, .6 เก็บความทรงจำ” จะเก็บทั้งหมดนั้นได้ เราจะต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมด้วย จะเรียนเก็บเนื้อหาตามเทอมมันอาจจะไม่ทัน ความรู้ไม่พร้อมใช้ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรืออาจเรียนเนื้อหาได้ครบ แต่ยังไม่มีเวลาได้ฝึกทำโจทย์ ดังนั้นพี่แนะนำว่าควรจะเรียนล่วงหน้าไปได้เลย โดยเฉพาะวิชาชีววิทยา ควรเก็บเนื้อหา ม.ปลายให้จบตั้งแต่ ม.6 เทอม 1 หรือถ้าจบก่อนขึ้น ม.6 เลยได้ยิ่งดี เด็กสายวิทย์จะต้องเจอกับเนื้อหาวิชาการที่เยอะมากจริง ๆ นี่ยังไม่นับการบ้าน สอบเก็บคะแนน โครงงานต่าง ๆ ที่ต้องดึงเวลาของเราไป จะให้นั่งอ่านเอง ทำความเข้าใจเองมันก็ได้แหละ แต่มันต้องใช้เวลาเยอะหน่อย ถ้ามีคนมาสรุปให้ฟัง บอกจุดเน้นที่สำคัญ ข้อควรระวังต่าง ๆ มันก็จะช่วยในการเรียนได้มากขึ้น คอร์สเรียนกวดวิชามีให้เลือกเยอะแยะ ลองไปทดลองเรียนฟรีดูก่อน อันไหนถูกใจก็ค่อยสมัคร พี่ว่ามันช่วยประหยัดเวลาในการเก็บเนื้อหาได้เยอะ ใครที่คิดจะสู้ต่อให้เส้นทางของเด็กสายวิทย์ ขอให้พยายามให้เต็มที่ เพราะความฝันที่มีค่ามันจะมาพร้อมความเหนื่อยเสมอ พี่บิ๊กขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนนะ สู้ ๆ

เตรียมความพร้อมกับชีวะม.ปลาย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ