เลือกคณะไหนดี ชีวิตจะเอาอย่างไร

เลือกคณะไหนดี ชีวิตจะเอาอย่างไร
น้องๆ ม.6 ที่กำลังจะเป็นเด็กแอด ’60 ตอนนี้ เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 3 เดือนโดยประมาณ กับปฎิทินการสอบ GAT/PAT รอบแรก 1/2560
ครั้งหนึ่งในชีวิตที่น้องมัธยมจะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ คือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งแม้ว่าจะมีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน หรือแม้กระทั่งทางเลือกของการเรียนต่อต่างประเทศ แต่เป้าหมายที่หลายๆคนมุ่งหวังโดยส่วนใหญ่ก็คงการสอบเข้าคณะยอดฮิต มหาวิทยาลัยดังได้…

เรื่องการเลือกมหาวิทยาลัย คงจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่สำหรับน้องๆ เพราะ ส่วนใหญ่ผู้ปกครอง ครู หรือ รุ่นพี่ที่โรงเรียนก็จะเชียร์ให้เลือกมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมายาวนาน อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหิดลฯ ลาดกระบัง เชียงใหม่ (มช) สงขลา (มอ) ขอนแก่น (มข) ฯลฯ
แต่ การเลือกคณะนี่สิ หลายๆคน ยังไม่รู้เลยว่าอยากจะจบไปแล้วทำงานอะไร ตัวเองมีความถนัดในวิชาชีพไหน?? คำถามเหล่านี้ พี่วีวี่ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเลยค่ะ ในความเป็นจริงมีเด็กจำนวนน้อยมากที่รู้ว่าตัวเองอยากเป็น อยากเรียนอะไร (แอบกระซิบว่า เพื่อนพี่บางคน เรียนจบปริญญาตรีแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากทำงานอะไร)
แล้วเราจะทำอย่างไรให้เรารู้จักตัวเอง และเลือกคณะได้ถูกต้องหล่ะคะ (อืมมมม เป็นคำถามที่น่าสนใจมากค่ะ)
ข้อแรก ถามตัวเองก่อนนะคะว่ามีความสุขกับการทำงาน หรือกิจกรรมลักษณะไหน งานที่ทำซ้ำๆ งานที่ต้องการความท้าทาย งานที่ต้องวิเคราะห์เจอตัวเลข งานที่ต้องเจอผู้คน
ข้อสอง หาข้อมูล ถามอากู๋ อ่านเว็บไซด์ต่างๆแยะๆ ค่ะว่าแต่ละสาขาอาชีพเขาจบไปแล้วมีการทำงานในลักษณะไหน เราจะถนัดไหมเน้อ
ข้อสาม ตัดทางเลือก ให้เหลือคณะในฝันที่จะวางแผนเดินหน้าต่อ ประมาณ 2 คณะ
ทำไมต้องตัดให้เลือกทางเลือกน้อยลงค่ะ?? คำตอบง่ายๆ คือ หากน้องสนใจไปทุกคณะ เช่น ตอบว่า ผมอยากเรียนแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วารสารศาสตร์ การโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น (เลือกทีเดียว 4 คณะเลย)
พี่ต้องบอกว่าเวลาคนเรามีเท่ากัน การที่น้องกำหนดทางเลือกมากจนเกินไป อาจจะทำให้น้องแบ่งเวลาไปกับการเตรียมตัวได้น้อยลง และต้องแบ่งเวลาไปกับการเดินสายสอบมากขึ้น ต้องถามตัวเองค่ะ ว่า การที่เราทำแบบนั้นเราจะทำได้ดีมากกว่าเพื่อนๆที่สนใจคณะที่เราอยากเข้าหรือไม่
หลังจากที่น้องๆ เลือกคณะที่สนใจแล้ว ลองหาข้อมูลให้ละเอียดเลยค่ะ ว่า คณะนั้นๆ เขาสอบอะไรบ้าง มีการสอบตรง สอบโควตา สอบแอดมิชชั่น ในช่วงเวลาไหน วิชาอะไรบ้าง
กางปฎิทิน กำหนดเวลาการสอบของตัวเอง >> จากนั้น ก็ ลุยยยยยยยยยยยยยย !!!!!!
ท้ายที่สุด สำหรับน้อง ม.ปลาย ไม่ว่าจะเป็นน้อง ม.4 หรือ ม.5 เราก็อย่าชะล่าใจนะคะ เวลามักจะผ่านไปรวดเร็วจนบางที นึกได้อีกที อ้าวเตรียมตัวไม่ทันซะแล้ว ลองค่อยๆ เตรียมตัวหาข้อมูลตามที่แนะนำแต่เนิ่นๆ ค่ะ
คนที่เตรียมพร้อม คือ คนที่ได้เปรียบในสมรภูมิรบ แม้เราอาจจะไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่เราคือ คนที่ขยันที่สุด
นิทาน “เต่ากับกระต่าย” ยังใช้ได้ผลในทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าเราจะเป็น “เต่า” เราก็เป็นเต่าที่ถึงเส้นชัยก่อน เพราะ เราเป็นเต่าที่ไม่เคยประมาท

บทความที่เกี่ยวข้อง

Top
สอบถามรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ