การวางแผนเรียนกวดวิชาถือเป็นสำคัญแต่น้องหลายคนกลับมองข้าม เพราะคิดเพียงแค่ว่าจะเลือกเรียนที่ไหนดี แต่กลับลืมนึกถึงว่า เราจะจัดสรรเวลาอย่างไรให้ลงตัว และผลสุดท้ายที่เห็นกันบ่อยๆคือ ลงคอร์สทุกวิชาและอัดแน่นในช่วง ม.6 จนชีวิตแทบจะไม่เห็นเดือนเห็นตะวันกันเลยทีเดียว
ขณะเดียวกันนอกจากการวางแผนล่วงหน้ายังจะช่วยให้ตารางชีวิตของน้องไม่แน่นจนเกินไปทำให้น้องจะได้รับประโยชน์สูงสุดในการเรียนแต่ละคอร์ส ที่สำคัญช่วยคุณพ่อ-คุณแม่ ประหยัดรายจ่ายได้มากพอสมควร
ถ้าถามพี่วีวี่ว่า เราควรจะเริ่มวางแผนเรียนกวดวิชาตั้งแต่เมื่อไหร่??? … คำตอบก็คือ พี่ไม่รู้ค่ะ ^^เพราะน้องต้องถามตัวเอง ถามความพร้อม ความมุ่งมั่นและตั้งใจว่าจะไม่ทำให้เงินของครอบครัวสูญเปล่าอย่างไรก็ตามพี่มีแนวคิดอยู่ 5 ข้อ เพื่อให้น้องนำไปเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนเรียนกวดวิชาของตัวเอง
- ประเมินตัวเอง … ซึ่งแบ่งออกเป็นการประเมิน 2 ส่วน อย่างแรก ประเมินว่าเราอ่อนวิชาอะไรจากนั้นให้มาดูเหตุผลที่เรียนแล้วไม่เข้าใจว่าเพราะตั้งใจแล้วแต่สุดวิจัยจริงๆหรือยังไม่ได้ทุ่มเทเต็มที่
- ดูความสำคัญระยะยาว … บางคนพอเห็นตัวเองเกรดไม่ดีหลายวิชา ก็ลงคอร์สเรียนซะทุกวิชาปรากฏว่าสมองเบลอไปหมด ดังนั้นแล้วให้เราดูความสำคัญในระยะยาว เช่น ฉันตั้งใจจะเรียนแผนวิทย์ก็ต้องเรียนคณิตศาสตร์ หรือ ฉันตั้งใจจะสอบเข้าคณะเภสัชศาสตร์ ก็จัด เคมี กับ ชีววิทยา หนักๆไปเลย
- วางแผนเวลาให้เป็น … ตามหลักของความเป็นจริงคือ การเรียนพิเศษทั้งหมดควรจะไม่อยู่ในตารางชีวิตช่วง ม.6 เทอม 2 แล้ว หรืออาจจะมีแค่การติวแบบตะลุยโจทย์ เพราะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่เราควรจะทบทวนเนื้อหาทั้งหมดด้วยตัวเอง
- วิชาที่ชัวร์แล้วไม่ต้องเรียนกวดวิชา … น้องบางคนอยากเป็นเทพเหนือเทพ หรือ อาจจะไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้ลงคอร์สวิชาที่ทำได้ดีอยู่แล้วจนไปเบียดเวลาที่ควรจะได้ติววิชาที่ยังขาดๆเกินๆอยู่ ดังนั้น เราต้องลำดับความสำคัญให้เป็น เรียนมาหลายปีต้องรู้แล้วค่ะว่าเราขาดอะไร ไม่ใช่เติมจนล้นไปหมด
- ถามตัวเองว่าพร้อมจริงไหม … บางคนเรียนตามเพื่อน เรียนตามกระแส ถึงเวลาก็จะโดดเรียน ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น
ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับตัวน้องเองค่ะว่า พร้อมและมุ่งมั่นแค่ไหน … ส่วนเรื่องเทคนิคการวางแผนเรียนกวดวิชาถือว่าเข้าข่าย “ลางเนื้อชอบลางยา” พื้นฐานแต่ละคนไม่เหมือนกันต้องประเมินและหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของตัวเองค่ะ