น้อง ๆ ม.5 DEK67 ที่กำลังหาข้อมูล หรือกำลังเตรียมตัวสอบในระบบ TCAS คงจะพอทราบมาบ้างแล้วว่า สนามสอบในระบบ TCAS นั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไป มีการลดจำนวนวิชาที่ต้องสอบลงโดยควบรวมวิชาที่ซ้ำซ้อนกันในหลาย ๆ สนาม เหลือเพียงสนามเดียวที่ต้องสอบ รวมถึงน้อง ๆ DEK 66 ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สนามสอบในเดือน ธ.ค. ที่กำลังจะมาถึงนี้ คงจะเตรียมตัวมาแล้วไม่น้อย ซึ่งในช่วงนี้จะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเตรียมตัวสอบในสนาม TGAT TPAT วันนี้พี่วีวี่จะมาสรุปให้น้อง ครบทุกประเด็นที่ต้องรู้ ไขทุกข้อสงสัย ว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้การเตรียมตัวสอบของน้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
วิชาที่เปิดสอบในระบบ TCAS66
TGAT (General Aptitude Test) วัดความถนัดทั่วไป
ไม่เน้นเนื้อหาความรู้เชิงวิชาการ ข้อสอบ TGAT จะมีทั้งหมด 3 พาร์ตด้วยกัน คือ
TGAT1 91 การสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Communication)
ที่จะเน้นทั้งทักษะการพูด และการอ่านภาษาอังกฤษ การสื่อสารในชีวิตประจำวัน เช่น การพูดคุย, การสอบถามราคาสินค้า, บทความต่าง ๆ ข้อสอบก็จะมีระดับความยาก-ง่าย-ปานกลาง คละข้อกันไป พี่วีวี่แนะนำเลยว่าน้อง ๆ ควรฝึกโจทย์พวก Conversations เยอะ ๆ รวมถึงอย่าทิ้ง Grammar เด็ดขาด เพราะจะต้องเจอแน่ ๆ ในทักษะการอ่านจับใจความ ประเด็นสำคัญของเรื่องนั้น ๆ ที่สำคัญต้องฝึกควบคู่กับการท่องจำคำศัพท์ / จำสำนวนต่าง ๆ ในหลาย ๆ สถานการณ์ เพื่อโกยคะแนนในพาร์ตนี้ให้เต็มร้อยด้วยนะน้อง ๆ
โครงสร้างข้อสอบ
ข้อสอบทั้งหมด 60 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน ระยะเวลาที่ใช้สอบ 60 นาที เป็นข้อสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือก แบ่งเป็น 2 ส่วน
1.1) ทักษะการพูด (Speaking Skill) คะแนนเต็ม 50 คะแนน แบ่งเป็น 3 ส่วน
– การถาม–ตอบ (Question-Response) จำนวน 10 ข้อ
ระดับข้อสอบ (ง่าย 2 ข้อ / กลาง 6 ข้อ / ยาก 2 ข้อ)
– เติมบทสนทนาแบบสั้น (Short conversations) 3 บทสนทนา จำนวน 10 ข้อ
ระดับข้อสอบ (ง่าย 2 ข้อ / กลาง 6 ข้อ / ยาก 2 ข้อ)
– เติมบทสนทนาแบบยาว (Long conversations) 2 บทสนทนา จำนวน 10 ข้อ
ระดับข้อสอบ (ง่าย 2 ข้อ / กลาง 6 ข้อ / ยาก 2 ข้อ)
รวมจำนวนข้อสอบ : 30 ข้อ (ง่าย 6 ข้อ / กลาง 18 ข้อ / ยาก 6 ข้อ)
1.2) ทักษะการอ่าน (Reading Skill) คะแนนเต็ม 50 คะแนน แบ่งเป็น 2 ส่วน
– เติมข้อความในเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ (Text completion) 2 บทความ จำนวน 15 ข้อ
ระดับข้อสอบ (ง่าย 3 ข้อ / กลาง 9 ข้อ / ยาก 3 ข้อ)
– อ่านเพื่อจับใจความ (Reading comprehension) 3 บทความ จำนวน 15 ข้อ
ระดับข้อสอบ (ง่าย 3 ข้อ / กลาง 9 ข้อ / ยาก 3 ข้อ)
รวมจำนวนข้อสอบ : 30 ข้อ (ง่าย 6 ข้อ / กลาง 18 ข้อ / ยาก 6 ข้อ)
TGAT2 92 การคิดอย่างมีเหตุผล (Critical & Logical Thinking)
พาร์ตนี้ บอกเลยว่าน้อง ๆ ห้ามพลาด ฝึกทำโจทย์ในเวลาว่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ทางภาษา, โจทย์ปัญหาทางตัวเลข และการวัดความเป็นเหตุเป็นผล, ตรรกะ, การแก้ปัญหา ที่น้อง ๆ ต้องงัดไม้เด็ด ใช้ไหวพริบในทุก ๆ ด้านออกมา พี่วีวี่แนะนำเลยคือ ควรฝึกทำโจทย์ให้เยอะ ๆ ตัดชอยซ์ที่ไม่ใช่ให้คล่อง ๆ เพื่อลับสมองให้พร้อมในพาร์ตประลองเชาวน์ปัญญาแบบนี้
โครงสร้างข้อสอบ
ข้อสอบทั้งหมด 80 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน ระยะเวลาที่ใช้สอบ 60 นาที เป็นข้อสอบแบบปรนัย 5 ตัวเลือก
1) ความสามารถทางภาษา 20 ข้อ
ข้อสอบความสามารถทางภาษามี 4 ด้าน คือ
- ) การสื่อความหมาย
- ) การใช้ภาษา
- ) การอ่าน
- ) การเข้าใจภาษา
2) ความสามารถทางตัวเลข 20 ข้อ
ข้อสอบความสามารถทางตัวเลขมี 4 ด้าน คือ
- ) อนุกรมมิติ
- ) การเปรียบเทียบเชิงปริมาณ
- ) ความเพียงพอของข้อมูล
- ) โจทย์ปัญหา
3) ความสามารถทางมิติสัมพันธ์ 20 ข้อ
ข้อสอบความสามารถทางมิติสัมพันธ์ประกอบด้วย
- ) แบบพับกล่อง
- ) แบบหาภาพต่าง
- ) แบบหมุนภาพสามมิติ
- ) แบบประกอบภาพ
4) ความสามารถทางเหตุผล 20 ข้อ
ข้อสอบความสามารถทางเหตุผล มี 4 ด้าน คือ
- ) อนุกรมภาพ
- ) อุปมาอุปไมยภาพ
- ) สรุปความ
- ) วิเคราะห์ข้อความ
รวมจำนวนข้อสอบ : 80 ข้อ
TGAT3 93 สมรรถนะการทำงาน (Future Workforce Competency)
พาร์ตสุดหินใหม่แกะกล่อง TCAS66 ปีนี้คือปีแรกที่ได้เจอ เป็นพาร์ตที่จะขนโจทย์ปัญหาซับซ้อน สถานการณ์สมมติต่าง ๆ มาให้เราตัดสินใจเลือกคำตอบ เพื่อวัด IQ & EQ ของน้อง ๆ ว่าเมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จะให้ความช่วยเหลือ / จะตัดสินใจ / จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรให้เหมาะสม และเป็นกลางที่สุด แถมทุกคำตอบจะมีคะแนนอยู่ในช่วงระหว่าง 0-1 คะแนน ยังไงพี่วีวี่ก็ให้น้อง ๆ ตั้งสติ ใช้ไหวพริบที่มี ในการเลือกคำตอบที่ดีที่สุด ตอบโจทย์กับทุกฝ่ายนะน้อง ๆ
โครงสร้างข้อสอบ
ข้อสอบทั้งหมด 60 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน ระยะเวลาที่ใช้สอบ 60 นาที เป็นข้อสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือก เพื่อวัดทัศนคติ 4 ระดับ ทุกคำตอบจะมีคะแนนอยู่ในช่วงระหว่าง 0-1 คะแนน
การตอบคำถาม จึงมี 2 แบบ คือ 1) เลือกตอบตัวเลือกเดียว 2) เลือกตอบหลายตัวเลือก
โดยข้อสอบจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนย่อย ดังนี้
1) การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม 15 ข้อ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
1.1 การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical thinking)
1.2 การแก้ไขปัญหาอย่างมืออาชีพ (Professional problem solving)
1.3 ความคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative thinking)
2) การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน 15 ข้อ แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ
2.1 การระบุปัญหา (Identifying problems)
2.2 การแสวงหาทางออก (Generating and selecting solutions)
2.3 การนำทางออกไปแก้ปัญหา (Implementation)
2.4 การประเมินทางออกเพื่อการพัฒนาปรับปรุง (Evaluation)
3) การบริหารจัดการอารมณ์ 15 ข้อ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
3.1 ความตระหนักรู้ตนเอง (Self awareness)
3.2 การควบคุมอารมณ์และบุคลิกภาพ (Personality and emotional control)
3.3 ความเข้าใจผู้อื่น (Interpersonal understanding)
4) การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมของสังคม 15 ข้อ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
4.1 การมุ่งเน้นการบริการสังคม (Service orientation)
4.2 จิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental responsibility)
4.3 การสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น (Creating local benefits)
ที่สำคัญคะแนน TGAT ยังสามารถใช้ในระบบ TCAS ได้ทุกรอบ คะแนน 3 พาร์ตนี้จะถูกประกาศคะแนนแบบแยกพาร์ต วิชาละ 100 คะแนน ทางมหาวิทยาลัย คณะ / สาขาต่าง ๆ อาจเลือกใช้พาร์ตใดพาร์ตหนึ่ง หรือใช้ทุกพาร์ตก็ได้ เช่น ใช้แค่ TGAT1+ TGAT2 หรือใช้แค่คะแนน TGAT3 ก็ได้ตามที่สาขาได้กำหนด ยังไงก็อย่าลืมเข้าไปเช็กเกณฑ์ / วิชาที่น้อง ๆ ต้องสอบในแต่ละเว็บไซต์มหาวิทยาลัยที่น้องอยากเข้าให้พร้อมแต่เนิ่น ๆ นะ และที่สำคัญในปีนี้คะแนน TGAT สามารถนำไปใช้ในการคัดเลือกรอบ Portfolio ได้ด้วย
น้อง ๆ สามารถเข้าไปดูโครงสร้างและตัวอย่างข้อสอบของ TGAT ครบทุกพาร์ตเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย https://blueprint.mytcas.com
TPAT (Professional Aptitude Test) วัดความถนัดวิชาชีพ
ชื่อก็บอกว่าเป็นการวัดความถนัดทางวิชาชีพ เพราะงั้นข้อสอบเชิงวิชาการอย่าง PAT1, PAT2 และ PAT3 เดิมจึงถูกตัดทิ้งไป ส่วน PAT7 ด้านภาษา ก็จะย้ายไปอยู่ในสนามสอบ A-Level แทน
วิชา TPAT มีทั้งหมด 5 วิชาด้วยกัน คือ
TPAT1 10 ความถนัดวิชาเฉพาะแพทย์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อสนาม “กสพท” ที่น้อง ๆ จะเข้าสายแพทย์ ต้องสอบมีทั้งหมด 3 พาร์ต รวม 300 คะแนน ได้เข้ามารวมในกลุ่ม TPAT ในปีนี้ด้วย
- Part 1 เชาว์ปัญญา 100 คะแนน
- Part 2 จริยธรรมทางการแพทย์ 100 คะแนน
- Part 3 ความคิดเชื่อมโยง 100 คะแนน
TPAT2 20 ความถนัดศิลปกรรมศาสตร์ วิชานี้จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ ทัศนศิลป์ ดนตรี และนาฏศิลป์ ประกาศคะแนนแบบแยกส่วน สามารถเลือกได้ว่าจะใช้คะแนนส่วนไหน ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยกำหนด และการคิดคะแนนรวม จะคำนวณจากการเฉลี่ยทั้งสามส่วน (TPAT21+TPAT22+TPAT23) เต็ม 100 คะแนน
ส่วนที่ 1 TPAT21 ทัศนศิลป์ 100 คะแนน
ส่วนที่ 2 TPAT22 ดนตรี 100 คะแนน
ส่วนที่ 3 TPAT23 นาฏศิลป์ 100 คะแนน
TPAT3 30 ความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ย้ำกันก่อนว่าอันนี้ไม่ใช่ PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมเดิม TPAT3 จะเน้นไปที่ความรู้รอบตัว มุมมอง / ความช่างสังเกตเฉพาะของนักวิทยาศาสตร์และวิศวะ การคิดวิเคราะห์ การคิดเป็นลำดับขั้น คะแนนเต็ม 100 คะแนน น้อง ๆ ที่จะเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ อย่าลืมดูเกณฑ์การสมัครของแต่ละมหาลัยดี ๆ เพราะพี่วีวี่เชื่อว่าน้อง ๆ ที่อยากจะเข้าคณะสายวิทยาศาตร์และวิศวกรรมศาสตร์จะต้องสอบวิชานี้แน่นอน
ข้อสอบ TPAT3 ความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1: การทดสอบความถนัด (aptitude test) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ 60 คะแนน จำนวน 45 ข้อ ประกอบด้วย
- ด้านตัวเลข (numerical reasoning) (จำนวน 15 ข้อ รวม 20 คะแนน)
- ด้านมิติสัมพันธ์ (diagrammatic reasoning) (จำนวน 15 ข้อ รวม 20 คะแนน)
- ด้านเชิงกล (mechanical reasoning) และด้านฟิสิกส์ (physics aptitude test) (จำนวน 15 ข้อ รวม 20 คะแนน)
ส่วนที่ 2: การทดสอบความคิดและความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
40 คะแนน จำนวน 25 ข้อ ประกอบด้วย
- ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ (จำนวน 15 ข้อ รวม 20 คะแนน)
- ความสนใจข่าวสารความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ (จำนวน 10 ข้อรวม 20 คะแนน)
TPAT4 40 ความถนัดทางสถาปัตยกรรม ถ้า PAT4 ก็จะเน้นไปที่วาดรูปใช่มั้ยคะน้อง ๆ แต่ TPAT4 จาก Test Blueprint ที่ทาง ทปอ. ได้ประกาศมาจะเป็นข้อสอบ ปรนัย 5 ตัวเลือก 40 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
TPAT5 50 ความถนัดครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ข้อสอบ 100 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน ให้เวลาสอบทั้งสิ้น 180 นาที วิชานี้จะเน้นไปที่วิทยาการเรียนรู้ คุณธรรมจริยธรรม การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ เป็นต้น โครงสร้างของข้อสอบประกอบด้วย
ความสามารถพื้นฐานทางวิชาชีพครู
- ความสามารถทางการสื่อสาร
- ความสามารถทางการคิดวิเคราะห์
- ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
- ความสามารถทางการเข้าใจตนเองและผู้อื่น
- ความสามารถทางการคิดเพื่อการเรียนรู้
จำนวน: 50 ข้อ
คุณลักษณะความเป็นครู
- การมีมนุษยสัมพันธ์
- ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ซื่อสัตย์ ยุติธรรม
- การเข้าใจและยอมรับผู้อื่น
- การเป็นผู้เรียนรู้และรักที่จะแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น
- การส่งเสริมให้ผู้อื่นมีความคิดสร้างสรรค์และการเป็นผู้นำ
จำนวน: 50 ข้อ
รวมข้อสอบ : 100 ข้อ
A-Level (Applied Knowladge Level : ชื่อเดิมวิชาสามัญ)
สนาม A-Level ที่น้อง ๆ หลายคนคงพอจะเดาได้ว่า มาจากข้อสอบ 9 วิชาสามัญเดิม ที่เน้นการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ แต่น้อง ๆ ไม่ต้องกังวล เพราะทาง ทปอ. กำหนดขอบเขตการออกข้อสอบแล้วว่าจะออกไม่เกินจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ที่เรียนมาทั้งหมด ตั้งแต่ ม.4 – ม.6 เน้นวัดความรู้ประยุกต์ใช้ในการสอบ มีทั้งหมด 10 วิชา ด้วยกัน และน้องสามารถเลือกสอบสูงสุดได้ถึง 10 วิชา แต่สำหรับวิชาภาษาต่างประเทศอื่น ๆ จะต้องเลือกสอบวิชาใดวิชาหนึ่งเพราะมีเวลาสอบซ้ำกัน
และในปีนี้สำหรับน้อง ๆ DEK66 จะสอบวิชาคณิตศาสตร์เพียงสนามเดียวนั่นคือ “วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1” โดยวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 นี้ เกิดจากในอดีตมีการสอบในวิชาคณิตที่ซ้ำซ้อนกันนั่น คือ PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ และ คณิต 1 วิชาสามัญ ดังนั้นเพื่อลดความซ้ำซ้อนดังกล่าววิชาทั้งสองจึงถูกรวมเหลือเพียงวิชาเดียวนั่นเอง โดยจะเน้นสอบวัดความรู้ที่ครอบคลุมเนื้อหาคณิตศาสตร์ทั้งพื้นฐาน+เพิ่มเติม
แนวข้อสอบถูกออกแบบมาเน้นไปที่การประยุกต์ความรู้หลากหลายบทเรียนเข้าด้วยกัน ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ในการแก้โจทย์มากกว่าปีก่อน ซึ่งกลุ่มน้อง ๆ ที่จะเข้าคณะสายวิทย์ วิศวกรรม จะต้องใช้คะแนนจากสนามนี้เพื่อยื่นสอบเข้านั่นเอง
และต่อมา “วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2” เป็นอีกหนึ่งวิชาที่เกิดขึ้นเพราะในอดีตมีการสอบวัดความรู้คณิตศาสตร์ระดับพื้นฐาน 2 สนาม นั่นคือคณิต 2 วิชาสามัญ และ O-NET ดังนั้นเพื่อลดการสอบของนักเรียนจึงควบรวมเหลือเพียงวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 นั่นเอง ซึ่งตัวข้อสอบจะเน้นไปที่คณิตศาสตร์พื้นฐาน วัดความเข้าใจเบื้องต้น แนวโจทย์ไม่ซับซ้อนแต่ยังมีความประยุกต์อยู่ พี่วีวี่แนะนำให้น้องดูเกณฑ์คะแนน สัดส่วนที่แต่ละคณะ / สาขากำหนดให้ดี แล้วสมัครวิชาที่จำเป็นต้องใช้ จะได้ประหยัดเงินค่าสมัคร มีเวลาไปเตรียมตัวฟิตวิชาอื่นอีกด้วย
A-Level 61 Math1 วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1
A-Level 62 Math2 วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2
A-Level 63 Sci วิทยาศาสตร์ประยุกต์
A-Level 64 Phy วิชาฟิสิกส์
A-Level 65 Chem วิชาเคมี
A-Level 66 Bio วิชาชีววิทยา
A-Level 70 Soc สังคมศาสตร์
A-Level 81 Thai ภาษาไทย
A-Level 82 Eng ภาษาอังกฤษ
ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ
- A-Level 83 Fre ภาษาฝรั่งเศส
- A-Level 84 Ger ภาษาเยอรมัน
- A-Level 85 Jap ภาษาญี่ปุ่น
- A-Level 86 Kor ภาษาเกาหลี
- A-Level 87 Chi ภาษาจีน
- A-Level 88 Pali ภาษาบาลี
- A-Level 89 Spn ภาษาสเปน
ส่วนรูปแบบการสอบรายวิชา A-Level กำหนดสอบด้วยกระดาษเท่านั้น และค่าสมัครสอบ A-Level จะราคาวิชาละ 100 บาท แต่ปีหน้าถ้าระบบสอบด้วยคอมพิวเตอร์ได้ผลตอบรับที่ดี ก็อาจมีการเพิ่มการสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CBT) เป็นตัวเลือกเพิ่มเติมได้ค่ะ
ถ้าน้อง ๆ อยากดู TEST BLUEPRINT โครงสร้างและตัวอย่างข้อสอบของ A-Level เพิ่มเติมในแต่ละวิชา ทปอ. ได้ประกาศตัวอย่างข้อสอบของทุกวิชาแล้วคลิกลิงก์นี้ดูได้เลย >>> https://blueprint.mytcas.com
ที่สำคัญตอนนี้ได้มีประกาศจากทาง ทปอ. ปรับให้ทั้ง 10 วิชา ของ A-Level มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ดังนั้นจะง่ายและสะดวกมากขึ้นในการนำไปคำนวณคะแนนใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย
รอบในการสอบ TCAS66
เรามาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า TCAS66 มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะการสอบเท่านั้น ส่วนวิธีการคัดเลือกยังคงมี 4 รอบ เหมือน TCAS65 คือ รอบ Portfolio, Quota, Admission และ Direct Admission เช่นเดิม แต่ถ้าน้อง ๆ คนไหนที่คะแนนดี เกรดสวย พี่แนะนำรอบ Admission TCAS รอบ 3 ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการเปิดรับจำนวนที่นั่ง ในแต่ละคณะ / สาขา เยอะมาก แถมยังเลือกสูงสุดได้ถึง 10 อันดับ แต่ยังไงก็ต้องจัดอันดับให้ดี เช็กเกณฑ์ และคุณสมบัติแต่ละสาขาที่เลือกให้ครบถ้วนด้วยนะน้อง ๆ
แล้วรอบไหนหล่ะที่เหมาะกับเรา ?
รอบที่ 1 Portfolio : เน้นความสามารถพิเศษที่โดดเด่น พิจารณาจากผลงาน ไม่มีสอบวัดความรู้เชิงวิชาการหรือสอบปฏิบัติ แต่อาจใช้คะแนนวัดความถนัด ถ้าน้อง ๆ เป็นสายกิจกรรม มีผลงานโดดเด่น เข้าเกณฑ์ที่ทางมหาลัย / คณะนั้น ๆ กำหนด ก็สามารถยื่น Portfolio พร้อมคะแนนสอบที่ใช้ยื่นในรอบนี้ได้เลย
คะแนนที่ใช้ยื่น : GPAX, TGAT, TPAT
รอบที่ 2 Quota : ใช้คะแนนสอบส่วนกลาง หรือมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง เป็นโครงการที่เหมาะกับน้อง ๆ ในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง หรือน้อง ๆ ที่คุณสมบัติเฉพาะตามเกณฑ์ที่แต่ละคณะกำหนด หรือโรงเรียนเครือข่าย ใช้คะแนนสอบส่วนกลาง แต่บางมหาวิทยาลัยก็จะจัดสอบเองต้องติดตามรายละเอียดจากทางมหาวิทยาลัยให้ดีนะคะน้อง ๆ
คะแนนที่ใช้ยื่น : GPAX, TGAT, TPAT, A-Level
รอบที่ 3 Admission : มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์คัดเลือกอย่างเป็นอิสระ ปีนี้ก็ยังคงมีการประมวลผล 2 รอบ โดยน้อง ๆ สามารถเลือกคณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้มากถึง 10 อันดับ โดยมีอัตราค่าสมัคร อันดับที่ 1 ค่าสมัคร 150 บาท อันดับที่ 2-4 เพิ่มค่าสมัครอันดับละ 50 บาท อันดับที่ 5-10 เพิ่มค่าสมัครอันดับละ 100 บาท
คะแนนที่ใช้ยื่น : GPAX, TGAT, TPAT, A-Level
รอบ 4 Direct Admission : มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์คัดเลือกอย่างเป็นอิสระ น้อง ๆ ที่พลาดรอบ 3 ไปก็อาจจะต้องมารอลุ้นในรอบสุดท้ายว่าจะมีมหาวิทยาลัยในที่ยังเปิดรับอยู่บ้าง หากเป็นคณะที่เราสนใจก็สามารถยื่นคะแนนสมัครได้เลย ซึ่งรอบนี้ถ้าสอบติดจะไม่มีการสละสิทธิ์ค่ะ
คะแนนที่ใช้ยื่น : GPAX, TGAT, TPAT, A-Level
รูปแบบการสอบ
ใน TCAS66 มีการปรับในส่วนรูปแบบการสอบเป็นปีแรก โดยเพิ่มทางเลือกให้ผู้เข้าสอบเลือกได้ว่า จะสอบแบบกระดาษ หรือสอบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ของสนามสอบที่รองรับการสอบรูปแบบใหม่นี้ และรับสมัครสอบเพิ่มเติมกรณีสนามสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ยังมีที่ว่าง แต่วิชา A-level ทุกวิชาจะกำหนดให้การสอบแบบกระดาษเท่านั้น รวมถึงสนาม TPAT1 ที่จัดโดย กสพท ก็ยังคงเป็นแบบกระดาษเท่านั้นเหมือนเดิม
แล้วข้อดี / ข้อเสียของการสอบแต่ละแบบมันแตกต่างกันมากไหม ?
แบบกระดาษก็มีข้อดีคือให้ความรู้สึกชินมือมากกว่า เหมาะกับคนชอบขีดเขียน ทดคำตอบได้ แต่อาจต้องตรวจทาน ลบให้สะอาด รอบคอบเพราะอาจถูกหักคะแนนได้ และแบบคอมพิวเตอร์ ข้อดีคือน้อง ๆ จะทราบผลคะแนนหลังการสอบภายใน 3 วันหลังจากสอบวิชาสุดท้ายเสร็จ แต่ก็อาจสายตาล้าได้ เพราะจ้องคอมพิวเตอร์นาน ๆ
ส่วนสนามที่จัดสอบก็แตกต่างกันไปอีก การสอบด้วยกระดาษ จะใช้โรงเรียนต่างๆ เป็นสนามสอบ ส่วนสนามสอบด้วยคอมพิวเตอร์ จะใช้ห้องสอบคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเป็นสนามสอบ น้อง ๆ สามารถเลือกได้ตามความสะดวก แต่พี่วีวี่ขอแนะนำว่าเน้นสนามสอบใกล้บ้านจะดีที่สุด ที่สำคัญวางแผนการเดินทางแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจต้องใช้เวลากว่าจะไปถึงสนามสอบและอาจทำให้เข้าห้องสอบล่าช้าได้
วิธีการสมัครสอบTGAT/TPAT2-5
น้อง ๆ ตามมาดูขั้นตอนการสมัครกันดีกว่า ว่าวิธีการสมัครสอบแบบกระดาษ และการเลือกสนามสอบแบบคอมพิวเตอร์ ต่างกันยังไง ในบทความนี้เคลียร์ ๆ ให้ครบจบกันไปเลย
การสมัครสอบ
เข้าใช้งานระบบที่ URL https://student.mytcas.com ในหน้าของข้อมูลการสมัครสอบ
เลือก “ดูรายละเอียดและสมัครสอบ”
เลือกวิชาสอบและสนามสอบ
ระบบจะปรากฏวันสอบของแต่ละรายวิชา การเลือกวิชาสอบและสนามสอบให้เลือกเป็นรายวันให้ผู้สมัครสอบเลือกวันที่ที่ต้องการสอบ โดยเลือกที่ไอคอนลูกศร
หลังจากนั้นให้ผู้สมัครสอบเลือกวิชาสอบที่ต้องการ แล้วเลือก “ไปหน้าถัดไป”
ผู้สมัครจะต้องทำการเลือกประเภทข้อสอบ โดยเลือกระหว่าง ข้อสอบแบบกระดาษหรือข้อสอบแบบคอมพิวเตอร์
ข้อสอบแบบกระดาษ
กรณีที่เลือกประเภทข้อสอบแบบกระดาษ ผู้สมัครจะต้องทำการเลือกสนามสอบให้ครบทั้ง 5 ลำดับ ยกเว้นกรณีที่จังหวัดในลำดับแรก มีสนามสอบน้อยกว่า 5 สนามสอบ ให้เลือกทุกสนามสอบในจังหวัดนั้นแทน (กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ นับเป็นจังหวัดเดียวกัน) โดยให้เลือกที่กล่องข้อความ “ค้นหาสนามสอบ”
รายละเอียดสนามสอบที่ผู้สมัครเลือกจะปรากฏ ผู้สมัครสามารถเลื่อนจัดลำดับสนามสอบขึ้นหรือลง เพื่อจัดลำดับสนามสอบใหม่ได้
กรณีที่ขึ้นกรอบสีส้ม หมายถึง ผู้สมัครเลือกสนามสอบข้ามจังหวัด ผู้สมัครจะต้องทำการเลือก “ยืนยันเลือกสนามสอบข้ามจังหวัด” ก่อน จึงจะสามารถเลือก “ไปหน้าถัดไป” ได้
กรณีที่ค้นหาสนามสอบไม่เจอ อาจเป็นเพราะเลือกความต้องการพิเศษอยู่ ซึ่งจะมีจำนวนสนามสอบที่รองรับไม่มากนัก ให้ดูรายชื่อสนามสอบทั้งหมด ที่ ค้นหาสนามสอบ
ข้อสอบแบบคอมพิวเตอร์
กรณีที่เลือกประเภทข้อสอบแบบคอมพิวเตอร์ ผู้สมัครจะต้องทำการเลือกสนามสอบแบบกระดาษด้วย เผื่อกรณีสนามสอบคอมพิวเตอร์เต็ม จากนั้นเลือก “ไปหน้าถัดไป”
เมื่อทำการเลือกวิชาสอบและสนามสอบเสร็จสิ้นแล้ว ระบบจะปรากฏข้อมูลรายละเอียดการสมัครสอบและสนามสอบ ให้ผู้สมัครตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนกดปุ่ม “บันทึกรายการ”
เมื่อบันทึกข้อมูลการเลือกวิชาสอบและสนามสอบเรียบร้อยแล้ว ระบบจะปรากฏสถานะ รอยืนยันการสมัคร หากต้องการเพิ่มรายวิชาสอบหรือแก้ไขสนามสอบ ให้เลือกที่ไอคอนลูกศรในวันที่ต้องการแก้ไข
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเลือกวิชาสอบและสนามสอบแล้ว ระบบจะสรุปวิชาสอบที่เลือกทั้งหมดและยอดเงินที่ต้องชำระ ให้เลือก “ยืนยันการสมัครสอบ”
ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง และเลือกช่องทางในการส่งรหัส One Time Password (OTP) เพื่อยืนยันการสมัครสอบ จากนั้นเลือก “ส่ง OTP เพื่อยืนยันการสมัครสอบ”
กรอกรหัสยืนยัน One Time Password (OTP) ที่ได้รับ จากนั้นเลือก “ยืนยัน OTP และยืนยันการสมัครสอบ”
ระบบจะปรากฏสถานะ รอการชำระเงิน และรายละเอียดวิชาสอบและสนามสอบทั้งหมด จากนั้นเลือก “พิมพ์ใบแจ้งชำระเงิน”
การชำระเงิน
เมื่อทำการพิมพ์ใบแจ้งชำระเงิน ระบบจะปรากฏใบแจ้งชำระเงินค่าสมัครสอบ สถานะการชำระเงิน “ยังไม่ได้ชำระเงิน” ผู้สมัครสามารถชำระเงินผ่าน QR Code ทุกธนาคารฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมหรือพิมพ์ใบแจ้งชำระเงินค่าสมัครสอบแล้วนำไปชำระเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่น อีเลฟเว่น) ได้ทุกสาขา โดยมีค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อรายการ
หลังจากชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ระบบจะปรากฏสถานะ ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเลือก “พิมพ์ใบสมัครสอบ” เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานต่อไป
ใบสมัครสอบ
เมื่อเลือก “พิมพ์ใบสมัครสอบ” ระบบจะปรากฏไฟล์ใบสมัครสอบ ผู้สมัครสามารถดาวน์โหลดไฟล์ใบสมัครสอบหรือพิมพ์ใบสมัครสอบ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานได้จากไอคอนดาวน์โหลดไฟล์หรือไอคอนเครื่องพิมพ์เอกสาร
เป็นไงกันบ้างคะน้อง ๆ ครอบคลุมและครบถ้วนในทุก ๆ ด้านที่น้องต้องใช้สำหรับการเตรียมตัวสอบเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายนี้พี่วีวี่ก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับน้อง ๆ นะคะ และขออวยพรให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดีกับการสอบในครั้งนี้ ทำคะแนนได้ดีอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ สอบติดในมหาวิทยาลัยและคณะที่ใฝ่ฝันกันทุกคนนะน้อง ๆ